คาถาที่ ๑๐.. ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์

 
pirmsombat
วันที่  13 พ.ค. 2556
หมายเลข  22896
อ่าน  1,856

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 168

คาถาที่ ๑๐

คาถาว่า โอโรปยิตฺวา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?

ได้ยินว่า พระราชาพระนามว่า จาตุมาสิกพรหมทัต ในกรุงพาราณสี

เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ในเดือนต้นแห่งฤดูร้อน ทรงเห็นต้นทองหลางซึ่ง

สล้างด้วยใบหนาสีเขียว ในภูมิภาคอันเป็นที่รื่นรมย์ในพระราชอุทยานนั้น

ตรัสว่า จงจัดที่นอนให้เราที่โคนต้นทองหลาง ทรงเล่นในพระราชอุทยาน

แล้ว ทรงบรรทมที่โคนต้นทองหลางนั้น จนถึงเวลาเย็น เสด็จไปสู่พระราช-

อุทยานในเดือนท่ามกลางแห่งฤดูร้อนอีก ในกาลนั้น ต้นทองหลางผลิดอกแล้ว

แม้ในกาลนั้น ก็ทรงกระทำอย่างนั้น เสด็จไปสู่พระราชอุทยานในเดือนท้าย

แห่งฤดูร้อนอีก ในกาลนั้น ต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นแล้ว เป็นเหมือน

ต้นไม้แห้ง แม้ในกาลนั้น พระองค์ยังไม่ทรงเห็นต้นไม้นั้นเลย ตรัสสั่งให้จัด

ที่บรรทม ที่โคนต้นทองหลางนั้นแหละ ตามที่ทรงประพฤติมาในกาลก่อน.

อำมาตย์ทั้งหลายแม้รู้อยู่ ก็จัดที่บรรทมในโคนต้นทองหลางนั้น เพราะกลัวว่า

พระราชาตรัสสั่งแล้ว.

พระองค์ทรงเล่นในพระราชอุทยาน ในสมัยเย็น ทรงบรรทมที่โคน

ต้นทองหลางนั้น ทรงเห็นต้นไม้นั้นแล้ว ทรงพระราชดำริว่า ในกาลก่อนต้นไม้

นี้ สล้างด้วยใบ น่าดูยิ่งนักเหมือนสำเร็จแล้วด้วยแก้วมณี ต่อแต่นั้น ก็เป็น

ต้นไม้ มีดอกบานสะพรั่งเช่นกับหน่อแก้วประพาฬที่วางไว้ในระหว่างกิ่งซึ่งมี

สีเขียว น่าดูดุจทองคำมีสิริ และภายใต้ภูมิภาคแห่งต้นทองหลางนั้นเล่า ก็

เกลื่อนกล่นด้วยทรายเช่นกับแล้วมุกดาหาร ดารดาษไปด้วยดอกซึ่งหลุดออกจาก

ขั้ว เป็นดุจปูลาดด้วยผ้ากัมพลแดง วันนี้ต้นไม้ชื่อนั้น ยืนต้นอยู่เหลือแต่กิ่ง

เหมือนต้นไม้แห้ง โอ ! ต้นไม้นี้ถูกชราเข้ากระทบแล้ว ย่อมร่วงโรยไป ดังนี้

แล้ว ทรงได้อนิจจสัญญาว่า แม้อนุปาทินนสังขาร ยังถูกชรากระทบได้ ก็จะ

ป่วยกล่าวไปไยถึงอุปาทินนสังขารเล่า และพระองค์เมื่อทรงเห็นแจ้ง ซึ่งสังขาร

ทั้งปวงตามทำนองแห่งอนิจจสัญญานั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง แสะโดย

ความเป็นอนัตตา

ทรงปรารถนาว่า โอหนอ ! แม้เราพึงปราศจากเพศคฤหัสถ์

เหมือนต้นทองหลางสลัดใบฉะนั้น

ทรงบรรทมโดยปรัศว์เบื้องขวาบนพื้นพระ

ที่บรรทมนั้นนั่นแล ก็ทรงทำให้แจ้ง ซึ่งปัจเจกโพธิญาณโดยลำดับ ในกาล

เสด็จไปจากพระราชอุทยานนั้น ครั้นอำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่มหาราช ได้

เวลาเสด็จกลับแล้วพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า เราไม่ใช่พระราชาเป็นต้น จึงตรัส

พระคาถาโดยนัยก่อนนั่นแลว่า

โอโรปยิตฺวา คิหิพฺยญฺชนานิ

สญฺฉินฺนปตฺโต ยถา โกวิฬาโร

เฉตฺวาน ธีโร คิหิพนฺธนานิ

เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

นักปราชญ์ละเหตุอันเป็นเครื่อง

ปรากฏแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบ

ร่วงหล่น ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ได้แล้ว

พึงเที่ยวผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้.

ในคาถานั้น บทว่า โอโรปยิตฺวา ความว่าทิ้งแล้ว นำออกแล้ว.

บทว่า คิหิพฺยญฺชนานิ

ความว่า ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ระเบียบ ของหอม

ของลูบไล้ สตรี บุตร ทาสี ทาส เป็นต้นเหล่านั้นย่อมแสดงความเป็น

คฤหัสถ์ให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า คิหิพฺยญฺชนานิ แปลว่า

เครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์.

บทว่า สญฺฉินฺนปตฺโต ความว่า มีใบหล่นแล้ว. บทว่า เฉตฺวาน

คือ ตัดแล้วด้วยมรรคญาณ. บทว่า ธีโร ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยมรรค

วิริยะ. บทว่า คิหิพนฺธนานิ ได้แก่ เครื่องผูกคือกาม. เพราะกามทั้งหลาย

เป็นเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ทั้งหลาย.

เนื้อความตามบทมีเท่านี้ก่อน ส่วนอธิบายมีดังนี้ ก็พระราชาทรง

ดำริอย่างนี้ว่า

โอหนอ แม้เราละเหตุอันเป็นเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์แล้ว

พึงเป็นเหมือนต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นฉะนั้น

ทรงปรารภวิปัสสนา บรรลุแล้วดังนี้.

บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
jaturong
วันที่ 14 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kinder
วันที่ 14 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 16 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Rodngoen
วันที่ 16 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