บัญญัติธรรม

 
นิรมิต
วันที่  3 พ.ค. 2556
หมายเลข  22849
อ่าน  6,004

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยขออนุญาตกราบเรียนถามโดยละเอียดดังนี้ครับ

1. ก็บัญญัติธรรมคือสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่ปรากฏลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ แม้กระนั้น จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ก็ยังรู้บัญญัติได้ ไม่ทราบว่าบัญญัตินี้ ทั้งๆ ที่ไม่มี แต่มาเป็นอารมณ์ของจิตได้อย่างไร ในเมื่อเป็นของที่ไม่มี เหตุใดจิตจึงสามารถรู้บัญญัติได้

2. ก็ในเมื่อบัญญัติเป็นอารมณ์ของจิตได้ แม้ไม่มีลักษณะเกิดดับ บัญญัติก็ควรชื่อว่าเป็นธรรมะอย่างหนึ่งที่มีจริง โดยความเป็นลักษณะที่เป็นอารมณ์ของจิตได้หรือไม่ โดยนัยใดได้บ้าง

3. แล้วก็ในเมื่อบัญญัติก็ไม่เกิดไม่ดับ อย่างนั้นบัญญัติต่างกับนิพพานโดยสภาพอย่างไรครับ

4. อนึ่ง ยังข้องใจว่า เหตุใดบัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ ในเมื่อท่านกล่าวว่าสติปัฏฐานไม่ควรเว้น ก็น่าจะระลึกบัญญัติได้ด้วย เพราะเหตุว่าบัญญัติ แม้ไม่มีลักษณะเกิดดับ แต่บัญญัติก็น่าจะมีลักษณะของความเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เพราะยังไงๆ บัญญัติมีลักษณะคือเป็นอารมณ์ที่จิตสามารถรู้ได้ เท่านั้นไม่พอหรือครับ?

5. การนึกถึงลักษณะของปรมัตถธรรมในอดีตที่เกิดแล้วดับแล้ว เช่นนึกถึงเห็นเมื่อวานนี้ หรือนึกถึงการกระทบสัมผัสเมื่อวานนี้ ชื่อว่าเป็นบัญญัติหรือไม่ เพราะขณะนั้นลักษณะนั้นไม่ได้มี หรือไม่ชื่อว่าเป็นบัญญัติ เพราะอะไรครับ

6. ลักษณะของการเห็นที่เป็นนิมิต อนุพยัญชนะ เช่น เห็นเป็นรูปกลมๆ เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ดังนี้โดยอาการเห็นเท่านั้น แม้ยังไม่ได้คิดนึกเป็นชื่อหรือเป็นคำ ว่า "นี่รูปวงกลม นี่รูปสี่เหลี่ยม นี่รูปสามเหลี่ยม" ก็ชื่อว่าเป็นบัญญัติแล้วใช่ไหม

แล้วอย่างการกระทบสัมผัสทางกาย ก็กายปสาทะนั้นซึบซาบอยู่ทั่วตัว ขณะที่กระทบแข็ง ขณะนั้นแข็งเนี่ยปรากฏไม่ใช่แค่ที่รูปกลาปเดียวที่มีกายปสาทะเกิดร่วมด้วย แต่แข็งปรากฏหลายๆ ๆ กลาป เป็นวงกว้างบ้าง น้อยบ้าง เช่นถ้าแข็งกระทบตรงมือ ก็ปรากฏเป็นวงกว้างน้อย แต่ถ้าแข็งกระทบตรงหน้าท้อง ก็ปรากฏเป็นวงกว้างมาก ขณะที่รู้แข็ง โดยความเป็นวงกว้างน้อย กว้างมาก ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์ครับ เพราะว่าไม่ได้รู้แค่ลักษณะของแข็งที่ปรากฏ แต่รู้เป็นลักษณะ ของแข็งเป็นวงกว้างเท่านี้ๆ โดยแม้ยังไม่ต้องถึงกับคิดชื่อ เรื่องราว เป็นคำๆ ว่า "แข็งนี้กว้างประมาณเท่านี้ๆ " แค่กำลังรู้แข็งที่มีประมาณเท่านี้ๆ เท่านั้น


