อัตตา หิ อัตตโน นาโถ

 
ลุงหมาน
วันที่  5 ส.ค. 2556
หมายเลข  23299
อ่าน  242,090

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา จะปฏิเสธเรื่อง อัตตา เมื่อมี อัตตาก็ย่อมเป็นที่อาศัยของตัณหา อุปาทาน ได้ ถ้าเข้าถึงอนัตตาเสียได้เขาผู้นั้นย่อมละอัตตา คือเข้าถึงธรรมที่เป็นจริงคือ อนัตตา เพราะ อนัตตา นั้นย่อมไม่เป็นที่อาศัยของ ตัณหา อุปาทานละ อัตตาได้ ก็เท่ากับละ ตัณหาอุปาทานไปด้วย แต่มีข้อสงสัยคำว่า "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ" ที่แปลว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ถ้าหากเป็นทางโลกธรรม ก็ย่อมจะพอเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นทางธรรม "ตน" นี้ก็หมายถึงตัว "อัตตา" ขอคำอธิบายจาก อาจารย์หรือท่านผู้รู้ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ เพราะมีคำว่า ตนถึงสองตนทั้งหน้าทั้งหลัง

ขออภัยนะครับถ้าคำถามของกระผมถามไม่ถูกต้อง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือ อย่างไร

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีหลากหลายนัย ทั้ง สมมติสัจจะ และ ปรมัตถะสัจจะ คือ สมมติสัจจะ เป็นการแสดงธรรมที่เป็นเรื่องราว สัตว์บุคคลต่างๆ ส่วนปรมัตถสัจจะ เป็นการแสดงธรรมที่กล่าวถึงแต่สภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีสัตว์ บุคคลมีแต่จิต เจตสิก รูป และ สภาพธรรมฝ่ายดี ไม่ดี เป็นต้น ครับ

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของสัตว์โลกตามความเป็นจริง เพราะสัตว์โลกแต่ละหนึ่ง สะสมมาต่างกัน บางบุคคล ฟังพระเทศนา ด้วยนัยสมมติเช่น ใช้คำแทนสัตว์ บุคคลต่างๆ จึงเข้าใจได้ แต่บางบุคคล ก็สะสมที่เข้าใจโดยนัย ปรมัตถะสัจจะ ที่เข้าใจได้ดี เมื่อแสดงโดยนัยที่เป็น สภาพธรรมล้วนๆ ครับ

เพราะฉะนั้นคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็ควรเข้าใจให้ถูกว่า ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิก เพราะ ตนในที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงตน ด้วยการแทนที่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เป็นจิต เจตสิกที่ดี ที่จะเป็นที่พึ่งได้ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ไม่เป็นที่พึ่ง แต่สภาพธรรมที่ดีงาม มีจิต เจตสิกที่ดี เป็นที่พึ่งได้

ตน จึงไม่ได้แสดงถึง ความเป็นอัตตา แต่แสดงโดยนัยสมมติ ที่เป็นการแสดงถึงจิต เจตสิกที่ดีงาม อันเป็นการแสดงถึงความเป็นอนัตตา ครับ และตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังแสดงถึงอีกนัย ที่แสดงว่า ปัญญาของตนเองนั่นแหละ ที่จะเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ปัญญาของผู้อื่น ตนนั่นและ คือ ตนเอง เป็นที่พึ่ง ครับ แต่ ตามที่กล่าวมา ก็แสดงถึงสภาพธรรมที่ดีงาม มี ปัญญา เป็นต้น ที่จะเป็นที่พึ่ง ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก อรรถกถาที่แสดงถึงว่า คนอื่นจะเป็นที่พึ่งไม่ได้ ตน คือ ปัญญาของตนเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่ง ทำให้บริสุทธิ์ได้ครับ

อัตตทีปวรรคที่ ๕ อรรถกถาอัตตทีปสูตรที่ ๑

บทว่า อนญฺสรณา นี้ เป็นคำห้ามพึ่งผู้อื่น ด้วยว่าผู้อื่นเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะคนหนึ่งจะพยายามทำอีกคนหนึ่งให้บริสุทธิ์หาได้ไม่ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนญฺสรณา (ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ)

