กีดกันไม่ให้คนอื่นทำกุศล

 
lovedhamma
วันที่  2 ก.ค. 2556
หมายเลข  23116
อ่าน  10,063

การขัดขวาง กีดกันผู้อื่นทำบุญ เป็นบาปไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า บุญ คือ อะไร

บุญ คือ สภาพธรรมที่ดีงาม เป็นเครื่องชำระจิตให้สะอาดปราศจากอกุศล ขณะใดปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นคือบุญ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากกุศลจิตและเจตสิกธรรมทีเกิดร่วมด้วย บุญกุศลทุกประการ นำมาซึ่งความสุข ไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรประมาทว่านิดหน่อย เล็กน้อย หรือไม่ควรประมาทว่าได้กระทำเพียงพอแล้ว แต่ควรที่จะเจริญบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้ที่เห็นโทษของกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของบุญกุศล มีปัญญารู้ว่าบุญ เป็นที่พึ่ง นำสุขมาให้ ก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศล พร้อมทั้งสะสมกุศลไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้งฉันทะ (ความพอใจ) ในการเจริญกุศล ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ กุศลจึงจะลดน้อยลง เบาบางลง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ประมาท ไม่ได้เจริญกุศลอะไรๆ เลย กุศลย่อมจะเบาบางไม่ได้เลย มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น นี้คือ ความจริงที่ควรจะได้พิจารณา

ในชีวิตประจำวันโอกาสที่บุญจะเกิดขึ้น ก็เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล และบุญ ก็ไม่ได้มีแค่ทานอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีมากกว่านั้น ดังต่อไปนี้ คือ

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา วิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตามซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น การได้สะสมบุญกุศล ความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นขณะที่มีค่า เพราะชีวิตประจำวัน อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปมากอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้สะสมบุญ ก็มีแต่จะพอกพูนอกุศลให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

จากประเด็นคำถาม ก็สามารถพิจารณาได้ว่า ขณะที่ไม่หวังดีที่จะให้ผู้อื่นได้เจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ก็ตาม ขณะนั้น จิต ย่อมไม่ดีแน่ ไม่เป็นผู้ชื่นชมในคุณความดี จึงกีดกันหรือทำร้ายห้ามปรามคนที่กำลังจะทำดี ขณะนั้น อกุศลธรรมเกิดขึนเป็นไป

เป็นบาปอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าถึงขั้นที่จะประทุษร้ายทำร้ายเบียดเบียนด้วยแล้ว ก็แสดงถึงอกุศลที่มีกำลัง เพราะถ้ากุศลเกิด คล้อยตามความดีของผู้อื่น จะไม่เป็นอย่างนั้นเลย จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ขณะที่กีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำกุศลนั้น ประการแรก ก็ทำลายตนเอง

ก่อน เพราะตนเอง เกิดอกุศล ไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้น ก็เป็นการ

ตัดโอกาสการเจริญกุศลของผู้อื่น ด้วย และถ้าเป็นกุศลที่เกี่ยวกับทาน ก็เป็นการตัดโอกาส

ที่จะได้รับสิ่งที่ดีๆ จากผู้ที่จะให้ทานในขณะนั้น

และที่ควรจะได้พิจารณาเพิ่มเติม คือ ถ้าหากว่า การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ถูกต้อง

ไม่ใช่บุญ แต่ผู้นั้นสำคัญผิดว่าเป็นบุญ เราก็สามารถที่จะให้คำแนะนำด้วยจิตที่ประกอบ

ด้วยเมตตา ได้ ว่า ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร พร้อมกับแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องให้ เป็นการ

เกื้อกูลซึ่งกันและกันให้ดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องดีงาม แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการใช้

กำลังประทุษร้าย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ห้ามคนอื่นให้ทาน [ชัปปสูตร]

เรื่อง ปาฏิกาชีวก [ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท]

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การกระทำอะไรก็ตาม ที่ทำด้วยอกุศลจิต ย่อมไม่ควรโดยประการทั้งปวง เพราะ

