ผ้าโขมพัสต์ ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้ากาสี ผ้าต่างๆในพระไตรปิฎก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอเรียนถามท่านผู้รู้นะคะ ว่า "ผ้าโขมพัสตร์ ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้ากาสี ผ้าต่างๆ ในพระไตรปิฎก" รายชื่อประเภทผ้าต่างๆ ที่ปรากฏชื่อในพระไตรปิฎก มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้น มีคำแปล มีความหมาย มีลักษณะ มีความเป็นมา อย่างไร หากมีภาพให้ชมให้พิจารณา หรือข้อมูลอื่นๆ ให้ทราบเป็นความรู้ก็กรุณาด้วยค่ะ
เมื่อเช้า (๙ ก.ค. ๕๖) ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวถึงผ้าโขมพัสตร์ในเทปวิทยุ ความอยากรู้ก็มาเลยค่ะ คำถามดูไม่เกี่ยวกับสภาพธรรมเลยนะคะ แต่ก็รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ขอรบกวนขอความอนุเคราะห์ด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พัสตร์ หมายถึง ผ้า ซึ่ง ผ้า มีลักษณะแตกต่างกันไปตามที่ถิ่นกำเนิดด้วย
ผ้าโขมพัสตร์ คือ ผ้าที่เนื้อละเอียดอย่างยิ่ง มีสีขาว อันมีถิ่นกำเนิดมาจาก โขมรัฐ คือ ที่เมือง โขมะ นั่นเอง จึงเรียกผ้า ที่มาจาก โขมรัฐ ว่า ผ้าโขมพัสตร์
ผ้ากาสี ก็เป้นผ้า ที่เนื้อละอียดมาก สวยงาม ซึ่งเป็นผ้าที่มาจาก แคว้นกาสี เมือง พาราณสี จึงเรียกผ้าเนื้อดี ที่มาจาก แคว้นกาสี ว่า ผ้ากาสี
[เล่มที่ 63] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒- หน้าที่ 81
เมื่อไรเราจักละผ้าฝ้ายผ่าไหม ผ้าอันเกิดแต่โขมรัฐ และเกิดแต่โกทุมพรรัฐ ออกบวชความประสงค์นั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
[เล่มที่ 64] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓- หน้าที่ 500
แต่ปางก่อน เจ้ามัทรีเคยทรงแต่ผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าโขมพัสตร์ และ ผ้าโกทุมพรพัสตร์ เมื่อต้องทรงผ้าคากรองจักกระทำ อย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างสวยงาม แต่ปางก่อนเคย เสด็จด้วยคานหาม วอและรถทรง วันนี้จะเสด็จเดิน ทางด้วยพระบาทได้อย่างไร
ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าสำหรับนุ่งห่มของบรรพชิต เรียกว่า ผ้ากาสาวพัสตร์ มาจากภาษาบาลีว่า กาสาววตฺถํ แปลว่า ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด เป็นผ้านุ่งผ้าห่ม สำหรับบรรพชิต ซึ่งเป็นเครื่องหมายของเพศที่สูงกว่าเพศคฤหัสถ์ อันเป็นธงชัย ของพระอรหันต์ เพราะบุคคลผู้ที่จะครองผ้ากาสาวพัสตร์ได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความ จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอาคารบ้านเรือน วง ศาคณาญาติ กองโภคสมบัติทั้งปวง มุ่งสู่เพศบรรพชิต เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุด ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่่งสามารถรู้แจ้งอริสัจจธรรม ถึงความเป็นพระ อริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นผู้ไม่มี ความจริงใจในการที่จะขัดเกลากิเลสแล้ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จาก การเข้าสู่เพศที่สูงกว่าเพศคฤหัสถ์ ซึ่งต่างจากคฤหัสถ์ทุกประการ มีแต่จะเป็นการ เพิ่มโทษให้กับตนเองเท่านั้น เพราะความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดีแล้ว ก็มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิเท่านั้น จริงๆ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นผ้าสำหรับเพศบรรพชิต
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พัสตร์ (วตฺถ) มีความหมายถึง ผ้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า จะมุ่งหมายถึงผ้าประเภทใด ก็มี คำนำหน้าคำว่า พัสตร์ (วตฺถ) เช่น โขมพัสตร์ (ผ้าที่มีมาจากโขมรัฐ) กาสีพัสตร์ (ผ้าที่ มาจากแคว้นกาสี) กาสาวพัสตร์ (ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด) เป็นต้น ล้วนเป็นวัตถุที่สำหรับ ใช้สอย เป็นเครื่องปกปิดอวัยวะร่างกายอันก่อให้เกิดความละอาย ตามควรแก่เพศของ ตนๆ โดยเฉพาะผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นผ้าสำหรับเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่แตกต่างไป จากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง
ประโยชน์ของผ้า ก็คือ เพื่อปกปิดอวัยวะร่างกาย ป้องอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้พิจารณา เมื่อกล่าวถึง ผ้า แล้วคิดอย่างไร ก็เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ผู้ที่มีอัธยาศัยในการให้ทาน น้อมไปในการสละ ก็สละวัตถุสิ่งของของตนเองเพื่อประโยชน์สุข แก่ผู้อื่น รวมถึง ผ้า ด้วย และ ที่น่าจะพิจารณาอีกประการหนึ่ง ความบริสุทธิหมดจด ไม่อยู่ที่ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้า แต่อยู่ที่สภาพจิต กล่าวคือ จิตที่ดีงาม น้อมไปใน ทางที่เป็นกุศล เป็นผู้มีจิตใจดี มีเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่โกรธ ไม่ว่าร้าย ตลอด จนถึงที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่เป็นอกุศล อย่างสิ้นเชิง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ผ้ากาสี คือ ผ้าไหมเนื้อดี ส่วนผ้ากาสาวะ เป็นพระสำหรับพระ ค่ะ
_ขออนุญาตร่วมตั้งกระทู้ครับ
_พระพุทธองค์ทรงอนุญาติให้ภิกษุสาวกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์สีอะไรบ้าง?
