ผลของกรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่ปฏิสนธิจิต ที่สมมติว่าเกิด และเมื่อพ้นจากขณะปฏิสนธิ คือ เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้วตลอดไปจนถึงจุติ ชื่อว่า ปวัตติกาล
ดังนั้น ขณะที่กรรมให้ผลที่เป็นวิบาก คือ จิตเจตสิก ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นปฏิสนธิกาล และ ขณะจิตต่อๆ ไปที่เป็นวิบากจิตเจตสิก เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส หลังจากเกิดแล้ว เป็นปวัตติกาล ซึ่งกรรมที่ทำให้เกิดในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลก็ต่างกันโดยกำลังของกรรม กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น คือ เกิดในขณะนั้น ก็มีกำลัง และ เมื่อกรรมนั้นนำเกิดแล้ว กรรมนั้นก็ยังอุปถัมภ์ ทำให้มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ที่เป็นปวัตติกาลต่อไปอีก ที่มีกำลังน้อยกว่าได้ นี่คือ ความต่างกันประการหนึ่ง คือ กำลังของกรรมที่เป็นปฏิสนธิกาลกับปวัตติกาล ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ฆ่าสัตว์ กรรมที่มีกำลังนำเกิด โดยปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เกิดในนรก เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง แต่เมื่อเกิดแล้ว กรรมยังอุปถัมภ์ ให้มีการเห็นไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ..กระทบสัมผัสทีไม่ดี ก็ได้ และ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ กรรมที่เป็นการฆ่าสัตว์ ก็ให้ผลในปวัตติกาล ทำให้อายุสั้น เป็นต้น หรือ การลักขโมย ก็ทำให้กรรมที่มีกำลัง คือ นำมาซึ่งปฏิสนธิจิตเกิดในนรก และ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ เศษของกรรมที่มีกำลังอ่อนแล้ว ก็ทำให้ทรัพย์พินาศไปได้ครับ ที่เป็นผลของกรรมที่มีกำลังอ่อนในปวัตติกาล และ อีกประการหนึ่ง กรรมที่ให้ผลในปฏิสนธิกาล ย่อมนำมาซึ่งวิบากจิตเจตสิก และ นำมาซึ่งรูปด้วย คือ กัมมชรูป มีหทยรูป เป็นต้น ส่วนกรรมที่ให้ผลในปวัตติกาล หลังจากเกิดแล้ว เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัส กรรมที่ให้ผลในปวัตติกาลไม่ได้ให้เกิดรูปด้วย เพียงแต่เกิด จิต เจตสิก ที่เป็นชาติวิบาก ที่เป็นนามธรรมเท่านั้น ครับ
ซึ่งจะขอยกคำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ในเรื่องนี้ เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นครับ
อ.สุจินต์..เพราะฉะนั้นชีวิตแบ่งออกเป็น ปฏิสนธิกาล หรือ ปฏิสันธิกาล ตามภาษาบาลี คือ ในขณะที่ปฏิสนธิ และเมื่อพ้นจากขณะปฏิสนธิ คือ เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว ตลอดไปจนถึงจุติ ชื่อว่า ปวัตติกาล
เพราะฉะนั้น ในปวัตติกาลของแต่ละชีวิต ก็ย่อมแล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลในขณะไหน โดยที่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า พรุ่งนี้ ทุกคน กรรมใดจะให้ผล มีใครรู้ได้ไหมคะ น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ โจรผู้ร้าย สารพัดอย่าง โรคภัยที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย แต่ให้ทราบว่าวิบากทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้เพราะแต่ละกรรม แล้วแต่ว่าเมื่อกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรมแล้ว กรรมอื่นย่อมเป็นอุปถัมภกกรรมบ้าง หรือว่า เป็นอุปปีฬกกรรมบ้าง เป็นอุปฆาตกกรรมบ้าง
