ความเป็นไปของกิเลส [มณิโจรชาดก]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓- หน้าที่ ๒๓๙
๔. มณิโจรชาดก
(ว่าด้วยพระเจ้าอธัมมิกราช)
[๒๓๗] เทวดาทั้งหลาย (ผู้ดูแลรักษาชนผู้มีศีล
และคอยกีดกันคนชั่ว) ย่อมไม่มีอยู่ในโลกเป็น
แน่ หรือเมื่อกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น ย่อมพากันไป
ค้างแรมเสียเป็นแน่ อนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
อันเขาสมมติว่าเป็นผู้รักษาโลก ไม่มีอยู่ในโลก
นี้เป็นแน่ เมื่อชนทุศีลทั้งหลายกระทำกรรมอัน
สาหัส บุคคลผู้ห้ามปรามไม่มีอยู่เป็นแน่.
[๒๓๘] ในรัชสมัยของพระเจ้าอธรรมิกราช ฝน
ย่อมตกในเวลาอันไม่ควรจะตก ในเวลาที่ควร
จะตกก็ไม่ตก พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อม
จุติจากฐานะคือสวรรค์ พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ใน
ธรรมนั้น ใช่ว่าจะได้รับความยากเข็ญด้วยเหตุ
มีประมาณเท่านั้นก็หาไม่.
จบ มณิโจรชาดกที่ ๔
อรรถกถามณิโจรชาดกที่ ๔
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภพระเทวทัตผู้พยายามปลงพระชนม์ ตรัสพระธรรมเทศนา
นี้มีคำเริ่มต้นว่า น สนฺติ เทวา ปวสนฺติ ดังนี้.
พระศาสดาทรงสดับว่า พระเทวทัตพยายามปลงพระชนม์
จึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตพยายามฆ่าเรา ใช่ว่าใน
ครั้งนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ครั้งก่อนก็พยายามฆ่าเราเหมือนกัน
ถึงแม้พยายามก็ไม่สามารถฆ่าเราได้ แล้วทรงนำเรื่องอดีตมา
ตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลคหบดี ที่หมู่บ้าน
ไม่ไกลจากกรุงพาราณสี. ครั้นเจริญวัย มารดาบิดาจึงได้นำ
กุลธิดามาจากกรุงพาราณสี. นางเป็นที่รัก มีรูปสวย น่าดู
ดุจเทพอัปสร ดุจบุบผลดา (ดอกไม้เถา) และดุจกินรีเยื้องกราย
ปฏิบัติสามีดี ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีชื่อว่า สุชาดา. การ
ปฏิบัติสามีก็ดี การปฏิบัติแม่ผัวก็ดี การปฏิบัติพ่อผัวก็ดี หญิง
นี้ทำจนเสร็จสิ้น ตลอดกาลเป็นนิจ นางจึงเป็นที่รัก เป็นที่
โปรดปรานของพระโพธิสัตว์ ทั้งสองสามีภรรยามีใจชุ่มชื่น
รักเดียวใจเดียว อยู่ร่วมกันด้วยความสมัครสมาน.
อยู่มาวันหนึ่ง นางสุชาดาบอกแก่พระโพธิสัตว์ว่า อยาก
จะไปเยี่ยมมารดาบิดา. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดีละน้อง จงเตรียม
สะเบียงให้เพียงพอในการเดินทาง ให้ทอดของเคี้ยวต่างชนิด
แล้วบรรทุกของเคี้ยวเป็นต้น ลงบนยานน้อย นั่งข้างหน้ายาน
ขับไป ส่วนนางนั่งข้างหลัง. ทั้งสองไปใกล้พระนคร จึงปลด
ยานอาบน้ำบริโภคอาหาร. เสร็จแล้วพระโพธิสัตว์ก็เทียมยาน
นั่งไปข้างหน้า. นางสุชาดา ผลัดผ้าตกแต่งร่างกายนั่งอยู่ข้างหลัง.
ในเวลาที่ยานเข้าไปภายในพระนคร พระเจ้าพาราณสี
ประทับบนคอคชสารตัวประเสริฐ. กระทำทักษิณพระนคร ได้
เสด็จมาถึงที่นั้น. นางสุชาดา ลงเดินด้วยเท้ามาข้างหลังยาน.
พระราชาทอดพระเนตรเห็นนาง ถูกรูปสมบัติของนางรัดรึง
พระทัย มีจิตปฏิพัทธ์ ทรงส่งอำมาตย์คนหนึ่งไปด้วยพระดำรัสว่า
ท่านจงไป จงรู้ว่า นางมีสามีหรือยังไม่มี. ครั้นอำมาตย์ไปก็รู้
ว่า นางมีสามีแล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ นางมี
สามีแล้วพระเจ้าข้า บุรุษที่นั่งอยู่บนยานเป็นสามีของนาง.
