อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
เช้าวันนี้ ได้ฟังธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ บรรยาย ออกอากาศทางวิทยุ มีคำว่า "อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส" ก็ถือโอกาสขอคำอธิบายจากท่านผู้รู้ค่ะ พอได้ยินคำไหนก็ถามคำนั้น เป็นอาการที่ไม่ดีอย่างไรบ้างคะ แก้ไขอย่างไรคะ อรรถาธิบาย คือ อะไร (เขียน ออกเสียงที่ถูกต้องอย่างไร) ต่างกับ คำอธิบาย อย่างไรคะ
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในคำอธิบายค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่เบาสบาย ไม่หนัก ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย คำไหนที่ได้ยินได้ฟัง ยังไม่ชัดเจน แล้วมีความประสงค์จะเข้าใจให้แจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น เป็นเหตุให้มีการสอบถาม สนทนา ค้นคว้า เพื่อความแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์
สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ นั้น คือ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่อยากรู้ชื่อหรือรู้คำเยอะๆ แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้
พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนของบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น ประกอบด้วยเหตุและผล เป็นไปเพื่อการละคลายอกุศล เป็นไปเพื่อการดับกิเลส เป็นไปเพื่อการไม่เกิดอีก บุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ไม่เคยได้สะสมการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมมาในอดีต ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่มีคุณค่ามากนี้ แต่ถ้าจะกล่าวในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่เหินห่างจากพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า ความเข้าใจพระธรรม จะไม่มีวันอันตรธานไปจากใจของผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจ อย่างแน่นอน
ในอรรถกถาทั้งหลาย แสดงไว้ว่า อรรถรส (อ่านว่า อัด ถะ รด) มุ่งหมายถึง ผล ๔ ตั้งแต่โสดปัตติผล ถึง อรหัตตผล ธรรมรส (อ่านว่า ทำ มะ รด) มุ่งหมายถึง มรรค ๔ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค ถึง อรหัตตมรรค ส่วน วิมุตติรส (อ่านว่า วิ มุด ติ รด) หมายถึง พระนิพพาน ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่มีศรัทธาที่จะฟังที่จะศึกษาไม่มีทางที่จะได้รสต่างๆ เหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้น พระธรรม จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อนเท่านั้น แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง สะสมมาไม่เหมือนกัน ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม (มีมากเหลือเกิน) และ ส่วนที่ได้ฟังพระธรรม (ซึ่งมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง) ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด ที่ควรทำสำหรับตนเอง คือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ พระธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้ศึกษาทั้งหมด เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา และ เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส (ของตนเอง) ทั้งสิ้น สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง คือ ความเข้าใจพระธรรม (ปัญญา) เท่านั้น ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พอได้ยินคำไหนก็ถามคำนั้น เป็นอาการที่ไม่ดีอย่างไรบ้างคะ แก้ไขอย่างไรคะ ก่อนอื่นขอยกพระธรรมที่พระพุทะเจ้าทรงแสดง ว่า ลักษณะการถาม 5 อย่างมีดังนี้
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ -184
ชื่อว่าคำถามในพระบาลีนั้น มี ๕ อย่าง คือ
