ทำไมบางทีพูดโกหก กลายเป็นผลดี กว่าพูดความจริง?

 
ไก่บ้าน
วันที่  18 ก.ค. 2556
หมายเลข  23206
อ่าน  1,450

ในสมัยหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตใส่บาตรพระวันละ 500 รูป ท่านทำของท่านประจำ

มีขี้เมาคนหนึ่งอยากหาอาหารง่ายๆ จึงโกนหัวห่มผ้าเหลืองไปบิณฑบาต พระเจ้าพรหม

ทัตได้เห็นก็ศรัทธามากเหลือเกิน เพราะพระรูปนี้หน้าแดงเหมือนลูกตำลึง ดูราศี

เปล่งปลั่ง ก็ศรัทธาน้อมถวายอาหาร แล้วสั่งให้อำมาตย์ติดตามไปดูว่าท่านเป็นมนุษย์

หรือเทวดา เพราะราศีท่านผ่องใสเหลือเกิน ถ้าท่านเหาะไปแสดงว่าท่านเป็นเทวดา

ถ้าท่านดำดินแสดงว่าท่านเป็นนาคราช ถ้าท่านเดินออกนอกเมืองแสดงว่าท่านเป็น

มนุษย์หรือพระอรหันต์ อำมาตย์ก็ติดตามไปพบว่าพระรูปนั้นเปลื้องจีวรออกแล้วไปกิน

เหล้า เห็นดังนั้นก็กลัวพระราชอาญาจึงไปกราบทูลว่า พระรูปนั้นเหาะไปพระเจ้าข้า

โอ้ได้ยินดังนั้นพระเจ้าพรหมทัตก็ยินดีมาก ปีติจนขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหลออก

ด้วยความดีใจ จากนั้นยิ่งถวายใส่บาตรพระวันละ 1,000 รูป

พอพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตไม่มีใครสืบราชบัลลังค์ต่อ ชาวเมืองจึงยกอำมาตย์

คนสนิทให้เป็นพระราชาแทน พระเจ้าพรหมทัตองค์ใหม่ก็ยังใส่บาตรพระวันละ

1,000 รูปเหมือนเดิม วันหนึ่งมีพระรูปหนึ่ง หน้าแดงยังกับลูกตำลึงสุก ผิวพรรณ

เปล่งปลั่งมารับบาตรด้วย พระเจ้าพรหมทัตองค์ใหม่ก็นึกเฉลียวใจ จึงให้คนตามไป

ดูโดยอ้างตำราพระราชาองค์ก่อน พอพระท่านเดินไปที่ลับตาคนท่านก็เหาะขึ้นฟ้า

แล้วหายไป คนตามไปดูก็กลับมารายงานว่าพระเหาะพระเจ้าข้า พระราชาแทนที่

จะดีใจกลับโกรธเป็นฟื้นเป็นไฟหาว่าเขาโกหกตน จึงสั่งเอาตัวไปประหารแล้ว

เลิกใส่บาตรพระตั้งแต่วันนั้น คุณว่าพระราชาองค์เก่ากับองค์ใหม่องค์ไหนไปสวรรค์

องค์ไหนไปนรก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่ในเรื่องกรรม และ ผลของกรรม ซึ่ง

การจะได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีก็มีเหตุปัจจัย ซึ่ง การได้รับสิ่งที่ดี ก็เพราะ กุศลกรรม

ให้ผล และ ขณะที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ก็เพราะ อกุศลกรรมให้ผล ดังนั้น กรรมดี ย่อม

ทำให้เกิดผลที่ดีเท่านั้น กรรมดีจะให้ผลไม่ดีไม่ได้เลย โดยนัยเดียวกัน กรรมชั่ว

ย่อมให้ผลชั่วเท่านั้น ให้ผลที่ดีไม่ได้เลย สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 168

ยาทิส วปเต พีช ตาทิส ลภเต ผล

กลฺยาณการี กลฺยาณ ปาปการี จ ปาปก

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คน

ทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว

ย่อมได้ผลชั่ว.

ซึ่งก็ตรงกับคำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วครับ ซึ่งในอรรถกถา อธิบายไว้ว่า

พืชสะเดาหรือ พืชประเภทบวบขม ย่อมมีแต่รสขม ไม่ให้ผลเป็นรสหวาน ฉันใด

กรรมชั่วที่ทำก็ย่อมให้ผลในทางที่ไม่ดี ไม่ให้ผลในทางที่ดี... พืชอ้อย พืชสาลี

ย่อมให้รสหวาน ไม่ให้ผลเป็นรสขม ฉันใด แม้กรรมดีที่ทำย่อมให้ผลในทางที่ดี

ไม่ให้ผลชั่วครับ ทำดีจึงได้ดี ทำชั่วจึงได้ชั่ว คือได้รับผลวิบากที่ดีหรือชั่วตาม

แต่ประเภทของกรรมที่ทำครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 164

ว่าด้วยฐานะและอฐานะ

[๑๖๘ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจ แห่งวจีทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะ

มีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่

ไม่น่าพอใจ แห่งวจีทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.

