ขอถามเรื่องเจตสิก

 
Tipjeensalute
วันที่  19 ก.ค. 2556
หมายเลข  23208
อ่าน  1,192

ผมอยากจะทราบว่ามีเจตสิกชนิดใดบ้างที่เกิดกับจิตทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร ช่วยขยายความด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็เข้าใจธรรมทีละคำ ดังนี้ ครับ

สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท เจตสิกมี ๕๒ ดวง (ประเภท) จำแนกเป็นพวกใหญ่ๆ ได้ ๓ พวก คือ...

๑. อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิตอื่น คือเกิดกับจิต ชาติใดก็เป็นชาตินั้น อัญญสมานาเจตสิกจึงเกิดได้กับจิตทั้ง ๔ ชาติ ๒. อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ก็ยังแยก ประเภท เช่น โลภเจตสิกเกิดได้กับโลภมูลจิต โทสเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต โมหเจตสิกเกิดได้กับอกุศลจิตทุกดวง เป็นต้น๓. โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิตแต่ละ ดวงมีเจตสิกเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง แล้วแต่การประกอบ

วิถีจิตทางทวาร ๕ (ปัญจทวาร) หมายถึง วิถีจิตทุกดวงที่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏทางปัญจทวารทั้งหมด ๑๔ ขณะ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทวิปัญจวิญญาณ ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ สันตีรณจิต ๑ โวฏฐัพพนจิต ๑ ชวนจิต ๗ ตทาลัมพณจิต ๒

วิถีจิตทางใจ (มโนทวาร) หมายถึง วิถีจิตทุกดวงที่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏทางมโนทวาร ทั้งหมด ๑๐ ขณะ ตั้งแต่มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ชวนจิต ๗ ตทาลัมพณจิต ๒ (ถ้าเป็นอัปปนาวิถี จะมีวิถีจิตไม่ถึง ๑๐ ขณะ และถ้าเป็นขณะที่เข้าสมาบัติ จะมีวิถีจิตมากจนนับไม่ได้)

- ซึ่งสำหรับเจตสิกทั้ง 52 โดยมากแล้ว ก็สามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร เพียงแต่ว่า จะเป็นจิตประเภทอะไรที่เกิดขึ้น ก็เกิดตามสมควรกับจิตประเภทนั้น ซึ่ง จิตแต่ละประเภทก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ จะมาก จะน้อย ก็ตามสมควรกับประเภทของจิต ครับ ซึ่งโดยมาก เจตสิกจะเกิดร่วมด้วยมาก ที่ ชวนจิตขณะที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต เป็นต้น ครับ

การศึกษาพระอภิธรรม โดยเฉพาะเรื่องของ จิต เจตสิก ซึ่ง ถ้าเป็นเจตสิกแล้ว ก็ให้รู้ว่า ไม่มีเราที่จะไปจัดการ ปรุงแต่ง ให้สภาพธรรมใดเกิด เพราะ เป็นหน้าที่ของธรรมที่เป็น เจตสิก ที่จะปรุงแต่ง ให้เป็น กุศล หรือ อกุศล ตามการสะสมมา โดยไม่มีเราที่จะห้ามไม่ให้ปรุงแต่ง เพราะ ปรุงแต่งแล้ว ตั้งแต่เมื่อ จิตเกิดขึ้น เพราะ เมื่อจิตเกิด ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้วในขณะนั้น เพราะ เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง

การศึกษาพระอภิธรรม ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ หรือ นับจำนวน ดั่งเช่น วิชาการ แต่ประโยชน์อยู่ที่การเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า ขณะนี้ก็เป็นอภิธรรมมีเจตสิกกำลังเกิดขึ้น แม้ไม่เรียกชื่อ สภาพธรรมที่เป็นอภิธรรมก็กำลังเกิด ประโยชน์ คือ เพื่อ ละคลายความยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป เป็นไปเท่านั้น การศึกษาอภิธรรมด้วยการเข้าใจว่าเป็นธรรมในขณะนี้ก็จะเบา เบาด้วยความเข้าใจ เพราะ ไม่ได้หนักด้วยการแสวงหาชื่อ แต่ เบาว่าไม่มีเรามีแต่ธรรม

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่าเจตสิก เป็นคำที่คนไทยไม่ได้ใช้พูดกัน แต่เมื่อกล่าวถึงความเป็นจริงแล้วไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเมื่อจะกล่าวให้สั้นกว่านั้น คือไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม และ สั้นที่สุด คือ ธรรม นั่นเอง ธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่ต้องใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงธรรมอะไร อันจะเป็นเครื่องส่องให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ไม่ใช่ให้ไปติดที่ชื่อ

เมื่อได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับแล้ว ก็จะเข้าใจว่าธาตุรู้ หรือ สภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อย่างแรก เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ (ได้แก่ จิต) และ อย่างที่สอง คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และ สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย (ได้แก่ เจตสิก) ตัวอย่างเจตสิก เช่น ความโลภ ความโกรธ ความไม่รู้ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ความระลึกได้ ความเลื่อมใส ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเพียร ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความจำ ความรู้สึก เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย

ไม่ว่าจะเป็นจิตเกิดขึ้น ทางทวารใดๆ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและ ทางใจ หรือ ไม่ต้องอาศัยทวารเลย ก็จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนและ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จากพระธรรม ธรรม เป็นเรื่องยาก จึงต้องตั้งใจฟังตั้งใจศึกษา ความรู้ความเข้าใจจึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 19 ก.ค. 2556

เจตสิก คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่ง ความรัก ความชังเป็นเจตสิก ถ้าฝ่ายกุศล เมตตา กรุณา มุทิตา ก็เป็นเจตสิกที่ดีงาม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Boonyavee
วันที่ 20 ก.ค. 2556

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 1 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jirat wen
วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