กัมมวิญญาณ
วิบากจิต
กิริยาจิต
กุศลจิต
อกุศลจิต
..................... กัมมวิญญาณ................ คืออะไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตมีความ
หลากหลาย โดยชาติ คือ การเกิดขึ้นบ้าง โดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกธรรมที่เกิด
ร่วมด้วย บ้าง โดยภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตบ้าง โดยอารมณ์ บ้าง
จิตเกิดขึ้นต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือ
-กิริยาชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นชาติกิริยา เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้ว
ก็ดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า ตัวอย่างขณะจิตที่เป็นชาติกิริยา เช่น
จักขุทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต เป็นต้น
-อกุศลจิต จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ที่จิตเป็นอกุศล ก็เพราะมีเจตสิกฝ่ายที่เป็น
อกุศลเกิดร่วมด้วย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ มานะ มิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น เมื่อว่า
โดยประเภทของอกุศลจิตแล้ว มี ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต
และโมหมูลจิต เป็นจิตที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน
-กุศลจิต จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ที่จิตเป็นกุศล ก็เพราะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เช่น มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วย เป็นการสะสมเหตุที่ดี
ขณะจิตที่เป็นกุศลในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่เป็นไปในการให้ทาน เป็นไปในการ
รักษาศีล เป็นไปในการขวนขวายช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ตลอดจนถึงขณะที่มีการ
ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก
-วิบากจิต จิตเกิดขึ้นเป็นการรับผลของกรรม วิบากจิตในชีวิตประจำวัน เช่น
ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น วิบากจิตทั้งหมด
ต้องเกิดจากเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น
สำหรับกัมมวิญญาณ นั้น ก็คือ จิต นั่นเอง แต่เป็นจิต ที่ประกอบด้วยเจตนา
ซึ่งเป็นกรรม ในอรรถกถาทั้งหลายแสดงไว้ว่า ได้แก่ จิตที่ประกอบด้วยอกุศล
เจตนา (จิตที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตนา ๑๒) และ จิตที่ประกอบด้วยกุศลเจตนา
จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาที่เป็นไปใน
ความดีในชีวิตประจำวัน (มหากุศล ๘) และ กุศลเจตนาในรูปาวจรกุศล
(รูปาวจรกุศล ๕) และอีกประเภทหนึ่งหนึ่ง คือ จิตที่ประกอบด้วยกุศลเจตนา
ที่เป็นไปในอรูปาวจรกุศล (อรูปาวจรกุศล ๔) ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล
คือวิบากจิตในภายหน้า
เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลจิต
กับ กุศลจิต นั่นเอง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...