คำถามอาจยาวและละเอียดมาก หากว่าสะดวกท่านวิทยากรจะค่อยๆ ทะยอยตอบ อธิบายทีละคำถามเรื่อยๆ ก็ได้ครับ ไม่ต้องตอบทีเดียวหมดรวดเดียวครับ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ก็บัญญัติธรรม คือสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่ปรากฏลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ แม้กระนั้น จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ก็ยังรู้บัญญัติได้ ไม่ทราบว่า บัญญัตินี้ ทั้งๆ ที่ไม่มี แต่มาเป็นอารมณ์ของจิตได้อย่างไร ในเมื่อเป็นของที่ไม่มี เหตุใดจิตจึงสามารถรู้บัญญัติได้

จิตเป็นสภาพรู้ สามารถรู้ได้ทุกอย่าง ทั้งปรมัตถธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปและนิพพาน รวมทั้งบัญญัติธรรมด้วย ซึ่งสติปัฏฐานจะต้องมีปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นอารมณ์ด้วยเหตุผลที่ว่า จะต้องมีลักษณะให้รู้ เพราะจิต เจตสิก และรูป มีลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ได้ ทั้งลักษณะเฉพาะของแต่ละสภาพธรรม และ ลักษณะทั่วไปที่เป็นสามัญญลักษณะ ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ซึ่งสติและปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะที่มีจริงได้ สิ่งใดที่ไม่มีลักษณะ สติและปัญญาที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จิตและเจตสิกที่เป็นระดับสติปัฏฐานไม่สามารถมีอารมณ์ คือ บัญญัติได้ เพราะไม่มีลักษณะให้รู้ครับ ส่วนจิตเจตสิกที่ไม่ใช่ระดับสติปัฏฐาน เช่น ขณะนี้ ที่กำลังเห็น เป็นสัตว์ บุคคล เป็นคอมพิวเตอร์ ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะจิตนั้น ดังนั้น คำว่าไม่มี ของบัญญัติ หมายถึง ไม่มีลักษณะ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่แม้ไม่มีลักษณะก็สามารถเป็นอารมณ์ของจิตเจตสิกได้ ครับ

2. ก็ในเมื่อบัญญัติเป็นอารมณ์ของจิตได้ แม้ไม่มีลักษณะเกิดดับ บัญญัติก็ควรชื่อว่าเป็นธรรมะอย่างหนึ่งที่มีจริง โดยความเป็นลักษณะที่เป็นอารมณ์ของจิตได้ หรือไม่โดยนัยใดได้บ้าง

- คำว่า ธรรม มีความหมายกว้างขวาง ดังนั้น เราจะต้องตีความว่ากำลังกล่าวถึงคำว่า ธรรมโดยนัยใดครับ ซึ่งธรรมบางนัยก็หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะให้รู้ได้ อันนี้ จิต เจตสิก รูป ก็เป็นธรรม แต่บัญญัติไม่มีลักษณะก็ไม่เป็นธรรม แม้แต่จะเป็นอารมณ์ของจิต แต่ธรรมอีกนัยที่มีความหมายกว้างขวาง ก็หมายถึงสิ่งที่สามารถเป็นอารมณ์ของจิตได้ เป็นธรรมชาติโดยตัวของมันเอง ซึ่งบัญญัติก็เป็นธรรม ที่เรียกว่า บัญญัติธรรม ครับ

3. แล้วก็ในเมื่อบัญญัติก็ไม่เกิดไม่ดับ อย่างนั้นบัญญัติต่างกับนิพพานโดยสภาพอย่างไร

-บัญญัติ ต่างกับ นิพพาน โดยนัยที่นิพพานเป็นสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตระและ เป็นอารมณ์ จิตที่เป็นระดับโลกุตตระและเป็นอารมณ์ที่ทำให้ถึงการดับกิเลส แต่บัญญัติไม่ใช่โลกุตตระและไม่เป็นอารมณ์ที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ครับ เป็นอารมณ์ของโลกิยจิต เป็นต้น ครับ

4. อนึ่ง ยังข้องใจว่า เหตุใดบัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ ในเมื่อท่านกล่าวว่าสติปัฏฐานไม่ควรเว้น ก็น่าจะระลึกบัญญัติได้ด้วย เพราะเหตุว่าบัญญัติ แม้ไม่มีลักษณะเกิดดับ แต่บัญญัติก็น่าจะมีลักษณะของความเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เพราะยังไงๆ บัญญัติมีลักษณะคือเป็นอารมณ์ที่จิตสามารถรู้ได้ เท่านั้นไม่พอหรือครับ