ขออนุญาตยกข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดง ตน เป็นที่พึ่งแห่งตน โดยนัย ที่ตน หมายถึง สภาพธรรม ที่เป็นฝ่ายดี ที่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ดับกิเลสได้ ครับ

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 120

ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม

[๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะอย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่ อย่างไรเล่า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นว่าในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

จากข้อความในพระไตรปิฎก นั้น แสดง ตนที่เป็นที่พึ่ง และ พระพุทธเจ้าก็ทรงย้ำต่อไป มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง (สรณะ) แสดงถึงว่า ที่พึ่งจริงๆ ที่สมมติเรียกว่า ตน หมายถึง ปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน และ กุศลธรรมประการอื่นๆ ชื่อว่า เป็นธรรมที่เป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่ง

ข้ออนุญาตยกข้อความในอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ ครับ

อรรถกถาจักกวัตติสูตร

ปฏิเสธที่พึ่งอย่างอื่น. ความจริง คนอื่นจะเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นหาได้ไม่ เพราะคนอื่นบริสุทธิ์ด้วยความพยายามของคนอื่นไม่ได้. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้. เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนญฺญสรณา. ถามว่า ก็ในคำว่า อตฺตทีปา นี้ อะไรเล่าชื่อว่าตน. แก้ว่า โลกิยธรรมและโลกุตรธรรม. ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณามีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้.

จากข้อความในอรรถกถาที่ยกมานั้น เป็นการแสดงความหมายแรก ที่แสดงว่า ตนในที่นี้ คือ มีตนเป็นที่พึ่ง ที่จะไม่ใช่อาศัยปัญญาของผู้อื่นเพื่อที่จะดับกิเลส แต่จะต้องเป็นปัญญาของตนเองเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ และ สามารถดับกิเลสของตนเองได้ อันเป็นการแสดงโดยนัยสมมติเป็นสำคัญ ครับ

อีกนัยหนึ่งในอรรถกถานี้แสดงถึง ตน โดยความหมาย ที่เป็นโลกิยธรรม และโลกุตตรธรรม ที่สามารถทำให้ละกิเลสได้ นั่นก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกที่ดี ทั้งการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญกุศลทุกประการ และ มรรคจิต เป็นต้น ที่เป็นตน คือ เป็นสภาพธรมที่เป็นที่พึ่ง เปรียบเหมือนว่า เมื่อสัตว์โลก ตกอยู่ในห้วงมหาสมุทร ต้องหาที่พึ่ง คือ เกาะ ปัญญา กุศลธรรมประการต่างๆ เหล่านี้ ที่สมมติ เรียกว่า ตน เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยที่ปลอดภัย ครับ และ ข้อความในพระไตรปิฎก อีกข้อความที่ว่า

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้าที่ 208

"ตนแลเป็นที่พึ่งของตน. บุคคลอื่นใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคล มีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้พึ่ง ที่บุคคลได้โดยยาก"

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาโถ คือเป็นที่พำนัก พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำนี้ไว้ว่า "บุคคลตั้งอยู่ในตน คือสมบูรณ์แล้วด้วยตน สามารถจะทำกุศลแล้วถึงสวรรค์ หรือเพื่อยังมรรคให้เจริญ หรือทำให้แจ้งซึ่งผลได้ เพราะเหตุนั้นแหละ ตนแลพึงเป็นที่พึ่งของตน. คนอื่นใครเล่า? พึงเป็นที่พึ่งของใครได้. เพราะบุคคลมีตนฝึกดีแล้ว คือมีความเสพผิดออกแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งบุคคลได้โดยยากกล่าวคือพระอรหัตตผล

แสดงถึง ตนเอง คือ ปัญญาของตนเองที่เกิดขึ้นเท่านั้น ที่จะทำให้ดับกิเลส เกิดในสวรรค์ เพราะกุศลของตนเองที่เกิดขึ้น และ ที่พึ่งอันสูงสุด ที่จะเป็นที่พึ่งได้แท้จริง คือ คุณงามความดีที่ทำให้ถึงการดับกิเลสทั้งปวง คือ การถึงความเป็นพระอรหันต์ที่เป็น อรหัตถผล ตามข้อความในอรรถกถาได้อธิบายมา ครับ

