คตินิมิตอารมณ์และวิถีจิตใกล้ตาย (มรณาสันนวิถี)

 
ดรุณี
วันที่  7 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23012
อ่าน  4,652

คตินิมิตอารมณ์และวิถีจิตใกล้ตาย (มรณาสันนวิถี) สามารถที่จะมีเหตุให้ชะงักไม่เกิดจุติจิตได้หรือไม่คะ และมีอาการทางกายที่เหมือนคนตาย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นขอแยกเป็นประเด็นแต่ละประเด็น ครับ

มรณาสันนวิถี หมายความถึง วิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวารก่อนจุติ ชื่อว่า “มรณาสันนวิถี” คือ วิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด หรือวิถีจิต ชวนจิตสุดท้ายก่อนที่จะตายธรรมดาของชวนวิถีจิตจะเกิดซ้ำถึง ๗ ขณะ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ปกติชวน-วิถีจิตจะเกิด ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล แต่ว่าในขณะที่กำลังสลบ ชวนวิถีจะเกิดซ้ำกัน ๖ ขณะ เป็นสภาพของจิตซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยสัมปชัญญะอย่างทั่วๆ ไปที่ใช้กันอยู่ว่า ไม่ใช่ขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถี จะเกิดเพียง ๕ ขณะ เพราะเหตุว่ามีกำลังอ่อนลง ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ ความเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นก่อนจุติจิตจะเกิดไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า ชวนวิถีสุดท้ายจะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

จุติจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ที่เป็นจิตชาติวิบากที่เป็น ผลของกรรม เมื่อจุติจิตเกิดก็แสดงถึงความตาย โดยสมมติของบุคคลนั้น แต่ก่อนจุติจิตเกิดก็ต้องมีชวนจิตสุดท้าย ห้าขณะ ที่เรียกว่า มรณาสันนวิถี ซึ่งเป็นกุศลจิตก็ได้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในสุคติภูมิ และเป็นอกุศลจิตก็ได้ เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิ ดังนั้น เมื่อเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต จิตก็จะต้องมีอารมณ์คือ จิตเกิดขึ้นจะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้เรียกว่า อารมณ์ ซึ่งอารมณ์ก่อนตาย ที่เป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย ก็แล้วแต่ว่า จะเป็นอารมณ์อะไร เป็นปรมัติก็ได้ ที่เป็น สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือเป็นบัญญัติเรื่องราวก็ได้ ที่เกิดทางมโนทวาร ก็ได้ ครับ

ซึ่งประเด็นที่ถาม ในส่วนของ อารมณ์ก่อนตายที่เป็น คตินิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์คือ อารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย ห้าขณะ ก่อนที่จุติจิตจะเกิด โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดทางมโนทวาร โดยการคิดเป็นเรื่อง ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น เห็นเป็นวิมานบนสวรรค์ก่อนตายก็คือ นึกคิดเป็นวิมาน ก็เป็น คตินิมิตอารมณ์คือ เป็นนิมิตที่เป็นคติที่จะไปในเบื้องหน้า มีสวรรค์ หรือนรก เป็นต้น หรือนึกคิดว่า เห็นไฟในนรก เป็นต้นก็ได้ เป็นนิมิตที่แสดงคติที่จะไปคือ ภพภูมิที่จะไปในเบื้องหน้า ครับ

ซึ่งประเด็นที่ถามคือ คตินิมิตอารมณ์ สามารถเป็นเหตุที่จะทำให้ชะงักไม่เกิดจุติจิตได้ หรือไม่ ในความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถเกิดสภาพธรรมนั้นต่อทันทีได้ เป็นธรรมดา ดังนั้น จุติจิตที่เป็นความตาย แม้แต่มารผู้มีอำนาจ พระพุทธเจ้าผู้เลิศสูงสุด เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม จุติจิตก็สามารถเกิดได้ ไม่สามารถห้ามได้เลย เพราะเป็นไปตามอำนาจของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น คตินิมิตอารมณ์ เป็นเพียงบัญญัติเรื่องราวที่เป็น อารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย ดังนั้น เมื่อมีการเกิดขึ้นของชวนจิตสุดท้าย ห้าขณะแล้ว ที่มีคตินิมิตเป็นอารมณ์ ก็จะต้องเป็นเหตุปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นของจุติจิตแน่นอน ไม่สามารถบังคับไม่ให้เกิดได้เลย หรือจะหยุดชะงัก เพราะสภาพธรรมที่เป็นชวนจิตสุดท้ายเกิดแล้ว สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่สามารถผัดเพี้ยนกับความตายได้เลย ครับ