- บัญญัติเป็นธรรม โดยนัยที่กล่าวมาในความเห็นที่ 2 แต่ไม่มีลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ซึ่งหากเข้าใจคำว่าสติปัฏฐานว่าอบรมเพื่ออะไร คือ อบรมเพื่อละความเป็นสัตว์ บุคคล ละคลายความยึดถือว่ามีเรา ละคลายความเห็นผิด ก็จะทำให้เข้าใจถูกว่า สติปัฏฐานจะต้องมีปรมัตถ์ มีลักษณะเป็นอารมณ์เท่านั้น หากว่ามีบัญญัติ เรื่องราว มีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ก็ยังยึดถืออยู่ว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ก็ไถ่ถอนความเห็นผิดไม่ได้ แต่หากว่ามีลักษณะสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปเป็นอารมณ์ ก็ย่อมทำให้รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และ สามารถละคลายความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลได้ ครับ

5. การนึกถึงลักษณะของปรมัตถธรรมในอดีตที่เกิดแล้วดับแล้ว เช่น นึกถึงเห็นเมื่อวานนี้ หรือนึกถึงการกระทบสัมผัสเมื่อวานนี้ ชื่อว่าเป็นบัญญัติหรือไม่ เพราะขณะนั้นลักษณะ นั้นไม่ได้มี หรือไม่ชื่อว่าเป็นบัญญัติ เพราะอะไรครับ

- การนึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถที่ดับไปนานแล้ว เช่น เมื่อวาน ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ ก็ต้องมีเรื่องราวที่คิดนึกถึงลักษณะเป็นอารมณ์ ไม่ได้มีตัวลักษณะของสภาพธรรมที่เพิ่งเกิดเป็นอารมณ์จริงๆ ครับ จึงมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะพิจารณาจิตที่คิดนึกในขณะปัจจุบันว่ากำลังมีอะไรเป็นอารมณ์อยู่ คือ คิดนึกเรื่องราวที่ผ่านมา ครับ

6. ลักษณะของการเห็นที่เป็นนิมิต อนุพยัญชนะ เช่น เห็นเป็นรูปกลมๆ เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ดังนี้ โดยอาการเห็นเท่านั้น แม้ยังไม่ได้คิดนึกเป็นชื่อหรือเป็นคำว่า "นี่รูปวงกลม นี่รูปสี่เหลี่ยม นี่รูปสามเหลี่ยม" ก็ชื่อว่าเป็นบัญญัติ แล้วใช่ไหม

- การเห็นที่เป็นนิมิต อนุพยัญชนะ ขณะนั้นเป็นและมีบัญญัติเรื่องราวแล้ว เพราะในความเป็นจริงสิ่งที่ปรากฎทางตาก็ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา ยังไม่ปรากฎเป็นรูปร่างสัณฐานเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเพียงเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานว่าเป็นสิ่งใด มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และขณะจิตต่อไปที่รู้ว่า เป็นวงกลม เป็นสามเหลี่ยม ก็นึกถึงชื่อที่เคยจำว่าเป็นรูปเช่นนี้ เรียกว่าอย่างนี้ ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์เช่นกัน ครับ

จากคำถามที่ว่าแล้วอย่างการกระทบสัมผัสทางกาย ก็กายปสาทะนั้นซึบซาบอยู่ทั่วตัว ขณะที่กระทบแข็ง ขณะนั้นแข็งเนี่ยปรากฏไม่ใช่แค่ที่รูปกลาปเดียวที่มีกายปสาทะเกิดร่วมด้วย แต่แข็งปรากฏหลายๆ ๆ กลาป เป็นวงกว้างบ้าง น้อยบ้าง เช่นถ้าแข็งกระทบตรงมือ ก็ปรากฏเป็นวงกว้างน้อย แต่ถ้าแข็งกระทบตรงหน้าท้อง ก็ปรากฏเป็นวงกว้างมาก ขณะที่รู้แข็ง โดยความเป็นวงกว้างน้อย กว้างมาก ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติหรือเป็นปรมัตถ์ครับ เพราะว่าไม่ได้รู้แค่ลักษณะของแข็งที่ปรากฏ แต่รู้เป็นลักษณะของแข็งเป็นวงกว้างเท่านี้ๆ โดยแม้ยังไม่ต้องถึงกับคิดชื่อ เรื่องราว เป็นคำๆ ว่า "แข็งนี้กว้างประมาณเท่านี้ๆ " แค่กำลังรู้แข็งที่มีประมาณเท่านี้ๆ เท่านั้น

