ภิกษุในธรรมวินัย

 
Parinya
วันที่  19 ก.ค. 2556
หมายเลข  23210
อ่าน  2,698

ขอเรียนถามอาจารย์วิทยากรถึงความหมายของคำว่า. ภิกษุในธรรมวินัย ตามความเข้าใจของผมเข้าใจเองว่า ถ้าได้ชื่อว่าภิกษุในธรรมวินัย คือภิกษุ ผู้มีความประพฤติปฏิบัติดี มีศีลบริสุทธิ์ และก็ถามอีกคำถามว่า ในสมัยพุทธกาลภิกษุในธรรมวินัย ต้องบรรลุถึงขั้นโสดาบันไหมครับ

ขออนุโมทนา

ปริญญา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ภิกษุ ก่อน ซึ่งมีหลายความหมายมาก หมายถึงผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ หมายถึง ผู้ขอ โดยธรรม เพราะพระภิกษุไม่ได้ประกอบอาชีพเหมือนอย่างคฤหัสถ์ เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาต หมายถึงผู้ทำลายกิเลส เป็นต้น

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่

ความหมายภิกษุ

ภิกษุ และ สงฆ์ มีความหมายอย่างไร

ท่านพาหิยะ เป็นพระหรือฆราวาส

สำหรับ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มุ่งหมายถึง ภิกษุโดยเพศ ที่สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง ได้รับการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง แต่ละท่านก็เป็นไปตามการสะสมจริงๆ ภิกษุบางรูป ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมก็มีเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์ จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บางรูป แม้จะยังไม่ได้บรรลุอริยสัจจธรรมในชาตินี้ ก็สะสมอุปนิสัยที่ดีต่อไป บางรูป เป็นพระโสดาบัน บางรูปเป็นพระสกทาคามี บางรูปเป็นพระอนาคามี บางรูปเป็นพระอรหันต์ เป็นไปตามการะสะสมของแต่ละท่านอย่างแท้จริง
พระภิกษุในธรรมวินัยนี้ จึงมีหลากหลายมาก ไม่ได้มุ่งหมายถึงพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น แต่ถ้ากล่าวถึงภาวะของความเป็นภิกษุจริงๆ แล้ว คือ ความเป็นผู้สามารถดับกิเลสทำลายกิเลสประการต่างๆ ได้จนกระทั่งหมดสิ้น โดยไม่จำกัดว่าเป็นเพศใดก็ตามแต่ถ้าบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ คือ ในพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมก็ย่อมเป็นโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว เพราะถ้าหากว่ารักษาไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิเท่านั้น
ที่น่าพิจารณาจริงๆ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหน บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาน้อมประพฤติตามพระธรรมได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับผู้นั้นว่าจะเห็นประโยชน์หรือไม่เห็นประโยชน์เท่านั้น เป็นไปตามการสะสมจริงๆ แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับคำว่า ภิกษุ มีหลายความหมาย ดังนี้ ครับ

ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วย ญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้

ซึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ คือ ภิกษุที่บวชในศาสนาพุทธ แม้ว่าจะประพฤติดี หรือ ไม่ดีอย่างไร ก็ชื่อว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จึงเป็นความหมายของภิกษุสุดท้ายที่ยกมา ที่เป็น เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วย ญัตติจตุตถกรรม ครับ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 323

๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งศาสนา

[๑๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ ความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ โดยเคารพ ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม.


เพราะฉะนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นการกล่าวโดยนัยสมมติ จึงหมายถึงผู้ที่ บวชในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าภิกษุโดยปรมัตถ หมายถึง คุณธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Parinya
วันที่ 20 ก.ค. 2556

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนากับคำตอบทั้งสองท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 21 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
surat
วันที่ 21 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tanrat
วันที่ 13 พ.ย. 2556

กราบขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 13 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
swanjariya
วันที่ 17 เม.ย. 2558

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Nataya
วันที่ 17 ธ.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