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธรรม ที่เป็นนัยสมมติเทศนาด้วย แต่ การกล่าวโดยสมมติ ว่า ตน เป็นต้น ไม่ได้กำลังหมายถึง มีตน จริงๆ แต่ทรงแสดงว่า ตน ในที่นี้ คือ ปัญญาของตนเองที่เกิดขึ้นย่อมจะเป็นที่พึ่ง และ ตน จึงหมายถึง จิต เจตสิกที่ดีงาม ที่จะเป็นที่พึ่ง อกุศล เป็นที่พึ่งไม่ได้ และ แม้แสดงโดยนัยสมมติ แต่ เมื่อจบพระธรรมเทศนา มีมากมายหลายสูตร ที่แสดงเป็นสัตว์ บุคคล ก็มีผู้บรรลุธรรมมากมาย เพราะ ขณะที่ฟัง ก็รู้สัจจะ ความจริงที่กำลังมี เช่น คิดนึก เห็น ได้ยิน ที่เป็นตัวสภาพธรรมในขณะนั้น ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้ ดังนั้น อาศัย ชื่อโดยสมมติ เพื่อเข้าใจ ปรมัตถ โดยมีความแยบคายว่า มีแต่ธรรมไม่ใช่เรา แม้ได้ยินคำว่า ตน สัตว์ บุคคล ก็เข้าใจว่า เพราะมีธรรม จึงมีการสมมติบัญญัติ สื่อให้เข้าใจกัน ครับ

ขณะนี้ ควรทำที่พึ่งของตน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะที่อ่าน ขณะที่ฟัง แล้วเข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้นทีละขณะ ขณะนั้นกำลังทำธรรมที่เป็นที่พึ่ง เพื่อที่จะถึง การมีที่พึ่งที่แท้จริง คือ ปัญญาที่ดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ลุงหมาน
วันที่ 5 ส.ค. 2556

กราบ ขออนุโมทนาสาธุครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
napachant
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรม ต้องเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญคือ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง พยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนา นั้น ส่องให้ผู้ฟังเข้าถึงตัวจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ให้ไปติดที่พยัญชนะ ในพระไตรปิฎก จะพบคำว่า ตน อยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ตั้งตนไว้ชอบ, ตน เป็นที่พึ่งแห่งตน, มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง เป็นต้น แต่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดเลย ไม่ใช่มีตัวตนจริงๆ เพราะเป็นสภาพธรรม จะเป็นตัวตนได้อย่างไร

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายความว่า ไม่มีใครสามารถทำบุญกรรมแทนกันได้ แม้การอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องอบรมเจริญด้วยตนเอง ทำความดี ก็ต้องทำด้วยตนเอง คนอื่นจะทำแทนคนอื่นไม่ได้ และ บุคคลผู้ที่มีความฝึกตน ด้วยพระธรรม กล่าวคือ มีการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ พร้อมทั้งขัดเกลากิเลสของตนเอง ย่อมเป็นผู้มีที่พึ่ง สูงสุด คือ ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก นั่นก็คือ ความเป็นพระอรหันต์, คำว่า "ตน" ในที่บางแห่งทรงแสดงไว้ชัดเจนว่าหมายถึง นามธรรมฝ่ายกุศล ที่เป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา สูงสุด คือ โลกุตตรกุศล, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้คำว่า "ตน" นั้น ก็ทรงใช้ตามบัญญัติโวหารของชาวโลก แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้วไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เพราะฉะนั้น ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noparat
วันที่ 5 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 5 ส.ค. 2556

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓-หน้าที่ 208

"ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้พึ่ง ที่บุคคลได้โดยยาก"

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 ส.ค. 2556

ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชนเมื่อยืนก็ย่อมยืนอยู่ใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยความเป็นตัวตน ตราบนั้น..คัททูลสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประสาน
วันที่ 16 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 27 พ.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
porntiphawa
วันที่ 18 ก.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