- แต่ในความละเอียดของกรรมนั้น กรรมที่ทำแล้ว มีระยะเวลาของการให้ผล

กรรมบางอย่างไม่ใช่ให้ผลทันที อาจให้ผลชาติหน้า หรือ ชาติถัดๆ ไปก็ได้ ซึ่ง

ไม่มีใครรู้เลยว่า เป็นผลของกรรมใด ในขณะที่ได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี หากแต่ว่า

ในสังสารวัฏฏ์มีการทำอกุศลกรรมมากมาย รวมทั้ง กุศลกรรมด้วย ดังนั้น ชาตินี้

ขณะนี้ที่ได้รับผลของกรรม ก็อาจเป็นกรรมที่ดี หรือ ไม่ดีในอดีตให้ผลอยู่ก็ได้

เพราะฉะนั้น จากตัวอย่างที่ยกมานั้น การพูดเท็จ เป็นกรรมไม่ดี แต่ ไม่ได้หมาย

ความว่า กรรมไม่ดีจะให้ผลทันที ก็ต้องมีกาลเวลาให้ผล อาจเป็นชาติหน้า หรือ

ชาติต่อๆ ไปก็ได้ ดังนั้น เมื่อกล่าวเท็จแล้ว ได้รับสิ่งที่ดี การได้รับสิ่งที่ดี ก็ต้อง

มาจากกรรมดีที่ได้ทำไว้ ซึ่งเป็นกรรมที่ได้ทำในอดีตชาติ แต่ การพูดเท็จที่เป็น

กรรมที่ไม่ดี จะให้ผลที่ดีไม่ได้เลย โดยนัยเดียวกัน การพูดความจริงด้วยกุศล

เป็นกุศลกรรม เมื่อพูดแล้ว ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่า เพราะการพูด

ความจริง ทำดี ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่ว่า อกุศลกรรมในอดีตชาติ ย่อม

เป็นปัจจัยให้ผลในขณะที่หลังจากการพูดความจริงก็ได้ แต่ การพูดความจริง

ทำดี จะให้ผลในสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้เลย ดังนั้น กรรมย่อมมีกาลเวลาตามกรรมแต่

ละประเภท ครับ

ส่วน ที่ถามว่า ใครเป็นผู้ทำบาป ผู้ที่ฆ่า ประหารชีวิต เป็นผู้ที่ทำบาป ผู้ที่พูดเท็จ

เป็นผู้ที่ทำบาป ครับ ส่วนการได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ไม่ว่าของใคร เป็นผลของกรรม

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ไก่บ้าน
วันที่ 21 ก.ค. 2556

อนุโมทนา ที่ตอบแยกแยะ เป็นข้อๆ ให้ฟังครับ อ่านแล้วลำดับเหตุ ได้เข้าใจชัดเจนดี

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑- หน้าที่ ๔

ผู้ปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนในโลก ทั้งสอง เขาย่อมเดือดร้อนว่า กรรมชั่วเราทำแล้ว ไปสู่ทุคติย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น.

--------------------------------------

เหตุย่อมสมควรแก่ผล เมื่อเหตุดี ผลก็ต้องเป็นผลที่ดี เป็นผลที่น่าปรารถนา

น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดี ผลก็ย่อมไม่ดี เป็นผลที่ไม่น่าปรารถนา

ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจตามสมควรแก่เหตุที่ได้กระทำแล้ว ในทางพระพุทธศาสนา

ได้อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พืชที่มีรสขม เช่น สะเดาหรือบวบขม

ย่อมมีแต่รสขมอย่างเดียว ไม่สามารถให้ผลเป็นรสหวาน ได้ ฉันใด กรรมชั่วที่ได้

กระทำไปแล้วก็ย่อมให้ผลในทางที่ไม่ดี ไม่ให้ผลในทางที่ดี ได้เลย ในทางตรง

กันข้าม พืชที่มีรสหวาน เช่น พืชอ้อย พืชสาลี ย่อมให้รสหวาน ไม่ให้ผลเป็นรส

ขมได้ ฉันใด แม้กรรมดีที่ได้กระทำไปแล้วย่อมให้ผลในทางที่ดี ที่น่าปรารถนา

เสมอ ไม่ให้ผลในทางที่ไม่ดี อย่างแน่นอน สรุปได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่กรรมดี

จะให้ผลเป็นชั่ว หรือ กรรมชั่วจะให้ผลเป็นดี ครับ และควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ถ้ากลัวความเดือดร้อนเสียใจในภายหลัง กลัวผล

ของกรรมชั่ว ก็ต้องงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี อย่างเด็ดขาด

และนอกจากนั้น ยังจะต้องเพิ่มพูนความดีในชีวิตประจำวัน ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 31 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