แบ่งปันสิ่งที่บันทึกจากชั่วโมงปฏิบัติธรรม ๑๒ พ.ค. ๒๕๕๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
วันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค. 2556 กระผมจดบันทึกข้อความจากชั่วโมงปฏิบัติธรรม
และก็ขอโอกาสในการแบ่งปันเป็นเนื้อความสรุปสั้นๆ ตามกำลังความเข้าใจครับ
-ที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจได้เล็กน้อยก็เพราะการสะสมมาของความไม่รู้ และความไม่รู้คั่นการเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าที่จิตนั้นจะผ่องใสขึ้นเพราะได้ฟังธรรม (กุศลธรรมที่เกิดขึ้นชำระรักษาจิต) จึงสามารถที่จะเข้าใจธรรมที่ได้ฟัง
-ผู้ที่กล่าวชื่นชมยินดีในพระภาษิตเพราะได้ฟังแล้วเข้าใจ แล้วสรรเสริญ ความเข้าใจเกิดขึ้นสะสมพร้อมบารมีอื่นที่สละความติดข้อง ชื่นชมที่ได้ฟังมีความสุขที่ได้ฟังในคำที่ได้ฟัง
-บางคนชื่นชมว่าจริง แต่ก็รู้ว่ายากซึ่งขณะนั้นก็รู้ว่าดีกว่าฟังอย่างอื่นที่ไม่ทำให้รู้ว่าเป็นความจริง แต่ความชื่นชมนั้นก็ไม่เท่ากับผู้ที่สะสมมาซึ่งสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของธรรม ซึ่งระดับความชื่นชมก็แตกต่างกันคือ ชื่นชมโดยความเป็นเราก็ได้ หรือ รู้ตัวธรรม ก็เป็นชื่นชมแต่ละระดับที่แตกต่างกัน ไม่มีใครบังคับบัญชาความจริง (เช่นชื่นชม) นี้ได้
-อะไรที่ชำระจิตได้? ถ้าไม่ได้สะสมความดีจากการฟังก็ไม่มีโอกาส เพราะความเน่าของอกุศลมีมาก (สะสมทุกขณะที่เห็นแล้วก็ไม่รู้ความจริง) เพราะฉะนั้นฟังพระธรรมเพื่อชำระจิตรักษาจิต
-ขณะนี้เข้าใจแค่ไหน? ไม่มีคนแต่มีมหาภูตรูปจึงมีสิ่งที่ปรากฏที่สามารถ กระทบจักขุปสาทรูปได้ทุกคำที่ได้ฟังเป็นความจริงความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นรักษาแผลเรื้อรัง (จิตที่เป็นอกุศล) ให้หายได้
-ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ชีวิตประจำวันก็ลุ่มหลงติดข้องอยู่ในรูป ๗ รูป (สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) ภาวนา คือ การอบรมเพื่อรู้ความจริง ซึ่งกว่าที่จะละคลายจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนโดยที่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราว ปัญญาต้องเข้าใจละเอียดขึ้น
-โลภะ ไม่เคยจากไปไหนเลย แต่ซ่อนอยู่ในทุกๆ ที่ ที่สามารถจะเป็นไปได้เช่น สละ สละจริงๆ หรือไม่ หรือเพียงสละสิ่งที่เก็บไว้เพื่ออยากได้ เป็นต้น
-ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจ สละแล้วเพราะอะไร หรือเพื่อได้ “เป็นเราสละ หรือว่า สละเรา?”
