สติปัฏฐาน คืออะไร เกิดได้อย่างไร

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  15 ส.ค. 2556
หมายเลข  23379
อ่าน  4,440

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนขอคำอธิบายเกี่ยวกับ "สติปัฏฐาน" ค่ะ

- สติปัฏฐานคืออะไร เป็นอย่างไร ประกอบด้วยสภาพธรรมใดบ้าง

- สติปัฏฐานเกิดได้อย่างไร ลำดับการเกิดของสติ เหตุที่ทำให้เกิดสติปัฏฐาน

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในความอนุเคราะห์นะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐาน คือ อะไร

สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นการเจริญวิปัสสนา

สติปัฏฐาน ประกอบด้วยสภาพธรรม อะไรบ้าง

สติปัฏฐาน ก็ไม่พ้นจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ เจตสิกอื่นๆ อีกมายมาย ดังนั้น ก็ประกอบด้วยสภาพธรรมที่เป็น จิต ที่เป็นใหญ่ในการรู้ และประกอบด้วยเจตสิก อย่างน้อย ๑๙ ดวง ที่เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก และประกอบด้วย สัพพจิตสาธารณะเจตสิก อีก ๗ ดวง และ ปกิณณกเจตสิก และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปัญญา ที่เป็นอโมหเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่รู้เห็นตามความเป็นจริง ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

-โสภณสาธารณเจตสิก

-สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

-ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง


สติปัฏฐานเกิดได้อย่างไร

สติปัฏฐาน เป็นปัญญาภาวนา ขั้นวิปัสสนา ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในเรื่องของสภาพธรรม และ ฟังจนเป็นสัจจญาณ มั่นคงจริงๆ ก็จะทำให้คิด พิจารณาในเรื่องสภาพธรรม จนเมื่อปัญญาถึงพร้อมก็เกิดกิจจญาณ คือ สติปัฏฐานเกิด เพราะปัญญาขั้นการฟังแก่กล้า มีกำลังแล้ว จนเป็นเหตุให้เกิด สติปัฏฐาน ครับ


ลำดับการเกิดของสติ

ก็มีตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์


จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงถึง เหตุให้เกิดสติปัฏฐานเป็นลำดับ สำคัญ คือการคบสัตบุรุษ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็มีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็ ขณะที่ฟังธรรม ขณะนั้น ก็กำลังคบสัตบุรุษ และ อาศัยการฟังธรรม ย่อมเกิดศรัทธา เกิดการพิจารณาโดยแยบคาย และ เกิดสติและปัญญา พิจารณาถูกต้อง จนถึง เกิด สติปัฏฐาน ครับ

อย่างไรก็ดี ขออธิบาย การเป็นลำดับ แต่ละข้อ เพือ่ความเข้าใจถูก ดังนี้ ครับ

การคบสัปบุรุษ เป็นอาหารของ การได้ฟังพระสัทธรรม

โดยมาก เป็นที่เข้าใจว่า ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงทำให้ปัญญาเจริญขึ้น อันเป็นพื้นฐาน เบื้องต้น แต่ การฟังพระรรม ศึกษาพระธรรม จะมีไม่ได้เลยหากขาดอาหาร หรือ เหตุปัจจัยที่จะได้ฟัง คือ การได้คบสัตบุรุษ คือ ผู้ที่เข้าใจธรรมอันมี พระพุทธเจ้า เป็นต้น เป็นสัตบุรุษสูงสุด หากไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ก็จะไม่มีพระธรรมให้ได้ฟัง ได้ศึกษาเลยครับ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ก็กล่าวว่ามีอาหาร คือ มีเหตุที่จะได้ฟัง เพราะอาศัยการได้คบสัตบุรุษ จึงทำให้ได้ฟังพระธรรม

การได้ฟังพระสัทธรรม เป็นอาหารของศรัทธา

และกุศลประการต่างๆ คือ ความมีศรัทธาจะเกิดไม่ได้เลย ความน้อมใจเชื่อในพระรัตนตรัย เกิดขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น อาหารหรือ เหตุให้มีศรัทธา หรือ ศรัทธาที่มีอยู่แล้ว เจริญมากขึ้นอีก ก็ด้วยการฟังพระธรรม การฟังพระธรรมจึงเป็นอาหาร หรือ เหตุให้เกิดศรัทธาและทำให้ศรัทธาเจริญมากขึ้น ครับ

ศรัทธา เป็นอาหารของ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจคำว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือ โยนิโสมนสิการ หรือมนสิการเจตสิก ซึ่ง การพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ครับ แต่เป็นการใส่ใจด้วยดี ชื่อว่าแยบคาย ซึ่งขณะที่เป็นกุศล ชื่อว่า แยบคายแล้วในขณะนั้น เพราะกุศลจิตทุกดวงทีเกิดขึ้น จะต้องมีโยนิโสมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ครับ

