การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

 
supim
วันที่  7 ก.ค. 2556
หมายเลข  23138
อ่าน  4,143

อยากทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในขณะนี้ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงจนอาจนำไปสู่ความหายนะล่มจมของประเทศได้ในที่สุด หากผู้คนในสังคมยังคงนิ่งเฉยและยอมรับปล่อยให้ปรากฎการณ์เช่นนี้คืบคลานเข้าครอบงำอยู่เช่นนี้ และแม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามอย่างมากที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันลดน้อยลงไปได้สักเท่าใดนัก ตามความรู้ความเข้าใจจากการได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ก็ทราบว่า มรรคมีองค์ 8 นั่นแหละที่เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยเริ่มจากการต้องเป็นผู้เห็นถูกเสียก่อน เมื่อเห็นถูกแล้ว ความเกรงกลัวและละอายต่อบาปอกุศลก็จะเกิดขึ้น และเจตสิกฝ่ายดีตัวอื่นๆ ก็จะเกิดตามมาตามลำดับ ทั้งนี้การอบรมให้เจตสิกฝ่ายกุศลเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็ต้องศึกษาธรรมให้มากด้วยการฟังและการอ่านเท่านั้น ถูกหรือไม่คะ หรือจะมีหนทางอื่นใดนอกเหนือจากนี้ได้อีกคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หากพิจารณาที่สภาพธรรมก็จะเข้าใจความจริงว่า การทุจริตคอรัปชั่นก็คืออกุศลจิตที่เกิดขึ้นมีกำลัง ทำให้มีการทำอกุศลกรรม ซึ่งก็มาจากอกุศลจิตเป็นเหตุ อันมีกิเลสเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ดังนั้น การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่มีมากมาย เป็นวงกว้าง ก็เท่ากับว่า กำลังจัดการอกุศลจิตของผู้อื่นที่มีมากมายและมีจำนวนที่มากในสมัยนี้ ให้เกิดเป็นกุศลจิตแทนอกุศลจิต ซึ่งก็เท่ากับว่า กำลังเปลี่ยนอกุศลของคนอื่น ทั้งๆ ที่คนอื่นไม่ได้อบรมเหตุให้เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล ซึ่งการจะเปลี่ยนจากการทุจริตคอรัปชั่นเป็นความซื่อตรงที่เป็นกุศล ไม่ใช่เปลี่ยนได้ง่าย แต่จะต้องมีเหตุ คือการมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก อันเกิดจากการศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมห้ามอกุศลที่ไม่ควรทำ และทำในสิ่งที่ควรทำที่เป็นกุศล หากแต่ว่า พระธรรมไม่สาธารณะกับสัตว์โลก และโดยมากก็ไม่สนใจในความเห็นถูก รังเกียจความเห็นถูก เพราะตนเองสะสมความเห็นผิด และไม่ได้สนใจธรรม จึงทำให้สังคมโดยมากก็ไหลไปตามกิเลส เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ทุจริตก็คืออกุศลจิตที่เกิดขึ้นและก็มีจำนวนมาก และผู้คนเหล่านั้นก็ไม่ได้สะสมเหตุที่จะเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล คือไม่ได้สนใจธรรม ดังนั้น จะเปลี่ยนให้บ้านเมืองทุจริตน้อยลงได้อย่างไร ในเมื่อบ้านเมืองก็คือ กลุ่มของคนจำนวนมาก ที่มากไปด้วยอกุศล และไม่ได้สนใจเหตุที่จะเปลี่ยนเป็นกุศลครับ

[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑- หน้าที่ ๔๓

เมื่อฝูงโคว่ายข้ามฟากไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงว่ายไปคด โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไปคด ในเมื่อโคนำฝูงว่ายคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชนนอกนี้ รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นทุกข์

