พ่อแม่ให้ชีวิต แล้วเราจะให้อะไรท่าน
พ่อแม่ให้ชีวิต แล้วเราจะให้อะไรท่าน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระคุณของมารดาบิดา ที่ท่านได้กระทำต่อบุตรนั้น มีมากมายมหาศาล ยากที่จะพรรณนาให้หมดสิ้นได้ ท่านเป็นผู้ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโตอย่างปลอดภัย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ท่านเป็นผู้พร่ำสอนให้บุตรออกจากความชั่วแล้วให้ตั้งอยู่ในความดี สอนให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ พร้อมทั้งให้ศึกษาศิลปวิทยา เพื่อให้บุตรมีความรู้ติดตัวอันจะเป็นบ่อเกิดแห่งการงานประการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของบุตรดำเนินไปด้วยความไม่เดือดร้อนในภายภาคหน้า เป็นต้น
เมื่อมารดาบิดาเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อบุตร มากมายมหาศาลอย่างนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุตรจะต้องมีความกตัญญูกตเวที คือ รู้ถึงพระคุณที่มารดาบิดากระทำแก่ตนแล้วกระทำตอบแทนท่าน ถ้าหากว่าบุตรคนใดไม่รู้คุณอีกทั้งไม่ทำการตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา บุตรนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุตรอกตัญญู (คนอกตัญญู ย่อมไม่พบหนทางแห่งความเจริญในชีวิต) ส่วนบุตรผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดานั้น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว
ดังนั้น ความกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ควรจะอบรมเจริญให้มีขึ้น ถึงแม้ว่าบุตรจะยังไม่สามารถกระทำตอบแทนพระคุณมารดาบิดาได้อย่างสูงที่สุด ด้วยการให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธา ศีล จาคะ (การสละ การให้) และปัญญาก็ตาม แต่การที่ได้รู้ว่า ท่านทั้งสองนั้นเป็นผู้ที่มีพระคุณมากมายมหาศาล แล้วทำการเลี้ยงดู ปรนนิบัติเอาใจใส่ดูแลท่านเป็นการตอบแทน กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม ช่วยเหลืองานของท่านเท่าที่จะทำได้ ตั้งใจเป็นคนดี ย่อมเป็นสิ่งที่บุตรจะพึงกระทำ ทั้งนั้น จนกว่าจะเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจถูกที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ เมื่อนั้นจึงจะเป็นผู้สามารถตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาอย่างสูงสุด ด้วยการให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาศีล จาคะ และปัญญาได้ ก่อนอื่นที่สุดต้องเริ่มที่ตนเองก่อน จึงจะสามารถเกื้อกูลผู้อื่นให้เข้าใจตามความเป็นจริงได้ในโอกาสต่อไป ครับ.
ซึ่งสำหรับหน้าที่ของบุตรที่มีต่อ บิดา มารดา ที่เป็นลักษณะของความกตัญญู ที่ควรตอบแทน ให้ท่าน ขอนำพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 88
[๑๙๙] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดา เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรธิดาพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์ตระกูล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ๑.
ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ บิดา มารดา มีพระคุณกับผู้เป็นบุตรหาประมาณมิได้ ท่านเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก ลำบากมากมาย ผู้เป็นบุตร จึงควรตอบแทนพระคุณท่านเพราะความเป็นผู้รู้คุณ เริ่มจากเดี๋ยวนี้ คือ ดูแลท่าน ไม่ว่าจะเป็นข้าว ปลา อาหาร การช่วยเหลืองานบ้านต่างๆ แทนที่ท่านจะทำ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระ ตามความสามารถของตนที่จะมีในเรื่องนั้นครับ
จักรับทำกิจของท่าน สิ่งใดท่เป็นงานของท่าน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน คือ การงานของท่าน หากเราพอมีความสามารถ แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นผู้ ยินดี อาสาที่จะช่วยท่าน เพื่อแบ่งเบาภาระ ของผู้เป็น บิดา มารดาที่มีภาระมากและได้เลี้ยงดูเรามาครับ ไม่ใช่ว่า จะทำกิจของตนคือเรียนหนังสือ หรือ ทำงานของตนเท่านั้นครับ
