ผมคัดลอกมาจาก ปรมัตถธรรมสังเขป อ่านแล้วไม่เข้าใจ

 
boonpoj
วันที่  2 พ.ค. 2556
หมายเลข  22845
อ่าน  1,241

ขอท่านผู้รู้ กรุณาช่วย อธิบายให้พอเข้าใจด้วยครับ ขอ อนุโมทนาครับ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนจิต สั่งสมสันดาน เพราะเกิดดับสืบต่อซ้ำๆ กัน ๗ ขณะ ตามปกติ

ในระหว่างสลบ ชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๖ ขณะ

ในขณะก่อนจุติ ชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๕ ขณะ

เพราะชวนจิตเกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ซึ่งมากกว่าวิถีจิตอื่นๆ ชวนจิตจึงสั่งสมสันดานของตน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงก็มีจริงในขณะนี้ มีจริงในชีวิตประจำวัน แม้แต่ที่กล่าวว่า ชวนวิถี ก่อนศึกษาพระธรรม ไม่เคยพูดคำนี้ ไม่เคยรู้จักคำนี้ ทั้งๆ ที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะเข้าใจธรรมได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการค่อยๆ รู้ เพราะจะให้ปัญญาเจริญขึ้นในทันทีทันใดไม่ได้ ต้องอาศัยการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย

จากประเด็นคำถาม ก็มีคำที่ควรจะได้เข้าใจจริงๆ ๓ คำ คือ วิถีจิต ชวนวิถี และ สั่งสมสันดานของตนในชวนวิถี

-วิถีจิต กว้างขวางมาก หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ใน ๖ ทวาร ได้แก่ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ เช่น จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตา เป็นทวาร จิตที่เกิดขึ้นทั้งหมด เรียกว่า จักขุทวารวิถีจิต ทางทวารอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน

-ชวนจิต คือ จิตที่แล่นไปโดยเร็ว หมายถึง จิตที่เป็นชาติกุศลหรืออกุศลของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ หรือจิตที่เป็นชาติกิริยาของพระอรหันต์ และวิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ ชวนจิตเรียกตามกิจหน้าที่ของจิต เพราะเหตุว่า จิตที่ทำกิจชวนะเรียกว่าชวนจิต เมื่อกล่าวโดยจำนวนแล้ว มี ๕๕ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง กุศลจิต ๒๑ ดวง สเหตุกกิริยาจิต ๑๗ ดวง อเหตุกกิริยาหสิตุปาทจิต ๑ ดวง และ โลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง

ดังนั้น ชวนจิตจึงเป็นจิตที่แล่นไปในขณะนั้นที่เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง หรือวิบากจิตบ้าง ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

ถ้าจะให้เข้าใจในขีวิตประจำวันจริงๆ โดยไม่ติดที่ชื่อก็คือ ขณะที่เป็นกุศลกับขณะที่เป็นอกุศลนั่นเอง เป็นชวนจิต ชวนจิตเป็นจิตที่แล่นไปเสพอารมณ์ซ้ำๆ กัน โดยปกติเกิดดับติดต่อกัน ๗ ขณะ เช่น ขณะนี้ หลังจากที่เห็นแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ ชวนจิตก็เกิดติดต่อกัน ๗ ขณะเป็นจิตชาติเดียวกัน คือ ชวนจิตขณะที่ ๑ - ๗ เป็นจิตชาติเดียวกัน ถ้าเป็นกุศลจิตก็ต้องเป็นชาติกุศล ทั้ง ๗ ขณะ ถ้าเป็นอกุศลจิตก็ต้องเป็นชาติอกุศลทั้ง ๗ ขณะ

ขณะที่สลบ ชวนจิตเกิด ๖ ขณะ ซึ่งเป็นขณะที่อ่อนกำลังกว่าขณะปกติ ซึ่งปกติจะมีชวนจิต ๗ ขณะ และในขณะที่เป็นชวนะก่อนจะที่จุติจะเกิดขึ้นมีชวนจิตเกิด ๕ ขณะ ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ซึ่งก็ย่อมแตกต่างจากขณะที่เป็นปกติอย่างสิ้นเชิง

ตามความเป็นจริงแล้ว ชวนจิตเกิดขึ้นเป็นไปเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

-การสั่งสมสันดานของตนในชวนวิถี ก็เป็นกิจของจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะที่จิตเป็นชวนวิถี ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นไปในทานบ้าง ศีลบ้าง การอบรมเจริญปัญญาบ้าง หรือ อกุศล คือ เป็นไปกับด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ติดต่อกัน ๗ ขณะ การสั่งสมก็คือเมื่อจิตประเภทใดเกิดแล้วย่อมเป็นปัจจัย เป็นอุปนิสัยให้จิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีก จึงทำให้คนเรามีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนมักโลภ บางคนมักโกรธ บางคนใจดี มีเมตาต่อผู้อื่น เป็นต้น ก็เพราะสะสมมาแตกต่างกันก็ตรงขณะที่เป็นชวนวิถีนั่นเอง

