มนสิการ

 
mtssm
วันที่  9 ก.ค. 2556
หมายเลข  23151
อ่าน  1,461

ขอเรียนถามว่า จิตตะ ในอิทธิบาท ๔ นั้น ใช่ มนสิการ หรือไม่ ขอคำอธิบายด้วยคะ.... ขอบพระคุณคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิทธิบาท หมายถึง ธรรมเครื่องให้ถึงความสำเร็จ ๔ อย่าง

หมายถึง สภาพธรรม ๔ อย่าง คือ ฉันท-เจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ จิต ๑ ปัญญาเจตสิต (วิมังสา) ๑ ที่เป็นไปในการอบรมสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าเป็นไปในสมถภาวนา ก็เป็นบาทแห่งความสำเร็จคืออภิญญาสมาบัติ ซึ่งสามารถข่มกิเลสได้ในขณะที่เข้าฌานสมบัติ หรือสามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ ถ้าเป็นไปในวิปัสสนาภาวนาก็เป็นบาทแห่งความสำเร็จคือ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งอำนาจในการประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉท

๑. ฉันทิทธิบาท ได้แก่ ฉันทเจตสิก ความพอใจที่จะสังเกตพิจารณา รู้ลักษณะ ของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ๑ การยัง ผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยความพอใจนั้น พึงเห็นเช่นกันกับบุตรอำมาตย์ ผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระราชา จึงได้ฐานันดรโดยอาศัยการบำรุงนั้น

๒. วิริยิทธิบาท ได้แก่ วิริยเจตสิก ความเพียรที่จะสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะ ของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ๑ การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดย อาศัยความเพียรนั้นพึงเห็นเช่นกับบุตรอำมาตย์ ผู้ยังพระราชาให้พอพระทัย โดยความเป็นผู้กล้าหาญในการงาน แล้วได้ฐานันดร

๓. จิตติทธิบาท ได้แก่ จิต ๒ การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยจิตนั้น พึงเห็นเช่นกันกับบุตรอำมาตย์ผู้ได้ฐานันดรเพราะความถึงด้วยดีแห่งชาติ

๔. วิมังสิทธิบาท ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ไตร่ตรอง สังเกต พิจารณาลักษณะ ของสภาพธรรม ๓ การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยปัญญานั้น พึงเห็น เช่นกับบุตรอำมาตย์ผู้ได้ฐานันดรเพราะอาศัยความรู้

ดังนั้น จิตตะ ใน อิทธิบาท หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต เท่านั้น ไม่ใช่เจตสิกแต่ เป็นจิต จิตตะ ในที่นี้หมายเอาเฉพาะกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น

ส่วน มนสิการ เป็นเจตสิก เป็นเจตสิกที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ การใส่ใจในอารมณ์ย่อมเป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นๆ ตรึกถึงอารมณ์ และปรุงแต่งเป็นความวิจิตรต่างๆ เป็นวิทยาการต่างๆ ไม่รู้จบในทางโลก ส่วนในทางธรรมนั้นก็ตรงกันข้ามกับทางโลก

มนสิการเจตสิกเป็น เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภท ทำหน้าที่ ใส่ใจในอารมณ์นั้นซึ่ง ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นก็มี มนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ การใส่ใจโดยไม่แยบคาย ทำให้จิตเป็นอกุศล และ ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็มี มนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยเป็น โยนิโสมนสิการ คือ ความใส่ใจโดยแยบคาย จึงทำให้จิตเป็นกุศล ซึ่ง โยนิโสมนสิการ เป็น มนสิการเจตสิกไม่ใช่ปัญญา ที่เป็นความเห็นถูก แต่เพราะ อาศัยการใส่ใจด้วยดี ทำจิตเป็นกุศล และเกื้อกูลต่อการเกิดปัญญาด้วย ครับ

สรุปได้ว่า จิตตะ ในอิทธิบาท มุ่งหมายถึง จิตเท่านั้น และ เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ในระดับ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ส่วน มนสิการ เป็นเจตสิกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น จิตตะ จึงไม่ใช่ มนสิการ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดง ให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ก็ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเริ่มฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญในชีวิตซึ่งเป็นขณะที่หาได้ยาก

สภาพธรรม มีมากมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างๆ โดยไม่ปะปนกัน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น

มนสิการ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์ เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะ จิตรู้อารมณ์ใด มนสิการ ก็ใส่ใจในอารมณ์นั้น มนสิการ ไม่ใช่จิตแต่เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ

จิตตะ ในอิทธิบาท ๔ เป็นจิตที่มีกำลัง ประกอบด้วยปัญญา เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตที่เป็นสมถภาวนา และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา

สภาพธรรมที่เป็น อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ สภาพธรรมที่พอใจเป็นไปในกุศลธรรม วิริยะ ความเพียรเป็นไปในกุศลธรรม เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา จิตตะ ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ วิมังสา คือ ปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง

อิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นบาทหรือเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ ความสำเร็จในที่นี้หมายถึง สำเร็จเป็นฌานขั้นต่างๆ ถ้าเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนาสามารถข่มกิเลสได้ แต่ไม่สามารถดับได้ และเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ต่างๆ แต่ถ้าเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถทำให้บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ เพราะอิทธิบาททั้ง ๔ ประการนั้น เป็นฝักฝ่ายในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นธรรมขั้นสูงที่จะต้องเริ่มสะสมอบรมตั้งแต่เบื้องต้นด้วยการสะสมปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.ค. 2556

มนสิการ คือ เจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ ส่วนจิตตะในอิทธิบาท เป็นจิตที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 10 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mtssm
วันที่ 27 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนากับทุกๆ คำชี้แจงในรายละเอียด...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