บทสรุปของคนไม่เชื่อคนที่หวังดี [เวฬุชาดก]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๒
๓. เวฬุชาดก
(ว่าด้วยคนที่นอนตาย)
[๔๓] ผู้ใด บุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำ
สอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วย
ประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือน
ดาบสผู้เป็นบิดาของลูกงู ชื่อว่า "เวฬุกะ" ฉะนั้น.
จบ เวฬุกชาดกที่ ๓
อรรถกถาเวฬุชาดกที่ ๓
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มี
คำว่า โย อตฺถกามสฺส เป็นต้น.
มีเรื่องย่อๆ ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุนั้นว่า
ดูก่อนภิกษุจริงหรือ ที่ว่าเธอเป็นผู้ว่ายาก เมื่อภิกษุนั้นกราบทูล
ว่า จริงพระเจ้าข้า ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น
ที่เธอเป็นคนว่ายาก แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน
เพราะความที่เป็นคนว่ายากนั่นแหละ จึงไม่กระทำตามถ้อยคำ
ของบัณฑิตทั้งหลาย แล้วถูกงูกัดตาย ดังนี้แล้ว ทรงนำเอา
เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุง
พาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก ในแคว้นกาสี
ครั้นถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ก็เล็งเห็นโทษในกามคุณ และอานิสงส์
ในการออกบวช จึงละกามทั้งหลายแล้วเข้าป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี
บำเพ็ญกสิณบริกรรม ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้ว
ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขอันเกิดแต่ฌาน ในกาลต่อมา มีบริวารมาก
มีดาบส ๕๐๐ แวดล้อม เป็นศาสดาของหมู่อยู่แล้ว. ครั้งนั้นมีลูก
อสรพิษตัวหนึ่ง เที่ยวเลื้อยไปตามธรรมดาของตน จนถึงอาศรมบท
ของดาบสรูปหนึ่ง. ดาบสเห็นแล้วเกิดความรักมันเหมือนบุตร
จึงจับมันเลี้ยงไว้ ให้นอนในกระบอกไม้ไผ่ปล้องหนึ่ง. เพราะ
เหตุที่มันนอนในกระบอกไม้ไผ่ ดาบสทั้งหลายจึงให้ชื่อมันว่า
"เวฬุกะ" . และเพราะเหตุที่ดาบสนั้นเลี้ยงดูมันด้วยความรัก
เหมือนมันเป็นบุตร ดาบสทั้งหลายจึงให้ชื่อว่า "เวฬุกบิดา".
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้ยินข่าวว่า ดาบสคนหนึ่งเลี้ยงอสรพิษ
จึงเรียกมาถามว่า ข่าวว่า คุณเลี้ยงอสรพิษจริงหรือ ? เมื่อดาบส
นั้นตอบว่า "จริง" ก็กล่าวเตือนว่า ขึ้นชื่อว่าอสรพิษ วางใจไม่ได้
เลย คุณอย่าเลี้ยงมันนะ. ดาบสตอบว่า ข้าแต่อาจารย์ มันเหมือน
ลูกของผม ผมไม่อาจพรากมันได้. พระโพธิสัตว์เตือนซ้ำว่า ถ้าเช่น
นั้น ท่านจักต้องถึงตาย เพราะใกล้ชิดมันแน่นอน. ดาบสนั้นไม่เชื่อถือ
ถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ และไม่อาจปล่อยอสรพิษ ต่อจากนั้น
ล่วงมา ๒-๓ วันเท่านั้น ดาบสทั้งหมดพากันไปหาผลาผล ครั้นถึง
ที่แล้วก็เห็นว่า ผลาผลหาได้ง่าย เลยพักอยู่ในที่นั้นเอง ๒-๓ วัน.
แม้ดาบสเวฬุกบิดา เมื่อไปกับหมู่ดาบสนั้น ก็ให้อสรพิษนอนใน
ปล้องไม้ ปิดไว้แล้วจึงไป ล่วงไป ๒-๓ วัน จึงกลับมาพร้อมกับ
หมู่ดาบส คิดว่า เราจะให้อาหารแก่เวฬุกะ เปิดกระบอกไม้ไผ่
แล้วพูดว่า มาเถิดลูก เจ้าหิวละซี พลางสอดมือเข้าไป. อสรพิษ
โกรธ เพราะอดอาหารมาตั้ง ๒-๓ วัน จึงฉกมือที่สอดเข้าไป
ทำให้ดาบสถึงสิ้นชีวิตอยู่ตรงนั้นเอง แล้วก็เลื้อยเข้าป่าไป. ดาบส
ทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็บอกแก่พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์สั่งให้
ทำสรีรกิจของดาบสผู้เสียชีวิต แล้วนั่งท่ามกลางหมู่ฤาษี กล่าว
คาถานี้สอนหมู่ฤาษี ความว่า :-
" บุคคลใดเมื่อท่านผู้หวังดี มีความเอ็นดู
จะเกื้อกูลกล่าวสอนอยู่ มิได้กระทำตามที่สั่งสอน
บุคคลผู้นั้น ย่อมถูกพิบัติกำจัดเสียนอนอยู่
เหมือนบิดาของงูเวฬุกะ นอนตายอยู่ ฉะนั้น "
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ โส นิหโต เสติ ความว่า
ก็บุคคลใดไม่เชื่อคำสอนของฤาษีทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมถึงความ
พินาศใหญ่หลวง ถูกพิบัติกำจัดนอนตาย เหมือนดาบสผู้นี้ ถูก
กำจัดให้ถึงความเปื่อยเน่า นอนตายคาปากอสรพิษ ฉะนั้น.
พระโพธิสัตว์กล่าวสอนหมู่ฤาษีอย่างนี้แล้ว อบรมพรหม-
วิหาร ๔ ให้เจริญแล้ว เมื่อสิ้นอายุ ก็ไปอุบัติในพรหมโลก.
แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้
เท่านั้น ที่เธอเป็นผู้ว่ายาก แม้ในกาลก่อนเธอก็เป็นผู้ว่ายากเหมือน
กัน และเพราะความเป็นผู้ว่ายาก จึงต้องถึงความเน่าเปื่อย เพราะ
ปากอสรพิษเป็นเหตุ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรง
สืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ดาบสเวฬุกบิดาในกาลนั้น เป็นภิกษุ
ว่ายากในบัดนี้ บริษัทที่เหลือ คือพุทธบริษัท ศาสดาของคณะ
ฤาษี คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาเวฬุกชาดกที่ ๓