แบ่งปันสิ่งที่บันทึกจากชั่วโมงปฏิบัติธรรม ๒ มิ.ย. ๒๕๕๖

 
wittawat
วันที่  4 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23003
อ่าน  1,382

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

วันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. 2556 กระผมจดบันทึกข้อความจากชั่วโมงปฏิบัติธรรม และก็ขอโอกาสในการแบ่งปันเป็นเนื้อความสรุปสั้นๆ ตามกำลังความเข้าใจครับ

- อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นคง ไม่เปลี่ยนความตั้งใจ ไม่ใช่มีตัวตนที่อยากมั่นคง แต่เป็นมั่งคงฟังธรรม

-บางคนฟังธรรม แล้วบอกว่าดี แล้วก็ไม่มาฟังอีกเลย นั่นคือ เป็นผู้ไม่มั่นคงไม่เหมือนภูเขา ที่ขยับไม่ได้ เพราะที่บอกว่าดี ก็ยังดีไม่พอ (ไม่เพียงพอที่จะดับกิเลสได้) เพราะฟังเข้าใจขึ้นอีก ก็สามารถที่จะรู้จักสิ่งที่ดียิ่งขึ้นอีก

-วันนี้มั่นคงหรือยัง ที่จะรู้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีจริงเมื่อเกิด ปรากฏ แล้วไม่กลับมาอีกเลย

-“เห็นตนในรูป” เป็นอัตตานุทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่า ธาตุที่เกิดดับ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นตัวตน) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นคนไม่ได้ อุปมาว่าไม่มีคนในกระจกฉันใด เพราะฉะนั้นพระธรรม ทำให้รู้ว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลย ตื่นขึ้นจากหลับ รู้ความจริงว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม มีจริงแล้วไม่มีอะไรเหลือ

-อวิชชา ความไม่รู้ ลวงให้เห็นว่ามีสิ่งหนึ่ง สิ่งใด มีคน มีสิ่งของในธรรม

-อธิษฐานบารมี คือ ความมั่นคงที่จะรู้ว่าเป็นความจริง สะสมขัดเกลารักษาจิตจากความไม่รู้ ความไม่ดี เพื่อที่จะสามารถรู้ความจริงได้ (เพราะจิตที่เต็มไปด้วยอกุศล ทุจริต ไม่สามารถรู้ความจริงได้)

-มั่นคงที่จะรู้ว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา คือ การละความไม่รู้

-เมื่อไรที่ฟังเรื่องของสัจจะ (ความจริง หรือ ธรรม) จะมั่นคงที่จะไม่รู้ต่อไป หรือ มั่นคงที่จะเข้าใจขึ้น

-สัจจะเริ่มต้นที่ใด? เริ่มต้นจากที่เข้าใจว่า “ขณะนี้” อะไรคือความจริง

-สัจจาธิษฐาน ไม่ใช่ความตั้งมั่นคงที่อื่น แต่ คือ ความตั้งมั่น มั่นคงที่จะเข้าใจถูกใน สิ่งที่กำลังปรากฏ หรือ “สิ่งที่ควรรู้”

-สิ่งที่ควรรู้ คือ สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เท่านั้น (เพราะสิ่งที่ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ไม่มีให้รู้ได้ เป็นต้น)

-สิ่งที่มีจริง ที่กำลังเกิดแล้วดับ ควรรู้อย่างยิ่ง

-อภิธรรม คือ ธรรมยิ่ง ลึกซึ้งยิ่ง เพราะแม้มีก็ยากที่จะรู้

-ที่กล่าวว่า ปล่อยวาง สลัด หรือปล่อย คือ วางการไม่รู้ และความมั่นคงว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่ควรปล่อยอย่างยิ่งคือ ความเห็นผิด

-มีคน มีดอกไม้หรือไม่? แท้จริง ที่กล่าวว่าดอกไม้ เป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ความไม่รู้ เข้าใจผิดว่า “มีดอกไม้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา (เห็นตนในสิ่งที่ปรากฏ) ”

