เราจะรักษาอารมณ์กรรมฐานอย่างไรให้คงอยู่ไม่เสื่อมถอย โดยที่เราไม่ได้ออกบวช

 
มนตรี999
วันที่  30 ก.ค. 2556
หมายเลข  23271
อ่าน  1,751

สิ่งทั้งหลาย มีเกิด ตั้งอยู่ และ มีดับไปเป็นสภาวธรรมดา ตัณหา เมื่อมีเกิด ก็มีตั้งอยู่และมีดับไป เป็นธรรมดา เราจะไปยึดมันด้วยอุปทานไว้ทำไม ปล่อยให้ตัณหามันดับไป ตามสภาวธรรมดา เราจะทำลายอุปทานตัวเรา ยังไงครับ ขอแนวทางด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความยึดมั่นถือมั่น สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น มี ๔ ประการ คือ กามุปาทาน การยึดมั่นติดข้องในกาม (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) , ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นที่เป็นความเห็นผิด, สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด, อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์บุคคล เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจาก โลภะ (โลภ เจตสิก) และ ทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก) ซึ่งเป็นความเห็นผิด อุปาทานเป็นกิเลสที่มีกำลัง ยึดมั่นถือมั่น อุปาทาน จึงไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะความติดข้องต้องการเท่านั้น ยัง หมายรวมถึงทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิดด้วย

สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลธรรม ประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้ายังไม่สามารถดับได้ ก็ย่อมมีเหตุให้เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เป็นธรรมดา จริงอยู่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา แต่ก็สะสมสืบต่อไม่หายไปไหน เมื่อเกิดบ่อยก็สะสมอกุศลเพิ่มขึ้นอีก

เพราะฉะนั้นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส มีอุปาทาน เป็นต้น นั้น ก็ต้องเป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง คือ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ มีความเห็นถูก เป็นต้น

กิเลสมีมาก สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่สามารถดับได้ด้วยความไม่รู้ ไม่สามารถดับได้ด้วยความเห็นผิด ไม่สามารถดับได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง เมื่อเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่เข้าใกล้อกุศล แต่จะถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุด แล้วตั้งใจมั่นในการที่จะอบรมเจริญกุศลต่อไป ซึ่งเป็นเครื่องเตือนที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะศึกษาจากพระธรรมในส่วนใด เรื่องใด ก็ตาม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์โดยแท้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ซึ่ง ขออธิบาย ธรรมทีละคำ เป้นอันดับแรกก่อนครับ อารมณ์ อารมณ์หมายถึง สิ่งที่จิตรู้ จิตกำลังรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากอารมณ์ไม่ได้ สภาพธรรมทุกอย่างสามารถเป็นอารมณ์ ของจิตได้ ไม่ว่าจะเป็นจิตปรมัตถ เจตสิกปรมัตถ รูปปรมัตถหรือ นิพพานปรมัตถ แม้บัญญัติซึ่งไม่ใช่สภาพธรรม เพราะไม่มีจริงโดยปรมัตถ ก็เป็นอารมณ์ของจิตได้อารมณ์มี ๖ อย่าง คือ ...

๑. รูปารมณ์ (วัณณรูป ได้แก่ สีต่างๆ )

๒. สัททารมณ์ (สัททรูป ได้แก่ เสียงต่างๆ )

๓. คันธารมณ์ (คันธรูป ได้แก่ กลิ่นต่างๆ )

๔. รสารมณ์ (รสรูป ได้แก่ รสต่างๆ )

๕. โผฏฐัพพารมณ์ [ปฐวีรูป (ดิน) เตโชรูป (ไฟ) วาโยรูป (ลม) ]

๖. ธัมมารมณ์ (อารมณ์ที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น ๖ อย่าง ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน บัญญัติ)

กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมาย ถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ สมถกรรมฐาน คือ การอบรมความสงบของจิตเพื่อข่มนิวรณ์ จนจิตสงบเป็น ฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมย่อมเกิดในพรหมโลก

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การอบรมเจริญปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมใน ขณะนี้ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามความเป็น จริง ดับกิเลสตามลำดับ เพื่อดับกิเลสทั้งหมดไม่ต้องเกิดอีกเลย

คำถามแรกที่ว่า

เราจะรักษาอารมณ์ กรรมฐาน ยังไง ให้คงอยู่ไมเสี่อมถอย โดยที่เราไม่ได้ออกบวช อารมณ์กัมมฐาน ที่เป็นวิปัสสนากัมมฐาน ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เป็น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส อกุศล มี โลภะ โทะ โมหะ คิดนึก กุศลจิต เป็นต้น รวมความว่า สภาพธรรมที่มีจริง ล้วนแล้วแต่เป็นาอารมณ์ของ วิปัสสนากัมมฐาน เป็นสิ่งที่ควรรู้เพราะเมื่อรู้ย่อมละความเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เพราะประจักษ์ว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละขณะ ครับ

