ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๓]
[1] ชีวิตมีสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นกรรม อันจะ เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า
[2] ถ้าท่านผู้ใดจะเห็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล แล้วก็อบรมเจริญกุศลให้มากขึ้น ลดอกุศล ให้น้อยลง ท่านก็ย่อมจะเป็นผู้ที่จะได้รับวิบากของอกุศลกรรมน้อยลงด้วย ตามควรแก่ ปัจจัย
[3] แม้คนเดียวก็ทำกรรมเยอะเหลือเกิน หลายอย่าง ถ้าริษยา เห็นผิดแล้วก็คิดผิด ก็ประพฤติผิดได้มากมายหลายครั้งหลายคราวทีเดียว
[4] ผู้ที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรต การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรตนั้น ก็เป็นกุศล ของผู้กระทำ ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นได้รับผลของบุญ ที่เป็นสุข แล้วก็เป็นเหตุให้ไปสู่ สุคติได้
[5] ทรัพย์สมบัติที่ใช้สอยแล้วหมดไป กับ ทรัพย์ (ภายใน) ที่จะสามารถทำให้เข้าใจ ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อะไรจะนำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจอย่างแท้จริง? ถ้าเป็นผู้ไม่สนใจที่เข้าใจความจริง ผู้นั้นก็จะไม่ฟังพระธรรมเลย
[6] การที่จะเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้น จะขาดการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ได้เลย
[7] การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และได้มีความเข้าใจ ถูกเห็นถูก ก็ย่อมเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐกว่าทรัพย์ใดๆ เพราะว่าทรัพย์ที่กล่าวถึงนี้เป็น ทรัพย์ที่ประเสริฐสามารถนำไปสู่ความสงบจากอกุศล จนกระทั่งถึงที่สุดคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
[8] แต่ละคนก็แต่ละอัธยาศัย เราต้องอยู่ร่วมกับคนมากมายหลายอุปนิสัย แล้วเราจะไป กังวลอะไรกับการที่จะไปแก้ไขคนอื่น?
[9] ถ้าเราสามารถจะเข้าใจทุกคนได้ว่าไม่มีใครเลยที่อยากจะเป็นคนไม่ดี หรืออยากจะ โกรธ หรืออยากจะมีกาย วาจา ที่ไม่ดี แต่ทุกอย่างที่เกิด เป็นการสะสม ถ้าเราระลึก ถึงธรรมและรู้ความจริง เราก็จะรู้ว่า แท้ที่จริง ก็คือ ทั้งหมดจะเป็นมิตร หรือเป็นศัตรู หรือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็เพียงชั่วขณะที่เห็น แล้วก็เกิดความคิดเห็นต่างๆ แล้วแท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูปทั้งหมด แล้วก็ใส่ชื่อเข้าไป โลภะเกิด เราก็ใส่ชื่อคนโน้นคนนี้ แต่ ความจริงลักษณะของโลภะเกิดกับใครก็เป็นโลภะ ก็ควรที่เห็นโลภะ แทนที่จะเห็นคนนั้น คนนี้
[10] มีการกระทำของหลายๆ คน ทางกาย ทางวาจา ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะขุ่นเคือง แต่ถ้ารู้่ว่าก็เป็นเพียงจิต เจตสิกรูป ชั่วขณะแล้วก็ดับหมด ก็คงจะไม่หวั่นไหว
[11] จิตเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องทำกิจหน้าที่ ไม่เคยหยุดทำงานเลย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ
[11] ไม่มีเราที่เกิด แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม ถ้าไม่มีจิตสักขณะเดียว ก็จะไม่มีชีวิต
[12] อวิชชาปกปิดไม่ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
[13] เพราะมีการได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่ออะไรปรากฏ สติปัญญาก็สามารถระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้
[14] ตามความเป็นจริงแล้ว จิตเกิดขึ้นทำกิจเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น เช่น จิตเห็น ก็ทำกิจเห็น เป็นต้น
[15] ค่อยๆ ลอกความเป็นเราออกได้ โดยอาศัยหนทางเดียวเท่านั้น คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ
[16] ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะทำให้เกิดในสุคติภูมิไม่ได้เลย ถึงไม่รู้ สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่น จิต เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องทำกิจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นจิตของคนหรือของสัตว์ดิรัจฉาน ความจริงก็ต้องเป็น อย่างนี้
[17] กรรม มีหลากหลาย ผลของกรรมจึงมีหลากหลายไปด้วย
[18] เจตนาเบียดเบียนคนอื่น ดีไหม? ไม่ดีอย่างแน่นอน
[19] บางคนอาจจะเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนว่า อกุศล ดี ก็ได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ความจริง เป็นความจริง อกุศล จะดีไม่ได้เลย
[20] ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เราอยากจะไปรู้ชื่อเยอะๆ แต่เป็นการค่อยๆ สะสม ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย
[21] กุศลกรรมจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่ได้ อกุศลกรรม จะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ดี ก็ไม่ได้
[22] ความเป็นผู้ได้เข้าใจความจริงในเหตุในผล เช่น ในเรื่องของกุศล อกุศล วิบาก ก็จะเป็นเหตุให้มีความมั่งคงในการที่จะไม่กระทำอกุศลกรรม ละเว้นอกุศลกรรม และ เพิ่มพูนในการสะสมความดีเพิ่มขึ้น