ซึ่งในพระสูตรอื่นๆ ได้แสดงถึง ลักษณะของศรัทธา ว่าเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ทำให้กุศลประการต่างๆ เกิดขึ้นครับ เพราะมีศรัทธา จึงให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกุศลธรรมทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อมีศรัทธา ทำให้กุศลประการต่างๆ เจริญ ขณะที่กุศลเกิด ประการต่างๆ เจริญ ขณะนั้น มีโยนิโสมนสิการ การใส่ใจด้วยดี พิจารณาโดยแยบคายในขณะนั้นด้วยครับ เพราะโยนิโสมนสิการเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภท ครับ แต่ขณะที่โยนิโสมนสิการเกิด ไม่ได้หมายถึงปัญญาที่เห็นถูกในขณะนั้น เพราะ ปัญญาเจตสิก กับ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เจตสิกเดียวกันครับ

การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ

หนทางนี้ เพื่อถึง วิชชาและวิมุตติ ดังนั้น สติสัมปชัญญะย่อมเป็นไปในการเจริญ อบรมวิปัสสนา คือ สติ สัมปชัญญะ ในสติปัฏฐาน ๔ เพราะคำว่า สติสัมปชัญญะ (ปัญญา) จะใช้กับการเจริญ สมถภาวนา และ เจริญวิปัสสนา ไม่ใช้กับปัญญาขั้นการฟัง ซึ่งถ้าเป็นสติ สัมปชัญญะขั้นสมถภาวนา ไม่ถึงการหลุดพ้นได้เลย แต่จะต้องเป็นสติ สัมปชัญญะ ขั้น วิปัสสนาเท่านั้นครับ คือสติปัฏฐานเกิดนั่นเอง ครับ

สติสัมปชัญญะ เป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์

สติ สัมปชัญญะเป็นเหตุให้ การสำรวมอินทรีย์ บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ คือการสำรวมทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้เป็นอกุศล ในขณะทีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่จะไม่เป็นอกุศลได้อย่างไร ก็ด้วยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามควาเมป็นจริงในขณะนั้น ซึ่ง ขณะที่รู้ความจริง อกุศลไม่เกิดทางทวารตา ... ใจ ชื่อว่า สำรวมอินทรีย์อยู่ แต่การสำรวมอินทรีย์จะมีไม่ได้เลย หากขาด สติ และปัญญา (สัมปชัญญะ) ครับ ดังนั้น ความเป็นเหตุปัจจัย ของ สติ สัมปชัญญะ กับ การสำรวมอินทรีย์ โดยนัยเกิดพร้อมกันครับ ที่เป็น สหชาตปัจจัย คือ เพราะ มีสติสัมปชัญญะเกิด (สติและปัญญา) ขณะนั้น ก็สำรวมอินทรีย์ คือ รู้ความจริงด้วยปัญญา (สัมปชัญญะ) และ สติระลึกรู้อารมณ์นั้นที่กำลังปรากฎ ครับ ดังนั้น การสำรวมอินทรีย์ ก็คือ อินทรียสังวรนั่นเองครับ และ เป็นสติปัฏฐานด้วยในขณะนั้นครับขณะที่สติปัฏฐานเกิด ชื่อว่า สำรวมอินทรีย์ และ มีสติสัมปัชัญญะ จึงเป็นเหตุของกันและกัน โดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้นครับ

สุจริต ๓ เป็น อาหารของสติปัฏฐาน ๔

ธรรมของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัยครับ แม้แต่เหตุให้สติปัฏฐานเจริญบริบูรณ์ สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิด อันเป็นปัจจัยต่างขณะ โดยไม่ได้เกิดพร้อมกัน ครับ เพราะอาศัย ความจำที่เกิดความเข้าใจขั้นการฟัง คือ ปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาเจตสิก เกิดพร้อมกับ สัญญาเจตสิกที่จำถูก เมื่อมีมากขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด แต่การจะทำให้บริบูรณ์ดังพระสูตรนี้ จะต้องอาศัย ธรรมอื่นๆ ด้วย ก็นับเนื่องต่อเนื่องกันไป โดยเป็นเหตุปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน ตั้งแต่การมีสติ สัมปชัญญะ การสำรวมอินทรีย์ และมีสุจริต ๓ ซึ่ง ขณะที่สำรวมอินทรีย์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นไปในทางทวาร ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร เช่น ขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยที่กาย และวาจาไม่ไหวไป เป็นมโนสุจริต ในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน สติปัฏฐานเกิดอยู่แล้วในขณะนั้นครับเพราะใจสุจริต ด้วยสติ สัมปชัญญะ ด้วยปัญญา ทำให้สติปัฏฐาน บริบูรณ์และเจริญขึ้น หากใจไม่สุจริตด้วยสติและปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะทำให้ สติปัฏฐานบริบูรณ์ได้เลย ครับ และขณะที่พูดด้วยการปรารภวิปัสสนา หรือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะที่พูด ก็ชื่อว่า เป็น วจีสุจริตในขณะนั้นที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานด้วย และขณะที่งดเว้นจากบาปทาง กาย และทางวาจา ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นกายสุจริต วจีสุจริต ทีเกิดพร้อมสติปัฏฐาน อันทำให้ สติปัฏฐานบริบูรณ์ โดยการเกิดพร้อมกันครับ ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจว่า เป็นเหตุปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้น คือ ขณะที่สำรวมอินทรีย์ เป็นมโนสุจริตด้วย และสติปัฏฐานก็เกิดในขณะนั้นนั่นเอง ครับ

ซึ่ง ต้องเข้าใจว่า ไม่มีเราที่จะทำไปตามลำดับ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งอาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรมเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็ทำให้ปรุงแต่งให้เกิด สภาพธรรมอื่นๆ ตามลำดับเอง จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดเอง ครับ


เหตุที่ทำให้เกิดสติปัฏฐาน

เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน คือ สัญญาที่มั่นคง ความจำ หรือ สัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล สัญญา ความจำ ต้องเกิดด้วยเสมอดังนั้นตามปกติ ในชีวิตประจำวัน กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นมาก ก็ต้องเป็นอกุศล ดังนั้น สัญญาความจำตามปกติในวันๆ หนึ่ง ก็จำผิด จำด้วยความเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นความจำที่มั่นคงในทางที่ผิด ซึ่งไม่ใช่เหตุให้เกิดสติปัฏฐานแน่นอนครับ แต่การจำที่มั่นคงที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดนั้น คือขณะที่ฟังเข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะ ว่า ธรรมคืออะไร อยู่ในขณะไหน ขณะที่เข้าใจขณะที่ฟัง ก็มีสัญญา ความจำเกิดด้วย ขณะที่เข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะที่กำลังฟังขณะนั้นก็เริ่มสะสม การจำถูก (เพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย) จำว่าเป็นธรรมเท่านั้น ในขณะนี้ (แม้ขั้นการฟัง) ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่น ฟังจนเข้าใจ จนเหตุปัจจัยพร้อมความจำที่มั่นคง อันเนื่องมาจากการฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น (สติขั้นสติปัฏฐาน) ระลึกสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราตรงตามสภาพธัมมะที่กำลังปรากฏโดยไม่ใช่ขั้นคิดนึกและขั้นการฟังครับ แต่ที่สำคัญ ความจำหรือสัญญาที่มั่นคง ที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ต้องจำถูกในเรื่องสภาพธัมมะ โดยมีปัญญาเกิดร่วมด้วย กับสํญญานั้น จึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสััมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งสำคัญ คือ การมีโอกาสไดัฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งมีจริงๆ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม การสะสมความเข้าใจตั้งแต่ต้นจะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องได้ เพราะเรื่องของสติปัฏฐานนั้นเป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดี มีสติและปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง

สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และ ด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็มีจริง แต่ต้องเป็นหนทางแห่งปัญญา

เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แม้ว่าจะมีสภาพธรรมที่มีจริง ก็ไม่สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้เลย ย่อมไม่มีเหตุที่จะให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นได้เลย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ก่อนจะถึง ... สติปัฏฐาน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ผู้ที่จะมีปัญญาก็ต้องเริ่มจากการมีอาจารย์ที่มีคุณธรรม มีความรู้แตกฉานในธรรม อาศัยการฟังธรรม การพิจารณาธรรม จึงจะเข้าใจ และเข้าถึงสติปัฏฐานได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านที่ให้ปัญญาและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 16 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 17 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 18 ส.ค. 2556

ขอกราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 18 ส.ค. 2556

ขอกราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 18 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Thanapolb
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Sea
วันที่ 6 มี.ค. 2565

ผู้ที่จะมีปัญญาก็ต้องเริ่มจากการมีอาจารย์ที่มีคุณธรรม มีความรู้แตกฉานในธรรม อาศัยการฟังธรรม การพิจารณาธรรม จึงจะเข้าใจ และเข้าถึงสติปัฏฐานได้ ค่ะ


กราบขอบพระคุณพี่วรรณี และอ.ทั้ง 2 ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 1 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Wiyada
วันที่ 1 มี.ค. 2566

ฟังเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่เพราะรู้ว่าการฟังนี่แหละทำให้เราเข้าใจมากขึ้น จึงไม่ละเลยการฟัง ฟังทุกวันที่มีโอกาส ฟังไปคิดไปพิจารณาไป ฟังจนแม้ในขณะที่กำลังทำกิจวัตรประจำวันอยู่ก็คิดถึงพระธรรมที่ได้ฟังได้ ฟังจนเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม จนละคลายความคิดว่าเป็นเรา จึงจะเข้าใจคำว่าสติ สติปัฏฐาน เจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อปัญญาเกิดก็จะรู้ได้เองว่า สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ ควรคิดหรือไม่ควรคิด ควรพูดหรือไม่ควรพูด และก็จะหวั่นไหวไปกับเรื่องราวหรือบุคคลอื่นน้อยลงเพราะเข้าใจว่าเป็นธรรม ต้องมีปัจจัยให้ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นไม่มีใครทำให้เกิด

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