๑. อทิฏฐโชตนาปุจฉาอทิฏฐโชตนาปุจฉา คำถามเพื่อส่องลักษณะที่ยังไม่เห็น ให้กระจ่าง
๒. ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา คำถามเทียบเคียงลักษณะที่เห็นแล้ว
๓. วิมติเฉทนาปุจฉา คำถามเพื่อตัดความสงสัย
๔. อนุมติปุจฉา คำถามเพื่อการรับรอง
๕. กเถตุกัมยตาปุจฉา คำถามเพื่อประสงค์จะตอบเอง
จากข้อความที่ยกมา แสดงถึงลักษณะการถามปัญหา โดยนัยต่างๆ ที่สำคัญ การถามปัญหา ประโยชน์ คือ เพื่อความเข้าใจ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อความเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้หากสหายธรรม ได้ฟังการสนทนาระหว่างท่านอาจารย์สุจินต์ และสหายธรรมบางท่าน บางครั้งก็มีคนเข้าใจผิดว่า ทำไมท่านอาจารย์ไม่ตอบปัญหาของบางท่าน พูดไปในเรื่องอื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริง ปัญหาบางอย่างควรตอบก็มี ไม่ควรตอบก็มี ด้วยเหตุว่า จะต้องพิจารณาพื้นฐานความเข้าใจของคนพูดด้วย อย่างเช่น บางท่านก็ถาม เรื่องยาก ได้ยินคำใด ก็อยากรู้คำนั้นทันที เช่น คำว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น หรือ ศัพท์บาลีต่างๆ ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้ ตอบคำถามตรงนั้น แต่ซักถามในส่วนอื่น ในธรรมเบื้องต้น เพื่อให้ผู้นั้นเข้าใจธรรมเบื้องต้นก่อน โดยเฉพาะสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะไม่เช่นนั้น เมื่อตอบไปได้คำนั้นก็จบ หาคำใหม่มาอีก ก็กลายเป็นทะเลชื่อ ที่ลืมที่จะมุ่งตรงสู่สภาพธรรมในขณะนี้อันเป็นจุดประสงค์สำคัญของการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น พระธรรมทุกคำ แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และ การศึกษาธรรมที่ถูกต้อง ก็เพื่อเข้าใจความจริง ในขณะนี้เป็นสำคัญ การถาม ก็เพื่อให้เข้าใจถูกเป็นลำดับ ไม่ข้ามขั้นไป ในศัพท์ชื่อที่ยาก แต่ ลืมความเข้าใจในสภาพธรรมในขณะนี้ ครับ
อรรถาธิบาย คือ อะไร (เขียน ออกเสียงที่ถูกต้องอย่างไร) ต่างกับ คำอธิบายอย่างไรคะ
- อรรถาธิบาย คือ การอธิบาย อรรถ เนื้อความของ เรื่องราวนั้น ในเรื่องนั้นๆ ครับ ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับ อธิบาย ครับ
คำว่า "อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส" คืออะไร
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมหลากหลายนัย หลากหลายเทศนา และ ตั้งแต่เบื้องต้นจนสูงสุด ซึ่กง้ตอ้งเข้าใจเบื้องต้นก่อน ก่อนที่จะเข้าใจโดยนัยสูงสุดครับ
รส คือ การทำกิจให้สำเร็จ ซึ่ง อรรถรส โดยมากเราก็เคยได้ยินกันว่า ดูหนังได้อรรถรส เป็นต้น แต่ในทางธรรม รส คือ การได้มาซึ่งความสำเร็จกิจนั้น นำมาซึ่งความยินดี ซึ่ง รส ก็มีหลายกหลายนัย รส ที่เป็นรสชาติอาหาร ก็นำมาซึ่งความสำเร็จ ความยินดีในรสนั้น ที่ได้ลิ้มรส แต่ ยังมีรส ที่เป็นรสที่ประเสริฐ ที่เป็นรสที่ไม่มีโทษ สมดังที่ท้าวสักกเทวราชได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า รสอะไร ชนะรสทั้งปวง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า รสพระธรรมเป้นรสที่ประเสริฐเลิศ ชนะกว่ารสทั้งปวงด้วยเหตุที่ว่า รสที่รสอร่อย ย่อมเป็นปัจจัยให้สัตว์ตกไปในอบายภูมิ คือ ทำให้ติดข้อง และ ทำทุจริตประการต่างๆ แต่ รสของพระธรรม ย่อมนำมาซึ่ง ความปิติยินดี และ ความเข้าใจ ย่อมทำให้ดับกิเลสหมดทุกข์ทั้งปวงได้ เพราฉะนั้น รส พระธรรมจึงเป็นยอด เป็นเลิศที่สุดเพราะฉะนั้น ในคำว่า อรรถรส
อรรถรส หมายถึง การเข้าใจธรรมส่วนที่เป็นผล เช่น ในส่วนของ วิบาก ในส่วนของผลทีเกิดจากธรรมประการต่างๆ และ อรรถรส ยังหมายถึง ผลของการเข้าใจพระธรรม คือ เกิดปัญญา วิปัสสนาญาณต่างๆ และ จนถึงผลคือ การได้ผลจิต 4 อันมีการเข้าใจพระธรรมเป้นสำคัญ เพราะฉะนั้น อรรถรส คือ ขณะที่เข้าใจธรรมแล้ว เกิดปัญญาความเห็นถูก ชื่อว่าได้อรรถรส อันแสดงตั้งแต่เบื้องต้น มีความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ และ แสดงโดยนัยสูงสุด คือ สามัญผล ๔ คือ ผลจิต ๔ อันเกิดจากมรรคจิต ครับ
