ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิฯ วิสาขบูชา ๒๔ พ.ค. ๒๕๕๖

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  27 พ.ค. 2556
หมายเลข  22961
อ่าน  1,958

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา ณ ที่ทำการมูลนิธิฯ ซอยเจริญนคร ๗๘ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำ เนื่องในโอกาสวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา นอกเหนือไปจากการสนทนาธรรมตามปรกติ ในทุกๆ วันเสาร์และวันอาทิตย์ นำการสนทนาโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

การสนทนาธรรมในวันนี้ มีท่านที่สนใจ เดินทางมาจากทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นจำนวนมาก และเช่นเคย ที่มีการตั้งเต้นท์บริการอาหารและเครื่องดื่ม ที่หน้าอาคารมูลนิธิฯ โดยมีผู้ที่เป็นเจ้าภาพ นำอาหารคาว หวาน มากมายหลายชนิด มาให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังการสนทนาได้รับประทาน ในตอนกลางวัน ด้วย

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าภาพอาหารทุกๆ ท่าน และท่านที่เป็นเจ้าภาพจัดดอกไม้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ จัดได้สวยงามแปลกตามากครับ

อันดับต่อไป ข้าพเจ้าขอนำความสนทนาบางตอนในวันนั้น มาฝากทุกๆ ท่านเช่นเคย เป็นตอนที่ท่านอาจารย์ ได้กล่าวถึงการสวด หรือ การสาธยาย ซึ่งมีข้อความที่ควรแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการสวด หรือ การสาธยาย ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของการสวดหรือการสาธยาย คือ อะไร? เป็นไปตามพระพุทธประสงค์ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรมหรือไม่ อย่างไร?

คุณคำปั่น การที่จะเข้าใจธรรมะ ก็ต้องมีการฟัง มีการศึกษา ด้วยความละเอียด รอบคอบ ยกตัวอย่างพระสาวกท่านหนึ่ง คือ ท่านพระอานนท์ ท่านเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมะ ฟังธรรมะ ประการต่อมา ก็คือ แสดงธรรมะ แก่ผู้อื่น

ประการต่อมา ก็คือ บอกกล่าวธรรมะ ให้กับผู้อื่น บอกให้ผู้อื่น ศึกษาธรรมะ นอกจากนั้น ท่านพระอานนท์ ก็สาธยายธรรมะ เป็นการทบทวน ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ประการต่อมา ถ้าหากว่า ไม่มีการได้ฟัง ไม่มีการได้สนทนา ท่านก็มีการพิจารณา ไตร่ตรอง ตรึก ถึงพระธรรม ที่ได้ยิน ได้ฟัง นอกจากนั้น ตัวอย่าง ที่ควรเอาเยี่ยงอย่าง อย่างยิ่ง ก็คือ การไปหาบุคคลผู้มีปัญญา เพื่อที่จะได้สอบถามปัญหา เพื่อความเข้าใจธรรมะยิ่งขึ้น นี่คือตัวอย่างของพระสาวกในอดีต ที่เป็นผู้ไม่ว่างเว้น จากการที่มีโอกาส ได้ยินได้ฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง

ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ต่อเนื่องว่า พระธรรม สำหรับศึกษา ไม่ใช่นำเอาคำบาลี มากล่าว หรือ มาสวด เพราะว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่หนทาง ที่จะทำให้ "ปัญญา" เจริญขึ้น ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ กล่าวย้ำ เพื่อสาระประโยชน์จริงๆ ของผู้ที่เป็นชาวพุทธ ว่า ในขณะนี้ ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงหรือยัง? ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียด รอบคอบ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ แม้แต่ชื่อว่า พระธรรม เรียกว่า พระธรรม เข้าใจหรือเปล่า? นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ประมาทจริงๆ อย่างท่านพระอานนท์ ท่านไม่ประมาท แม้ว่าท่านจะได้ฟังพระธรรม จากพระโอษฐ์ และ ได้แสดงธรรมะกับผู้อื่น และได้กล่าวธรรมะตามลำดับด้วยดี ที่ใช้คำว่า สาธยาย เพราะว่า ท่านเป็นเอตทัคคะ ในความทรงจำ และ ท่านก็ยังได้ ตรึกถึงธรรมะ ที่ได้ฟังโดยละเอียดยิ่งขึ้น ความไม่ประมาท ก็ทำให้ท่านพบกับบุคคล ซึ่งเป็นผู้รู้ ในทางต่างๆ เพราะเหตุว่า พระมหาสาวก ท่านก็เป็นเอตทัคคะ ในแต่ละทาง ท่านที่กล่าวธรรมะวิจิตร ไพเราะและละเอียด ก็มี ท่านที่กล่าวเรื่องของการละ เช่นเรื่องของการรักษาธุดงค์ เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อจะได้ขัดเกลากิเลส ยิ่งกว่าเรื่องของศีลก็มี แต่ละท่าน ก็เป็นผู้ที่เป็นเอตทัคคะต่างๆ