พระราชา ไม่อาจทรงอดกลั้นความมีพระทัยปฏิพัทธ์ (ผูกกันด้วยความติดข้อง) ได้
ทรงเร่าร้อนไปด้วยกิเลส ทรงดำริว่า เราจักฆ่าเสีย ด้วยอุบายอย่าง
หนึ่ง แล้วยึดเอาหญิงนี้มา ทรงเรียกบุรุษคนหนึ่งมา แล้วตรัสว่า
เจ้าจงไป จงเอาปิ่นมณีนี้ไป ทำเป็นคนเดินถนน ซุกซ่อนไว้ในยาน
ของชายนี้แล้วกลับมา ทรงส่งปิ่นมณีให้ไป. เขาทูลรับพระดำรัส
จึงถือเอาปิ่นมณีนั้นไปวางไว้ในยานแล้ว กลับมากราบทูลว่า
เสร็จแล้วพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ปิ่นมณีของเราหายไป.
พวกมนุษย์ ต่างพากันแตกตื่นเป็นโกลาหล. พระราชาตรัสว่า
ท่านทั้งหลายจงปิดประตูทุกด้าน ตัดการสัญจรไปมาค้นหาโจร.
พวกราชบุรุษได้ทำตามพระราชโองการ. พระนครเกิดเกรียว-
กราวกันไปทั่ว. บุรุษคนหนึ่ง พาพวกเจ้าหน้าที่ไปหาพระโพธิ-
สัตว์ กล่าวว่า จงหยุดยานก่อนพ่อคุณ ปิ่นมณีของพระราชา
หายไป เราจักตรวจยาน เมื่อตรวจยาน ยึดปิ่นมณีที่ตนซ่อนไว้
จับพระโพธิสัตว์โบยด้วยมือและเท้า กล่าวหาว่าเป็นโจรลักปิ่นมณี
แล้วมัดแขนไพล่หลัง นำไปมอบแด่พระราชา กราบทูลว่า ชาย
ผู้นี้เป็นโจรลักปิ่นมณี พระเจ้าข้า. พระราชามีพระบัญชาว่า
จงตัดศีรษะมันเสีย. พวกราชบุรุษเอาหวายเฆี่ยนพระโพธิสัตว์
ยกละสี่ๆ นำออกจากพระนครทางประตูขวา. แม้นางสุชาดา
ก็ทิ้งยาน ประคองแขนคร่ำครวญเดินรำพันตามไปข้างหลังว่า
ข้าแต่สามี ท่านได้รับทุกข์นี้เพราะอาศัยข้าพเจ้า. พวกราชบุรุษ
ให้พระโพธิสัตว์นอนหงายด้วยหมายใจว่า จักตัดศีรษะของพระ-
โพธิสัตว์นั้น. นางสุชาดาเห็นดังนั้น จึงรำลึกถึงคุณแห่งศีล
ของตน แล้วรำพันเป็นต้นว่า ชื่อว่า เทพเจ้าผู้สามารถห้าม
เหล่ามนุษย์มีนิสัยชั่วช้าสาหัส ซึ่งเบียดเบียนผู้มีศีลทั้งหลาย
ในโลกนี้ เห็นจะไม่มีแล้วหนอ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
เทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีอยู่ในโลกนี้
เป็นแน่ หรือเมื่อกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น ย่อมพา
กันไปค้างแรมเสียเป็นแน่ อนึ่ง สมณพราหมณ์
ทั้งหลายอันเขาสมมติว่า เป็นผู้รักษาโลก ไม่มี
อยู่ในโลกนี้เป็นแน่ เมื่อชนทุศีลกระทำกรรม
อันสาหัสบุคคลผู้ห้ามปรามไม่มีอยู่เป็นแน่.
ในบทเหล่านั้น บทว่า น สนฺติ เทวา ความว่า เทพเจ้า
ทั้งหลาย ผู้ดูแลผู้มีศีล และห้ามคนชั่วไม่มีอยู่ในโลกนี้เป็นแน่.
บทว่า ปวสนฺติ นูน ความว่า หรือเมื่อกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น เทพเจ้า
ทั้งหลาย ก็พากันไปค้างแรมเสีย คือ ไปอยู่ที่อื่นหมดเป็นแน่.
บทว่า อิธ โลกปาลา ความว่า แม้สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มี
ศีล ผู้อนุเคราะห์ที่เขาสมมติว่าเป็นผู้รักษาโลก เห็นจะไม่มีอยู่
ในโลกนี้เป็นแน่. บทว่า สหสา กโรนฺตานํ อสญฺญตานํ ได้แก่
คนทุศีล ผู้กระทำกรรมสาหัส คือกรรมหยาบช้า ไม่สอบสวน
ให้ถ่องแท้. บทว่า ปฏิเสธตาโร คือผู้ห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่า
ทำกรรมเห็นปานนี้ จะทำดังนี้ไม่ได้ ดังนี้คงไม่มีเลย.
