เพราะเหตุใด ตัณหา จึงเป็นสมุทัย

 
WS202398
วันที่  9 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23023
อ่าน  10,774

เพราะเหตุใด ตัณหา จึงเป็นสมุทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ดังนั้นความเป็นจริง ตัณหา ก็คือ

โลภะนั่นเองครับ ดังนั้น โลภะ จึงมีชื่อหลายอย่าง เช่น กามฉันทะ ตัณหา ราคะ

เป็นต้น นั่นก็คือ ลักษณะของกิเลสที่เป็นโลภะทั้งสิ้นครับ

สมุทัยอริยสัจจ์ สมุทย (เกิดขึ้นพร้อม , เหตุ) + อริยสจฺจ (ความจริงอย่างประเสริฐ)

ความจริงอย่างประเสริฐคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภเจตสิก

ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการ

เวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกิยธรรม

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงโดยหลากหลายนัย แม้แต่เหตุแห่งทุกข์

ที่เป็นสมุทัย ก็ทรงแสดงหลากหลายนัยอีกเช่นกัน สำหรับ สมุทัย ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์

นั้น ทรงแสดงโดยโลภะ หรือ ตัณหาว่าเป็นสมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งก็ต้องเข้าใจ

ว่า ทุกข์ในอริยสัจจะ มีหลายอย่าง คือ ทุกข์กาย (ทุกขทุกข์) ทุกข์ใจ (ปกิณณกทุกข์)

และ ทุกข์ที่เป็นการเกิดขึ้นและดับไป (สังขารทุกข์) ครับ

ซึ่งตัณหา หรือ โลภะเป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะแสดงให้เห็นว่า โลภะ เมื่อเกิดขึ้น

ย่อมนำมาซึ่งทุกข์ทั้งที่เห็นกันอยู่ คือ ทุกข์ใจ เมื่อไม่ได้สิ่งที่น่าปรารถนา ต้องการย่อม

เกิดทุกข์ใจ ที่เป็นโทมนัสเวทนา เพราะมีความติดข้องพอใจในสิ่งใด สิ่งหนึ่งเมื่อสิ่งนั้น

แปรปรวนไป เปลี่ยนไป ก็เกิดทุกข์ใจประการต่างๆ และโลภะ เมื่อยังมีอยู่ก็ยังนำมาซึ่ง

การเกิด คือ ขันธ์ 5 นั่นคือ นำมาซึ่งทุกข์ที่เป็นการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม

และ โลภะ ตัณหา ก็นำมาซึ่งทุกข์กายด้วย เพราะเมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีขันธ์ 5 จึงต้อง

ได้รับทุกข์ทางกายด้วย ครับ

จะเห็นนะครับว่า โลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ประการต่างๆ อย่างกว้างขวาง

พระองค์จึงทรงแสดงว่า โลภะ หรือ ตัณหา เป็นสมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์

ตัณหา หรือ โลภะจึงเป็นสมุทัย เป็นเหตุของทุกข์ครับ ซึ่งพระพุทธองค์แสดงธรรม

เพื่อละเหตุแห่งทุกข์ นั่นคือ ละตัณหา (โลภะ) แต่จะละได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญา

พระพุทธองค์แสดง หนทางในการละเหตุแห่งทุกข์ที่เป็นตัณหา นั่นคือการเจริญ

อริยมรรค หรือ เจริญสติปัฏฐาน 4 เป็นการเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจความจริงที่มีอยู่ใน

ขณะนี้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

อีกนัยหนึ่ง แม้อวิชชา ก็เป็นเหตุแห่งทุกข์

ส่วน อวิชชา ความไม่รู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรม

หมายถึง เพราะ มีอวิชชา ความไม่รู้ ย่อมทำให้อกุศลประการต่างๆ เจริญด้วย ซึ่ง

ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าประเภทใด จะต้องมีโมหเจตสิก หรือ อวิชชา ความไม่รู้

เกิดร่วมด้วยเสมอ จึงเป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย และ เพราะมีอวิชชา ตาม

นัยปฏิจจสมุปบาท ย่อมเป็นปัจจัยให้มีการทำกรรม ที่เรียกว่า สังขาร เมื่อทำกรรม ก็

ทำให้มีการเกิด (วิญญาณ) และ ก็มีนามรูป คือ มีรูปร่างกาย จิตใจ และก็ทำให้ได้รับ

ทุกข์ประการต่างๆ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ (ความโศกเศร้า) เป็นต้น เพราะฉะนั้น

อวิชชา ความมรู้ จึงนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ด้วย คือ ทุกข์เพราะ มีการเกิดขึ้นของ

สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ทุกข์คือการเกิด และ ทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือ

ความเศร้าโศกเสียใจ ครับ ซึ่ง เพราะอวิชชา ความไม่รู้มี กิเลสต่างๆ จึงมีด้วย

ซึ่งในอรรถกถา บางแห่ง ก็แสดงว่า ทั้งโลภะ และ อวิชชา เป็นเหตุแห่งทุกข์ ครับ

เพียงแต่ว่า เมื่อแสดงโดยอริยสัจจะ ที่เป็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ที่แสดงโลภะ ตัณหา