ฉะนั้น การจะตัดสินว่าอะไรถูก หรือ ผิด สำคัญที่จิตของผู้กระทำเป็นสำคัญ ซึ่ง

สำหรับ การขัดขวาง กีดกันผู้อื่นทำบุญ ก็ต้องพิจารณาว่า ด้วยความหวังดี หรือ

ด้วยประสงค์ร้าย หากด้วยความหวังดี ด้วยจิตที่เป็นกุศล เพราะ ทราบว่า การทำ

กุศลนั้น เป็นการทำกุศลที่ผิดทาง ยกตัวอย่างเช่น การที่บุคคลหนึ่ง จะทำกุศล

เช่น ไปสร้างห้องปฏิบัติในหนทางที่ผิด การทำบุญเพื่อพิมพ์หนังสือในหนทางที่

ผิด เป็นต้น ผุ้ที่ห้ามการทำบุญนั้น เกิดจากปัญญาความเข้าใจถูก จึงห้ามการทำ

บุญ เช่นนี้ ย่อมควร เพราะ ทำให้ผู้อื่นไม่ไปทำในสิ่งที่ผิด อันสำคัญว่าเป็นบุญ

แต่ ไม่ใช่บุญ แต่เป็นความติดข้อง อยากได้บุญ เป็นต้น ครับ

ส่วน การห้ามผู้อื่นทำบุญ กีดกัน ด้วยเจตนาที่ดี เช่น อย่าให้มากเลย ควรให้แต่

น้อย จะเห็นว่าด้วยเจตนาที่ดี แม้จะเป็นกุศล แต่ การห้ามนั้น ก็ไม่ควร เพราะเหตุ

ว่า เป็นการที่จะทำให้กุศลของผู้อื่นไม่สำเร็จ เพราะ ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้า

ทรงสรรเสริญกุศลทุกๆ ประการ ไม่ว่าจะมาก หรือ จะน้อยก็ควรทำ แต่การห้าม

ในขณะที่กำลังทำบุญของผู้อื่น ก็อาจทำให้บุญของผู้ทำไม่สำเร็จ ดังนั้น ถ้าเห็นว่า

บุคคลนั้น ให้ทาน ทำบุญเกินไป คือ จนตนเอง และ คนใกล้ตัวเดือดร้อน ก็ควรจะ

เตือนภายหลัง หลังจากที่ผู้อื่นทำบุญเสำเร็จแล้ว บุญนั้นก็จะสำเร็จกับผู้อื่นด้วย

และ คนที่ได้รับสิ่งของ จากผู้นั้น ก็จะได้รับในสิ่งท่ควรจะได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น

ในกรณีนี้ จึงไม่เป็นบาป แต่ไม่ควรกระทำในขณะนั้น ควรห้าม หรือ เตือน กีดกัน

ภายหลัง ที่ทำบุญเรียบร้อยแล้ว ครับ

ส่วนกรณีที่กีดกัน ห้าม การทำกุศลของผู้อื่น ด้วย เจตนาที่ไม่ดี ซึ่ง เกิดจากจิตที่

เป็นความตระหนี่ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า ผู้ที่มีความตระหนี่

มีกำลังมาก ย่อมห้ามการให้ของผู้อื่นได้ โดยปกติ เพียงความตระหนี่เกิดขึ้น ที่ไม่มี

กำลัง ย่อมเกิดจิตที่ไม่อยากให้ของตนเอง แต่ เมื่อความตระหนี่มีกำลังมาก ย่อม

ห้ามการให้แม้ของผู้อื่น เสียดายวัตถุที่ให้ของผู้อื่น จึงห้ามการให้ทาน การทำบุญนั้น

เพราะฉะนั้น การกีดกันนั้น ย่อมเป็นบาป เป็นอกุศล เพราะ เกิดจากจิตที่เป็นอกุศล

ที่เป็นความตระหนี่ที่มีกำลัง และ ได้ทำบาป ที่มีกำลัง คือ การห้ามด้วย วาจา ใน

ขณะนั้น สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑- หน้าที่ 276

ความตระหนี่ ด้วยสามารถแห่งผู้ตระหนี่. อาการแห่งความตระหนี่

ชื่อว่าอาการตระหนี่. ....ปุถุชน ท่านเรียกว่าผู้เหนียวแน่น. ภาวะแห่งผู้

เหนียวแน่นนั้น ชื่อว่าความเหนียวแน่น, คำนี้เป็นชื่อของความตระหนี่อย่าง

แรง ก็บุคคลที่ประกอบด้วย ความตระหนี่อย่างแรงนั้น ย่อมห้ามแม้ผู้อื่นที่

ให้ทานแก่คนอื่นอยู่.

สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-

คนตระหนี่นี้ความดำริชั่ว แม้มิจฉาทิฏฐิ ไม่เอื้อ

เฟื้อย่อมห้ามผู้ให้ทานแก่พวกคนผู้ขอโภชนะอยู่.

