อยากทราบเกี่ยวกับผิดข้อวินัยของพระครับ.

 
เจริญในธรรม
วันที่  30 พ.ค. 2556
หมายเลข  22976
อ่าน  13,555

การผิดข้อวินัยของพระ เห็นว่าผิดแล้วไปปลงอาบัติกัน ผมอยากทราบว่าในศีล ๒๒๗ ข้อ ผิดแล้วมันอยู่ในหมวดให้เรียกว่าอะไร เคยไดยินว่าผิดเป็นปาจิตตี สังฆาทิสเสส เป็นต้น อยากทราบในรายละเอียดว่า

1. ผิดในศีลข้อนี้จัดในหมวดเรียกว่าอะไร มีโทษอย่างไร และพระต้องทำอย่างไร หลังจากผิดในข้อนั้นๆ แล้วอนาคตผิดอีกได้หรือไม่ ผิดแล้วไม่ปลงอาบัติ ตายจะไปไหน เช่น ผิดในหมวดปาจิตตี คืออะไร ผิดแล้วต้องทำอย่างไร หากไม่ทำจะมีโทษอย่างไรทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เคยมีความเห็นจากพระบางที่ว่าผิดแล้วไม่ปลงอาบัติตายไปตกนรกชั้นนั้นชั้นนี้ ผิดในสังฆาทิเสส คืออะไร ผิดแล้วต้องทำอย่างไร

2. การปลงอาบัติต้องทำตอนไหน ทำวันถัดไปได้หรือไม่ ถ้าลืมและถ้าวันนั้นไม่มีพระเลย จะไปปลงอาบัติกะใคร เช่น พระออกไปข้างนอก องค์เดียวแบบนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาบัติ หมายถึง กิริยาที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วมีโทษอยู่เหนือตน และ อาบัติ ยังหมายถึง การตกไป ตกไปจากความดี เป็นโทษ ที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อ (พระวินัยบัญญัติ) ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้าม กล่าวโดยชื่อ อาบัติมี ๗ อย่าง คือ

๑ ปาราชิก

๒ สังฆาทิเสส

๓ ถุลลัจจัย

๔ ปาจิตตีย์

๕ ปาฏิเทสนียะ

๖ ทุกกฏ

๗ ทุพภาสิต

กล่าวโดย โทษมี ๓ สถาน คือ

๑. อาบัติอย่างหนัก ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น ขาดจากความเป็นภิกษุ อันหมายถึง ปาราชิก ซึ่งเป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เรียกว่า อเตกิจฉา

๒. อาบัติอย่างกลาง ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องอยู่กรรม (ปริวาส หรือมานัต) โดยประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน อันหมายถึง สังฆาทิเสส

๓. อาบัติอย่างเบา ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน แล้วจึงจะพ้นโทษนั้นได้ อันได้แก่ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต โดยอาบัติอย่างกลางและอย่างเบานั้น เป็นอาบัติที่ยังแก้ไขได้ เรียกว่า สเตกิจฉา

ความหมายของอาบัติแต่ละอย่าง

(๑) อาบัติปาราชิก ผู้พ่ายแพ้ ขาดจากความเป็นภิกษุ

(๒) อาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ

(๓) อาบัติถุลลัจจัย อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่หยาบคาย

(๔) อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติที่ทำให้ความดีงามตกไป

(๕) อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติที่ต้องแสดงคืนกับบุคคลที่ทำให้ต้องอาบัติ

(๖) อาบัติทุกกฏ อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม

(๗) อาบัติทุพภาสิต อาบัติที่เกิดจากการพูดไม่ดีไม่เหมาะสม

ส่วนการทำผิดสิ่งใด ต้องอาบัติข้อใดนั้น มีรายละเอียดมากมาย ครับ ซึ่งก็จะขอ

ยกตัวอย่างใหญ่ๆ พอให้เข้าใจดังนี้

อาบัติปาราชิก

1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)

2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)

3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์

4. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)

อาบัติสังฆาทิเสส

๑. แกล้งปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน

๒. เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ

๓. พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี

๔. การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถ้อยคำพาดพิงเมถุน

๕. ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยาหรือแม้แต่หญิงขายบริการ

