อรรถกถาอุรคสูตร.. วินัย มี ๒ อย่าง

 
pirmsombat
วันที่  6 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23009
อ่าน  1,213

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนใน

อรรถกถาอุรคสูตร

ก็ในบทว่า วิเนติ นี้ พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

ชื่อว่า วินัย มี ๒ อย่าง ใน ๒ อย่างนี้

อย่างหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๕ อย่าง ใน ๕ อย่าง

นั้น วินัยนี้ ท่านเรียกว่า วิเนติ ก็ด้วยวิธี

๘ อย่าง.

ด้วยว่า วินัยนี้มี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ อสังวรวินัย ๑ ก็ใน

วินัย ๒ อย่างนี้ วินัยหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๕ อย่าง ก็แม้สังวรวินัยนี้ก็มี ๕ อย่าง

คือ

๑. ศีลสังวร

๒. สติสังวร

๓. ญาณสังวร

๔. ขันติสังวร

๕. วิริยสังวร.

แม้ปหานวินัย ก็มี ๕ อย่าง คือ

๑. ตทังคปหาน

๒. วิกขัมภนปหาน

๓. สมุจเฉทปหาน

๔. ปฏิปัสสัทธิปหาน

๕. นิสสรณปหาน.

ในสังวรวินัยทั้ง ๕ อย่างนั้น ความสำรวมซึ่งมาแล้ว ในคำทั้งหลาย

เป็นต้นว่า ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง เป็นผู้เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้

ชื่อว่า ศีลสังวร.

ความสำรวมซึ่งมาแล้ว ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมรักษา

จักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ชื่อว่า สติสังวร.

ความสำรวมซึ่งมาแล้ว ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อน

อชิตะ กระแส (กิเลส) เหล่าใดมีอยู่ในโลก

สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เราเรียก

เครื่องกั้นกระแสทั้งหลายว่า สังวร กระแส

เหล่านั้น อันบุคคลย่อมกั้นเสียได้ด้วยปัญญา

ดังนี้

ชื่อว่า ญาณสังวร.

ความสำรวมซึ่งมาแล้ว ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมอดทนต่อ

ความหนาว ต่อความร้อน ดังนี้ ชื่อว่า ขันติสังวร.

ความสำรวมซึ่งมาแล้ว ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมยับยั้ง คือว่า

ย่อมละ ย่อมบรรเทากามวิตกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้ พึงทราบว่า วิริยสังวร.

ก็ความสำรวมนี้แม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่า สังวร ก็เพราะสำรวมระวัง

กายทุจริต และวจีทุจริต เป็นต้น ที่จะพึงสำรวมระวัง เรียกว่า วินัย

เพราะกำจัดกายทุจริต และวจีทุจริตเป็นต้น ที่จะพึงกำจัดตามความเป็นจริง.

สังวรวินัย พึงทราบว่า แบ่งเป็น ๕ อย่าง อย่างนี้ก่อน.

อีกอย่างหนึ่ง การสืบต่อสันดานที่ไม่มีประโยชน์อันใด เป็นไปอยู่

ในองค์แห่งวิปัสสนาทั้งหลาย มีนามรูปปริเฉท (การกำหนดรู้นามรูป) เป็นต้น

ด้วยอำนาจที่ยังละตนไม่ได้อยู่เพียงใด การละสันดานที่ไม่มีประโยชน์นั้นๆ

ด้วยญาณนั้นๆ ก็ย่อมมีอยู่เพียงนั้น.

