โผฏฐัพพารมณ์ มีอะไรบ้างครับ
ได้ยินบ่อย ว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นโผฏฐัพพารมณ์
มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ ได้แก่
ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป
อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบหรือเกาะกุม ๑ รูป
เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อนหรือเย็น ๑ รูป
วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง ๑ รูป
สงสัยว่า อาโปธาตุ นี่ไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์ หรืออย่างไรกันครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โผฏฐัพพารมณ์ โผฏฐพฺพ (วัตถุที่พึงถูกต้อง , สิ่งที่มากระทบ) + อารมฺมณ (อารมณ์) อารมณ์คือสิ่งที่กระทบทางกาย หมายถึง รูปดิน ไฟ ลม ในขณะที่ถูกจิตดวงใดดวงหนึ่งรู้ รูปดิน ไฟ ลม ที่มีอยู่ในที่ทั่วไป ยังไม่ได้ถูกจิตรู้ เป็นเพียงโผฏฐัพพะเท่านั้น ไม่ชื่อว่าเป็นโผฏฐัพพารมณ์
ซึ่งโผฏฐัพพารมณ์ รูปที่กระทบทางกาย คือ ธาตุดิน คือ อ่อน แข็ง ธาตุไฟ เย็นหรือร้อน และ ธาตุลม ตึงหรือไหว ซึ่งรู้กระทบได้ทางกาย ส่วนธาตุน้ำ อาโปธาตุ รู้ได้ทางใจ ไม่ใช่ทางกาย
ซึ่ง ธาตุน้ำ คือ อาโปธาตุ (สภาพธรรมใดย่อมเอิบอาบ คือ แผ่ไปสู่รูปที่เกิดร่วมกัน หรือ สภาพธรรมใดยังรูปที่เกิดร่วมกันให้แนบแน่น ให้พอกพูน คือ ให้เจริญ สภาพธรรมนั้นชื่อว่า อาโปธาตุ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรม เป็นรูปที่ละเอียด ซึ่งไม่ปรากฏทาง ๕ ทวาร คือ ไม่ปรากฏทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร แต่ปรากฏให้รู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น ครับ
ขอเชิญอ่านข้อความที่ท่านอาจารย์สุจินต์แสดงไว้ในเรื่องนี้ ครับ
อาจารย์ สุจินต์..ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นมหาภูตรูป สำหรับที่เป็นโผฏฐัพพะนั้น มีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สำหรับธาตุน้ำ ไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์ เพราะเหตุว่าลักษณะของธาตุน้ำ คือ อาโปธาตุ คือ
บทว่า อาโป ความเอิบอาบ เป็นการแสดงสภาวะ อาโปนั่นแหละ เรียกว่า อาโปคตํ ธรรมชาติที่เอิบอาบ
ที่ชื่อว่า สิเนโห ความเหนียว ด้วยอำนาจที่เป็นยางใยแห่งความเหนียวนั่นแหละ เรียกว่า สิเนหคตํ ธรรมชาติที่เหนียว
บทว่า พนฺธนตฺตํ รูปสฺส ธรรมชาติเครื่องเกาะกุมรูป ได้แก่ ธรรมชาติเป็นเครื่องประกอบภูตรูป มีปฐวี เป็นต้น
จริงอยู่ อาโปธาตุควบคุมวัตถุทั้งหลายมีแท่งเหล็กเป็นต้นไว้ แล้วย่อมทำให้ติดกัน ธรรมชาติทั้งหลายมีก้อนเหล็กเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า ติดกันอยู่ เพราะความที่อาโปธาตุนั้นเป็นเครื่องเกาะกุมไว้ แม้ในแผ่นหิน ภูเขา ต้นตาล หน่อไม้ งาช้าง และเขาโค เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน
ก็อาโปธาตุเท่านั้น เกาะกุมวัตถุเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้ติดกัน ธรรมชาติเหล่านั้นชื่อว่า เป็นธรรมชาติติดกัน ก็เพราะถูกอาโปธาตุควบคุมไว้
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระทบสัมผัสทีไร ก็จึงเป็นแต่เพียงปฐวี หรือเตโช หรือวาโย แต่ว่าไม่สามารถที่จะกระทบสัมผัสอาโปธาตุ ซึ่งไหลเอิบอาบ ซึมซาบ เกาะกุมธาตุที่เกิดร่วมด้วย
ขออนุโมทนา
ถามต่อครับ
น้ำฝน ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้างครับ
น้ำแข็ง ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้างครับ
ธาตุในที่นี้หมายถึง ทางธรรมนะครับ ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
น้ำฝน น้ำแข็ง ก็ต้องมีรูปอย่างน้อย ๘ รูป ประชุมรวมกัน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึงสิ่งใดก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย และมีจริงๆ ในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงโผฏฐัพพารมณ์ด้วย โผฏฐัพพารมณ์เป็นอารมณ์ที่ถูกต้องกระทบสัมผัสทางกาย มี ๓ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ และ ธาตุลม ซึ่งก็จะต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่าอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เพราะทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ดังนั้น ธาตุดิน ธาตุไฟ และ ธาตุลม เกิดขึ้นกระทบสัมผัสทางกาย เป็นเหตุให้จิตเกิดขึ้นรู้ ชื่อว่า โผฏฐัพพารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ธาตุน้ำเป็นรูปละเอียด รู้ได้ทางใจ ไม่สามารถรู้ได้ทางกาย ค่ะ