- กายวิญญาณ จะต้องมีอารมณ์ที่เป็นสิ่งที่กระทบทางกายที่เป็นแข็ง ซึ่งก็ต้องมีลักษณะที่แข็งเป็นอารมณ์เท่านั้น แต่ควรเข้าใจความจริงว่า จิตเกิดดับสลับกันรวดเร็วมากๆ เพราะฉะนั้น ก็เกิดกายวิญญาณมากมายนับไม่ถ้วน ในการเกิดดับสืบต่อกันของสภาพธรรมที่เป็นจิตเกิดดับรวดเร็ว ดังนั้น ก็เกิดการรู้แข็ง หลายๆ ขณะจิตได้ เป็นแข็งตรงนั้น ตรงนี้ ซึ่งมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ในขณะนั้น แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพราะเป็นกายวิญญาณรู้ ไม่ใช่กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานรู้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

-บัญญัติ ไม่มีจริง ไม่มีสภาวลักษณะ บัญญัติเป็นอารมณ์ของจิตในขณะที่จิตคิดถึงชื่อ เรื่องราว สัณฐานต่างๆ เท่านั้น คือ ไม่ใช่สภาพธรรม แต่เพราะมีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก และรูป จึงมีการบัญญัติเรียกว่าเป็นคนนั้น คนนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้ บัญญัติจึงไม่มีจริง ไม่มีลักษณะ เป็นสิ่งที่จิตคิด นั่นเอง

-บัญญัติ ไม่มีลักษณะสภาวะเป็นของตนเอง เป็นอารมณ์ของวิถีจิตทางมโนทวารเท่านั้นแม้พยัญชนะที่กล่าวว่า บัญญัติธรรม ก็คือ บัญญัติ นั่นเอง ไม่ได้หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของจิตที่คิดนึกเท่านั้น

-ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรมนั้น มี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะให้รู้ตามความเป็นจริงได้ แม้พระนิพพานก็มีลักษณะ คือ มีความสงบเป็นลักษณะ พระนิพพาน ไม่เกิด ไม่ดับ แต่มีจริงๆ ซึ่งจะต่างกับบัญญัติอย่างสิ้นเชิง เพราะบัญญัติไม่มีจริง ไม่มีลักษณะ ครับ

-อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งให้สติปัญญาระลึกรู้ตามความเป็นจริงต้องเป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะ มีสภาวะ ถ้ากล่าวว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ก็ย่อมไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะบัญญัติไม่มีลักษณะ ไม่มีอยู่จริง

-ขณะที่คิดนึก อะไรที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คิดนึกมีจริง แต่เรื่องราวที่คิดนึกไม่มีจริง เป็นเพียงบัญญัติเรื่องราวที่เป็นอารมณ์ของจิตที่คิดนึกเท่านั้น

-จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ที่เห็นเป็นรูปต่างๆ เป็นเหลื่ยม เป็นต้น ไม่ใช่ทางตาแล้ว แต่เป็นทางใจ เพราะขณะที่เห็นจริงๆ ก็ต้องเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

-แข็ง เป็นรูปธรรม เป็นธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์ แต่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป แข็งเป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางกาย กระทบตรงไหนก็รู้ตรงนั้น ซึ่งจะต้องอาศัยกายปสาทะจึงจะเป็นเหตุให้จิตรู้แข็งเกิดขึ้นได้ กลุ่มของรูปที่เป็นกายปสาทะก็มีหลายรูปที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น แต่ก็เฉพาะกายปสาทะเท่านั้นที่รับกระทบกับแข็ง จิตที่รู้แข็งไม่ใช่มีเฉพาะกายวิญญาณเท่านั้น แต่จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นทางกาย คือทางกายทวาร ย่อมรู้แข็งเหมือนกันทั้งหมด แต่ต่างกันตามกิจหน้าที่ของจิตแต่ละขณะ กายวิญญาณรู้โดยกิจหน้าที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเพียงขณะเดียวแล้วก็ดับไป ซึ่งก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็ต้องอาศัยการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

..ขอบพระคุณ อ.ผเดิมและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 3 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ค. 2556

บัญญัติไม่มีลักษณะเพราะไม่เกิดดับ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
boonpoj
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 5 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jirat wen
วันที่ 7 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 7 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Sea
วันที่ 22 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