-บางคนสละมากมาย แต่ไม่รู้ว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นชำระจิตด้วยความไม่รู้ไม่ได้ ชำระจิตได้ด้วยความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
-ถ้าจิตสะอาดขึ้น ไม่ว่าได้ยินได้ฟังอะไร ก็ไม่เป็นอกุศลหรือ อกุศลไม่กำเริบ (ไม่ทำความเสียหาย เช่น โลภะที่มีกำลังสามารถทำทุจริต กับโลภะที่เกิดชอบเพียงเพราะเห็นก็มีกำลังต่างกัน)
-ถ้าอุปมา ก็คือ ไม่ว่าที่ใดที่มีมหาภูตรูป โลภะก็แทรกคั่นอยู่ในทุกกลาป ทุกๆ ที่ที่มีมหาภูตรูป แทรกไปทุกทวาร แม้เห็น ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง (ด้วยความติดข้อง คิดเป็นเรื่องราว ชอบเพลง ดอกไม้สวย เป็นต้น)
-ตราบที่ยังไม่รู้ความจริงก็ยังคงเป็นเรา จนกว่ารู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา เช่น แข็ง (แข็งเป็นเรา? หรือเป็นแข็ง) เป็นต้น
-ผู้ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ก็คือ ยังไม่ได้รักษาจิต ก็ยังเห็นสิ่งที่เห็นได้ เหมือนเดิม แต่ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเพราะรักษาจิตจากการฟังเข้าใจความจริงที่ทรงแสดง แต่ละคำถูกเพิ่มขึ้น
-เข้าใจเพิ่มขึ้น คือ หนทางเดียวที่ละความหวัง แม้เพียงหวังที่จะเข้าใจ
-เกิดมาแต่ละชาติประโยชน์เพื่ออะไร? เพื่อรักษาจิต รักษาความไม่รู้ด้วยความรู้ เพราะอกุศล คือ ขยะที่สะสมภายในจิตขณะนี้จิตเกิดดับสืบต่อกันมากมาย สะสมอะไรมากกว่า (กุศล? อกุศล? อกุศลมากกว่า เห็นแล้วไม่รู้ความจริง ก็เป็นความติดข้อง เช่น ชอบดอกไม้ เป็นต้น) เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ประมาทก็ คือ สะสมกุศล
-ไม่ตื่น ก็คือ ไม่รู้ความจริง ถ้าเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ คือ ความจริงก็ตื่นขึ้น
-ใครเห็นโรค (ในใจ) ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงตรัสรู้แต่ละ หนึ่ง ที่สะสมมาที่จะไม่รู้ความจริง ก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนานแสนนานโดยที่ไม่รู้ความจริง ถ้าไม่เข้าใจถูกก็ไม่รักษาโรคใดๆ เลย
-ฟังธรรมแล้วจำได้ หรือว่าลืมไป ฟังหมดไปแล้ว รู้อะไรหรือไม่ ถ้าเข้าใจก็คือ รักษาจิต ถ้าไม่เข้าใจก็คือ บริโภคขยะต่อไป อยู่ในความมืดต่อไป แต่ถ้าเข้าใจ เจตสิกนั้นเอง (ซึ่งไม่ใช่เรา) กำลังทำกิจอยู่ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง สะสม กิจ หน้าที่เดียว คือ “คันถธุระ” ฟังเข้าใจจนกว่าจะเป็นวิปัสสนาธุระ ที่เข้าใจธรรมที่ปรากฏ
-เข้าใจอายตนะ ธาตุ ก็เพราะสิ่งนั้นปรากฏ ไม่ใช่เรา เมื่อถึงกาลที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งพร้อม เข้าใจสิ่งที่ปรากฏทีละ ๑ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ขณะนี้เข้าใจได้เพียงใด ยังไม่พร้อมเข้าใจความเกิดดับ แต่ก็รักษาจิต ให้เบาบางขึ้น จากความติดข้อง ความไม่รู้
-ฟังธรรม ทั้งหมด ก็เพื่อค่อยๆ เข้าใจขึ้น เห็นถูกตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด
-สิ่งที่ปรากฏ ผู้มีความเข้าใจมั่นคง แม้สิ่งนั้นปรากฏ ก็เหมือนฝัน เพียงเพื่อเข้าใจขึ้น ให้รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่ละหนึ่ง เกิดดับ สืบต่อจนมารวมกันแล้ว คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด (นิมิต) แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีจริง (มีสภาพธรรมจริง แต่อุปมาเหมือนฝัน เพราะเกิดขึ้น และดับไปอย่างไว) ทุกขณะ เช่น ได้ยิน มีให้เพียงรู้ว่ามี มีเยอะแยะ แล้วก็หมดไป