-ธรรม มาจากคำว่า ธรรมตา หรือ เป็นปรกติ ผู้เข้าใจจริงๆ จะไม่ผิดปรกติคือ ไม่ทำอะไร (ทำสิ่งที่ผิดปรกติ ด้วยความต้องการ และความไม่รู้) ทำไม่ได้แต่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ผู้ที่ตรงรู้ว่า วันนี้รู้ไม่ได้ (เช่น ธรรมที่ทรงแสดงว่าเกิดดับ เป็นต้น) แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

-ความจริงรู้ยาก ทั้งๆ ที่กำลังเกิดดับ ก็ไม่รู้ เพราะไม่ใช่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว

-ความเข้าใจสำคัญที่สุด ได้ยิน ไตร่ตรอง เข้าใจ คิดเมื่อเสียงปรากฏ เข้าใจเสียงที่มีจริง ขณะนั้นเสียงหมดแล้ว คุ้นเคยขึ้นเข้าใจขึ้น ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ดอกไม้ ไม่เสียเวลาต้องคิดเลยว่าเป็นดอกไม้ เพราะคุ้นเคยกับสิ่งที่จำ ว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างนี้ฉันใด ปัญญาก็คุ้นเคยเหมือนกัน กับความจริงฉันนั้น และต้องอาศัยกาลเวลาที่จะเห็นแล้ว ก็เข้าใจ "เห็น" ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งต้องมี สัจจาธิษฐานคือ ความตั้งใจมั่นคง ที่จะเข้าใจความจริง

-สาวกโพธิสัตว์ คือ ผู้บำเพ็ญบารมี เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยการฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า (เพราะรู้แจ้งด้วยตนเองไม่ได้) มีความมั่นคงที่จะเป็นสาวกโพธิสัตว์หรือไม่?

-อธิษฐานปรมัตถบารมี ที่แสดงไว้ในเตมียชาดกเป็นเช่นไร?

พระโพธิสัตว์ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ สะสมการฟังมาเป็นอุปนิสยโคจร แม้ชาตินั้นไม่ได้มีการฟังธรรม เช่นชาติของพระเตมีย เป็นต้น แต่ก็เป็นผู้ที่เห็นถูก มั่นคงที่จะสละสมบัติมั่นคงในความดี ความจริง

-เนกขัมมะ คือ การออกจากความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เพราะเห็นโทษภัย การสะสมการฟังไม่ได้หายไป รู้โทษว่า สิ่งใดดี ไม่ดีสิ่งใดควรละ แม้สละรูป เสียง กลิ่น รส ไม่ได้ในทันที แต่ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในคุณความดี เพื่อถึงการดับกิเลส และความติดข้อง

-น่าอัศจรรย์ ที่พระพุทธศาสนา ทำให้เห็นว่าสิ่งใดควร ไม่ควร

-ฟังธรรมเพื่ออะไร? ละความไม่รู้ และความไม่ดี

-เพราะสละอกุศลจึงฟังธรรม ถ้าไปตามอกุศล ก็ไม่ฟังธรรม

-ถ้าสามารถที่จะเห็นธรรมที่เป็นความจริงละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเข้าใจความหมายของบารมี บางคนสละ บางคนสละบ้างไม่สละบ้าง เช่นเมื่อมีการรับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น หรือต่อแถวรับอาหารบ้างผลไม้ดีบ้าง เลวบ้าง บารมีอยู่ที่ไหน? เลือกหยิบชิ้นที่ดีที่สุด ผู้ที่เสียสละอยู่เสมอ ไม่หยิบชิ้นดีเลยเพื่อสละให้ผู้อื่นบริโภค เป็นต้น หรือเป็นผู้ที่มั่นคงในการสละมากเพียงใด เช่น เป็นผู้ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คนอื่นเสมอแต่วันหนึ่งก็อยากลองทานสิ่งที่ดีบ้าง เพราะฉะนั้นบารมีเป็นชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องละเอียด เป็นผู้เข้าใจถูก มั่นคงในความดี และมั่นคงที่จะสละจากสิ่งที่น้อยที่สุดไปสู่สิ่งที่ใหญ่ที่สุด (ดับกิเลส) เพราะทราบว่าจิตมีสารพัดอกุศล โทสะ มานะ ทุกประการ

