ช่วยบอกหน่อยครับ
ทำไมพระพุทธองค์ทรงตรัสหลักธรรมไตรลักษณ์ 3 เป็นลำดับแรกในการปฏิบัติ
วิปัสสนากรรมฐาน อธิบายให้ฟังหน่อยนะครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไตรลักษณ์ เป็น ลักษณะของความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เรียกว่า เป็น
สามัญลักษณะ คือ ลักษณะทั่วไปของสภาพธรรมที่จะต้องมี ซึ่ง สภาพธรรมที่มีจริง
คือ นามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่พ้นจากความ
จริงที่เป็นไตรลักษณ์เลย
ซึ่งลักษณะ ความจริงที่เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
อนิจจัง สภาวะ ลักษณะที่ไม่เที่ยงหมายถึง ลักษณะที่เป็นสาธารณะแก่สังขาร
ธรรมทั้งปวงจิต เจตสิก รูป เป็นอนิจจัง เพราะมีอนิจจลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นและ
ดับไป อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ (ไตรลักษณ์ หรือสามัญญ
ลักษณะ)
ทุกขัง สภาวะ ลักษณะที่ทนได้ยาก หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ทนอยู่ใน
สภาพเดิมไม่ได้คือต้องเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นและดับไป ดังที่ พระผู้มีพระภาค
ตรัสถาม พระปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือ
เป็นสุขเล่า"
พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า " เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า " ...
อนัตตา สภาวะลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ใน
อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด คือ เป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะที่น้อมไปรู้
อารมณ์ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งบังคับให้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือ สภาพ
ที่เป็นรูปธรรม มีลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ ใครจะบังคับให้รู้ เปลี่ยนมาเป็นสภาพที่รู้
อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือสังขารธรรมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใครจะบังคับให้สังขาร
ธรรมเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุข ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังขารธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
จึงเป็นอนัตตา และแม้วิสังขารธรรมซึ่งหมายถึงพระนิพพาน เป็นสภาพที่เที่ยง (เพราะ
ไม่เกิดดับ) เป็นสุข (เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมได้) แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยน
แปลงสภาพของนิพพานให้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ได้ วิสังขารธรรมที่เที่ยง เป็นสุขนั้น
จึงเป็นอนัตตาด้วย
ซึ่งเหตุผลที่พระพุทเจ้าทรงแสดงกฎไตรลักษณ์เป็นสำคัญในการเจริญวิปัสสนา เพราะ
การเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้แจ้งความจริง ความจริงของสภาพธรรม ที่เป็นอย่าง
นั้น คือ ความจริงแท้ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
การจะรู้ความจริงด้วยปัญญา ปัญญาก็จะต้องรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เป็นอย่างนี้ เมื่อรู้ความจริงที่เป็นไตรลักษณ์เช่นนี้ ก็ย่อมถึง
การดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น การประจักษ์ความจริงที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็คือ
การรู้ไตรลักษณ์ ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ครับ นี่คือเหตุผล
สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความสำคัญของกฎไตรลักษณ์
แต่กว่าจะถึงการรู้ความจริงที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ก็จะต้องเริ่มจาก
ปัญญาขั้นต้น คือ การฟัง การศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ ก็สามารถที่จะรู้ความจริง
ที่เป็นไตรลักษณ์ที่เป็นปัญญาขั้นสูงได้ ครับ ขอนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป ทุกประเภท ไม่มีเว้น ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น ล้วนมีจริงในขณะนี้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุ ปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อเกิดแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา และ เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย แม้ความเป็นจริงของสภาพธรรมจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็ยากที่จะเข้าใจ เพราะสะสมความไม่รู้ และ คุ้นเคยกับความเป็นตัวตน มานานแสนนาน ดังนั้น จึงต้องเริ่มที่การเข้าใจว่าเป็นธรรมก่อน ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย การเริ่มต้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเกื้อกูลให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าหากไม่เริ่มต้นที่การ ฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว ก็ย่อมจะทำ
ให้มีการประพฤติปฏิบัติผิด คลาดเคลื่อนจากหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง
แสดง ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อ ความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมเลย ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...