คืออย่างไร? คือ การละสักกายทิฏฐิ ด้วยการกำหนดนามรูป ละ

อเหตุกทิฏฐิ และวิสมเหตุกทิฏฐิ ด้วยการกำหนดปัจจัย ละความสงสัย ด้วย

การข้ามพ้นความสงสัย อันเป็นส่วนอื่นแห่งการกำหนดปัจจัยนั้นนั่นเอง ละการ

ยึดถือว่าเรา ว่าของเรา ด้วยการพิจารณากลาปะ ละความสำคัญว่ามรรคใน

ธรรมที่ไม่ใช่มรรค ด้วยการกำหนดมรรคและธรรมที่ไม่ใช่มรรค ละอุจเฉท-

ทิฏฐิด้วยการเห็นความเกิดขึ้น ละสัสสตทิฏฐิ ด้วยการเห็นความเสื่อม ละความ

สำคัญว่าสิ่งที่ไม่มีภัย ในสิ่งที่มีภัย ด้วยการเห็นภัย, ละความสำคัญว่าความยินดี

ด้วยการเห็นโทษ ละความสำคัญว่าความยินดียิ่ง ด้วยการตามเห็นความ

เบื่อหน่าย มีความเป็นผู้ไม่ใคร่เพื่อจะพ้น ด้วยมุญจิตุกัมยตาญาณ ละความ

ไม่วางเฉย ด้วยอุเบกขาญาณ ละธัมมทิฏฐิ ด้วยอนุโลมญาณ และละการ

กำหนดสังขารนิมิต อันตรงกันข้ามกับพระนิพพาน ด้วยโคตรภูญาณนี้ ชื่อว่า

ตทังคปหาน.

ก็การละนิวรณ์ทั้งหลาย ที่สมาธิอันต่างด้วยอุปจารสมาธิ และอัปปนา

สมาธิกำจัดเสียได้ จนกระทั่งตนไม่เสื่อม (จากสมาธินั้น) และยังเป็นไปอยู่

และการละกล่าวคือการไม่บังเกิดขึ้นแห่งปัจจนิกธรรมมีวิตกเป็นต้น ตามสมควร

แก่ตน ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน.

ก็การละกล่าวคือการตัดขาด ซึ่งกองแห่งกิเลสอันเป็นฝ่ายของสมุทัย

ที่ท่านกล่าวไว้แล้วโดยนัยเป็นต้นว่า เพื่อละทิฏฐิตามหน้าที่ของตน ในสันดาน

ของตน โดยประกอบด้วยองค์มรรคนั้นๆ เพราะได้เจริญอริยมรรค ๔ แล้ว

โดยความไม่เป็นไปโดยส่วนเดียวอีก นี้ชื่อว่า สมุจเฉทปหาน.

ก็การที่กิเลสทั้งหลายสงบระงับไปในขณะแห่งผล ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิ

ปหาน.

ส่วนพระนิพพาน ที่ละสังขตธรรมทั้งปวงเสียได้ เพราะสลัดสังขตธรรม

ทั้งปวงออกไปได้ ชื่อว่า นิสสรณปหาน.

ก็เพราะเหตุที่การละแม้ทั้งหมดนี้ ชื่อว่า ปหาน เพราะอรรถว่าสละ

ชื่อว่าวินัย เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องกำจัด ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปหานวินัย.

อีกอย่างหนึ่ง การละนี้ท่านเรียกว่า ปหานวินัย ก็เพราะความมีอยู่

แห่งวินัยนั้นๆ โดยการละความประพฤติล่วงละเมิดข้อนั้นๆ เสียได้ แม้

ปหานวินัยนี้ พึงทราบว่า แบ่งเป็น ๕ อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.

วินัยเหล่านี้ จัดเป็น ๑๐ อย่าง เพราะวินัยข้อหนึ่ง แบ่งเป็น ๕

ด้วยประการฉะนี้.

ในวินัยทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เว้นปฏิปัสสัทธิวินัย และนิสสรณวินัยเสียแล้ว

วินัยนี้ ท่านเรียกว่า วิเนติ (ย่อมกำจัด) ด้วยปริยายนั้นๆ ด้วยวินัย ๘ อย่าง

ที่เหลือ ย่อมกำจัดอย่างไร? คือ ด้วยว่า บุคคลเมื่อกำจัดกายทุจริตและ

วจีทุจริต ด้วยศีลสังวร ชื่อว่า ย่อมกำจัดความโกรธที่ประกอบด้วยกายทุจริต

และวจีทุจริตนั้น แม้กำจัดอยู่ ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น ด้วยสติสังวร

และปัญญาสังวร ชื่อว่าย่อมกำจัดความโกรธที่ประกอบด้วยโทมนัส แม้เมื่อ

อดทนความหนาว เป็นต้น ด้วยขันติสังวรอยู่ ชื่อว่า ย่อมกำจัดความโกรธ

อันเกิดแต่อาฆาตวัตถุนั้นๆ ได้ แม้กำจัดพยาบาทวิตก ด้วยวิริยสังวรอยู่ ชื่อว่า

ย่อมกำจัดความโกรธ ที่ประกอบด้วยพยาบาทวิตกนั้นได้

ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน และสมุจเฉทปหาน ย่อมมีได้ (ย่อมเกิด

ได้) ด้วยธรรมเหล่าใด บุคคลแม้ละอยู่ซึ่งธรรม (อกุศลธรรม) เหล่านั้นๆ ด้วย

ไม่ให้ธรรมเหล่านั้นเป็นไปในตน ก็ชื่อว่า ย่อมกำจัดความโกรธที่มีฐานอันเดียว

กับธรรมที่จะพึงประหาณเสียด้วยองค์นั้นๆ อันตนจะพึงข่ม และอันตนจะพึง

ละเสีย.