จึงไม่มีเราหรือใคร ที่จะปล่อยหรือที่จะทำ ให้ดีหรือไม่ดี เพราะทุกอย่าง เป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคนที่สะสมมาแตกต่างกันไป ใจทุกคนก็อยากเป็นดี อยากทำสิ่งที่ดี แต่ดีไม่ได้ถ้าไม่มีปัญญา ความเห็นถูก ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญคือแต่ละหนึ่ง คือตนเองเท่านั้น ที่จะเป็นพลเมืองที่ดี คือมีจิตที่ดี ที่มีความเห็นถูกเป็นสำคัญก่อน แม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ก็ไม่ควรทำตนดั่งเช่นคนอื่นที่ทำทุจริตในลักษณะต่างๆ แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ที่จะปฏิบัติตนให้เหมาะสม แม้สังคมหมู่เล็ก ในครอบครัว ในที่ทำงาน ที่จะเป็นผู้ตรง ไม่อคติ ตัดสินปัญหาด้วยความลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง แบ่งพรรคแบ่งพวก คนนี้ชอบเราช่วย สนับสนุน คนนี้ไม่ชอบ ไม่ช่วย ไม่สนับสนุน เป็นต้น อันเป็นอุปนิสัยที่ดังเช่นบุคคลที่ทำทุจริตในบ้านเมืองที่ทำอยู่ หากว่า ตัวเราเองก็ยังทำเช่นนี้อยู่ ก็ไม่ต่างกับพวกที่ทำทุจริตคอรัปชั่น เพราะเพียงสังคมเล็กๆ ก็ยังทำตนเช่นนี้ เมื่อมีอำนาจอยู่ในสังคมใหญ่ ก็ย่อมทำบาปได้อีกเช่นกัน ดังนั้น การจะแก้ปัญหาทุจริต ก็ต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน แก้ที่ศึกษาพระธรรม และเป็นผู้ตรงในชีวิตประจำวัน ไม่ประพฤติปฏิบัติตนดั่งเช่นผู้ที่ทำทุจริตคอรับปชั่น แต่ประพฤติปฏิบัติตนในคุณความดี ตรงในคุณความดี ไม่อคติ ลำเอียง ตัดสินปัญหาที่ถูกต้อง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเราเป็นผู้ตรงไม่เห็นแก่ใคร ยึดมั่นในคุณความดี ผู้คนรอบข้างก็ย่อมเห็นสิ่งเหล่านี้ และย่อมไม่กล้าในสิ่งที่ไม่ควร เพราะเริ่มมีคุณความดีในจุดเล็กๆ ของสังคม แสงสว่างเพียงเล็กน้อยก็จะค่อยๆ สว่างขึ้น หากร่วมใจกันของผู้ที่มีความเห็นถูก และ เปลี่ยนอุปนิสัยในชีวิตประจำวัน ให้เป็นผู้ตรง สังคมก็ค่อยดีขึ้น แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ประโยชน์ที่ได้สุงสุดคือ ความเป็นผู้เจริญในกุศล ความเป็นผู้ตรง และมีปัญญาความเห็นถูกที่จะทำกุศลด้านอื่นๆ เจริญด้วยครับ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- หน้าที่ ๖๓

ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้น.

อธิบายว่า

บาทพระคาถาว่า น ปเรสํ กตากตํ ความว่า ไม่ควรแลดูกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ทำแล้ว ของคนเหล่าอื่น อย่างนั้นว่า “อุบาสกโน้น ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส แม้วัตถุมีภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น ในเรือน เขาก็ไม่ให้...”

บาทพระคาถาว่า อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย ความว่า กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เมื่อระลึกถึงโอวาทนี้ว่า “บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่’ ดังนี้แล้ว ก็พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนอย่างนั้นว่า ‘เราไม่อาจจะยกตนขึ้นสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วทำให้เกษมจากโยคะ หรือหนอ?’”

