สักกายทิฏฐิ

 
นิรมิต
วันที่  3 พ.ค. 2556
หมายเลข  22850
อ่าน  1,515

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตกราบเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ

สักกายทิฏฐิคือความเห็นว่าขันธ์5 มีเรา หรือมีตัวตน สัตว์ บุคคล มีตัวเรา มีคนนั้นคนนี้ โดยความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ถูกต้องไหมครับ

ก็สักกายทิฏฐินี้มีความหมายครอบคลุมกว้างขนาดไหนครับ สักกายทิฏฐิไม่ใช่แค่เห็นว่ามีเรา แต่เห็นว่ามีสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ก็เป็นสักกายทิฏฐิเหมือนกันใช่ไหมครับ เช่นที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ก็คือเห็นว่ามีดอกไม้ ต้นไม้ เก้าอี้ โต๊ะ ฯลฯ

ทีนี้ ก็ถ้าเห็นว่ามีร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ไม่ได้เห็นว่ามีตัวตน มีตัวเราที่เที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือไม่ได้เห็นว่ามีตัวเราอยู่ในร่างกายนี้ แต่เห็นว่ามีรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีมือ มีเท้า มีปอด มีม้าม มีสมอง หัวใจ ลำไส้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีนิมิต อนุพยัญชนะต่างๆ แม้โดยความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา ก็ยังคงเป็นสักกายทิฏฐิด้วย ใช่ไหม

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ

สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม คือ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงของสภาพธรรม (ตามที่คุณนิรมิตได้แสดงความคิดเห็นมา) ขึ้นชื่อว่าความเห็นผิดแล้ว (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิก็เช่นเดียวกัน เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ที่เห็นผิดในสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล และยังครอบคลุมถึงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย

เพราะแท้ที่จริงแล้ว ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดประเภทนี้ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน

ประเด็นที่ควรจะได้พิจารณา คือ การเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสักกายทิฏฐิเสมอไป เพราะจะเป็นความเห็นผิดก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีเราจริงๆ มีตัวตนจริงๆ เป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน เป็นต้น

เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเห็นแล้วก็คิดนึกจำเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ หมายรู้ว่า เป็นใคร เป็นอะไร เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นต้น ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ก็ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ ที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ก็เป็นความเห็นผิด

แต่สำหรับพระอริยบุคคลท่านดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ มีบุคคล หรือ มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ ในขณะนั้น เพียงแต่จำในนิมิต สัณฐาน หรือ ส่วนละเอียดต่างๆ นั้น ตามที่เป็นอย่างนั้น หมายรู้ว่า เป็นใครหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์บุคคล หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า สักกายทิฏฐิคือความเห็นว่าขันธ์5 มีเรา หรือมีตัวตน สัตว์ บุคคล มีตัวเรา มีคนนั้น คนนี้ โดยความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ถูกต้องไหมครับ

- สักกายทิฏฐิ คือ การเห็นว่า ขันธ์ ๕ หรือ สภาพธรรมที่สมมติว่าเป็นเรา สำคัญคือ จะต้องเกิดความเห็นว่ามีเราจริงๆ ในขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ และไม่ใช่เพียงความเห็นเพียงเท่านี้ที่เป็นสักกายทิฏฐิ แม้แต่การยึดถือรูปร่างกายคนอื่นและสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน จริงๆ ก็ชื่อว่าเป็นสักกายทิฏฐิเช่นกัน เพียงแต่จะต้องเข้าใจคำจำกัดความว่าจะต้องมีความเห็นเกิดขึ้นมา ที่เป็นความเห็นผิด ครับ

จากคำถามที่ว่า ก็สักกายทิฏฐิ นี้มีความหมายครอบคลุมกว้างขนาดไหนครับ สักกายทิฏฐิ ไม่ใช่แค่เห็นว่ามีเรา แต่เห็นว่ามีสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ก็เป็นสักกายทิฏฐิเหมือนกันใช่ไหมครับ เช่นที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ก็คือ เห็นว่ามีดอกไม้ ต้นไม้ เก้าอี้ โต๊ะ ฯลฯ

- ถูกต้องครับ เพราะว่าในความเป็นจริง ดอกไม้ สิ่งของ แท้ที่จริงก็เป็นเพียงรูปธรรมที่ประชุมรวมกันของรูป หากแต่ว่าสัตว์โลกมีความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ จึงสำคัญว่ารูปธรรมนั้นเป็นสิ่งของ เป็นสิ่งต่างๆ จริงๆ และสำคัญว่าเที่ยง เป็นต้น ด้วย และขณะที่เห็นดอกไม้ ก่อนนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฎทางตา แล้วคิดนึก แต่ก็สำคัญผิดว่ามีสิ่งนั้นจริงๆ ที่เป็นดอกไม้ เป็นต้น ครับ ที่เป็นความเห็นผิด

จากคำถามที่ว่า ทีนี้ ก็ถ้าเห็นว่ามีร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ไม่ได้เห็นว่ามีตัวตน มีตัวเราที่เที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือไม่ได้เห็นว่ามีตัวเราอยู่ในร่างกายนี้ แต่เห็นว่ามีรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีมือ มีเท้า มีปอด มีม้าม มีสมอง หัวใจ ลำไส้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีนิมิต อนุพยัญชนะต่างๆ แม้โดยความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา ก็ยังคงเป็นสักกายทิฏฐิด้วยใช่ไหม

- การเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่พระอริยเจ้าและพระพุทธเจ้า ผู้ที่ดับความเห็นผิดจนหมดสิ้น ก็ยังจะต้องเห็นเป็นสิ่งนั้น เห็นเป็นดอกไม้ เป็นพระอานนท์ เพราะเหตุใด เพราะตามธรรมชาติของวิถีจิตที่จะต้องเป็นอย่างนั้น คือ เกิดทางปัญจทวาร แล้วก็เกิดทางมโนทวารต่อ ที่คิดในรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น จึงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเห็นแล้ว คิดนึกเป็นสัตว์บุคคลต่างๆ ด้วยกุศลจิตก็ได้ เช่น เห็นขอทานแล้วเกิดชวนจิตที่เป็นกุศลที่มีเจตนาจะให้ โดยมีบัญญัติ เรื่องราว สัตว์ บุคคล หรือ ขอทาน เป็นอารมณ์ แม้จะเห็นเป็นสัตว์บุคคล แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด แต่เกิดกุศลจิตแทน ครับ

และแม้แต่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล แล้วเกิดอกุศลจิต แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิดก็ได้ คือ ไม่มีสักกายทิฏฐิ เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทที่เป็นโทสะ เช่น เห็นคนนี้แล้ว เห็นเป็นสัตว์บุคคล แล้วไม่ชอบหน้าคนนี้ ขณะนั้นมีความโกรธ แต่ไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลจริงๆ ในขณะนั้น ครับ เพราะความเห็นผิด สักกายทิฏฐิ ไม่เกิดกับโทสมูลจิต เกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น และแม้แต่เกิดกุศลจิต เช่น เป็น ผม ขน เล็บ เป็นสัตว์ บุคคล ด้วยการเจริญปัญญา เจริญความสงบที่เป็นสมถภาวนา ก็ได้ ที่เป็นการระลึกด้วยสติ ที่เห็นความไม่งาม ปฏิกูลของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในบัญญติสมมติก็ได้ โดยไม่ได้มีความเห็นผิด แต่เกิดกุศลจิตในขณะนั้น นี่คือความละเอียดของพระธรรมครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 3 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 5 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 5 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