-อยากที่จะประจักษ์ธรรมมากกว่านี้ แต่ก็ประจักษ์ไม่ได้ เพราะโรคอยู่ที่จิตมีมากมาย จนกว่าปัญญา ความเข้าใจ เพิ่มขึ้นจึงจะชำระออกไปได้
-มีธรรมทีละ ๑ ซึ่งไม่ได้ปะปนกัน การเข้าใจขึ้นว่าไม่ใช่เราต้องอาศัยผู้ที่รู้ธรรมเป็นที่พึ่ง วาจาสัจจะ ที่ทำให้เห็นถูกขึ้นทีละหนึ่ง เช่น เห็น เห็นมีจริง (ไม่ใช่คน หรือ เทพ) เข้าใจสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ เพิ่มขึ้น จึงจะกล่าวได้ว่า เข้าใจสิ่งที่มีจริง
-หากเข้าใจธรรมรวมๆ กัน ก็ไม่สามารถละความติดข้อง ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้
-เวลาโกรธเกิดขึ้นแล้ว ก็ต่างจากปรกติ เพราะกระทบกระทั่งขุ่นเคืองใจ (สภาพของปฏิฆะ ทำกิจกระทบกระทั่ง)
-นานาธาตุ คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง ซึ่งดำรงความเป็นสิ่งนั้นเปลี่ยนไม่ได้ เช่น จิต (วิญญาณธาตุ) สี เสียง ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ เกิดดับ หลากหลาย เป็นธาตุต่างๆ มากมาย นับไม่ถ้วนเมื่อวานก็นับไม่ได้ แต่ประมวลไว้ได้ ตามพระประสงส์ที่ทรงแสดงโดยโวหารที่แตกต่างกัน เช่น ธาตุ ๑๘ ธาตุ ๖ เป็นต้น เพียงเพื่อให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา
-ธาตุ ๖ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ (ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ปรากฏมีสีสัน วัณณะ ได้ก็เพราะมีธาตุนี้) อากาศธาตุ (เพราะไม่ได้มีแต่มหาภูตรูป ๔ ทั้งหมด แต่ยังมีอากาศธาตุ แทรกคั่นอยู่ระหว่างกลาปของรูป) วิญญาณธาตุ (เพราะไม่ได้มีแต่รูป แต่ธรรมที่ประชุมของธาตุที่รู้ คือ จิต และ เจตสิก ทั้งหมด ก็คือ จิต เมื่อกล่าวถึงจิต ก็ไม่ต้องกล่าวถึงธาตุรู้อื่น เพราะถ้าไม่มีจิต เจตสิกทั้งหมดก็เกิดขึ้นไม่ได้)
-มหาภูตรูปอยู่ที่ใดบ้าง ดอกไม้ ปากกา โต๊ะ หรือที่ตัวเราก็มีเป็นแต่เพียง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่เกิดดับ ขณะนี้ใครรู้ว่ามีมหาภูตรูปบ้าง ลืม เป็นเห็นบ้าง คิดนึกบ้าง (ด้วยความเป็นเรา) แต่ก็ลืมธาตุเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ไม่ใช่ตัว เพราะฉะนั้น ฟังธรรม เข้าใจขึ้น เพื่อละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวเรา แต่เป็นมหาภูตรูป ไม่ใช่เรา
-เกสาธาตุ (เป็นข้อความในพระไตรปิฎก) ถ้าปราศจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีสีสันเป็นผมไม่ได้ ผู้ที่เข้าใจธาตุไม่หวั่นไหว เปลี่ยนแปลง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ วัณณธาตุด้วยกลิ่นกระทบจมูกได้ มีมหาภูตรูป มีรส มีโอชา ไม่ว่ากล่าวโดยนัยใด ทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าใจมั่นคงว่าสิ่งที่ปรากฏมีจริงมีลักษณะเป็นแต่ละธาตุ
-ความรู้ต้องละเอียดจนทั่ว กว่าจะละคลายความยึดถือว่าเป็นตัวเรา
-จิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ปรากฏไม่ได้ เช่น มหาภูตรูปที่ต้นไม้ ใบหญ้าเกิดดับไป แต่ไม่ปรากฏเลย แม้ว่ามหาภูตรูปมีอยู่ซึ่งกำลังปรากฏ แต่ก็ปรากฏด้วยความไม่รู้ เช่น เป็นแขน เป็นหูเป็นตา เพราะฉะนั้น ชำระจิต ด้วยความเข้าใจขึ้น จนกว่าความไม่รู้จะหมดได้ด้วยความเข้าใจ