สำหรับอุปถัมภกกรรม ถ้าท่านผู้ใดกำลังสบายมีความสุขพร้อมอยู่ ความสุขนั้น สั้นหรือยาว แล้วแต่ว่ากรรมที่อุปถัมภ์นั้นจะมีหรือไม่มี ถ้าไม่มีกรรมที่จะอุปถัมภ์ กรรมที่ให้ผลที่ทำให้ท่านเป็นสุข อาจจะเพียงเล็กน้อย ชั่วคราว แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีกุศลกรรมอื่นอุปถัมภ์ แต่ถ้าท่านมีช่วงของชีวิตที่กำลังเป็นสุขสบายเพราะกรรมหนึ่ง แต่ก็ยังมีกรรมอื่น ซึ่งเป็นกุศลกรรมพร้อมที่จะอุปถัมภ์เป็นปัจจัย ก็ทำให้ชีวิตที่กำลังสุขสบายนั้นมีกาลยืดยาวต่อไปอีก เพราะเหตุว่ามีกรรมอื่นอุปถัมภ์
แต่สำหรับอุปปีฬกกรรม เมื่อท่านกำลังสุขสบายอยู่ และมีความทุกข์เกิดคั่นแทรก ทำให้ความสุขสบายนั้นลดน้อยลง หรือว่าสั้นลง ขณะนั้น ก็เป็นเพราะอกุศลกรรมหนึ่งเป็นอุปปีฬกกรรม ย่อมบีบคั้นหรือเบียดเบียนความสุขในขณะนั้นให้สั้นลง เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่าคะ เคยรับประทานอาหารอร่อยๆ อาจจะเกือบทุกมื้อเลย หรือมื้อหนึ่งก็ได้ ซึ่งรับประทานอาหารอร่อยมาก เป็นกุศลวิบากหรือเปล่าคะ เป็นผลของกุศลกรรมหรือเปล่าในขณะนั้น เป็นแต่เพียงคำเดียวซึ่งเคี้ยวพริกเผ็ดๆ สี่ห้าเม็ดไป ขณะนั้นกรรมอะไรคะ ตัดรอนความสุขหรือกุศลวิบากในขณะนั้นที่กำลังเกิดให้สั้นหรือว่าน้อยลง แต่คงจะไม่มีใครคิดว่า การที่เคี้ยวพริกเผ็ดๆ ไปสักคำ จะเป็นอุปปีฬกกรรม เพราะว่าในขณะนั้นกำลังมีความอร่อยมาก และการที่อกุศลวิบากจะเกิดขึ้นก็เป็นชั่วขณะ เล็กๆ น้อยๆ สั้นเหลือเกิน แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ทำไมเกิดได้ ถ้าไม่มีอกุศลกรรมเบียดเบียนความสุข
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิตในชาตินี้ (ปฏิสนธิกาล) เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต เมื่อนำเกิดแล้ว กรรมยังทำกิจอุปถัมภ์ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ในระหว่างที่ยังดำรงชีวิตอยู่ จนกว่าจะถึงจุติจิต ในระหว่างนี้เป็นปวัตติกาล ย่อมได้รับผลของกรรมอื่นๆ อีกมากมาย คือ การเห็นทางตา การได้ยินทางหู การได้กลิ่นทางจมูก การลิ้มรสทางลิ้น การกระทบสัมผัสทางกาย ทั้งที่เป็นผลของกรรมดีและกรรมไม่ดี ตามโอกาสอันสมควรแก่กรรมนั้นๆ โดยไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากกรรมที่ตนได้กระทำแล้วเท่านั้น ของใครก็ของคนนั้น
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ผลของกรรมที่เกิดขึ้น ต้องมาจากเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำแล้วเท่านั้น ซึ่งการให้ผลของกรรม เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า กรรมใดให้ผลเมื่อใด ประการที่สำคัญที่ควรจะได้พิจารณา คือ ในชีวิตของแต่ละคนที่เกิดมา ก็มีสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม และ อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุ คือ กรรม ที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า
กรรมของใครก็เป็นของคนนั้น จะแบ่งปันให้กันไม่ได้ ไม่เหมือนกับทรัพย์สมบัติที่จะพอจะแบ่งปันให้คนอื่นได้, บุคคลผู้ที่กระทำทุจริตกรรม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถึงแม้ว่าหนีไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใดด้วยความมุ่งหมายว่าจะทำให้ตนเองรอดพ้นจากการให้ผลของอกุศลกรรม ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากการให้ผลของอกุศลกรรมไปได้เลย อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะต้องให้ผล แล้วแต่ว่าจะให้ผลมาก เผ็ดร้อน หนักเบา ก็ตามควรแก่อกุศลกรรมนั้นที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วอย่างเดียว จะโทษใครก็ไม่ได้ ส่วนกุศลกรรม ก็มีนัยตรงกันข้าม ย่อมให้ผลเป็นผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เท่านั้น
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจจริงๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...