ก็ขอให้ฟังพระธรรมต่อไป ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราแม้ในขณะที่เป็นชวนะ กล่าวคือ เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ไม่มีเราที่แทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในความเป็นจริงของชีวิต คือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น ซึ่งประเภทของ จิต เจตสิก ก็มี ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา ซึ่งการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ก็ต้องมีลำดับของการเกิดขึ้นของจิต ซึ่งเรียกว่าวิถีจิต ซึ่งขณะที่เป็นชวนจิต คือ ขณะที่จิตแล่นไปในขณะที่เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง ซึ่งขณะที่เป็นชวนจิตนี้เอง ที่จิตกำลังสะสมอุปนิสัย สะสมสันดาน ตามสภาพธรรมของจิตนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นชวนจิตที่เกิดขึ้น ๗ ขณะจิต แต่ในบางครั้งก็เกิดจิต ๖ ขณะที่ซ้ำกันที่ชวนจิต และบางครั้งก็เกิดชวนจิต ๕ ขณะที่ซ้ำกัน

ซึ่งขณะที่ใกล้ตาย เกิดชวนจิตห้าขณะ ซึ่งเป็นชวนจิตที่มีกำลังอ่อน อันจะเป็นทางที่จะทำให้ไปสู่ภพใหม่ ที่จะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต ในขณะที่ใกล้ตาย ก็ไม่ได้มีกำลังที่จะสะสมเป็นอุปนิสัย สะสมสันดาน ในขณะนั้น

ส่วนขณะที่เกิดชวนจิตหกขณะที่เป็นขณะที่สลบ ขณะนั้นชวนจิตก็มีกำลังอ่อนเช่นกัน เพราะไม่ได้มีการรู้สึกตัว ดังเช่นชวนจิตเจ็ดขณะที่จะสะสมเป็นอุปนิสัย สะสมสันดาน

แต่ขณะที่เกิดชวนจิตเจ็ดขณะ เช่น ขณะที่โกรธ ขณะที่ติดข้อง ยินดี พอใจ ในฝ่ายอกุศล ขณะนั้น เกิดชวนจิตเจ็ดขณะที่เป็นลักษณะชาติของจิตซ้ำกัน ทำให้ชวนจิตมีกำลัง สามารถสะสมเป็นอุปนิสัย สะสมสันดานได้ ทำให้เมื่อเกิดโลภมูลจิตเจ็ดขณะ ก็สะสมอุปนิสัยที่จะติดข้องได้ง่ายขึ้น หรือถ้าเกิดความโกรธขึ้นเกิด ชวนจิตเจ็ดขณะก็ทำให้สะสมความโกรธ ทำให้สะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เกิดความโกรธมากขึ้น

และแม้ขณะนี้ หากท่านผู้ถามอ่านแล้วเข้าใจ ขณะนั้นเกิดกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดชวนจิตเจ็ดขณะที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ทำให้สะสมสันดาน สะสมเป็นอุปนิสัย ที่จะทำให้เข้าใจพระธรรมมากขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ตามครับ แต่เพราะอาศัยการสะสม คือ เกิดกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาบ่อยๆ ก็ทำให้มีปัญญามากขึ้น จนในที่สุดมีปัญญามากถึงการดับกิเลสได้ ครับ

ประโยชน์ที่สำคัญของการศึกษาเรื่อง วิถีจิต ชวนจิต สำคัญที่สุด คือ เพื่อเข้าใจความจริงว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราที่โกรธ โลภ ไม่ใช่เราที่ทำกุศล มีแต่ธรรมที่เป็นไปตามวิถีจิต ตามแต่ละประเภทของจิต การศึกษาอภิธรรมเช่นนี้ จะไม่หนักครับ แม้จะไม่สามารถตอบคำตอบได้ทั้งหมด คือ ทำให้ตนเองคลายสงสัยได้หมด แต่ประโยชน์คือให้เข้าใจว่าไม่มีเรา เมื่อศึกษาเช่นนี้ก็จะเบา เพราะรู้ว่า ตนเองเข้าใจได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น สิ่งไหนไม่รู้ก็ไม่รู้ หากเหลือวิสัย และ กลับมาที่การเข้าใจว่า สิ่งที่ศึกษาเป็นแต่เพียงการทำหน้าที่ของจิต เจตสิก ที่ไม่ใช่เรา ประโยชน์ที่ได้ คือ การไถ่ถอนความเห็นผิด และ ดับกิเลสได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญสติปัฏฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 2 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
boonpoj
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอบคุณ คุณ khampan.a และคุณ paderm ผมเข้าใจและหายข้องใจ แล้วครับ จากคำอธิบายของท่านทั้งสอง

ขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 5 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