ขอทราบที่มาของข้อความนี้ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ดูกรอานนท์ จะถือเอาความรู้และความไม่รู้เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละ
กิเลสได้เป็นประมาณ เพราะว่าผู้ที่จะถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลสโดยส่วนเดียว
เมื่อละกิเลสได้แล้ว ก็ย่อมถึงพระนิพพานได้"
ผมได้อ่านพบข้อความนี้ แต่ไม่มีการระบุที่มา ขอเรียนถามว่า มาจากพระไตรปิฎกส่วนใด
ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความนี้ ไม่ได้มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ครับ
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาในข้อความนี้ที่ว่า จะถือความรู้ และ ความไม่รู้เป็น
ประมาณไม่ได้ ต้องถือเอา การละกิเลสเป็นประมาณ แต่ในความเป็นจริง สภาพธรรม
อะไรที่ทำหน้าที่ละกิเลส คือ ปัญญา ความเห็นถูก ความรู้ และ กุศลธรรมประการอื่นๆ
และ ละกิเลสอะไร คือ อวิชชา ความไม่รู้ และ กิเลสประการอื่นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มี
ความรู้แล้ว จะละกิเลสได้อย่างไร เพราะ กิเลสจะละได้ก็ด้วยความรู้ที่เป็นปัญญา แต่
จะต้องเข้าใจว่า ปัญญา ความรู้ มีหลายระดับ คือ ปัญญาขั้นการฟัง ขั้นวิปัสสนา และ
ปัญญาขั้นระดับ มรรคจิต ผลจิต ปัญญาความรู้ขั้นการฟัง ไม่สามารถละกิเลสได้ ส่วน
ปัญญาขั้นวิปัสสนา คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียง
ธรรมมใช่เรา ก็ไม่สามารถละกิเลสได้เช่นกัน แต่ ปัญญาที่เป็นการเกิดขึ้นของมรรคจิต
และผลจิตเป็นปัญญา ความรู้ที่สามารถละกิเลสได้ แต่ ปัญญาที่เป็นมรรคจิต ผลจิต
จะมีได้ก็ต้องอาศัย ปัญญาที่เป็นกาเรจริญวิปัสสนา และ ปัญญาที่เป็นขั้นการฟัง คือ
ปริยัติ เป็นสำคัญ ถ้าไม่มีการฟัง การศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่เกิดปัญญาขั้นการฟัง แม้
แต่ท่านพระสารีบุตร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรม ละกิเลสได้เลย จึงกล่าวได้ว่า ความรู้
ปัญญาขั้นการฟัง การศึกษาพระธรรมมีความสำคัญมาก เพราะเป็นรากฐาน เป็นการ
ก้าวเดินที่ถูกต้องที่จะเดินไปสู่หนทางการดับกิเลส ได้ในที่สุด สมดังที่พระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ ความรู้ ที่เป็นปัญญา ย่อมเป็นแสงเงินแสงทอง เป็นเบื้องต้น ที่
จะทำให้ถึงการบรรลุธรรม ดังนี้
๗. ปฐมสุริยูปมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนการตรัสรู้อริยสัจ
[๑๗๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่จะขึ้นก่อน
สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น
เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ตามความเป็นจริง คือ สัมมาทิฏฐิ
ฉะนั้นเหมือนกัน อันภิกษุ ผู้มีความเห็นชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ตาม
ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริง
ว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบปฐมสุริยูปมสูตรที่ ๗
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เพราะฉะนั้น ความรู้ ความเข้าใจ ย่อมเป็นประมาณ ในการที่จะถึงหนทางการดับ
กิเลส แต่ ควรกล่าวว่า ความเห็นผิด ความไม่รู้ ไม่เป็นประมาณ ในการดับกิเลส
เพราะเป็นอกุศล เป็นหนทางที่ผิด จึงไม่สามารถที่จะถึงการดับกิเลสได้ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ส่วนใหญ่ที่อ้างกันถึงข้อความดังกล่าวตามที่ท่านผู้ถามได้ยกมานั้นจะพบในเวลา
ที่กล่าวถึงพระคิริมานนท์ ใน อาพาธสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต แต่เมื่อได้อ่าน
ข้อความจากอาพาธสูตร ทั้งหมด ก็ไม่พบข้อความดังกล่าวเลย เพราะในพระสูตรนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงสัญญาประการต่างๆ ที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจ
ถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ๑๐ ประการ แก่ท่านพระอานนท์ เพื่อท่านพระอานนท์
จะได้ไปแสดงให้ท่านพระคิริมานนท์ซึ่งอาพาธ ได้ฟัง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก
โดยตลอด
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจถูกเห็นถูก
สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัม
พุทธเจ้าทรงแสดง ครับ.
ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถดับกิเลสได้
พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่พ้นไปจาก
สภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละบุคคลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กิเลสที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
ในชีวิตประจำวัน, ทุกคนควรพิจารณาว่า โลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ ในสิ่งที่กำลัง
ปรากฏ) โทสะ (สภาพธรรมที่ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ความโกรธ ความประทุษร้าย) โมหะ
(ความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) กิเลสเหล่านี้มีบ้างหรือไม่?
นอกจากนั้นแล้ว กิเลสประการอื่นๆ เช่น ความลบหลู่ ความยกตนเทียมท่าน ความ
ตระหนี่หวงแหนและความริษยา เป็นต้น มีบ้างหรือไม่? อกุศลธรรมเหล่านี้ทั้งหมด เป็น
สภาพธรรมที่มีจริงเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ควรที่จะได้ศึกษา เพื่อความเข้าใจตามความ
เป็นจริง ถ้าไม่รู้ ไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่สามารถจะดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย
บุคคลผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม มีความเข้าใจในเหตุและผล ย่อมจะ
ทราบได้ว่า บุคคลใด ละกิเลสได้ เพราะเหตุสมควรแก่ผล บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้อบรม
เจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกมาเป็นเวลาอันยาวนาน จนกระทั่งปัญญาคม
กล้าถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด เพราะปัญญาเท่านั้น ที่จะละกิเลสได้ ส่วน
บุคคลใดยังละกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ซึ่งจะต้องสะสมสร้างเหตุที่ดี
ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ การที่จะละกิเลส จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเจริญอบรมจริงๆ แม้ในเรื่องของ
กาย วาจา ใจก็ควรจะอบรมให้เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต พึงเป็นผู้ไม่ประมาท
ในการเจริญกุศลทุกประการ และ ไม่ประมาทกำลังของกิเลส ด้วย ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ไม่มีความรู้ก็ละกิเลสไม่ได้ เพราะจะละกิเลสได้ต้องมีปัญญา ค่ะ
อยากให้ท่านวิทยากรหรือสหายธรรมช่วยอธิบายทีค่ะ
ดิฉันเห็นนักเขียนธรรมะชอบบอกว่า
อ่านหรือฟังธรรมะมากจะติดอยู่แค่สุตะและจินตามยปัญญา ไปไม่ถึงภาวนามยปัญญา
ดิฉันเห็นว่าความคิดนี้เป็นสาเหตุให้คนรังเกียจการศึกษาพระสัทธรรมได้ค่ะ
ถึงกับปฏิเสธพระไตรปิฎกและอรรถกถาเลยก็มี แล้วนิยมไปเรียนรู้ธรรมะจากจิตตนเอง
ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกครอบงำด้วยอนุสัยกิเลสของตนเองสักแค่ไหน
เชื่อกิเลสตนเอง มากกว่าเชื่อคำสอนพระพุทธเจ้า
เห็นควรว่าต้องช่วยอธิบายเรื่องปัญญาทั้ง3ระดับทีน่ะค่ะ
เพราะนักเขียนธรรมะสมัยใหม่เค้าเริ่มจะบอกให้คนข้ามไปขั้นภาวนากันเลย
ให้ทิ้งตำราหรือคัมภีร์ต่างๆ แล้วเอาประโยคที่ว่า
สัพเพธัมมาอนัตตา มาอ้างว่าต้องทิ้งพระธรรม บอกอย่าไปยึดมั่นพระธรรม
(คือเค้าแปลความหมายประโยคนี้ผิดๆ ค่ะ และคนก็จำไปใช้บอกต่อกันผิดๆ )
แต่ก็แปลกใจว่าแล้วเค้าจะเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่านทำไม เพราะก็เป็นตำราเหมือนกัน
เรียนความเห็นที่ 5 ครับ
สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่สำเร็จการฟัง ส่วน จินตามยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจาก
การคิด พิจารณา และภาวนามยปัญญาคือ ปัญญาที่สำเร็จจาการเจริญอบรม มีสมถ
ภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ซึ่่ง การจะถึง การเจริญวิปัสสนาได้ ต้องอาศัยการฟัง
การศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ที่เป็นปริยัติ หากไม่มีการฟัง ศึกษาแล้วย่อมไม่สามารถ
ที่จะถึงการคิดถูกที่เป็นจินตามยปัญญา และ ย่อมไม่ถึงการได้ภาวนามยปัญญาเลย
ผู้ที่ไม่ต้องฟัง ศึกษาจากใคร แล้วได้ปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญา มีเพียง 2 บุคคล
ในโลก คือ พระปัจเจกพุทะเจ้า ที่ไม่ใช่ช่วงที่พระองค์จะบังเกิดในช่วงที่มีพระพุทธเจ้า
บังเกิดอยู่ และอีกพระองค์หนึ่ง คือ พระพุทธเจ้าที่สามารถเกิดปัญญารู้ได้ด้วยพระองค์
เอง โดยไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาจากใคร เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสาวก สาวก หมายถึง ผู้
ที่สำเร็จจากการฟังเป็นสำคัญ ครับ