อกุศลเป็นปัญหา กุศลไม่เป็นปัญหาเลย แม้รอบข้างจะมากไปด้วยอกุศล แต่ใจที่สะสมความดี ปัญญาก็เข้าใจในสิ่งนั้นได้ และไม่พยายามแก้ไขในสิ่งที่เหลือวิสัยเพราะใจของแต่ละคน แต่สะสมคุณความดีของตน พร้อมกับความเป็นผู้ตรง อบรมปัญญา เพราะชีวิตไม่ได้เพียงสิ้นสุดชาตินี้ เจอสิ่งเหล่านี้เพียงชาตินี้ แต่จะต้องพบกับสิ่งที่เลวร้ายมากมายมากกว่านี้ ดังนั้น คงไม่มีอะไรเลวร้ายเท่าใจของเราที่เป็นอกุศล ในการรับรู้เรื่องต่างๆ โทษจึงอยู่ที่อกุศลของตนเองที่มี ไม่ใช่สิ่งอื่น และการแก้ปัญหา ก็แก้ที่จิตที่ตนเองด้วยการอบรมปัญญาละกิเลสเป็นสำคัญครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังคมของประเทศใดก็ตาม ก็เพราะกิเลสที่เป็นตัวหลักได้แก่โลภะ โทสะ และโมหะ ซึ่งเกิดขึ้นตามการสั่งสมมาของแต่ละบุคคลทุกคนมีอัธยาศัย มีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่าได้สั่งสมมาทั้งกุศลและได้สั่งสมมาทั้งอกุศลอย่างหนาแน่นและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงมีทั้งดีและไม่ดี และไม่เหมือนกันด้วย การที่ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบียดเบียนกันการทำร้ายกัน การคดโกงไม่ซื่อตรงต่อกัน จะค่อยๆ หมดไปได้ ถ้าหากว่าแต่ละบุคคลได้ศึกษาธรรม ได้อบรมเจริญปัญญาขณะนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เมื่อนั้นกิเลสก็จะน้อยลงและปัญหาทั้งหลายก็จะน้อยลงด้วย

บุคคลหนึ่งๆ เป็นแบบอย่างทีดีให้กับบุคคลหนึ่งๆ เมื่อแต่ละบุคคลเห็นว่าความดีเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ก็จะประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องบังคับถ้าต่างคนต่างเป็นอย่างนี้ ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังคมแต่ละสังคมน่าอยู่ขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 ก.ค. 2556

จะเปลี่ยนคนอื่นให้เป็นคนดีไม่ไ้ด้ เพราะเขาต้องศึกษาธรรมเอง เพราะ ธรรมจะขัดเกลากิเลส ทุจริต ตามกำลังของปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 8 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nongnooch
วันที่ 8 ก.ค. 2556

จิตของแต่ละคนสั่งสมกุศล อกุศล มามากน้อยต่างกัน แล้วแต่ว่าบุคคลใดสั่งสม กุศลมากกว่า หรืออกุศลมากกว่ากัน การคอร์รัปชัน ก็อยู่ที่ตัวบุคคลค่ะ ใครห้าม บอก เตือน ด้วยความห่วง หวังดี เป็นเรื่องของผู้เตือนค่ะ แต่ผู้รับฟังจะสนใจคำบอกกล่าวหรือไม่นั้น อยู่ที่จิตของผู้นั้นว่าจะมีปัญญาประกอบหรือไม่ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 8 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
bsomsuda
วันที่ 8 ก.ค. 2556

"คงไม่มีอะไรเลวร้ายเท่าใจของเราที่เป็นอกุศล ในการรับรู้เรื่องต่างๆ โทษจึงอยู่ที่อกุศลของตนเองที่มี ไม่ใช่สิ่งอื่น"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 10 ก.ค. 2556

ข้อความบางตอนจากหนังสือ แนวทางเจริญวิปัสสนา (หน้า ๗๗-๗๘) โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์.
สิ่งหนึ่งที่สังคมแก้ไม่ได้ก็คือ สังคมพยายามแก้คนอื่นโดยไม่แก้ที่ตัวเองเช่น ที่มักได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า ปัญหาชีวิต ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจปัญหาของโลก สารพันปัญหานั้น มีทางเดียวที่จะแก้ได้ก็คือ พระพุทธศาสนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 28 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