ไม่มีเราที่จะพยายามรักษาอารมณ์ กรรมฐานไว้ได้ เพราะ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และ เป็นอนัตตา แม้แต่ วิปัสสนากัมมฐาน ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย คือ สติปัฏฐาน ที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ก็เกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา อีกเช่นกัน จึงไม่มีตัวเราที่จะไปรักษาอารมณ์ และ กรรมฐานเลย

ส่วนการจะบวช หรือ ไม่บวช ไม่ได้สำคัญในการจะเกิดวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็น หนทางการดับกิเลส เพราะ การบวช เป็นเพียงการเปลี่ยนเพศ แต่ ไมได้เปลี่ยนใจ คือ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการบวช แต่ ปัญญาจะเกิดขึ้น เพราะการฟัง การ ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอยู่ในเพศใดก็สามารถอบรมปัญญา คือ สามารถเกิดปัญญา วิปัสสนาได้ครับ สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ กรฟังพระธรรม ที่ถูกต้องเป็นสำคัญ เพราะ แม้อุบาสก อุบาสิกาในสมัยพุทธกาล ก็เจริญอบรม ปัญญา เจริญวิปัสสนาได้เช่นกัน เพราะ ได้สะสมปัญญามาแล้ว และมีการอบรม ปัญญาต่อ จากการฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และ ได้บรรลุธรรมากมาย มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขาอุบาสิกา เป็นต้น ครับ


จากคำถามที่ว่า

สิ่งทั้งหลาย มีเกิด ตั้งอยู่ และ มีดับไปเป็นสภาวธรรมดา ตัณหา เมื่อมีเกิด ก็มี ตั้งอยู่ และมีดับไป เป็นธรรมดา เราจะไปยึดมันด้วยอุปทาน ไว้ทำไม ปลอยให้ ตัณหา มันดับไป ตามสภาวธรรมดา เราจะทำลายอุปทาน ตัวเรา ยังไงครับ

ถ้ามีเราที่จะทำ ย่อมไม่สามารถละความเป็นเราได้ เพราะ ความเป็นเราไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟัง ศึกษาพระธรรม โดยเฉพาะ การ ศึกษาในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ให้เข้าใจถูกว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นหนทางการละความยึดถือ ละกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ตัณหา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ติดข้อง ส่วนใหญ่ เราเห็นโทษของตัณหา แต่กิเลสที่ละเอียดลึก และ เป็นต้นเหตุของกิเลสทั้งปวง คือ อวิชชา ความไม่รู้ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าไม่รู้อยู่ มืด เพราะ ถูกปกคลุมด้วย อวิชชา ความไม่รู้ เมื่อมี ความไม่รู้ ย่อมมีการยึดถือ มี อุปทาน ประการต่างๆ และ มีตัณหา ติดข้อง หาก เกิดความรู้ขณะใด ขณะนั้น ไม่ยึดมั่น ไม่มีอุปาทาน ไม่ติดข้อง ไม่มีตัณหา แต่ เมื่อมีความไม่รู้เป็นเหตุ ย่อมเกิดกิเลส ทั้ง อุปาทาน ความยึดมั่น และ ตัณหา ความติดข้องได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเห็นโทษของกิเลส เพียงตัณหา อุปทาน แต่ควรจะต้องรู้เหตุที่แท้จริง ควรเห็นโทษด้วยปัญญา คือ อวิชชา เพราะ มีอวิชชา จึงทำให้ดำเนินทางผิด คือ ดำเนินไปตามทางความไม่รู้ คือ หนทางที่จะทำ หนทางที่อยากจะละ ซึ่งเป็นหนทางที่เป็นเรา ไม่ใช่หนทางที่เป็นปัญญา

ดังนั้น เมื่อไหร่ที่อยากจะละ อยากจะทำ นั่นไม่ใช่หนทางแล้ว แต่ หนทางที่ถูกต้อง ที่เป็น หนทางการเจริญอบรมปัญญา ที่เป็นหนทางการละอุปทาน ละตัณหา ละอวิชชาคือ การรู้ความจริงของอุปาทาน รู้ความจริงของตัณหาและสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่าเป้นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพราะกิเลสที่จะต้องละอันดับแรกคือ ความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัณหา ครับ