เพราะฉะนั้น ไม่เสียหายแน่ ถ้าเราจะได้พบกับบุคคล ซึ่งเป็นเลิศ ในทางอื่นด้วย ในแต่ละทาง ไม่ใช่จะคิดว่า พอแล้ว เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ ได้ตรึกตรองแล้ว ได้เข้าใจพระธรรม เป็นผู้ที่เป็นพหุสุต ทรงจำพระไตรปิฎกได้ แต่ เห็นความไม่ประมาทว่า กว่าท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ต้องรู้สภาพธรรมะ ตามความเป็นจริง ทั้งหมด ก็ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น จึงเป็นพระปัจฉิมวาจา จริงๆ ว่า ความไม่ประมาท ไม่เพียงความไม่ประมาท เฉพาะความเป็นอยู่ แต่ต้องไม่ประมาท โดยการเห็นว่า "กิเลส" เป็นสิ่งที่ใคร ก็นำออกไม่ได้ ขัดเกลาไม่ได้ ทิ้งไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ความเข้าใจพระธรรม

จึงเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า ได้ยินได้ฟังแต่ละคำ เข้าใจจริงๆ เข้าใจแค่ไหน?

เข้าใจระดับเพียงฟัง หรือว่า  กำลังเข้าใจลักษณะ ของสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ เพราะฟังมา จนกระทั่งเข้าใจ จนรู้ว่า ไม่มีทางอื่น เพราะบางคนก็บอกว่า "คิด" ให้ "คิด" ว่านี่ ไม่ใช่ตัวตน

"คิด" ไปทั้งวัน จนเบื่อจะคิด ก็ไม่เห็นประจักษ์การเกิดดับอะไร เพราะฉะนั้น ธรรมะทุกอย่าง เกิดกับตน จึงสามารถที่จะรู้ได้ เช่น สติ ได้ยินคำนี้ ต้องรู้ว่าคำนี้ เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายดี ไม่เกิดกับธรรมะ ที่เป็นฝ่ายไม่ดีเลย และ สติ ก็มีหลายระดับขั้น สติ ที่เป็นไปในทาน สติ ที่เป็นไปในการที่จะวิรัติ เว้นทุจริตกรรมต่างๆ ทางกาย ทางวาจา และ สติ ที่เป็นไปในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย

เพราะว่า วันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมาก โดยคิดเป็นอกุศลตลอด เพราะฉะนั้น ไม่ว่า กาย วาจา ก็เป็นไปในทางอกุศล โดยไม่รู้เลย แล้ว มีความเพียรที่จะละอกุศลทางกายไหม? ทางวาจาไหม? แต่จะละไม่ได้เลย ถ้ายังคง "คิดไม่ดี" ถ้าคิดไม่ดี กายก็ต้องไม่ดี วาจาก็ต้องไม่ดี แต่ไม่รู้เลย ว่าทำไมกายถึงไม่ดี ทำไมวาจาถึงไม่ดี แต่เพราะ "คิดไม่ดี" กาย วาจา ก็ต้องเป็นไป ตามความคิดนี้เอง

ด้วยเหตุนี้ วันหนึ่งๆ ไม่ต้องสอบถามใครเลย ฟังธรรมะเข้าใจ แล้วกำลังโกรธ สติเกิดหรือเปล่า? สติ ไม่เกิดกับโกรธ โกรธดับ แต่ว่า การฟังธรรมะ แค่ไหน? เข้าใจพอที่จะเห็นโทษหรือเปล่า? ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโทษของอกุศลทุกอย่าง แม้อย่างเล็กน้อยที่สุด ก็ให้เห็นว่าเป็นโทษ ไม่ใช่ว่า เล็กน้อยไม่เป็นไร นิดๆ หน่อยๆ แต่ละครั้ง แล้วในที่สุด เป็นอย่างไร? ก็เพิ่มมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษจริงๆ และ รู้ว่า มีพระธรรมเท่านั้น ที่จะเปลี่ยน

จากการที่ เป็นผู้ที่มาก ด้วยอกุศล โดยความคิดถูก แล้วค่อยๆ เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ผู้นั้นจะรู้สึกเอง ว่านอกจากจะได้เข้าใจธรรมะแล้ว ประโยชน์ ก็คือ กุศลอื่นๆ ก็เจริญขึ้นด้วย

