เวทนา กับ สังขาร แตกต่างกันอย่างไรครับ
ผมสงสัยมานานแล้วว่า เวทนา กับ สังขาร ในขันธ์ห้ามีความแตกต่างกันอย่างไรหรือครับ เพราะผมอ่านดูความหมายของเวทนา ก็คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ แต่พอมาดูความหมายของคำว่า สังขาร หรือเจตสิก ก็มีทั้ง ความสุข ความทุกข์ ด้วย ผมก็เลยสงสัยว่า สุข, ทุกข์ ในเวทนา แตกต่างกันอย่างไรกับความสุขความทุกข์ในสังขาร และเวทนานี้ เป็นเจตสิกด้วยหรือเปล่าครับ คือเกิดร่วมกับจิตที่รู้อารมณ์ ตามความเข้าใจของผมซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า ผมเข้าใจว่าเวทนาก็คือเจตสิกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตสัมผัส จิตลิ้มรส และจิตคิดนึก แต่เป็นเจตสิกขั้นแรกก่อนที่สังขารจะปรุงแต่งเป็นความสุข ความทุกข์ ความโกรธ ความอิจฉา ฯลฯ เช่น เมื่อลมจากพัดลมมาสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย เมื่อจิตที่เกิดทางกายเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ ก็จะเกิดเวทนาขึ้นในขั้นต้นก่อน คือ สุขกาย ก่อนที่สังขารจะปรุงแต่งเป็นโลภเจตสิก คือ ความยึดติดต้องการอยากให้ลมพัดนานๆ
ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าครับ
เวทนาขันธ์ คือ เวทนาเจตสิก มีลักษณะเสวยอารมณ์ คือ รู้สึกสุข ทุกข์อุเบกขา สังขารขันธ์ คือ เจตสิก ๕๐ ดวง มี เจตนา ศรัทธา ปัญญา โลภะโทสะ โมหะ เป็นต้น เมื่อจิตเกิดขึ้นทุกขณะย่อมมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์สังขารขันธ์ เกิดร่วมกัน แม้ว่าไม่มีโลภะเกิดขึ้น สังขารขันธ์อื่นๆ ก็เกิดขึ้น เช่นจิตเห็นเกิดขึ้น เวทนาขันธ์ก็เกิดร่วมด้วย สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ (ผัสสะเจตนา เอกัคคตา มนสิการ ชีวิตตินทรีย์) ก็เกิดขึ้นเสมอ
สรุป คือ เวทนาขันธ์ หมายถึง เวทนาเจตสิกดวงเดียว ไม่ว่าจะเป็นสุขทุกข์ อุเบกขา ก็คือ เวทนา ส่วนสังขารขันธ์ คือ เจตสิก ๕๐ ดวง ไม่มีเวทนาเจตสิก