ก็ในที่นี้ แม้วินัยจะเกิดมีขึ้นไม่ได้เพราะปหานวินัยก็จริง แต่การละ

ย่อมมีได้ด้วยธรรมเหล่าใด บุคคลแม้กำจัดอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ท่านก็เรียกว่า

ย่อมกำจัดด้วยปหานวินัยโดยปริยาย.

ส่วนในกาลแห่งปฏิปัสสัทธิปหาน บุคคลนั้นท่านเรียกว่า ย่อมหา

กำจัดอะไร ด้วยธรรมทั้งหลายเหล่านั้นได้ไม่ ก็เพราะเหตุที่นิสสรณปหาน

เป็นสภาพธรรมอันผู้ปฏิบัติไม่พึงให้เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุที่ไม่มีสิ่งที่จะพึงกำจัด.

ก็ในวินัย ๑๐ อย่างนี้ เว้นปฎิปัสสัทธิวินัยและนิสสรณวินัยเสียแล้ว

วินัยนี้ท่านเรียกว่า ย่อมกำจัดได้โดยปริยายนั้นๆ ด้วยวินัย ๘ อย่างที่เหลือ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำจัดอาฆาตไว้ ๕ อย่าง อย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุ อันเธอจะพึงกำจัดเสียได้

โดยประการทั้งปวง ในเพราะการกำจัดเสียได้ซึ่งอาฆาตใด ก็การกำจัดซึ่ง

อาฆาตเหล่านี้มี ๕ อย่าง ๕ อย่างอะไรบ้าง? คือ ภิกษุทั้งหลาย อาฆาต

พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด ภิกษุพึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น...พึงเจริญกรุณา...

พึงเจริญมุทิตา....พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น พึงทำอมนสิการ (ความไม่

ใส่ใจ) ในบุคคลนั้นต่อไป อาฆาตในบุคคลนั้น อันภิกษุพึงกำจัดอย่างนี้

หรือว่าภิกษุพึงตั้ง (พิจารณา) ความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน

นั่นเอง ในบุคคลนั้นไว้ให้มั่นคงว่า ท่านผู้มีอายุนี้ มีกรรมเป็นของของตน

มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็น

ที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว ก็จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น และ

ท่านกล่าวการกำจัดอาฆาต ๕ อย่าง โดยนัยแม้มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มี

อายุ อาฆาตบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุ อันท่านพึงกำจัดเสียได้โดยประการทั้งปวง

ในเพราะการกำจัดอาฆาตใด การกำจัดอาฆาตเหล่านี้มี ๕ อย่าง ๕ อย่าง

อะไรบ้าง? คือ ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกายสมาจาร

ไม่บริสุทธิ์ มีวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีกายและวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์ บุคคล

พึงกำจัดอาฆาตในบุคคลเห็นปานนี้แล บุคคลนี้แม้กำจัดอาฆาตอย่างใดอย่าง

หนึ่ง ในบรรดาอาฆาต ๕ อย่างนั้น ท่านเรียกว่า วิเนติ (ย่อมกำจัด) .

อีกอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อภิกษุระลึกถึงโอวาทของพระศาสดาอย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่าพวกโจรที่มีใจต่ำช้า พึงเอาเลื่อยมีคมสองข้าง

ตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดพึงยังใจให้ประทุษร้ายแม้ในโจรนั้น เธอนั้นไม่ชื่อว่า