[23] ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะทำไม่ได้ ทำไม่ได้ตั้งแต่เกิดมาแล้ว ปฏิสนธิจิต ใคร ก็ทำให้เกิดไม่ได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย
[24] ทุกคนมีเห็น แต่เข้าใจหรือยังว่า เห็นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ก่อนจิตเห็น มีจิต แต่ไม่เห็น (เพราะก่อนเห็น ต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิต เกิดก่อน) ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจความเป็นจริงของธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
[25] ชื่อของธรรมจำได้ไม่ยาก แต่ต้องเข้าใจให้ถูกว่าชื่อนั้นหมายถึงอะไร โดยไม่สับสน สงบ ไม่ใช่อยู่ที่การอยู่คนเดียว ไม่ใช่การอยู่ในสถานที่หนึ่งสถานที่ใด แต่อยู่ที่จิต ในขณะที่เป็นกุศล เพราะในขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
[26] ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะค่อยๆ ชำระล้างสิ่งสกปรก (อกุศล) ออกไป
[27] ถ้าแต่ละคนเป็นคนดี ดียิ่งขึ้น ส่วนรวมก็ปลอดภัย
[28] ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลนี้แหละ ที่จะช่วยไม่ให้ อกุศลเกิดขึ้น
[29] ถ้าเราฟังคนเขาคุยกันแล้วก็เต็มไปด้วยโทสะ ใจของเราพลอยเป็นโทสะไปด้วยหรือ เปล่า หรือว่าขณะนั้นเกิดกุศลได้? เขาโกรธคนนั้นมากเลยเพราะทำไม่ดี โกรธกันทั้ง บ้านทั้งเมือง ใจของเราเมตตาคนที่ผู้อื่นโกรธหรือเปล่า? นี้คือ ความละเอียด
[30] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ตามความเป็นจริงว่าอกุศลเป็นอกุศล และไม่ทรงสนับสนุน ให้คนเกิดอกุศลแม้เพียงบางเบา
(ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกันทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อความธรรม ด้วยนะครับ)
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความย้อนหลังครั้งที่ ๑๐๒ ได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ
- จิตของมนุษย์นั้นไซร้ยากแท้หยั่งถึง ไม่มีใครสามารถทราบจิตของคนอื่นได้จริงๆ มีแต่ตนเองเท่านั้น ที่จะรู้สภาพจิตของตนเอง การกระทำดีของแต่ละคน แม้ภาพ ภายนอกจะดูว่าผู้นั้นเป็นคนดี แต่เราจะรู้จิตใจที่แท้จริงของเขาหรือไม่ เราไม่สามารถ ทราบสภาพจิตที่แท้จริงของใครได้ แต่เราสามารถทราบสภาพจิตของเราเองว่าการ ที่เราทำดีกับผู้อื่น เป็นเพราะหวังผลอะไรหรือไม่
- ที่ต้องยอมรับ คือ ปัญญาที่สั่งสมมามีน้อย ยังไม่มีกำลังพอที่จะดับกิเลส เป็น เพียงปัญญาที่ปลุกให้ตื่นจากการหลับไหลในความมืดมานาน แต่ยังอยู่ในความมืด อยู่ ให้เพียงรู้สึกตัวว่า กิเลสยังมีอยู่ ไม่ใช่ธรรมดา แต่อย่างเหนียวแน่นทีเดียว และก็ยังมีปัจจัยให้เกิดได้ ยังมีปัจจัยให้หลงคิดผิดว่ายังมี "ตัวเรา" อยู่บ่อยๆ ได้
- การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน (ลาภ ยศ สรรเสริญ) เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะขณะที่ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นเป็นขณะที่กุศลจิตมีกำลัง กุศล กรรมในขณะนั้นทำให้อกุศลกรรมระงับไป ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นพิจารณาจิตของตน ว่าในแต่ละวันจิตเป็นอกุศลหรือกุศลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นการเจริญกุศลอย่างยิ่ง ประการหนึ่ง อีกทั้งเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขความเจริญทั้งในชาติปัจจุบันและ ชาติต่อๆ ไป
- ควรตั้งจิตไว้ชอบ คือ ทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อประโยชน์ของ ผู้อื่นโดยแท้ ไม่หวังแม้คำชมหรือคำสรรเสริญ เพื่อเป็นการเจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
- วัตถุประสงค์หลักของพระพุทธศาสนาที่สอนให้สร้างบุญกุศลทุกๆ อย่างเพื่อการ ขัดเกลากิเลสต่างๆ ส่วนอานิสงฆ์เป็นผลพลอยได้ มิใช่เน้นการสร้างกุศลเพื่อให้ได้ ให้ติด ในอารมณ์ที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไปเพราะมีแต่จะทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่ ในวังวนแห่งกองทุกข์
- พระพุทธศาสนา ได้แก่ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธบริษัทจะรักษาและปกป้องพระพุทธศาสนา ก็ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระองค์ทรงสอนให้สาวกรู้อะไร เมื่อศึกษาเข้าใจ ควรน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน จึงชื่อว่าช่วยกันรักษามิให้เสื่อมสูญ และปกป้องมิให้ใครมาบิดเบือนคำสอนว่าเป็นอย่างอื่น เป็นเหมือนสัทธรรมปฏิรูป พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุแห่งการเสื่อมสูญของพระศาสนาไว้ว่า ศาสนาจะเสื่อม สูญเพราะพุทธบริษัท ๔ เท่านั้นบุคคลภายนอกไม่สามารถทำลายคำสอนได้ นัย ตรงกันข้าม พระพุทธศาสนาจะเจริญก็อยู่ที่พุทธบริษัทเท่านั้น คือ จะเจริญ ด้วยการศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม ฉะนั้น การปกป้องรักษาพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่อยู่ที่เราศึกษาและเข้าใจคำสอนย่อมอยู่ที่ใจของเรา ผู้อื่นไม่สามารถทำลายได้
ขออนุโมทนา ครับ