พินาศเพราะปาก [กัจฉปชาดก]

 
khampan.a
วันที่  6 พ.ค. 2556
หมายเลข  22865
อ่าน  1,874

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้าที่ ๓๔๓

๕. กัจฉปชาดก*

ตายเพราะปาก

[๒๗๙] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสีย ด้วยวาจาของตนเอง.

[๒๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุอันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่าผู้ล่วงถึงความพินาศเพราะพูดมาก.

จบ กัจฉปชาดกที่ ๕

อรรถกถากัจฉปชาดกที่ ๕

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อวธิ วต อตฺตาน ดังนี้. เรื่องราว จักมีแจ้งในมหาตักการิชาดก. ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โกกาลิกะมิใช่ฆ่าตัวเองด้วยวาจาในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็ฆ่าตัวตายด้วยวาจาเหมือนกัน จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระองค์. แต่พระราชาพระองค์ช่างพูด. เมื่อพระองค์ตรัสคนอื่นไม่มีโอกาสพูดได้เลย. พระโพธิสัตว์ประสงค์จะปรามความพูดมากของพระองค์ จึงคิดตรองหาอุบายสักอย่างหนึ่ง. ก็ในกาลนั้น มีเต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่สระแห่งหนึ่ง ในหิมวันตประเทศ. มีลูกหงส์สองตัวหากินจนสนิทสนมกับเต่า. ลูกหงส์สองตัวนั้นครั้นสนิทสนมแน่นแฟ้น วันหนึ่งจึงพูดกับเต่าว่า เต่าสหายรัก ที่อยู่ในถ้ำทองที่พื้นภูเขาจิตรกูฏในป่าหิมพานต์ของพวกเรา เป็นประเทศน่ารื่นรมย์ ท่านจะไปกับเราไหม. เต่าถามว่า เราจะไปได้อย่างไรเล่า. ลูกหงส์กล่าวว่าเราจักพาท่านไปหากท่านรักษาปากไว้ได้ ท่านจะไม่พูดอะไรกะใครๆ เลย. เต่าตอบว่า ได้ พวกท่านพาเราไปเถิด. ลูกหงส์ทั้งสองจึงให้เต่าคาบไม้อันหนึ่ง ตนเองคาบปลายไม้ทั้งสองข้างบินไปในอากาศ. พวกเด็กชาวบ้านเห็นหงส์นำเต่าไปดังนั้น จึงตะโกนขึ้นว่า หงส์สองตัวนำเต่าไปด้วยท่อนไม้. เต่าอยากจะพูดว่า ถึงสหายของเราจะพาเราไป เจ้าเด็กถ่อยมันกงการอะไรของเจ้าเล่า จึงปล่อยท่อนไม้จากที่ที่คาบไว้ ในเวลาที่ถึงเบื้องบนพระราชนิเวศน์ในนครพาราณสี เพราะหงส์พาไปเร็วมาก จึงตกในอากาศแตกเป็นสองเสี่ยง. ได้เกิดเอะอะอึงคะนึงกันว่า เต่าตกจากอากาศแตกสองเสี่ยง

พระราชาทรงพาพระโพธิสัตว์ไป มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม เสด็จไปถึงที่นั้น ทอดพระ เนตรเห็นเต่า จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนท่านบัณฑิต ทำอย่างไรจึงได้ตกมา. พระโพธิสัตว์คิดว่า เราคอยมานานแล้ว ใคร่จะถวายโอวาทพระราชา เที่ยวตรองหาอุบายอยู่ เต่าตัวนี้คงจะคุ้นเคยกับหงส์เหล่านั้น พวกหงส์จึงให้คาบไม้ไปด้วยหวังว่า จะนำไปป่าหิมพานต์ จึงบินไปในอากาศ ครั้นแล้วเต่าตัวนี้ได้ยินคำของใครๆ อยากจะพูดตอบบ้าง เพราะตนไม่รักษาปาก จึงปล่อยท่อนไม้เสีย ตกจากอากาศถึงแก่ความตาย จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาคนปากกล้าพูดไม่รู้จบ ย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้แหละ พระเจ้าข้า แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสียด้วยวาจาของตนเอง. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นเหตุอันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่า ผู้ถึงความพินาศเพราะพูดมาก.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อวธิวต ได้แก่ ได้ฆ่าแล้วหนอ.

บทว่า ปพฺยาหร ได้แก่อ้าปากจะพูด.

บทว่า สุคฺคหิตสฺมึ กฏฺสฺมึ ความว่า เมื่อท่อนไม้อันตนคาบไว้ดีแล้ว.

บทว่า วาจาย สกิยา วธิ ความว่า เต่าเมื่อเปล่งวาจาในเวลาไม่ควร เพราะความที่ตนปากกล้าเกินไป จึงปล่อยที่ที่คาบไว้แล้ว ฆ่าตนเองด้วยวาจาของตนนั้น. เต่าได้ถึงแก่ความตายอย่างนี้แหละ มิใช่อย่างอื่น.

บทว่า เอตมฺปิ ทิสฺวา คือ เห็นเหตุนี้แหละ.

บทว่า นรวีรเสฏฺ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ มีความเพียรสูง เป็นพระราชาผู้ประเสริฐด้วยความเพียรในนรชนทั้งหลาย.

บทว่า วาจ ปมุญฺเจ กุสล นาติเวล ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงเปล่งวาจาที่เป็นกุศลอย่างเดียว ประกอบด้วยสัจจะเป็นต้น คือพึงกล่าววาจาที่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วยกาล ไม่พึงกล่าววาจาเกินเวลา เกินกาลไม่ รู้จักจบ.

บทว่า ปสฺสสิ ความว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นประจักษ์แล้วมิใช่หรือ.

บทว่า พหุภาณเนน แปลว่า เพราะพูดมาก.

บทว่า กจฺฉป พฺยสน คต คือ เต่าถึงแก่ความตายอย่างนี้.

พระราชาทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์กล่าว หมายถึงพระองค์ จึงตรัสว่า ท่านพูดหมายถึงเราใช่ไหม ท่านบัณฑิต. พระโพธิสัตว์กราบทูลให้ชัดเจนว่า ข้าแต่มหาราช ไม่ว่าจะเป็นพระองค์หรือใครๆ อื่น เมื่อพูดเกินประมาณ ย่อมถึงความพินาศอย่างนี้. พระราชาตั้งแต่นั้นมาก็ทรงงดเว้นตรัสแต่น้อย

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก เต่าในครั้งนั้นได้เป็นโกกาลิกะในครั้งนี้ ลูกหงส์สองตัวได้เป็นพระมหาเถระสองรูป พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วนอำมาตย์บัณฑิต ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

จบ อรรถกถากัจฉปชาดกที่ ๕

*หมายเหตุ กัจฉปะ แปลว่า เต่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
orawan.c
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 29 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