เพราะยังมีเรา ก็ดำเนินทาง ที่ผิด ที่จะทำด้วยความเป็นเรา หนทางที่ถูก คือ ละความเป็นเรา ด้วย การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแตเพียง ธรรมไม่ใช่เรา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมถึงการรู้สภาพธรรมในขณะนี้ ว่าเป็นแต่ เพียงธรรม ก็จะค่อยๆ ละกิเลสไปตามลำดับ ละ อุปทาน แต่ละอย่างไปตามลำดับ ตามระดับปัญญาที่เกิดขึ้น กิเลสสะสมมามาก นับไม่ถ้วน การละกิเลสก็ต้องใช้เวลา เปรียบเหมือน สนิมที่เกาะเหล็กเป็นเวลาที่นาน กว่าจะขัดสนิมออกได้ ก็ไม่ใช่การ ถู ขัดเพียงครั้งเดียว ต้องใช้เวลานาน และ วิธีการขัด และ อุปกรณ์ก็ต้องถูกต้อง ด้วย ฉันใด กิเลสที่สะสมมามากก็ต้องใช้เวลานาน เพราะปัญญาเป็นสภาพธรรม ที่เติบโตช้า และ อุปกรณ์ คือ หนทางที่เดินก็ต้องถูกต้องด้วย จึงจะสามารถละ กิเลสได้จริงๆ ซึ่งไม่มีหนทางอื่น นอกจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็น สำคัญ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มนตรี999
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอบคุณมากครับ ที่อาจารย์ ชี้ทางสว่างให้ ได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา ฝากตัวด้วยนะครับ ผมเพิ่งเริ่มศึกษาครับ ผมไม่นึกเลย ว่าจะมีครูบาอาจารย์ เก่งเก่งอยู่ไนโลกอินเตอร์เน็ต ดีใจ ต่อไป ผมจะได้ข้อคิดดีดี จากเว็บนี้ ขอให้เว็บนี้ อยู่คู่ พระพุทธศาสนา จนถึงห้าพันปีนะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา ในความเข้าใจถูกเช่นกัน ครับ สามารถศึกษาเพิ่มเติมในเว็บไซต์นี้ได้ ครับ ทั้ง ฟัง จาก ไฟล์ เอ็มพี 3 ที่อยู่ในหมวด ฟังธรรม หรือ ซีดีธัมมะก็ได้ และ สามารถ ศึกษาเพิ่มเติมจากการฟังทางวิทยุ ได้หลายๆ คลื่น กดตามลิ้งนี้ เลย ครับ

รายการวิทยุ

การศึกษา ฟังพระธรรมทางวิทยุก็มีประโยชน์มากเช่นกัน หรือ สามารถดูทางโทรทัศน์ได้ ด้วยครับตามลิ้งนี้

รายการบ้านธัมมะ

และ สามารถรับหนังสือเพิ่มเติม ตามลิ้งนี้ ครับ

หนังสือ

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มนตรี999
วันที่ 31 ก.ค. 2556

แทนที่จะเห็นโทษของกิเลส เพียงตัณหา อุปทาน แต่ควรจะต้องรู้เหตุที่แท้จริง ควรเห็นโทษด้วยปัญญา คือ อวิชชา หนทางที่จะทำ หนทางที่อยากจะละ ซึ่งเป็นหนทางที่เป็นเรา ไม่ใช่หนทางที่เป็นปัญญา ดังนั้น เมื่อไหร่ที่อยาก จะละ อยากจะทำ นั่นไม่ใช่หนทางแล้ว

หนทางการเจริญอบรมปัญญา ที่เป็นหนทางการละอุปทาน ละตัณหา ละ อวิชชา คือ การรู้ความจริงของอุปาทาน รู้ความจริงขงอตัณหา และ สภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพราะกิเลสที่จะต้องละอันดับแรก คือ ความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัณห

เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมถึงการรู้สภาพธรรมในขณะนี้ ว่าเป็นแต่เพียง ธรรม ก็จะค่อยๆ ละกิเลสไปตามลำดับ ละ อุปทาน แต่ละอย่างไปตามลำดับ ตามระดับปัญญาที่เกิดขึ้น

ไมรู้ว่าจะกลาวคำขอบคุณ ยังไง ถึงจะพอ ที่เมตตา เสียสละเวลามาตอบคำถาม ให้แสงสว่างกับบุคคล ที่มืดบอด โดยไม่หวังผลตอบแทน นับถือครับ สรุป ที่เราทุกข์ ทุกวันนี้ เพราะมีตัวเรานี้เอง สาธุ เจริญ ปัญญา คือคำตอบสุดท้ายของทุกคำถาม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 1 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
medihealing
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Chanida
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