-วาจาสัจจะ สามารถทำให้เกิดญาณสัจจะหรือ ปัญญาที่รู้ความจริง คือมรรคสัจจะ หนทางที่ให้รู้ความจริงต่อไปได้
-รู้ขึ้นได้ เพราะฟัง คิดเองไม่ได้ คิดเองผิดทันที
-ไม่ต้องห่วงเรื่องสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจากการฟัง แต่ธรรมทำกิจหน้าที่ของธรรมโดยตลอดขณะนี้ (เช่น ฟังเข้าใจ ความเข้าใจก็ทำกิจนั้นเอง สะสมอุปนิสัยของความเข้าใจ เป็นต้น) แต่ทั้งหมดเพื่อเข้าใจ (ธรรม) จริงๆ ไม่ใช่เข้าใจชื่อแล้วจะทำ
-ผู้ละเอียดมั่นคง รู้ว่าทำไม่ได้ แต่เป็นธาตุที่เกิดดับ ตามเหตุตามปัจจัย“ธรรมทำกิจของธรรม” ไม่ใช่เราไปทำสิ่งนั้น ผู้มั่นคงเช่นนี้ ก็ไม่ได้ไปทำอะไร
-เมื่อเกิดมาแล้วก็ตามที่เป็นไป เพราะได้สะสมมาแล้วที่เป็นอย่างนี้เช่น มาฟังธรรม ก็เพราะประพฤติตามที่ได้สะสมมา
-คิดเกิดขึ้น เพราะจำ สิ่งที่เห็น ได้ยิน เดี๋ยวนี้มีคิดหรือไม่ ทันทีที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คิดแล้ว แม้เห็น และ ได้ยิน ที่ต่างกันมากก็ยังปรากฏเสมือนว่า มีพร้อมกัน
-โลกมีจริง เป็น ธาตุ เพราะไม่ใช่สัตว์ บุคคล รู้ได้ทางใด? มหาภูตรูป และถ้ารูป (วัณณรูป) ไม่กระทบจักขุปสาทรูปปรากฏไม่ได้ จิตเห็นเกิดขึ้นไม่ได้ จักขุธาตุเป็นรูป วัณณธาตุเป็นรูป ซึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย และแม้มีนามเกิดขึ้น ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย (การกระทบกันของจักขุธาตุ และวัณณธาตุ) โลกจึงว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคลที่ว่าเที่ยง แต่เป็นเพียงธาตุที่อาศัยเหตุ ปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป
-ขณะที่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ ก็คือ อโคจร (อารมณ์ที่ไม่ควรเสพ) คือ ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงเกิดดับ แต่ปรากฏเป็นนิมิต รูปร่างสัณฐาน และติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะนั้น เพราะรู้ธรรม (ว่าแท้จริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง เสียงบ้าง คิดนึกบ้าง) จึงไม่ติดข้องในนิมิต และ อนุพยัญชนะ อาศัยความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งค่อยๆ ละความติดข้อง สามารถที่จะเข้าใจถึงลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับอย่างเร็ว (ธรรมจึงลึกซึ้ง เพราะเป็นสิ่งที่ทรงตรัสรู้โดยอาศัยบารมี ชำระจิตเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้)
-ปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูก จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราได้
-เมื่อปัญญาเห็นถูก จึงสามารถเข้าใจคำว่า “เพียงอาศัยระลึก” เพราะตราบที่เป็นอโคจร (ยึดติดในนิมิต รูปร่าง สัณฐาณ) ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เพียงปรากฏ
-ปล่อยวางโดยไม่ยึดถือ คือ ปัญญาถึงความสมบูรณ์ของการเห็นจริงในธรรมนั้น
ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ อาจารย์วิทยากร และผู้ร่วมสนทนาในครั้งนั้น
ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ ที่ได้นำบันทึกในการฟังธรรมมาลงให้ท่านอื่นๆ ได้อ่านเพื่อสะสมปัญญาต่อไป
ผู้ละเอียดมั่นคง รู้ว่าทำไม่ได้ แต่เป็นธาตุที่เกิดดับ ตามเหตุตามปัจจัย “ธรรมทำกิจของธรรม” ไม่ใช่เราไปทำสิ่งนั้น ผู้มั่นคงเช่นนี้ ก็ไม่ได้ไปทำอะไร
กราบอนุโมทนาครับ