จักดำรงวงศ์ตระกูล การดำรงวงศ์ตระกูลของบุตร คือ การประพฤติปฏิบัตนเป็นคนดี รักษาวงศ์ตระกูล เมื่อเป็นคนดี รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ย่อมรักษา ทรัพย์สิน เงินทองของบิดา มารดา ไม่ทำให้ทรัพย์สิน เงินทองของท่านให้พินาศ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะนั่นเป็นทรัพย์สมบัติของท่านที่หามาได้ด้วยแรงกายแรงใจของท่านครับ การไม่ตั้งใจเรียน เกเร ก็ย่อมชื่อว่าไม่รักษาวงศ์ตระกูล เมื่อรักษาทรัพย์ได้ รู้จักปฏิบัตตนให้เหมาะสมตั้งใจเรียน ไม่เกเร ก็ชื่อว่ารักษาวงศ์ตระกูลได้ ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสียหาย ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินครับ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัตตนไม่ดี ก็ทำลายวงศ์ตระกุล ทั้งชื่อเสียง คำว่าร้ายจากคนอื่นที่มีต่อ บิดา มารดาและวงศ์ตระกูลเรา
การรักษาวงศ์ตระกูลที่ประเสริฐสูงสุด คือ ให้บิดา มารดา ออกจากวงศ์คือ อธรรม คือความไม่ดี ออกจากอกุศล มีความเห็นผิด ให้ตั้งอยู่ในวงศ์คือ วงศ์ของธรรม วงศ์ของความดี ที่ถูกด้วยการให้ความเข้าใจพระธรรม ชื่อว่าเป็นบุตรที่ดำรงศ์วงศ์ตระกูลไว้ได้อย่างสูงสุดครับ
จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก บุตรที่ทำตัวไม่ดี หรือ ไม่กตัญญูบิดามารดา ก็ไม่ชื่อว่าสมควรรับมรดาจาก บิดา มารดา แต่การทำตนเป็นคนดี ตั้งใจเรียน ไม่เกเร รู้จักใช้จ่าย เป็นต้น ชื่อว่าเป็นผู้สมควรรับมรดกจากมารดา บิดาครับ
เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ผู้เป็นบุตรที่ดี คือ ต้องมีความกตัญญูรู้คุณของท่านไม่ว่าท่านจะมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว เพราะเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็คือ การทำบุญและอุทิศส่วนกุศลไปให้ เพราะสัตว์ที่จากโลกนี้ไปแล้ว หากอยู่ในฐานะที่เป็นเปรต อาหารของสัตว์เหล่านั้น คือ การอุทิศส่วนกุศลของเหล่าญาติครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ
กตัญญู กับ อกตัญญู [สัจจังกิรชาดก]
บุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย
หน้าที่ของบุตร กับ มารดาบิดา [ทีฆนิกาย สิงคาลกสูตร]
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กตัญญูกตเวทีต่อท่าน เป็นคนดี น้อมประพฤติในสิ่งที่ดี ไม่กระทำเหตุอันใดที่จะเป็นเหตุให้ท่านเดือดร้อนเสียใจ ที่สำคัญที่สุดที่จะเกื้อกูลได้เป็นอย่างดี คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะความดีงามทัั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ถ้ามีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ
ความเข้าใจพระธรรมก็จะกล่อมเกลาจิตใจ ให้ได้น้อมประพฤติในสิ่่งที่ถูกที่ควร มีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดาเป็นต้น เพราะการได้เลี้ยงดูมารดาบิดา กระทำในสิ่งที่ดีให้แก่ท่าน ก็จะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่เลี้ยงดู ไม่ตอบแทน ย่อมเดือดร้อนเสียใจ ในภายหลังอย่างแน่นอน เพราะละเลยสิ่งที่สำคัญที่ควรกระทำไป
เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีทุกเมือที่บุตรธิดาจะได้กระทำสิ่งที่ดีต่อท่าน เพราะความกตัญญูกตเวที บัณฑิตทั้งหลายได้ประพฤติกันมาแล้ว และไม่ใช่จำกัดเฉพาะมารดาบิดาเท่านั้น เมื่อได้รับความอุปการะจากใครก็ควรจได้ระลึกถึงคุณและตอบแทนบุญคุณของผู้นั้น ด้วยการกระทำในสิ่งที่ดีที่ถูก ตอบแทน ดังข้อความจากชาดกที่ได้ยกมาในตอนท้าย นี้ ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านชาดกดังกล่าวได้ที่นี่
บูชาผู้มีคุณ [ขุททกนิกาย ชาดก ติรีตีวัจฉชาดก]
....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ตอบแทนคุณ พ่อ แม่ ทุกๆ ทาง ทุกๆ อย่าง เท่าที่โอกาสและเวลาจะทำได้ ค่ะ