ทำตามคำสอนของเรา เพราะทำใจให้ประทุษร้ายในโจรนั้น ดังนี้ เมื่อระลึก

ถึงโอวาทของพระศาสดาที่ตรัสไว้อีกว่า

ผู้ใดย่อมโกรธตอบต่อผู้โกรธแล้ว

ผู้นั้นแลเลวเสียกว่าผู้โกรธทีแรกนั้นอีก

เพราะเหตุที่โกรธตอบเขานั้น ผู้ที่ไม่โกรธ

ตอบต่อผู้ที่โกรธตนแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสง-

ครามซึ่งชนะได้แสนยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธ

แล้วเป็นผู้มีสติสงบเสงี่ยม ชื่อว่า ประพฤติ

ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตน และ

ผู้อื่น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันบุคคล

ผู้เป็นข้าศึกมุ่งแล้ว เป็นธรรมอันบุคคลผู้เป็นศัตรูพึงทำแก่กัน ย่อมมาถึงหญิง

หรือชายผู้เป็นคนขี้โกรธ ธรรม ๗ ประการอะไรบ้าง? คือ

(๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนที่เป็นศัตรูกันในโลกนี้ ย่อมปรารถนา

ต่อคนที่เป็นศัตรู (ของตน) อย่างนี้ว่า โอหนอ ! ขอให้เจ้าคนนี้ พึงเป็น

ผู้มีผิวพรรณทราม ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า

คนที่เป็นศัตรูกัน ย่อมไม่ยินดีในการที่คนที่เป็นศัตรูของตนมีผิวพรรณเปล่ง-

ปลั่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลขี้โกรธนี้ถูกความโกรธครอบงำ มีความ

โกรธออกหน้า แม้เขาจะอาบน้ำแล้วอย่างสะอาด ลูบไล้อย่างดี ตัดผมและ

หนวดแล้ว นุ่งผ้าสะอาดก็จริง ถึงกระนั้น เขามีความโกรธครอบงำแล้ว

ย่อมมีผิวพรรณทรามแท้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อที่หนึ่งนี้ ที่บุคคล

ผู้เป็นศัตรูกันชอบใจ ที่บุคคลผู้เป็นศัตรูกันพึงทำแก่กัน ย่อมมาถึงหญิงหรือ

ชายผู้ขี้โกรธ

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ศัตรูย่อมหวังต่อศัตรู (ของตน)

อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้พึงนอนเป็นทุกข์ ฯลฯ

(๓) ฯลฯ ขออย่าให้มันมีทรัพย์พอใช้จ่าย ฯลฯ

(๔) ฯลฯ ขออย่าให้มันมีโภคทรัพย์ ฯลฯ

(๕) ฯลฯ ขออย่าให้มันมียศ ฯลฯ

(๖) ฯลฯ ขออย่าให้มันมีเพื่อน ฯลฯ

(๗) ฯลฯ เพราะกายแตกเบื้องหน้าแต่ตาย ขอให้มันเข้าถึงอบาย

ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศัตรู

ย่อมไม่ยินดีด้วยการไปสุคติของศัตรู (ของตน) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษ

บุคคลขี้โกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว มีความโกรธออกหน้า ย่อม

ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ เขาครั้นประพฤติทุจริตทางกาย

ทางวาจาและทางใจแล้ว เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก เป็นผู้ถูกความ

โกรธครอบงำแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้

และแม้เมื่อพิจารณาโทษในความโกรธ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า

คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนโกรธ

ย่อมไม่เห็นกรรม ความโกรธย่อมครอบงำ

นรชนใด ความมืดบอดก็ย่อมมีแก่นรชนนั้น

ในกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายโกรธเพราะความ

โกรธใดแล ย่อมเข้าถึงทุคติ ท่านผู้มีปัญญา

เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ดีแล้วจึงละความโกรธ

นั้นเสีย.

บุคคลพึงละความโกรธ พึงสละมานะ

พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย.

ความโกรธก่อให้เกิดเสื่อมเสีย ความ

โกรธทำจิตให้กำเริบ คนย่อมไม่รู้จักความ

โกรธที่เกิดขึ้นแล้ว แต่จิตว่า เป็นภัย.

ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน

ท่านจงข่มความผิดพลาดครั้งหนึ่งเสีย

บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่มีความโกรธเป็น

พลัง ดังนี้.

ความโกรธก็ย่อมถึงความกำจัดไป ฉะนั้น บุคคลนี้ แม้พิจารณา

อย่างนี้แล้วกำจัดความโกรธอยู่ ท่านเรียกว่า วิเนติ (ย่อมกำจัด) .


Tag  วินัย  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

เข้าใจยากมากค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kinder
วันที่ 8 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