-เพราะฉะนั้น น่าอัศจรรย์ที่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทำให้จิตใจรู้ว่าสิ่งใดควร ไม่ควร เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง และทุกหนทุกแห่ง

-วันหนึ่งๆ อกุศลมากมาย เพียงกุศลเกิดได้ก็บุญแล้ว

-ปัญญาที่จะเกิดได้ ต้องมีความดีอื่นๆ ด้วย มีปัญญารู้ว่าทางนี้ดีทางนั้นไม่ดี ปัญญาจะไปทางใด? ต้องเป็นทางดีเพราะฉะนั้นสะสมขึ้นทั้งความดี และปัญญา เพื่อดียิ่งขึ้น เพราะธาตุที่เห็นถูกเกิดขึ้นพร้อมกับโสภณธรรม

-บางคนสะสมมาที่จะพูดคำไม่ดี พูดไม่ดีง่าย เร็วแรง แต่บางคนก็พูดคำไม่ดีไม่เป็นเลย ปัญญาอยู่ที่ไหน? มั่นคงว่าเป็นอนัตตาพูดคำแรงไปแล้ว เรียกคืนก็ไม่ได้ แต่ปัญญาก็ยังสามารถเข้าใจถูกได้ตามความเป็นจริง แม้เดือดร้อนใจ ปัญญาก็รู้ได้ว่า แม้เดือดร้อนก็เป็นธรรม

-“น่าอัศจรรย์ที่พระพุทธศาสนา ทำให้รู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร”

-กำลังฟังเรื่องเห็นว่าเกิดแล้วดับ ปัญญามีเพียงใด? ค่อยๆ สะสมความเข้าใจขึ้น สิ่งใดที่เกิดแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่สะสมความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม

-บางคนคิดว่าคนอื่นเดือดร้อน แต่คนที่เดือดร้อน ต้องเพราะความไม่ดี เพราะฉะนั้นเป็นคนดีทุกสถานการณ์ไม่เดือดร้อนเลย

-ชีวิตประจำวัน รู้ว่าดีขึ้นหรือเปล่า หรือว่าเหมือนเดิม ไม่มีสัญญานบอกแต่สังขารขันธ์ปรุงแต่งขึ้นเรื่อยๆ ใหม่ ไม่มีย้อนคืน (เช่น ฟังธรรมปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ ทำกิจเข้าใจนั้นๆ สะสมเป็นอุปนิสัย เป็นต้น)

-ถ้ายังไม่รู้ว่ามีเรา จะละเราไม่ได้ และความเป็นเราอยู่ที่ไหนบ้าง ตลอดศรีษะจรดเท้า โกรธ เห็น ได้ยิน ทั้งหมด

-ความเข้าใจธรรม ไม่เพียงแต่การบอกเป็นชื่อได้ แต่ลักษณะของธรรมต้องปรากฏ เช่น เห็นเป็นธาตุรู้ ความคิดจากการฟัง จำว่ามี แต่ขณะที่ธรรมไม่ปรากฏทีละหนึ่ง ตามความเป็นจริง ก็ยังไม่รู้ความจริง แม้การประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม หรือ การประจักษ์ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้ จนกว่าจะมีลักษณะของธรรมปรากฏกับปัญญาจริงๆ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจขึ้นทีละเล็กละน้อยตามลำดับขั้น ไม่ใช่เพียงการคิดชื่อของธรรม

ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ อาจารย์วิทยากร และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"น่าอัศจรรย์ ที่พระพุทธศาสนา ทำให้เห็นว่าสิ่งใดควร ไม่ควร"

"ฟังธรรมเพื่ออะไร? ละความไม่รู้ และความไม่ดี"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณwittawat ครับ เป็นประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 5 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Lamphun
วันที่ 5 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 6 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผิน
วันที่ 6 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
rrebs10576
วันที่ 10 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เฉลิมพร
วันที่ 23 ก.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