_พระพุทธองค์ทรงครองผ้าสีอะไร?
_พระภิกษุปัจจุบันนี้ครองผ้าสีถูกต้องตามพระวินัยไหม?
อนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
_พระพุทธองค์ทรงอนุญาติให้ภิกษุสาวกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์สีอะไรบ้าง?
เรื่องสีจีวรควรเป็นสีที่เศร้าหมอง แต่ทรงห้ามสีบางสี ดังข้อความในพระวินัยว่า
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 273
[๑๔๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยโคมัยบ้าง ด้วย ดินแดงบ้าง จีวรมีสีคล้ำ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือ น้ำย้อม เกิดแต่รากหรือเง่า ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ ๑.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 310
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรง จีวรสีครามล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีเหลืองล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีบานเย็นล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีดำล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีแสดล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีชมพูล้วน ไม่พึงทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย ไม่พึงทรงจีวรมีชายยาว ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็น ลายดอกไม้ ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น ไม่พึงสวมเสื้อ ไม่พึงสวมหมวก ไม่พึงทรงผ้าโพก รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ.
_พระพุทธองค์ทรงครองผ้าสีอะไร?
สีออกประมาณ สีแดง ดั่งดอกชบาครับ
พระภิกษุปัจจุบันนี้ครองผ้าสีถูกต้องตามพระวินัยไหม?
ถูกต้องก็มี ไม่ถูกต้องก็มี ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายค่ะ
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
พัสตร์ น. ผ้า, เขียนเป็น พัตร ก็มี. (ส. วสฺตฺร; ป. วตฺถ) .
กาสาวพัสตร์ น. ผ้าย้อมฝาด คือ ผ้าเหลืองพระ. (ป. กาสาว + ส. วสฺตร = ผ้า) .
กาสาว กาสาวะ [กาสาวะ-] น. ผ้าย้อมฝาด เขียนเป็น กาสาว์ ก็มี. (ป.) .
กาศิก กาศิก- [กาสิกะ-] (แบบ) ว. ที่มาจากแคว้นกาสี, เหมือนไหม, แกมไหม. (ส.; ป. กาสิก) .
คากรอง น. เครื่องปกปิดร่างกายที่ทําด้วยหญ้า เช่น ควรหรือมานุ่งคากรอง ควรแต่เครื่องทองไพศาล. (ศกุนตลา) .
กาษา กาสา ๑ น. ผ้าชนิดหนึ่ง เช่น คลังถวายผ้ากาษา. (กฎ. ราชบุรี ๒/๑๐๗) , และพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ก็ให้ ผ้าลายและเสื้อกาสา คนละสํารับ. (พงศ. กรุงเก่า) , ฝันว่า ห่มผ้าขาวกาสา. (ตําราทํานายฝัน) . (ทมิฬและมลายู กาสา ว่า ผ้าดิบ ผ้าหยาบ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ผ้ากราบ น. ผ้าที่ภิกษุสามเณรใช้รอง ในเวลากราบพระ ซึ่งกลายมาจากผ้าสันถัต (โบ) กราบพระ ก็ว่า
สันถัต น. ผ้าที่พระภิกษุรองนั่ง. (ป. สนฺถต ว่า ปูแล้ว, ลาดแล้ว) .
ผ้าอาบ น. ผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้า.
ผลัด [ผฺลัด] ก. เปลี่ยนแทนที่ เช่น ผลัดเสื้อผ้า ผลัดเวร ผลัดใบ ผลัดขน. น. ลักษณนามเรียกการผลัดเปลี่ยนเวรยาม เช่น เปลี่ยนเวรวันละ ๓ ผลัด.
ชบา [ชะ] น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Hibiscus rosasinensis L. ในวงศ์ Malvaceae ดอกมีสีต่างๆ พันธุ์ที่สีแดง ดอกและยอดใช้ ทํายาได้.
แดง ๑ ว. สีอย่างสีเลือดหรือสีชาด ใช้ประกอบสิ่งต่างๆ บางอย่างโดยอนุโลม ตามลักษณะสี เป็นชื่อเรียกเฉพาะ เช่น มดแดง ผ้าแดง. ก. ลักษณะที่ ความลับซึ่งปกปิดไว้ได้ปรากฏออกมา เช่น เรื่องนี้แดงออกมาแล้ว (ปาก) น. สตางค์ เช่น ไม่มีสักแดงเดียว. (ตัดมาจาก สตางค์แดง) .