๖. ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อนสร้างกุฏิด้วยการขอและสร้างใหญ่เกินประมาณ

๗. สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น

๘. แกล้งใส่ความภิกษุอื่นว่าต้องอาบัติปาราชิกโดยไม่มีมูล

๙. แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าภิกษุอื่นต้องอาบัติปาราชิกโดยไม่มีมูล

๑๐. ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน

๑๑. เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน

๑๒. เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง 3 ครั้ง

๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์

การับเงินและทอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ส่วน อาบัติอื่นๆ มีมากมาย ถ้าต้องการความละเอียดก็ต้องศึกษาจากพรระวินัย ครับ

ส่วนความหมายอาบัติในพระไตรปิฎกโดยละเอียด

คลิกอ่านที่นี่ครับ

วิเคราะห์ปาราชิก .. ความหมายของอาบัติแต่ละขั้น

ส่วนที่ผู้ถาม ถามว่า โทษของการไม่ปลงอาบัติเป็นอย่างไร เชิญคลิกอ่านที่นี่..

โทษของการไม่ปลงอาบัติ

2. การปลงอาบัติต้องทำตอนไหน ทำวันถัดไปได้หรือไม่ถ้าลืม และถ้าวันนั้นไม่มีพระเลย จะไปปลงอาบัติกะใคร เช่น พระออกไปข้างนอก องค์เดียวแบบนี้

- ถ้าไม่มีพระภิกษุอยู่จริงๆ สามารถทำวันถัดไปได้ ครับ แต่จะต้องเป็นผู้เห็นโทษของอาบัตินั้น และ ทำการปลงอาบัติที่ถูกต้อง ครับ ส่วน ปาราชิก ไม่สามารถทีจะปลงอาบัติได้ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ครับ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 710

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ กระทำอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าแห่งภิกษุผู้แก่ทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประนมมือ

พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อหํ ภนฺเตอิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ (ท่านเจ้าข้า กระผมต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น) ภิกษุผู้แสดง

อันภิกษุรับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (เธอเห็นหรือ)

ผู้แสดง: อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)

ผู้รับ: อายตึ สํวเรยฺยาสิ (เธอพึงสำรวมต่อไป)

ผู้แสดง: สาธุ สุฏฺฐุ สํวริสฺสามิ (ดีละ ผมจะสำรวมให้ดี)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาบัติปาราชิก ต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ไม่ได้เป็นพระภิกษุอีกต่อไป หรือไม่ก็ต้องปฏิญญาตนเป็นสามเณร

ส่วนอาบัติกองอื่นๆ ต้องเข้าแล้ว สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยได้ด้วยการเห็นโทษแล้วกระทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ตามระดับขั้นของอาบัติประการนั้นๆ เช่น ถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็ต้องอยู่กรรม จึงจะพ้นได้ ถ้าต้องอาบัติปาจิตตีย์ อย่างเช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ก็ต้องแสดงต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันว่าจะตั้งใจสำรวมระวัง ไม่ล่วงสิกขาบทนี้อีก จึงจะพ้นได้ และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ถ้าไม่เห็นโทษของการล่วงละเมิดสิกขาบทก็จะทำให้ล่วงละเมิดต่อไปยิ่งขึ้น ทำให้เป็นผู้ขาดความละอาย ขาดความเคารพยำเกรงต่อพระธรรม นั่นเป็นความอันตรายอย่างยิ่ง เพราะถ้ามรณภาพลง (ตาย) ในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่นั้น ก็เป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยจริงๆ เพราะความเป็นบรรพชิตถ้ารักษาไม่ดี ก็มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดี ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 มิ.ย. 2556

เวลาทำผิดพระวินัยข้อใดข้อหนึ่ง เราก็บอกกับเพื่อนที่เป็นพระภิกษุด้วยกัน ว่าวันนี้ได้ทำผิดพระวินัย จะสำรวมระวังต่อไป ไม่ทำอีก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lloollooll02
วันที่ 21 พ.ค. 2557

๑. แกล้งปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน ถือว่า อาบัติ อาบัติปาราชิก เลยใช่ไหมคับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ค. 2557

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ตามที่กล่าวมา ไม่เป็นอาบัติปาราชิก แต่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ยังพอแก้ไขได้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