การศึกษาพระธรรม ทำไมต้องเฉพาะพุทธวัจนะเท่านั้นครับ

 
tanapat
วันที่  1 พ.ค. 2556
หมายเลข  22830
อ่าน  2,450

เรียนถามด้วยความเคารพครับไม่มีเจตนาเปรียบเทียบแต่ประการใด มักจะมีการโพสท์ ข้อความจากพุทธวัจนะ และสนับสนุนให้ท่องจำหรือศึกษาเฉพาะพระธรรมที่มาจากพุทธวัจนะเท่านั้น แม้แต่ในพระไตรปิฎกยังไม่ให้เชื่อทั้งหมด ให้เลือกเชื่อเฉพาะข้อความที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์ ทำให้พุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่งหันไปให้ความสำคัญกับการท่องจำและเผยแพร่โดยการก๊อปปี้ข้อความและแปะโพสท์อย่างกว้างขวาง มากกว่าการศึกษาและเข้าใจในพระธรรม อยากทราบความคิดเห็นของท่านผู้รู้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ผิดไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ จำพยัญชนะ จำเรื่องราวต่างๆ แต่อาศัยคำ อาศัยพยัญชนะเหล่านั้น เพื่อเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตั้งใจฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียด รอบคอบและตั้งจิตไว้ชอบในการศึกษา ว่าศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ที่ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากการที่พระอริยสาวกทั้งหลายเห็นประโยชน์ของพระธรรม ช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยให้คงอยู่อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาอย่าง แท้จริงนั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด กล่าวได้ว่า พระไตรปิฎกและอรรถกถา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งหมด สำคัญอยู่ที่ว่าผู้นั้นจะศึกษาโดยละเอียดหรือไม่? หรือว่า จะปฏิเสธในทันทีทันใด เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งสะสมมาแตกต่างกัน

หลักแห่งการติดสินว่าเป็นพระธรรมวินัยเป็นคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว พึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของศาสดา พระธรรมทั้งหมดควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด จนออกจากสังสารวัฏฏ์

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีประโยชน์เฉพาะสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพร้อมทั้งมีความเข้าใจไปตามลำดับเท่านั้น ส่วนบุคคลนอกนี้ย่อมจะไม่ได้รับประโยชน์

ความเป็นผู้สนใจที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจนั้น เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล เพราะได้สะสมศรัทธา สะสมปัญญา เห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงมีความสนใจ ที่จะฟัง ที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะต่างจากบุคคลผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เป็นผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่ฟัง ไม่ศึกษา และประการที่สำคัญ ผู้ที่ไม่สนใจศึกษาพระธรรมนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น มีทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทรงประกาศพระศาสนาเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร?

การศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร และ อย่างไร?

มีชาวพุทธบางส่วนมักกล่าวว่าพระไตรปิฎกไม่ใช่พุทธพจน์ 100%

ทุกคำในพระไตรปิฎกก็คือ ขณะนี้

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สาวก แปลว่า ผู้ฟัง ฟังอะไร ฟังพระธรรม ที่เป็นสัจจะความจริง ซึ่งผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คือ พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็แสดงธรรมให้สาวกทั้งหลายฟัง และ เกิดปัญญา สามารถบรรลุธรรมได้ และก่อนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ไว้ว่า

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 320

ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์

[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา


จากข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์ แสดงถึง ศาสดาแทนพระองค์ คือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นพระไตรปิฎก สืบต่อกันมา ว่าเป็นศาสดาแทนพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ควรศึกษา เพราะเหตุว่า คำใดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสมัยมีพระชนม์อยู่ คำนั้น ท่านพระอานนท์ และ พระสาวก ทั้งหลาย ก็จะสืบต่อกันมา ผู้ที่ได้อ่าน ได้ศึกษาพระธรรมที่เป็นพระไตรปิฎก ก็เหมือนกับการได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ ที่กำลังได้ฟังคำนั้น และ ที่สำคัญที่สุด เหตุให้เกิดปัญญา คือ การได้ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นพุทธวจนะ ไม่ใช่ฟังจากคำกล่าวของคนอื่นๆ ที่คิดขึ้นเอง ดังนั้น สิ่งที่ควรศึกษา จะต้องเป็นพุทธวจนะ เพราะคำที่พระองค์ตรัส เป็นคำจริง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในยุคกาลสมัยไหนก็ตาม ผู้ที่ได้สะสมปัญญา สะสมความเข้าใจมา ย่อมเกิดปัญญาจากการได้ศึกษาพระธรรมได้ ครับ ซึ่ง การจะบรรลุธรรม แบ่งเป็น 3 บุคคล คือ

1. พุทธเวไนย

2. สาวกเวไนย

3. ธรรมเวไนย

พุทธเวไนย คือ บุคคลที่ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงจะบรรลุธรรมได้ ซึ่งก็ต้องเป็นบุคคลที่เกิดในสมัยพุทธกาล