ชาด น. วัตถุสีแดงสดชนิดหนึ่ง เป็นผงก็มี เป็นก้อนก็มี ใช้ทํายาไทย หรือ ประสมกับนํ้ามัน สําหรับ ประทับตรา หรือทาสิ่งของ, ชาดที่มาจากเมืองจอแสประเทศจีนเรียก ชาดจอแส, ชาดที่มาจากเมืองอ้ายมุ่ยประเทศจีนเรียก ชาดอ้ายมุ่ย. ว. สีแดงสด อย่างหนึ่ง เรียกว่า สีแดงชาด.
คา ๓ น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Imperatacylindrica Beauv. ในวงศ์ Gramineae ใบคาย แข็ง เอามากรองเป็นตับมุงหลังคา เหง้าใช้ทํายาได้.
กรอง ๑ [กฺรอง] ก. ร้อย เช่น กรองมาลัย = ร้อยดอกไม้; ถัก, ทอ, เช่น กรองแฝก กรองคา.
กรอง ๓ [กฺรอง] (กลอน) น. กําไล, โดยมากใช้ประกอบกับคําอื่นๆ เช่น กรองเชิง = กําไลเท้า กรองได = กําไลมือ กรองศอ = สร้อยคอ, สร้อยนวม เช่น กรองศอซ้อนสลับทับอังศา. (อิเหนา) . [ข. กง (กอง) ว่า กำไล, วงกลม].
ผ้า น. สิ่งที่ทําด้วยเยื่อใย เช่น ฝ้าย ไหม ขนสัตว์ โดยวิธีทอหรืออัดให้เป็นผืน, มักเรียกตาม ลักษณะของสิ่งที่ทำ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัตว์ หรือ ตามลักษณะที่ใช้ เช่น ผ้ากราบ ผ้าอาบ ผ้าอ้อม.
ทอ ๑ ก. พุ่งเส้นด้ายหรือเส้นไหมเป็นต้น ให้ขัดกับ เส้นยืน ในเครื่องทอ เช่น ทอผ้า ทอไหม ทอกระสอบ ทอเสื่อ.
ถัก ก. เอาเส้นเชือกหรือหวายเป็นต้น ไขว้สอดประสานกัน ให้เป็นลวดลายต่างๆ บ้าง ให้เป็นเส้นและเป็นผืนบ้าง ให้ติดต่อกันบ้าง.
ย้อม ก. ชุบด้วยสี, อาบด้วยสี, ทำให้ด้าย ไหม หรือผ้าเป็นต้นเป็นสีต่างๆ ด้วยการชุบลงไปในน้ำสี.
หญ้า ๑ น. ชื่อเรียกไม้ล้มลุกหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Gramineae เช่น หญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) หญ้าตีนกา (Eleusine indica Gaertn.) หญ้าแพรก (Cynodon dactylon Pers.) ; ใช้อนุโลมเรียกพรรณไม้บางชนิดที่มิได้อยู่ในวงศ์ Gramineae เช่น หญ้าเกล็ดหอย หญ้างวงช้าง.
ฝ้าย น. ชื่อไม้พุ่มหลายชนิดในสกุล Gossypium วงศ์ Malvaceae เมล็ดให้นํ้ามัน ปุยหุ้มเมล็ดใช้ทอผ้า เปลือกรากใช้ทํายาได้ ที่ปลูกกันมาก คือ ชนิด G. hirsutum L.
ไหม ๑ น. ชื่อผีเสื้อชนิด Bombyx mori ในวงศ์ Bombycidae ตัวอ้วนป้อม มีขนสีขาวและสีครีมคลุมเต็ม ปีกมีลายเส้นสีนํ้าตาลอ่อนพาดตามขวางหลายเส้น ตัวหนอนสีขาวหรือสีครีม มีรยางค์เล็กๆ สั้นๆ คล้ายเขาที่ปลายหาง กินใบหม่อนได้อย่างเดียว เมื่อโตเต็มที่จะถักใยหุ้มดักแด้ ซึ่งใยนี้สามารถ สาวเป็นเส้นไหมนํามาทอเป็นเสื้อผ้าได้, ใยของสัตว์ชนิดนี้ก็เรียกว่า ไหม เรียกเครื่องนุ่งห่มที่ทอด้วยไหมว่า ผ้าไหม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ฝาด ๑ น. ชื่อไม้ต้นในสกุล Lumnitzera วงศ์ Combretaceae ขึ้นตามป่าชายเลน ใช้ทําฟืน เปลือกใช้ฟอกหนัง มี ๒ ชนิด คือ ฝาดขาว (L. racemosa Willd.) ดอกสีขาว และ ฝาดแดง (L. littorea Voigt) ดอกสีแดง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากับ อจ.ผเดิม อจ.คำปั่น และ ทุกๆ ท่าน เป็นอย่างยิ่ง นะคะ