ส่วนประเด็นอาการทางกาย ก็ขออธิบายในลักษณะของอาการทางกายก่อนครับว่าคืออะไร อาการทางกายที่ปรากฎให้เราเห็น ก็คือเป็นเพียงสี ไม่สามารถรู้ถึงสภาพจิตของบุคคลนั้นได้ว่า เป็นกุศลจิตในขณะจิตไหนอย่างไร หรืออกุศลจิตในขณะใด และแม้แต่ขณะใดที่มีอารมณ์ในชวนจิตสุดท้าย ที่เป็นคตินิมิตอารมณ์ แม้เห็นวิมาน และเกิดกุศลจิต ก็ไม่สามารถสังเกตจากอาการภายนอกได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นกุศล แม้ขณะนั้น จะดูสีหน้าผ่องใส ยิ้ม แต่ใครเล่าจะรู้จิตว่า เป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิตก่อนตาย มีอารมณ์ประเภทไหนก่อนตาย เพราะสิ่งที่เห็นภายนอกเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา ที่เป็นรูปธรรม ไม่สามารถเห็นจิตของคนอื่น เห็นอารมณ์ของคนอื่นด้วยเพียงตาเปล่าครับ ที่สมมติว่าเป็นลักษณะอาการทางกาย และแม้จะมีอาการกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ก็ไม่มีใครรู้อีกว่า ขณะที่ก่อนตาย ชวนจิตสุดท้าย จะเป็นอกุศลเสมอไปก็ไม่เป็นเช่นนั้น ก็ได้ และแม้มีคตินิมิตอารมณ์ที่ป็นการเห็นไฟในนรก ก็ไม่สามารถรู้ได้จากอาการทางกายภายนอกคือ สรุปได้ทั้งหมดก็ได้ ครับ นี่คือความละเอียดของพระธรรม เพราะจิตเป็นเรื่องของนามธรรมที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เห็นได้ด้วยตาปัญญาของผู้มีปัญญามาก ดังเช่นพระพุทธเจ้า เป็นต้น ครับ

ความตาย จึงไม่ได้เลือกเลยว่าเป็นใคร จะยากดีมีจน มีคุณธรรม เป็นพาล หรือบัณฑิต จึงควรสำเหนียกว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ควรที่จะสะสมคุณงามความดี และศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาในชีวิตที่เหลือน้อย และไม่ทราบเวลาตาย เพื่อที่จะเป็นที่พึ่งต่อไปในโลกหน้า และไม่ต้องเกิดแล้วตายอีกในอนาคต อันป็นการหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ดูเพียงอาการภายนอกไม่สามารถบอกได้ว่าตาย หรือไม่ตาย เพราะถ้าจะตายจริงๆ ก็ต้องเป็นในขณะที่จุติจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากภพนั้นชาตินั้น และถ้ากล่าวถึงมรณาสันนวิถีแล้ว เมื่อเห็นคตินิมิตอารมณ์ กล่าวคือ อารมณ์ที่เป็นคติที่จะไปเกิด เป็นการเห็นทางมโนทวาร เช่น เห็นวิมาน เห็นสวนนันทวัน หรือเห็นไฟนรก เป็นต้น ซึ่งคตินิมิตอารมณ์ เป็นอารมณ์เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น จะไม่มีการชะงักเลย ย่อมเป็นเหตุให้จุติจิตเกิดขึ้น เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้นทันที เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ เพราะชวนวิถีจิตสุดท้าย เกิดก่อนที่จุติจิตจะเกิด เป็นมรณาสันนวิถี ซึ่งเลือกไม่ได้เลย ว่าจะเป็นตอนไหน

การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกทีๆ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรม ด้วยข้ออุปมาให้เห็นถึงความเล็กน้อยของชีวิตไว้มากมาย เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นมา ก็เหือดแห้งไป ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ที่กลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น หรือแม้กระทั่งอุปมาเหมือนกับการทอผ้าของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้าแผ่นผ้าก็จะค่อยๆ เต็มขึ้น ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จ ก็จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องสิ้นสุดลงที่ความตาย ก็ควรจะแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง จากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาถึง ด้วยการไม่ประมาทในการเจริญกุศล สะสมความดี และฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

คตินิมิตอารมณ์ เป็นอารมณ์ที่เกิดทางมโนทวาร เช่น นึกถึงรถที่มารับจากสวรรค์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 8 มิ.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 8 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