ธรรมรส เป็นการแสดงถึง รสทีเกิดจากเหตุ คือ ธรรมที่เป้นเหตุให้บรรลุธรรมก็ชื่อว่า ธรรมรส เป็นรสของพระธรรมที่จะทำให้เกิดปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัย ทั้ง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็เป็นธรรมรส เช่น สติปัฏฐาน อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ เป็นต้น อันเป็นองค์ธรรมที่จะถึงการตรัสรู้ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นเหตุ การถึงสภาพธรรมได้ปัญญาที่เป็นโพธิปักขิยธรรม ชื่อว่าได้ธรรมรส ครับ
วิมุตติรส พระพุทธศาสนา มีรสที่สูงสุด คือ การถึงพระนิพพาน พระนิพพาน จึงชื่อว่า วิมุตติรส แต่ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง วิมุตติรส ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงสูงสุดด้วย ไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะพระนิพพานเท่านั้น ธรรมใดที่จะทำให้หลุดพ้นธรรมนั้นก็ชือว่า เป็น วิมุตติรส นั่นคือ อธิปัญญา ปัญญาที่ยิ่ง ครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑- หน้าที่ 667
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันเป็นอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภควา อธิศีล เป็นอรรถรส อธิจิต เป้นธรรมรส และ อธิปัญญาก็เป็น วิมุตติรส ครับ
จะเห็นนะครับว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงหลากหลายนัย ทั้ง รส ประการต่างๆ ก็มีอรรถ ตั้งแต่เบื้องต้น จนสูงสุด ซึ่งควรพิจารณาว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ประกอบด้วย อรรถรส และ ธรรมรส คือ เป็นธรรมที่จะทำให้ถึง ปรมัตถรส คือ พระนิพพาน ที่เป็นวิมุตติรส การเข้าใจพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่ไม่ใช่การจำชื่อเรื่องราว ย่อมได้อรรถรส ธรรมรส รส ที่ทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจ ยิ่งมีปัญยาเข้าจากขึ้น ย่อมได้อรรถรส ธรรมรส ปิติ ยินดีในการเข้าใจในอรรถ ธรรมากขึ้น ตามกำลังปัญญาที่เพิ่มขึ้นด้วย ครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕- หน้าที่ 467
วิมุตติรส ชื่อว่า ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เพราะความเป็นธรรมอันท่านอบรมแล้วด้วยปรมัตถสัจจรส และชื่อว่าเป็นอรรถรสและธรรมรส เพราะอาศัยอรรถและธรรมที่เป็นอุบายจะให้บรรลุปรมัตถสัจจรสนั้นเป็นไป ดังนี้แล
ผู้ที่เข้าใจพระธรรม มีปัญญาเข้าใจธรรม ย่อมได้รสที่ประเสริฐ และไม่ไปแสวงหารสอื่น คือ รสที่เป็นคำสอนที่ผิด ไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนบุคคลที่ได้รสที่ดี บริโภคของที่ดีที่สุดแล้ว ย่อมกลับไปบริโภคของที่ไม่ดีอีก ผู้ที่เข้าใจธรรมเกิดปัญญาแล้ว ปัญญาย่อมทำหน้าที่ละกิเลส เมื่อถึงการละกิเลสได้หมด ย่อมไม่กลับไปแสวงหา คือ ไม่เกิดอกุศลจิตที่ไม่ดี ครับ นี่คือ รสของพระธรรม คือ เกิดปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้อง ครับ สมดังที่พระเถระท่านหนึ่งกล่าวในเรื่องของรสไว้น่าฟังว่า
[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑- หน้าที่ ๔๒๙
[๒๒๘] ได้ยินว่า พระปริปุณณกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า "สุธาโภชน์ (ข้าวที่สะอาด) มีรสตั้งร้อยที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือนอมตธรรมที่เราได้บริโภคพระธรรมอันพระพุทธเจ้าผู้โคตมโคตรทรงเห็นซึ่งธรรมหาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว"
(ข้อความบางตอนจาก เถรคาถา ปริปุณณกเถรคาถา)
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากับ อจ.คำปั่น และ อจ.ผเดิม เป็นอย่างยิ่ง นะคะ