คุณคำปั่น ครับ ก็แสดงถึงความเข้าใจว่า จะเป็นไปเพื่ออุปการะ เกื้อกูล เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ยิ่งๆ ขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาท จึงนำมาซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง เพราะไม่ประมาท จึงมีการฟัง มีการศึกษาพระธรรม มีการอบรมเจริญปัญญา และ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็เป็นเหตุให้ความดีประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ที่ไม่ละเลยโอกาสสำคัญ ในการที่จะได้สะสมความดี เป็นการเติมกุศล ในชีวิตประจำวัน ครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ แล้วก็อย่างที่คุณคำปั่นกล่าวถึง ที่เราใช้คำว่า สวด ในภาษาไทย ภาษาบาลี ขอเชิญคุณคำปั่น ให้ความหมายด้วย ว่าเป็นคำอะไร?

คุณคำปั่น คำแรกนะครับ"วตฺตพฺพ" แปลว่า กล่าว อีกคำต่อมา คือ "ภณิตพฺพ" แปลว่า กล่าว เหมือนกัน แต่ถ้ากล่าวถึง สาธยาย ก็มาจากคำว่า "สชฺฌาย" ซึ่งเป็นการกล่าวตามลำดับด้วยดี ไม่สับลำดับกัน ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะแม้แต่ คำเดียว ถ้าไม่ศึกษาให้ถูกต้อง เข้าใจจริงๆ ก็เท่ากับ เป็นการทำลายพุทธพจน์ได้ เพราะเหตุใด? ถ้าเข้าใจคำว่า "สวด" คือ การพูดคำภาษาบาลี ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็ลองคิดว่า ทำไมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมะเป็นภาษาบาลี เพราะอะไร? (เพราะ ภาษาบาลี) เป็นภาษาที่ชาวเมืองนั้น สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าใช้ภาษาอื่น ก้ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจได้

การที่ทรงใช้ภาษาบาลี มุ่งหมายให้ "จำไปสวด" หรือเปล่า? หรือว่า มุ่งหมายให้ผู้ฟัง ซึ่งใช้ภาษานั้น เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริง นี่คือ การศึกษา ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยความละเอียด ด้วยสติ ที่จะรู้พุทธประสงค์ว่า ทรงแสดงธรรมะเป็นภาษาบาลี ไม่ได้มุ่งหมายให้ใคร ไปจำไว้ท่อง หรือว่า จำไว้สวด แต่ว่า มุ่งหมายให้ชาวมคธ ที่ใช้ภาษานั้น สามารถ "เข้าใจ" คำที่ทรงแสดงได้ ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครคิดว่า "สวด" คือ พูดคำภาษาบาลี แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย นั่นคือ พุทธประสงค์ ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อแสดงธรรมะ แล้วก็ไม่ให้คนเข้าใจให้เพียงจำ แล้วไปพูดคำที่ไม่รู้เรื่องนั่นผิด

เพราะฉะนั้น เราสนทนาธรรม ในภาษาที่เราใช้ เพื่อความเข้าใจ แล้วเราก็กลับไป ว่าชาวมคธในครั้งนั้น ข้อความเดียวกันอย่างนี้ ใช้คำว่าอะไร? เช่น เราใช้คำว่า สวด หรือคำว่า สาธยาย สาธยาย เราไม่คุ้นหู แต่สวด เราคุ้นหู สวดรัตนสูตร หรือว่า จะสวดธรรมจักรกัปวัตนสูตร ก็ได้ยิน แล้ว "สวด" คือ อะไร?

สวด ก็คือ พูดตามที่ได้จำ หรือว่า บางคนก็จำไม่ได้ ก็เอามาอ่าน นั่นไม่ใช่พุทธประสงค์ ที่จะให้ใครจำอะไร แล้วอ่านตาม โดยที่ไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมด ทรงแสดง เพื่อให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาของตนเอง

ปัญญา คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่ลึกซึ้ง บางคน อาจจะปลาบปลื้ม หรือ ดีใจ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้น ไม่ใช่ปัญญาเลย ที่สวดธรรมจักรได้ หรือว่า รัตนสูตรได้ ไม่ตกไม่หล่นเลย แต่ เข้าใจสักคำหนึ่ง หรือเปล่า? นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

เพราะฉะนั้น พุทธบริษัท ไม่ใช่ผู้ที่ "ไม่รู้แล้วทำ" แต่ต้องมีเหตุผลทุกอย่าง แม้แต่ว่า "สวด" เพื่ออะไร? ถ้าไม่เข้าใจ สวดได้ไหม? หรือว่า ไม่เข้าใจก็จำเอา แล้วก็สวดประโยชน์อะไร? ถ้าจะจำแล้วสวด