สาวกเวไนย คือ บุคคลที่บรรลุธรรม เพราะอาศัยการฟังพระธรรมจากสาวกของพระพุทธเจ้า

ธรรมเวไนย คือ บุคคลที่บรรลุธรรมเพราะอาศัยการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงจะบรรลุธรรม

การบรรลุธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เป็นฝ่ายดีเกิดขึ้น นั่นคือ ปัญญา ที่เกิดพร้อมแก่กล้า ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ซึ่ง ปัญญาจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้มาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎก ถ้าเข้าใจง่ายๆ ก็คือ พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ดังที่พระพุทธพจน์ที่ว่า ปาพจน์ คือ คำสอนของเรา เป็นศาสดาแทนพระองค์ ดังนั้น ผู้ที่บรรลุธรรมโดยได้ฟังจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือ พุทธเวไนย ท่านก็ต้องได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็คือ เหมือนได้อ่าน ได้ฟัง ศึกษาพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎก ก็คือ พระธรรมที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ผู้ที่รับฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เหมือนการอ่านพระไตรปิฎกให้ผู้นั้นรับฟัง ครับ ส่วนผู้ที่บรรลุโดยสาวกเวไนย คือ จากที่สาวกแสดงธรรม ก็คือ แสดงธรรมจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงนั่นเอง ก็เปรียบ เหมือนการอ่านพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ผู้อื่นฟังครับ และ ผู้ที่บรรลุด้วยการศึกษาพระไตรปิฎก คำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ธรรมเวไนย อันนี้ก็ชัดเจนครับ ว่าจะต้องศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ค. 2556

การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง และถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คำนี้ ที่เรามักกล่าวกันบ่อยๆ ไม่ควรเผิน และควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงอย่างไร และเป็นที่พึ่งอย่างไร หากว่า ไม่ศึกษาพระพุทธพจน์ ไม่ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง การกล่าวคำว่า ขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ก็สูญเปล่า เพราะไม่ได้มีพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นที่พึ่งจริงๆ แต่มีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่คำจริงที่เป็นพระธรรมเป็นที่พึ่ง ผู้ที่ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง คือผู้ที่เคารพพระธรรม คือศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ ที่จะต้องตั้งใจฟัง ใส่ใจ พิจารณา อันเห็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรม ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง พึ่งโดยเกิดปัญญาของตนเอง โดยอาศัยที่พึ่งที่อาศัยที่มีกำลัง คือ พระปัญญาคุณที่ตรัสออกมา สืบต่อมาเป็นพระธรรม เป็นพระไตรปิฎก ครับ การศึกษาธรรม ก็มีทั้งคุณและโทษ ถ้าศึกษาไม่ดี คือ แม้จะได้อ่านข้อความเดียวกัน แต่ศึกษาเพื่อลาภ สักการะ หรือพยายามท่องจำ ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่เป็นพุทธพจน์ ไม่ได้มีโทษ แต่โทษอยู่ที่กิเลส การสะสมมาของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ซึ่งพระอริยสาวกในอดีตก็ศึกษาพระธรรมที่เป็นพระพุทธพจน์จึงบรรลุธรรม การศึกษาพระธรรมด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ เป็นไปเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ เป็นไปเพื่อสละละคลายกิเลส ละคลายความไม่รู้ อันเป็นการน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นสำคัญ ครับ

ดังนั้นที่ถูกต้องคือศึกษาพระพุทธพจน์นั้นถูกต้องแล้ว แต่ควรเข้าใจจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาพระพุทธพจน์ว่าเพื่ออะไร ตามที่กล่าวมา คือเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลสอันเกิดจากการศึกษาพระพุทธพจน์ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 213

หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้วไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโคนับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น หากว่านรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้, เขาละ ราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล."

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanapat
วันที่ 1 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณครับ กระจ่างแจ้งเป็นอย่างมากครับ ผมเข้าใจว่าเจตนาแท้ๆ ของพระอาจารย์ท่านคงมุ่งไปที่เนื้อแท้ของพระธรรม ด้วยเกรงว่าคำสอนของศาสดาจะเพี้ยนไปเนื่องจากการสอนผิดๆ ในยุคหลังๆ แต่ด้วยที่เน้นพุทธวัจนะมาก อาจทำให้ผู้ฟังที่สะสมมาน้อยเข้าใจผิดและให้ความสำคัญในการท่องจำมากกว่าการเข้าใจในพระธรรม และคงจริงอย่างที่อาจารย์ทั้งสองท่านกล่าวครับ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการสะสม แม้ผมจะพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจและให้หันมาให้ความสำคัญกับสาระและทำความเข้าใจในพระธรรม กลับกลายเป็นหาว่าผมหมิ่นคำพระศาสดา ... กราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ ดีใจที่เราคิดไม่ผิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 1 พ.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nopwong
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Boonyavee
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
raynu.p
วันที่ 2 พ.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
orawan.c
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
แมวทไวไลท์
วันที่ 5 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