ในสังสารวัฏฏ์ร์นี้ ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้นไม่ใช่ นอกนั้นเป็นสัตว์ ทั้งหมด ถูกมั๊ยครับ

 
govit2553
วันที่  22 พ.ค. 2556
หมายเลข  22938
อ่าน  1,244

เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติดเบญจขันธ์

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! คนกล่าวกันว่า ‘สัตว์ สัตว์’ ดังนี้, เขากล่าวกันว่า ‘สัตว์’ เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร? พระเจ้าข้า!”

ราธะ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความทะยานอยาก) ใดๆ มีอยู่ในรูป, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในรูปนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์ (ผู้ข้องติด) ” ดังนี้;

ราธะ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในเวทนา, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในเวทนานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้;

ราธะ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในสัญญา, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้;

ราธะ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้;

ราธะ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในวิญญาณ, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้ แล.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับข้อความที่ผู้ถามยกมานั้น มาจากพระสูตรที่ชื่อว่า สัตตสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าอธิบายความหมายของคำว่าสัตว์ ว่าหมายถึงผู้ข้อง คือ ผู้ข้องด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยโลภะ คือ ยึดถือในอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยกิเลส ชื่อว่าสัตว์ เพราะว่าสัตว์ หมายถึง ผู้ข้อง ข้องอยู่ในขันธ์ ๕ ด้วยอำนาจกิเลส ครับ

เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้ พระอรหันต์ไม่ชื่อว่าสัตว์ โดยความหมาย คือ ผู้ข้องอยู่ในกิเลส เพราะพระอรหันต์ไม่มีกิเลสที่ข้องในขันธ์ ๕ เพราะดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ครับ

ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้วในประเด็นนี้ ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
govit2553
วันที่ 22 พ.ค. 2556

งั้นถามต่อครับ ไหนได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่แปลคำว่า อนัตตากันผิดไปหรือครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมีหลากหลายนัย ทั้งสมมติเทศนาและปรมัตเทศนา สมมติเทศนา คือ แสดงโดยนัย เป็นชื่อ เป็นสัตว์ บุคคล และ โดยนัยปรมัตเทศนา คือ มีแต่สภาพธรรมที่เป็นอนัตตา คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน

ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัยของสัตว์โลก สัตว์เหล่าใดเข้าใจโดยนัยสมมติเทศนา โดยนัยเรื่องราว เป็นสัตว์ บุคคล ก็ทรงแสดงตามนัยนั้น บุคคลใดเข้าใจโดยนัยที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ทรงแสดงโดยนัยนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไร ผู้ที่เข้าใจธรรมแล้ว แม้ฟังโดยนัยสมมติเทศนา ที่เป็นสัตว์ บุคคล ที่เรียกชื่อให้เข้าใจว่าเป็นใคร เป็นสัตว์ แต่ก็มีความเข้าใจถูกเป็นเบื้องต้นอยู่แล้วว่ามีแต่ธรรม เป็นอนัตตา เพียงแต่เรียกชื่อให้เข้าใจครับ แม้แต่โดยนัยพระสูตรนี้ ที่แสดงโดยนัยที่เรียกว่าสัตว์ ก็แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล คือ โลภเจตสิกที่เป็นตัณหา ที่ยังติดข้องในขันธ์ ๕ เรียกว่าสัตว์ ที่แปลว่าผู้ข้อง แต่ในความเป็นจริง ไม่มีผู้ใดที่ข้อง กิเลสเป็นสภาพธรรมติดข้อง มีโลภะ ครับ

ดังนั้นก็ต้องเข้าใจโดยนัยเทศนาที่แตกต่างกันไป ครับ ขออนุโมทนา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 159

อรรถกถาเวปุลลปัพพตสูตร

ในเทศนา ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนาแก่บุคคลผู้ฟังเทศนาโดยสมมติแล้วสามารถบรรลุคุณวิเศษได้. ทรงแสดงปรมัตถเทศนาแก่บุคคลผู้ฟังเทศนาโดยปรมัตถแล้วสามารถบรรลุคุณวิเศษได้.

พึงทราบอุปมาในข้อนั้นดังต่อไปนี้ เหมือนอย่างว่า อาจารย์ผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น พรรณนาความแห่งพระเวท ๓ บอกด้วยภาษาทมิฬแก่ผู้ที่เมื่อเขาสอนด้วยภาษาทมิฬก็รู้ความ บอกด้วยภาษาใบ้แก่ผู้ที่รู้ด้วยภาษาใบ้เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งฉันใด มาณพทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยอาจารย์ผู้ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมเรียนศิลปะได้รวดเร็วฉันนั้น. ในข้อนั้นพึงทราบว่า พระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคดุจอาจารย์พระไตรปิฎกอันตั้งอยู่ในภาวะที่ควรบอก ดุจไตรเพทความเป็นผู้ฉลาดในสมมติและปรมัตถ์ ดุจความเป็นผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น เวไนยสัตว์ผู้สามารถแทงตลอดด้วยสมมติและปรมัตถ์ ดุจมาณพผู้รู้ภาษาท้องถิ่นต่างๆ การแสดงด้วยสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าดุจการบอกด้วยภาษาทมิฬเป็นต้น ของอาจารย์.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ว่ามีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป คนหรือสัตว์ไม่มี มีแต่ธรรม กล่าวคือ นามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้นที่เกิดเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เพราะมีความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมเหล่านี้ จึงรู้กันหรือสมมติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ ที่มีความแตกต่างกัน แต่เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วก็มีแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น

ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ความไม่รู้ อีกทั้งยังมีตัณหา ความติดข้อง ยินดีพอใจ เป็นเครื่องผูกไว้ จึงยังมีการเกิดอยู่ร่ำไป ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ จากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้น ที่สุดของสังสารวัฏฏ์ย่อมไม่ปรากฏ มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย

แต่สำหรับพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้ดับกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไปได้แล้ว เมื่อดับขันธปรินิพพานไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่มีจิต เจตสิก และรูป เกิดอีกเลย ไม่มีเหตุที่จะทำให้มีการบัญญัติเรียกว่าเป็นคนนั้น เป็นคนนี้ ได้อีกเลย เพราะไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกนั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 22 พ.ค. 2556

สัตวโลก คือ ผู้ที่ยังมีกิเลส ยังข้องอยู่ในโลก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 22 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 23 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 27 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 29 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