แต่ว่า ถ้าสวด หมายความถึง ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจแล้ว รู้ว่า แล้วก็ลืม แต่ถ้านึกถึงบ่อยๆ แล้วสามารถเข้าใจ และจำ สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ยิ่งขึ้น จะทำให้ไม่ลืม แล้วก็สามารถที่จะกล่าวได้ถูกต้อง ตามลำดับ ไม่คลาดเคลื่อนด้วย เพราะฉะนั้น อย่างท่านพระอานนท์ ท่านฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ หรือว่า จากสหายธรรมะ กัลยาณมิตรของท่านที่เป็นพระภิกษุ หรือจะเป็นคฤหัสถ์ก็ตามแต่ เมื่อฟังแล้ว ท่านเข้าใจสิ่งที่ท่านได้ฟังการสนทนาทุกครั้ง ที่สนทนาเรื่องธรรมะ ก็เพื่อเข้าใจธรรมะ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ให้ถูกต้อง เมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ลืมแน่ แต่ว่า ถ้ามีการตรึกถึง บ่อยๆ อย่างท่านพระอานนท์ แม้ว่าท่านได้ฟังแล้ว ท่านก็ไม่ได้เก็บไว้เฉพาะตัวท่าน ท่านก็ยังบอกกล่าว สิ่งที่ท่านได้ยิน ได้ฟัง ให้คนอื่น ได้รับฟัง ได้รับรู้ด้วย

เพราะว่า การที่แต่ละท่าน จะมีโอกาส ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ ยาก บางท่าน อยู่โกสัมพี บางท่าน อยู่ที่ราชคฤห์ ในขณะที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ พระมหาวิหารเชตวัน เพราะฉะนั้น โอกาสที่ท่านได้พบกับใคร แล้วได้กล่าว ได้บอกธรรมะ ที่ท่านได้ฟัง ให้คนอื่น ได้รับฟังด้วย ก็เป็นประโยชน์ ทั้งท่าน และ บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ฟังแล้ว เข้าใจอย่างไร ก็บอกเล่าเก้าสิบ ให้คนที่สนใจ ไม่ใช่คนที่ไม่สนใจ ได้เข้าใจด้วย เป็นประโยชน์ไหม? ธรรมทาน

ในสังสารวัฏฏ์ ทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพียงปรากฏ แล้วหมดไป ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่แท้จริง นอกจาก ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่มี ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะชาติไหนก็มี ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร ก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เหล่านี้เป็นต้น เป็นการสะสมต่อไป นอกจากท่าน (พระอานนท์) จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์แล้ว ก็ได้บอกกล่าว ได้แสดงธรรมะ ตามที่ได้ฟังด้วย ว่าได้ฟังมาตามลำดับอย่างไร นอกจากเมื่อไม่มีใครมาสนทนาร่วมด้วย ท่านก็ตรึก นึกถึงธรรมะนั้น ด้วยตัวของท่านเอง โดยความที่ท่าน เป็นผู้ที่เป็นพหุสุต พหูสูตร ที่ได้ฟังมาก เข้าใจมาก ก็ทำให้ท่านนึกถึงสิ่งที่ได้ฟังได้ถูกต้องตามลำดับ โดยละเอียด

อย่างเรา เรานึกถึงธรรมะ เรานึกถึงตามลำดับหรือเปล่า? ลองกล่าวถึงสรรพจิตสาธารณเจตสิก ใหม่ๆ เลย เท่าที่จะนึกได้ บางคนก็อาจจะเวทนาก่อน ลางคนก็อาจจะเอกัคตาก่อน หรือ อะไรก็ตามแต่ แต่ท่านพระอานนท์ ตามลำดับ สาธยาย คือ การกล่าว สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ด้วยความเข้าใจ ตามลำดับ ที่เราใช้คำว่า สาธยาย ในภาษาไทย แต่ว่า ในภาษาบาลี ไม่ได้ใช้คำว่าสาธยาย มีไหมคะ ภาษาบาลี?

คุณคำปั่น ในภาษาบาลี ไม่มีคำว่าสาธยาย แต่มีคำว่า "สชฺฌาย" อย่างที่กราบเรียนท่านอาจารย์ไปแล้วครับ

ท่านอาจารย์ ภาษาไทย เวลาเราพูดถึงสาธยาย เราเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว ทั้งหมด ต้องเป็นความเข้าใจ จะพูดคำนั้นทำไม? พูดกันทำไม? พูดถึงคำที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า นอกจากที่ท่านได้แสดงธรรมะแก่คนอื่น ได้ร่วมรู้ ได้ร่วมฟัง ได้ร่วมเข้าใจแล้ว ท่านก็ยังสาธยายด้วย จะห้ามจิต ท่านพระอานนท์ ไม่ให้นึกถึงคำ ที่ท่านได้ฟังแล้ว แล้วก็ตรึก แล้วก็กล่าว ตามลำดับ คิดตามลำดับ ได้ไหม?