ส่วน การห้ามผู้อื่นทำบุญโดยมีเจตนาจะทำร้าย ก็เป็นไปได้ หากอกุศลนั้นมีกำลัง

ก็เป็นบาป เพราะ ทำด้วยอกุศล ซึ่งกระผมจะขอเล่าชาดกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่

ประทับใจ และ ซาบซึ้งในคุณธรรมของพระโพธิสัตว์ในความั่นคงในกาเรจริญกุศล

แม้ ผู้อื่นจะห้ามไม่ให้ทำบุญก็ตาม

เรื่องมีอยู่ว่า พระศาสดา ทรงปรารภ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ แม้เทวดาจะ

ห้ามการให้ทานของท่าน ท่านก็ไม่หวั่นไหว และ ไล่เทวดาไป แม้ท่านจะยากจนก็

ยังทำบุญ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การกระทำของท่านเศรษฐีที่เป็นพระโสดาบันแล้ว

ไมน่าอัศจรรย์ แม้ โบราณกบัณฑิต ในสมัยอดีตกาล แม้ไม่ใช่พระอริยะ แต่ ก็

สามารถให้ทาน ทำบุญ แม้มีผู้มีอำนาจมาห้าม ก็ยอมสละชีวิต เพื่อทำบุญ แม้ผู้อื่น

มาห้าม พระองค์ทรงเล่าเรื่องในอดีตชาติว่า

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ค. 2556

สมัยหนึ่ง เมื่อเราเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ยินดีในการบุญ ต่อมา บิดา มารดา ก็เสียชีวิต

ได้เป็นเศรษฐีตั้งโรงทานทำบุญมากมาย เพราะ มีอัธยาศัยในการเจริญกุศลทุกๆ

ประการ อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงออกจานิโรธสมาบัติ 7 วัน ยังไมได้

เสวยพระกระยาหาร จึงทรงเหาะมาลงที่หน้าประตูเรือนของพระโพธิสัตว์ คนรับใช้

เห็น พร้อมๆ กับ พระโพธิสัตว์เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงใช้ให้คนใช้ไปรับบาตร ของ

พระปัจเจกพุทธเจ้า

ครานั้น มารผู้มีบาป ที่เป็นราชาของมารทั้งปวง เกิดอกุศลที่มีกำลัง จะห้ามผู้อื่น

ทำบุญ ด้วยคิดว่า พระปัจเจกพุทะเจ้า ไม่ได้อาหารมา 7 วัน ถ้าไม่ได้อีก ย่อมจะ

ปรินิพพาน และ เราก็จะห้ามการทำบุญของพระโพธิสัตว์ด้วย รวมความว่า ด้วย

เจตนาร้าย ทำร้าย เพื่อให้พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้อาหาร จะได้ปรินิพพาน และ

เพื่อไม่ให้บุญของพระโพธิสัตว์สำเร็จ จึงลอยอยู่บนอากาศ เนรมิต หลุมถ่านเพลิง

กว้าง และ ลึกมาก เปลวไฟ โชติช่วง ดั่งอเวจีมหานรก คนใช้ที่จะรับบาตร เห็น

หลุมถ่านเพลิงอันน่ากลัวมาก กั้นอยู่ก็หนีไป พระโพธิสัตว์ใช้เด็กรับใช้ไปรับบาตร

ก็กลัวหนีไปหมด เพราะ กลัวหลุมถ่านเพลิง พระโพธิสัตว์คิดว่า มารผู้มีมีบาป

ต้องการทำร้ายพระปัจเจกพุทธเจ้า และ ทำลายกุศลของเราวันนี้ เราจะยอมสละชีวิต

แม้จะต้องตกลงไปในหหลุมถ่านเพลิง ก็จะต้องยอม เพื่อทำกุศลของเรา และ

รักษาพระปัจเจกพุทธเจ้าให้ได้อาหาร

พระโพธิสัตว์เดินเข้าไปหา พระปัจเจกพุทธเจ้า โดยมี หลุมถ่านเพลิงใหญ่

น่ากลัวด้วยเปลวไฟลุกโชนขวางยืน พระโพธิสัตว์ถามว่า ท่านเป็นมารหรือ มาร

ก็รับว่าใช่ ท่านเป็นผู้เนรมิตหลุมถ่านเพลิงใช่หรือไม่ มารก็รับดังนั้น พระโพธิสัตว์

ถามว่า ท่านเนรมิตหลุมถ่านเพลิงเพื่ออะไร มารกล่าวว่า เพื่อทำลาย การให้ทาน

ทำบุญของท่าน และ ต้องการให้ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าพินาศ เพราะ ไม่ได้

อาหาร พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า เราจะไม่ให้ท่านทำลาย ทาน กุศลของเรา และ

จะไม่ให้ชีวิตของพระปัจเจกพระพุทธเจ้าพินาศ เรายอมสละชีวิต

พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาว่า

ข้าพเจ้าจะตกนรก มีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลง

เบื้องล่างก็ตาม ข้าพเจ้าจักไม่ทำธรรมอันไม่ประเสริฐ

ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวเถิด.