เมื่อนางผู้สมบูรณ์ด้วยศีลคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ อาสนะ
ที่ประทับนั่งของท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะ
ทรงรำพึงว่า ใครหนอหวังจะให้เราเคลื่อนจากตำแหน่งสักกะ
ครั้นทรงทราบเหตุนี้ว่า พระราชาพาราณสีทรงทำกรรม
หยาบยิ่งนัก ทำให้นางสุชาดาผู้สมบูรณ์ด้วยศีลลำบาก เราควร
จะไปในบัดนี้ จึงเสด็จลงจากเทวโลก บันดาลให้พระราชาลามก
ซึ่งประทับนั่งบนหลังคชสารเสต็จลงจากคชสาร ให้บรรทม
หงายเหนือเขียงสัญญาณ แล้วทรงอุ้มพระโพธิสัตว์ให้ทรงเครื่อง
อลังการพร้อมสรรพ ทรงเพศเป็นพระราชาประทับนั่งเหนือ
คอคชสาร. เพชฌฆาตผู้ยืนเงื้อขวานคอยจะตัดศีรษะ ก็ตัดเอา
พระเศียรของพระราชา. ในเวลาตัดนั่นเองจึงรู้ว่าเป็นพระเศียร
ของพระราชา. ท้าวสักกเทวราชทรงแสดงพระกายให้ปรากฏ
เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ทรงกระทำราชาภิเษกแก่พระราชา
ทรงตั้งตำแหน่งอัครมเหสีแก่นางสุชาดา.
พวกอำมาตย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นต้น เห็นท้าวสักก-
เทวราชแล้ว ต่างชื่นชมปรีดาว่า พระราชาผู้ปราศจากธรรม
สิ้นพระชนม์แล้ว บัดนี้พวกเราได้พระราชาผู้ทรงธรรม ซึ่ง
ท้าวสักกะทรงประทาน. ท้าวสักกะประทับอยู่บนอากาศ ทรง
ตรัสแก่บริษัททั้งหลายว่า พวกท่านได้พระราชาองค์นี้ที่ท้าว-
สักกะให้แล้ว. มีเทวดำรัสต่อไปว่า ดูก่อนมหาราช ตั้งแต่นี้ไป
ขอให้ท่านครองราชสมบัติโดยธรรมเถิด หากพระราชาไม่
ประกอบด้วยธรรม ฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยสามอย่าง
เหล่านี้คือ ภัยเกิดจากความอดอยาก ๑ ภัยเกิดจากโรค ๑ ภัย
เกิดจากศัตรู ๑ ก็จะบังเกิดขึ้นเมื่อจะถวายโอวาท จึงตรัส
คาถาที่ ๒ ว่า :-
ในรัชสมัยของพระเจ้าอธรรมิกราช ฝน
ย่อมตกในเวลาอันไม่ควรตก ในเวลาที่ควรตก
ก็ไม่ตก พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมนั้น ใช่ว่า
จะได้รับความยากเข็ญด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้น
ก็หามิได้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อกาเล ความว่า ในรัชสมัยของ
พระเจ้าอธรรมิกราช ฝนย่อมตกในกาลอันไม่ควร คือในเวลา
ข้าวสุกแล้วบ้าง ในเวลาเกี่ยวบ้าง ในเวลานวดเป็นต้นบ้าง.
บทว่า กาเล ความว่า แต่ไม่ตก ในเวลาประกอบการงานและ
ขวนขวายในการงาน ในเวลาหว่าน ในเวลาข้าวกล้า ข้าวอ่อน
ในเวลาข้าวตั้งท้อง. บทว่า สคฺคา จ จวติ ฐานา ความว่า เคลื่อน
จากฐานะอันได้แก่สวรรค์ คือจากเทวโลก. จริงอยู่พระราชาผู้
ไม่ตั้งอยู่ในธรรมชื่อว่าเคลื่อนจากเทวโลก เพราะไม่ได้ลาภ
หรือเมื่อครองราชสมบัติอยู่บนสวรรค์ ก็ชื่อว่าเคลื่อนจากสวรรค์
นั้น. บทว่า นนุ โส ตาวตา หโต ความว่า พระราชาผู้ไม่ตั้ง
อยู่ในธรรมนั้น จะถูกกำจัดด้วยเหตุเพียงนี้เป็นแท้. อีกอย่างหนึ่ง
จักเดือดร้อนในมหานรกแปดขุม และในอุสสทนรกสิบหกขุม
นี้เป็นอธิบายในบทนี้.
ท้าวสักกะประทานโอวาทแก่มหาชนอย่างนี้แล้ว ได้เสด็จ
กลับไปยังเทวสถานของพระองค์. แม้พระโพธิสัตว์ก็ครองราช-
สมบัติโดยธรรม ทรงบำเพ็ญทางไปสวรรค์ให้บริบูรณ์.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดก. พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัต
ในครั้งนี้ ท้าวสักกะได้เป็นอนุรุทธ นางสุชาดาได้เป็นมารดา
ราหุล ส่วนพระราชาที่ท้าวสักกะประทาน คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถามณิโจรชาดกที่ ๔ .