แต่ละคน ก็แต่ละอัธยาศัยบางท่าน ได้ฟังนิทาน เล่าเก่งมาก ไม่ขาดตกบกพร่องเลย ละเอียดด้วย จำได้อย่างไร? นิทาน แต่พอถึงท่านพระอานนท์ ธรรมะทั้งหมด และ คำที่ท่านได้ยิน ได้ฟัง แล้วลำดับเรื่องด้วย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี คือ กล่าวถึงความโดยละเอียด ให้คนรู้ด้วยว่า ไม่ใช่อยู่ในเมือง แต่ว่าอยู่ใกล้ เพื่อสะดวกแก่การบิณฑบาต แล้วในกาลครั้งนั้น ก็มีใครมาเฝ้า กราบทูลถามเรื่องอะไร พระผู้มีพระภาคฯตรัสว่าอะไร? เป็นการสนทนาบุคคลนั้น กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยละเอียด ตามลำดับ ใครทำได้?

เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟัง ก็สามารถที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สามารถเข้าใจธรรมะ ต้องไม่ลืม "เข้าใจ" จะทำอะไรก็ตาม อย่าทำ โดยที่ไม่รู้ หรือ ไม่เข้าใจ นั่นไม่ใช่คำสอน ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะให้คน ไม่รู้ แล้ว ทำ

เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะใช้คำว่า สวด ในภาษาไทย ซึ่งบางคน ก็ใช้คำว่า สาธยาย หรือ อะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องให้รู้ว่า คนไทย เข้าใจว่าอย่างไร? แต่ถ้าเข้าใจในภาษาไทยว่า สาธยาย เราไม่รู้จักคำบาลี เราก็รู้ว่า การที่เราจำ สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วก็กล่าวถึง ตามลำดับ ด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่สับสน ก็จะทำให้เรามั่นคง ในการที่จะเข้าใจ โดยที่ไม่ลืม และ ไม่ขาดตกบกพร่องด้วย แต่ถ้าไม่ใช่กาละ ที่จะสาธยาย ท่านก็ "ตรึก" หมายความว่า คิดถึงคำนั้น ในความหมายที่ละเอียดขึ้น

เพราะว่า แต่ละคำ ที่ทุกคนได้ยินได้ฟัง ท่านพระอานนท์ สามารถที่จะตรึกได้ กี่บทคะ?

คุณคำปั่น เป็นหกหมื่นนัย ครับ

ท่านอาจารย์  ต่างกันแล้ว ใช่ไหม? นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเป็นแต่ละหนึ่ง ก็ต้องสะสม แล้วก็ไม่มีใคร สามารถที่จะรู้ได้ว่า ชาติหน้า รูปร่างจะเป็นอย่างไร? ผิวพรรณจะเป็นอย่างไร? สูง ต่ำ ดำ ขาว จะเป็นอย่างไร? ความคิด จะเป็นอย่างไร? ความเข้าใจธรรมะ จะเป็นอย่างไร? แต่ต้องมาจาก แต่ละหนึ่งขณะ

เพราะฉะนั้น แต่ละขณะ ถ้าล่วงไป โดยสามารถที่จะเป็นกุศล ก็กลับเป็นความไม่รู้ ความไม่เข้าใจธรรมะ นี่ก็น่าเสียดาย

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ 322

พระปัจฉิมวาจา

[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความ เสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด. นี้เป็น พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 27 พ.ค. 2556

กราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"มีพระธรรมเท่านั้น ที่จะเปลี่ยน จากการที่ เป็นผู้ที่มาก ด้วยอกุศล โดยความคิดถูก แล้วค่อยๆ เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ผู้นั้นจะรู้สึกเอง ว่านอกจากจะได้เข้าใจธรรมะแล้ว ประโยชน์ ก็คือ กุศลอื่นๆก็เจริญขึ้นด้วย"

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Thanapolb
วันที่ 27 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณพี่วันชัย และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 28 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Boonyavee
วันที่ 28 พ.ค. 2556

ขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัยและทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 29 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 29 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
papon
วันที่ 1 มิ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wirat.k
วันที่ 1 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ch.
วันที่ 2 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 2 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