เมื่อเป็นดั่งนั้น พระโพธิสัตว์ก็เดินตรงไปที่หลุมถ่านเพลิง ขณะนั้นเอง ดอก

ปทุมใหญ่ก็ผุดขึ้นจากหลุมถ่านเพลิง รองรับ สรีระของพระโพธิสัตว์ เกสรดอกไม้

ของดอกปทุม ก็ตั้งขึ้นโปรยปรายอยู่ด้านบนของพระโพธิสัตว์ ให้ได้รับความเย็น

ไม่ร้อนเลย พระโพธิสัตว์รับบาตร ถวายอาหารที่ประณีตอย่างยิ่งกับพระปัจเจก

พุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงอนุโมทนา และ โยนบาตร เหาะไปที่อยู่ของตน

ส่วนมารก็เศร้าเสียใจ และได้จากไป ณ ที่นั้น

จะเห็นจากเรื่องนี้ว่า ผู้ที่มั่นคงในการทำความดี แม้จะถูกผู้ที่มีอกุศลมาก มีกำลัง

ถึงขนาดประสงค์จะเอาชีวิต ก็สละชีวิตเพื่อรักษากุศล อันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เป็น

แบบอย่างที่ดี เพราะ ชีวตของสัตว์โลก คือ ความตายก็มีครั้งเดียวในชาติหนึ่ง แต่

สิ่งที่ไม่ควรละเลย คือ ควาเมป็นผู้ตรงต่อธรรม เจริญขึ้นของคุณธรรมเป็นสิ่งที่

ประเสริฐกว่า เพราะสิ่งที่จะสะสมและเป็นประโยชน์ต่อไป ในอนาคต คือ ความดี

ที่บุคคลนั้นได้กระทำ ครับ

ดังนั้น การกีดกันด้วยอกุศล ด้วยเจตนาที่ไม่ดี ย่อมป็นบาป ซึ่งงหากมองโดย

ความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นสภาพที่กีดกัน คือ อกุศลจิตทีเกิดขึ้น ขณะที่

กีดกันผู้อื่น ก็ชื่อว่ากีดกันตัวเองแล้ว เพราะ อกุศลเกิดขึ้นเมื่อใด กีดกันไม่ให้

ความดีเกิดขึ้นจิตใจ จึงเป็นบาปในขณะที่กีดกันในขณะนั้น ครับ

การศึกษาพระธรรม ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา อันเป็นสภาพธรรมที่่กีดกัน

อกุศลโดยตรง จึงไม่มีสัตว์ บุคคลที่กีดกันใคร แต่ว่าจิตไม่ดีต่างหาก เป็นสภาพ

ธรรมที่กีดกันในขณะที่เป็นอกุศล ควรอบรมปัญญา ที่เป็นสภาพธรรมที่กีดกัน

ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น กีดกัน ความไม่รู้ กีดกันความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล

ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมถึงการละกิเลส ที่เป็นสภาพธรรมที่กีดกัน และ เมื่อถึง

ความเป็นพระโสดาบัน ย่อมละความตระหนี่ และ อกุศลประการอื่นๆ ย่อมไม่

กีดกัน การเจริญกุศลของผู้อื่น แต่ ผู้ที่เป็นคนดี มีปัญญา ย่อม อนุโมทนา

ในกุศล และมีส่วนช่วยในการเจริญกุศลของผู้อื่น ครับ

สมดัง มฆะมาณพ อันเป็นอดีตชาติของพระอินทร์กล่าวถึง

การทำกุศลของท่านไว้น่าฟังในประเด็น การกีดกันกุศลดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 163

มีคนอื่นถามเขาว่า เพื่อนมาฆะ คุณออกไปตั้งแต่เช้า ตกเย็นจึงมา

จากป่า คุณทำงานอะไร. ผมทำบุญ ถางทางไปสวรรค์. ชื่อว่าบุญนี้ คืออะไร

กันเพื่อน. คุณไม่รู้จักหรือ. เออ ผมไม่รู้จัก. เวลาไปเมืองท่านเคยเห็น พวก

ราชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นต้นหรือ. เคยเห็นครับ พวกนั้นทำบุญ

แล้วจึงได้ตำแหน่งนั้น ผมเองก็จะทำงานที่ให้สมบัติอย่างนั้นบ้าง คุณเคยฟัง

ไหมว่า เทพบุตรชื่อจันทร์ เทพบุตรชื่อสูรย์. เออ เคยฟัง. ผมก็จะถางทาง

ไปสวรรค์นั้น. เออก็บุญกรรมนี้ เหมาะสำหรับคุณเท่านั้น หรือสำหรับคนอื่น

ก็เหมาะด้วย. บุญนั้น ไม่กีดกันใครๆ หรอก.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nongnooch
วันที่ 3 ก.ค. 2556

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