ความติดข้อง เพราะ สามารถเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน ที่จะนำมาซึ่ง ทุกข์ใจที่เป็นๆ

กันอยู่ ทุกๆ คนว่า ถ้าติดข้อง ยินดีพอใจอะไรแล้วก็นำมาซึ่งทุกข์ ที่เป็นทุกข์ใจ ที่

เกิดประสบพบเจอกันในชีวิตประจำวัน แต่ อวิชชา ไม่ได้เหตุโดยตรงที่จะทำให้เกิด

ทุกข์ใจทันที ที่เกิดในชีวิตประจำวัน แต่ อวิชชา นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 ครับ

นำมาซึ่งทุกข์ คือ การเกิดขึ้นของขันธ์ 5 หรือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม รูปธรรม

คือ จิต เจตสิก รูปที่เป็น สังขารทุกข์ เป็นสำคัญ ครับ เพราะฉะนั้น สมุทัยอริยสัจจะ

จึงแสดงโดย ตัณหา หรือ โลภะเป็นสมุทัย ไม่ใช่ อวิชชา เป็นสมุทัย ตามเหตุผลที่

กล่าวมา แต่หากว่าศึกษาโดยละเอียดแล้ว และ เข้าใจความหมายของทุกข์ประการ

ต่างๆ ตามที่กล่าวมา เหตุแห่งทุกข์ ก็รวมถึง อวิชชา ความไม่รู้ด้วย เพราะทั้งโลภะ

หรือ ตัณหา และ อวิชชา ก็ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 ซึ่งจะนำมา

ซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ทั้งหมด

สิ่งที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลส และตัณหาคือ ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นก็

ต้องศึกษาพระธรรม ฟังพระธรม เพื่อเจริญปัญญาเพื่อละตัณหาและกิเลสประการ

ต่างๆ ครับ ซึ่งหนทางในการอบรมปัญญา คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีใน

ขณะนี้ เพื่อเข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เพราะสัตว์โลกสำคัญผิดว่าเป็นเรา

เป็นสัตว์บุคคล ดังนั้นการเข้าใจอบรมปัญญาอย่างนี้ก็จะค่อยๆ ละกิเลส เป็นลำดับ

แต่ยังโลภะทันทีไมได้ครับ เพราะกิเลสมีมาก ตามที่ได้อธิบายแล้ว และกิเลสก็ต้อง

ละป็นลำดับ กิเลสที่ต้องละก่อน คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน

ด้วยหนทาง คือการฟังพระธรรม ให้เข้าใจแม้ขั้นการฟังว่าธรรมคืออะไรก่อนครับ ส่วน

โลภะหรือตัณหาจะละได้หมดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ครับ

ดังนั้นการจะศึกษากิเลสและตัณหา ก็ต้องรู้จักว่าหนทางในการละกิเลสคืออย่างไร เพื่อ

ละเหตุแห่งทุกข์คือตัณหาครับ ด้วยการฟังพระธรรมนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
WS202398
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังมีตัณหา ความติดข้องต้องการ นั่นหมายความว่า ยังเป็นผู้ที่ไม่

ปราศจากกิเลสโดยเด็ดขาด ยังมีเหตุที่จะทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป ซึ่งจะต้องเป็น

ทุกข์อีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ตามความเป็นจริงแล้ว ตัณหายังมี นั่นหมายความว่า

ยังมีอวิชชา ด้วยเพราะเหตุว่าผู้ที่จะดับตัณหาหรือโลภะได้อย่างเด็ดขาดนั้น ต้องเป็น

พระอรหันต์ เท่านั้น และเมื่อนั้นก็ดับอวิชชา ได้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ยังมีตัณหา

ยังมีอวิชชา จึงยังไม่พ้นไปจากทุกข์ สืบเนื่องมาจากยังมีการเกิดอยู่ เพราะยังมี

อวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น และมีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ จึงทำให้สัตว์ท่องเที่ยว

ไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปต่อไปอีก

การที่จะดับทุกข์ ก็ดับที่เหตุแห่งทุกข์ คือ ดับกิเลส ต้องปัญญาเท่านั้นจึงจะ

ละได้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรได้เลย แล้วปัญญาจะมาจาก

ไหน จะเจริญขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาัสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ซึ่งทุกคนจะต้องเริ่มตั้งแต่ในขณะนี้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน

นั่นเอง เพราะปัญญาจะมีมากได้ ก็ต้องอาศัยการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย

การดับกิเลส เป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่ในขณะนี้ ก็สามารถสะสมความเข้าใจถูก

เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จากการได้ฟังความจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทรงแสดง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ความอยาก ความทะเยอทะยาน เช่น อยากได้ตำแหน่งสูงๆ เมื่อไม่ได้ก็ทุกข์

เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาธรรม อบรมปัญญาเหตุให้ไม่ทุกข์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
WS202398
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาสำหรับคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 10 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 15 มิ.ย. 2556

ชัดเจนค่ะ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