เคยได้ยินคำว่า ภพน้อย ภพใหญ่

 
govit2553
วันที่  15 ส.ค. 2556
หมายเลข  23380
อ่าน  5,057

อยากทราบว่า ภพน้อย หมายถึงอะไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมมีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่คำว่า ภพน้อย ภพใหญ่ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ

ความหมายของคำว่า ภพ คือ อะไร

คำว่า ภพ มาจากภาษาบาลีว่า ภว (ว่าโดยศัพท์แล้ว มีหลายความหมาย หมายถึง

ความมีความเป็น , ความเจริญ, ความเกิดขึ้นเป็นไป)

ภพ หมายถึงสถานที่เกิดของหมู่สัตว์ มี ๓๑ ภพภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑

สวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหมภูมิ ๑๖ อรูปพรหมภูมิ ๔ หรือหมายถึงความบังเกิดขึ้นเป็นบุคคล

ต่างๆ และ ในบางแห่งเช่น ภพ ในปฏิจจสมุปบาท ภพมี ๒ ความหมายคือ กรรมภพ

หมายถึง เจตนาเจตสิก (อกุศลเจตนา โลกิยกุศลเจตนา) และอุปปัตติภพ หมายถึง

ผลของเจตนา (โลกิยวิบาก รวมทั้งเจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป) ด้วย ในอรรถกถา

โลกสูตร แสดงไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นภพใดๆ ก็ตาม ไม่พ้นไปจากขันธ์ คือ ความเป็น

สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป.

ซึ่ง ก็ขออธิบาย คำว่า ภพน้อย ภพใหญ่ จากคำอธิบายในพระไตรปิฎก แสดง

ความหมายของคำว่า ภพน้อย ภพใหญ่ว่า เมื่อกล่าวภึงคำว่า ภพน้อย ภพใหญ่ เป็น

การแสดงอาการของการเกิด ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด ติดต่อกันไป นี่ก็เป็นความหมาย

ประการแรกของภพน้อย ภพใหญ่

ควาหมายที่สอง ภพน้อย ภพใหญ่ หมายถึง ภพน้อย ที่เป็นที่อยู่ของสัตว์โลก คือ

อบายภูมิ ชื่อว่า ภพน้อย ส่วน สุคติภูมิ มี มนุษย์ สวรรค์ รูปพรหม เป็นต้น ชื่อว่า

ภพใหญ่

ความหมายที่สาม ภพน้อย ภพใหญ่ หมายถึง ภพน้อยที่เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ ที่

เกิดในกามภพ ที่เป็น อบายภูมิ 4 มี นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์

และ เทวดา 6 ชั้น เป็น ภพน้อย ที่เป็นกามภพ และ ภพใหญ่ หมายถึง รูปพรหม

อรูปพรหม คือ พรหมบุคคล และ อรูปพรหม ครับ

ความหมายที่ 4 ภพน้อย ภพใหญ่ หมายถึง ภพภูมิของจิต กามมาวจรจิต ชื่อว่า

ภพน้อย เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ส่วน รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต

เป็นภพใหญ่ ใหญ่ ด้วยสภาพจิต ครับ

จะเห็นถึงความละเอียดของสภาพธรรม ที่เป็นภพน้อย ภพใหญ่ และ คำว่า ภพ

ซึ่ง ในความเป็นจริง ภพ ย่อมไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป

เลย จากที่เคยได้ยินคำว่า แล่นไปสู่ภพน้อย ภพใหญ่ ก็คือ กล่าวโดยสมมติ คือ

สัตว์เกิดและตายเปลี่ยนไปในภพภูมิต่างๆ แต่ แท้ที่จริง คือ เป็นจิต เจตสิก ที่เกิด

ดับ สืบต่อกัน ไปในภพน้อย ภพใหญ่ ทั้ง กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ เป็นต้น ครับ

ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่มีจริง คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน

และ การที่มีสัตว์ บุคคล มี สวรรค์ นรก มีสิ่งต่างๆ เพราะ อาศัยการเกิดเป็นไปของ

สภาพธรรม เพราะฉะนั้น มี ปรมัตถ์เกิดขึ้น จึงมีบัญญัติเรื่องราว ดังนั้น คำว่า ภพ จึง

หมายถึง ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ทั้งที่เป็น จิต เจตสิกและรูปด้วย

อย่างเช่น ภพ คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตที่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าภพ และแม้ที่อยู่

ของสัตว์โลก ที่เป็นรูปธรรม ก็ชื่อว่า ภพ เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม

ซึ่ง ภพ ยังแบ่งเป็นอีกหลายนัยดังนี้ ครับ

1.สัมปัตติภพ

2.สมบัติสมภพ

3.วิปัตติภพ

4.วิปัตติสมภพ

สัมปปัติภพ คือ สุคติโลกสวรรค์

สมบัติสมภพ หมายถึง กรรมดีที่เป็นกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดในสุคติ

วิปัตติภพ คือ อบายภูมิ มี นรก เป็นต้น

วิปัตติสมภพ คือ อกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ

จากที่กล่าวจะเห็นได้ครับว่า ภพ แสดงถึง ความมี ความเป็น ของสภาพธรรมที่

เป็นจิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น โดยมากเราจะคิดถึงภพ ที่หมายถึง

ภพนี้ คือ ที่อยู่ของหมู่สัตว์เท่านั้น ภพหน้า ก็เป็นเทวโลก นรก เป็นต้น แต่ในความ

เป็นจริง กุศลกรรมที่กำลังทำอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นภพแล้ว ที่จะทำให้เกิดในภพภูมิที่เป็น

ที่อยู่ของหมู่สัตว์ที่ดี และ การทำชั่ว อกุศลกรรม ก็เป็นภพในขณะนั้น ที่จะทำให้เกิด

ในอบายภูมิ เป็นภพหน้าที่ไม่ดีได้ แต่เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว การเกิดขึ้นเป็นไปของ

สภาพธรรมในขณะนี้ ก็เป็นการแสดงถึงความมี ความเป็น ของใคร ไม่ใช่ของสัตว์

บุคคล แต่เป็นการแสดงถึงความมี ความเป็นของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา อยู่แต่ละ

ขณะจิต ดังนั้น ผู้ที่จะไม่มีภพเลยจริงๆ แม้ในภพนี้ คือ สภาพธรรมในขณะนี้ คือ

พระอรหันต์ผู้ที่ปรินิพพาน ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม อันแสดงว่ายังมี ยัง

เป็น ยังมีภพอยู่ ครับ เพราะฉะนั้น กำลังมีภพกันอยู่ และตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็

ยังจะต้องมีภพหน้า ที่หมายถึง ขณะจิตต่อๆ ไป ไม่ใช่เพียงความหมายที่ยาวไกลที่

เป็นภพหน้า มี นรก สวรรค์เท่านั้น ขณะจิตที่เกิดต่อๆ ไป ก็เป็นภพหน้าอยู่ ดังนั้น การ

จะดับภพ ดับการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นไป ก็ด้วยการดับเหตุ คือ กิเลสที่เป็น

ต้นเหตุให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม มีภพไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ซึ่งก็ต้องอาศัยการ

ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมค่อยๆ ละกิเลสไปตามลำดับ

จนถึงการไม่มีภพในที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องภพแล้ว จึงย้อนกลับมาที่ตนเอง

ว่าตนเอง เป็นผู้ประกอบ สมบัติสมภพ คือ กรรมดีที่เป็นให้เกิดสุคติ หรือว่าประกอบ

วิปัตติสมภพ ที่เป็นกรรมชั่ว ที่ทำให้เกิดในอบาย เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จึง

อบรมเหตุที่จะทำให้ สมบัติสมภพ กุศลกรรมเจริญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษา

พระธรรม

ดังนั้น ผู้ที่ยังท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ ที่เรียกว่า ภพน้อย ภพใหญ่ เพราะ อาศัย

กิเลส ตัณหา อวิชชา จึงมีเหตุของการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เรียกว่า ภพ มีการเกิด

อุบัติในภพภูมิต่างๆ ที่เรียกว่า ภพน้อย ภพใหญ่ เพราะฉะนั้น หนทาง ดับภพน้อย

ภพใหญ่ ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญา และ เจริญกุศลทกุๆ ประการ ที่เป็น

บารมี เพื่อถึงการดับกิเลส อันเป็นหนทางการละภพน้อย ภพใหญ่ คือ ไม่มีการเกิด

อีกเลย ครับ ขออนุโมทนา

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์เพิ่มเติมในเรื่องภพ ครับ

ภพ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ภว” ความมี หรือความเป็น ขณะนี้ก็เป็นความมีความเป็น เพราะเหตุว่าเรากำลังอยู่ในที่นี่ เพราะฉะนั้นก็เป็นภพหนึ่งหรือชาติหนึ่ง แต่ละขณะๆ ซึ่งไม่สูญไปเลย จะพูดว่าแต่ละขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็มีภาวะหรือมีความเป็น ขณะนี้กำลังเป็นภาวะของบุคคลนี้ ก็เห็น ก็ได้ยิน ก็คิดนึกอย่างนี้ แต่พอพ้นภาวะนี้ไปสู่ภาวะอื่น หลังจากตาย ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพไหน ภูมิไหน อาจจะเป็นภูมิอื่น หรืออาจจะเป็นภูมิเก่านี่ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่คนเก่า ก็ต้องเป็นคนใหม่ ทุกๆ ขณะ คือ สภาพความมี ความเป็น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างแท้จริง

เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่า ภพน้อย ภพใหญ่

ก็มีความละเอียดหลากหลายนัย เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภพใดๆ

ก็ตาม ไม่พ้นไปจากขันธ์ คือ ความเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป

เป็นความจริงที่ว่า ทุกคนที่ยังเป็นผู้มีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ตัณหา และ อวิชชา ก็ยังต้องมีการเกิดในภพต่างๆ อยู่ร่ำไป

เป็นผู้เดินทางในสังสารวัฏฏ์ จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ซึ่งเป็นอย่างนี้มา

นานแล้ว เนื่องจากว่าเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เป็นมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง

และในชาตินี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ต้องเกิดในภพใหม่อีก ขึ้นอยู่กับว่ากรรมใด

จะให้ผล กล่าวคือ ถ้ากรรมดีให้ผล ก็ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือ เกิดเป็นเทวดา

แต่ถ้าถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผลก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถึงแม้จะเกิดเป็น

อะไรก็ตาม ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ต้องเดินทางต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ เพราะบุคคล

ผู้ที่ไม่ต้องเกิดอีก ไม่ต้องเดินทางในสังสารวัฏฏ์ ไม่ต้องเกิดในภพน้อยภพใหญ่อีก

มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ พระอรหันต์

เป็นที่น่าพิจารณาจริงๆ ว่า การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น ไม่ยั่งยืนเลย

สั้นมาก เกิดมาในแต่ภพแต่ละชาติ ก็ต้องสิ้นสุดที่ความตายทั้งนั้น แต่เมื่อยัง

ไม่ได้ดับเหตุ คือ กิเลส ก็ต้องเกิดอีกในชาติต่อไป แล้วอะไร คือ ประโยชน์ที่ผู้ที่ยัง

มีการเกิดอยู่ควรจะได้ถือเอา เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจาก การได้สะสมความดีและ

อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกสะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ภพน้อยภพใหญ่ บางครั้งก็เกิดในสวรรค์บ้าง ในทุคติบ้าง ตามกรรมที่

จะให้ผล ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 16 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 16 ส.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
medihealing
วันที่ 17 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 18 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
napachant
วันที่ 21 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