นิรโทษกรรม

 
JANYAPINPARD
วันที่  21 ส.ค. 2556
หมายเลข  23414
อ่าน  1,802

การนิรโทษกรรม ... การทำไม่ให้มีโทษ กำลังเป็นที่สนใจของสังคมไทย ในพระพุทธศาสนามีหรือไม่..เพราะเหมือนว่าจะมี.เช่นในพระวินัยที่การกระทำความผิด บางอย่างอาจ มีการนิรโทษกรรมได้..


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นิรโทษกรรม คือ การกระทำที่ทำให้ไม่มีโทษ ซึ่งก็มีความหมายละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงสูงสุด

นิรโทษกรรม ในเบื้องต้น หมายถึง การกระทำที่ทำให้ไม่มีโทษ คือ การยกโทษ อดโทษให้ ซึ่งในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เมื่อมีผู้ที่ทำผิดในพระธรรม วินัยของพระพุทธเจ้า และผู้นั้นเกิดจิตสำนึกคือ เห็นโทษนั้นด้วยใจจริง ด้วยกุศลธรรม พระพุทธเจ้าย่อมทรงทราบถึง ความเห็นโทษตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เห็นโทษ จริงๆ พระองค์ก็ย่อมตรัสเตือน และ ทรงยกโทษนั้น คือ โทษที่ ผู้นั้นทำไม่ดี เพื่อ ประโยชน์ให้ผู้ที่ทำผิด สำรวมระวังต่อไป สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 78

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษที่ข้าพระองค์เป็นคนโง่ คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินแล้ว ข้าพระองค์จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงยกโทษแก่ข้าพระองค์ เพื่อสำรวมต่อไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ ความผิดที่ท่านผู้เป็นคน โง่ คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินแล้ว เธอจึงได้กล่าวกะเราอย่างนั้นเพราะเธอเห็นโทษ แล้วจึงยอมรับผิด เรายกโทษแก่เธอ

ผู้ใดเห็นโทษสารภาพโทษตามความ เป็นจริง ถือความสังวรต่อไป นี้เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้า


จากพระสูตร นี้ แสดงถึง ผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษจริงๆ ด้วยใจที่สำนึก ด้วยกุศลจิต พระพุทธเจ้าทรงเห็นเช่นนี้และทรงอดโทษ คือ ยกโทษให้ในการกระทำ ที่ไม่ดีของบุคคลนั้น และตรัสเตือน แสดงให้เห็นโทษของอกุศล และไม่ใช่เพียงเห็น โทษที่ได้ทำไปแล้วเท่านั้น แต่สำคัญที่ว่า เมื่อเห็นโทษแล้ว ก็ควรที่จะสำรวมระวัง ต่อไป คือประพฤติปฏิบัติที่ดี ไม่ควรประพฤติในสิ่งที่เคยปฏิบัติคือ การกระทำที่ไม่ดี อีกด้วยการสำรวมระวัง ด้วยสติและปัญญาเป็นสำคัญ อันจะมีได้ด้วยการศึกษาพระ- ธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญครับ นี่คือความหมายของนิรโทษกรรม เบื้องต้นที่แสดง ถึงการอดโทษ ยกโทษให้ ของผู้ที่ถูกกระทำผิด เป็นการไม่มีโทษซึ่งกันและกัน ใน โทษคืออกุศล

ดังนั้นนิรโทษกรรม โดยนัยนี้ จึงหมายถึง โทษที่เป็นกิเลสอกุศลธรรม อกุศลจิต มีความผูกโกรธ จองเวรด้วยอกุศล เป็นต้น เพราะในความเป็นจริงโทษจริงๆ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล แต่เป็นกิเลส อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในจิตใจขณะนั้น ชื่อว่า มีโทษ การไม่มี โทษต่อกันเป็น การนิรโทษกรรม ก็คือ การไม่ผูกโกรธไม่จองเวร ด้วยอกุศล แต่เป็น การให้อภัยกัน ต่อกันและกันขณะใด ขณะนั้นนิรโทษกรรม คือ เป็นการยกโทษ คือ การไม่มีโทษ คือ อกุศลกิเลส เกิดขึ้นใจขณะนั้นแล้ว ครับ ความให้อภัย เมตตาต่อกัน ในผู้ที่ทำผิด ก็ชื่อว่าเป็น นิรโทษกรรม ต่อกัน และกันนั่นเองครับ นี่คือความหมาย นิรโทษกรรม นัยประการหนึ่ง

นิรโทษกรรม อีกนัยหนึ่ง ตือ การกระทำผิดของพระภิกษุ ในพระวินัยบัญญัติแล้ว เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วแสดงคืน ตามพระธรรมวินัย คือ การปลงอาบัติ ตาม ข้อวินัยที่ล่วง ก็ชื่อว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษต่อข้อวินัยบัญญัติ ที่ได้ล่วงไปแล้ว แต่การจะพ้นอาบัติได้ ไม่ใช่เพียงการทำตามประเพณีที่จะเป็นการปลงอาบัติ แต่จะ ต้องมีใจที่เห็นโทษของกิเลส ที่ได้ทำจริงๆ และ ทำการปลงอาบัติที่ถูกต้อง ก็ถึงจะ พ้นจากการข้อบัญญัติที่ล่วง เป็นกรรมที่ไม่มีโทษ ที่จะขวางสวรรค์และการบรรลุ ธรรม ครับ

นิรโทษกรรม อีกนัยหนึ่ง หมายถึง การกระทำที่ไม่มีโทษ อันพ้นจากกรรมนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาว่า กรรมใดที่ทำแล้วมีโทษ คือ อะไร กรรมคือ เจตนาเจสิก เจตนาที่เป็นความตั้งใจที่เป็นไปในการทำบาป ทำอกุศลชื่อว่า เป็นกรรมที่มีโทษ กรรมใดที่ทำ ถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทุจริต คดโกง ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ มีความ เห็นผิด เป็นต้น ที่เป็นการทำบาป ตราบใดที่ยังมการเกิด การกระทำที่ไม่ดีเหล่านั้น แม้จะขอโทษ อดโทษกับผู้อื่น แม้จะมีการให้อภัยกัน และแม้พระภิกษุ จะปลงอาบัติ แล้ว แต่ถ้ามีการทำบาป ทำกรรมที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรม ที่เป็นธรรมที่มีโทษแล้ว กรรมนั้นย่อมให้ผล ไม่เวลาใด เวลาหนึ่ง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ดังนั้นนิรโทษกรรม คือ กรรมที่ทำให้ไม่มีโทษ ตราบใดที่ยังมีกิเลสแล้ว กรรมที่ทำแล้ว ย่อมไม่ยกโทษ ล้างผิดได้ด้วยกรรมนั้น เพราะ เมื่อทำอกุศลกรรมแล้ว ก็ย่อมให้ผลแน่นอน เมื่อเหตุ ปัจจัยพร้อม

เพราะฉะนั้น การอดโทษ ยกโทษล้างความผิด ด้วยการกระทำสมมติ ของชาวโลกที่เป็นกฎหมาย หรือ อย่างไรก็ตามก็เป็นเพียง สมมติว่าเป็นการล้างความ ผิดแล้ว แต่แท้ที่จริง โทษมีตั้งแต่ การทำอกุศลกรรมแล้ว ในขณะนั้น และ ย่อมเป็น ปัจจัยให้เกิดผล คือ วิบากที่ไม่ดี มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น อันเป็นกรรมที่ไม่ สามารถนิรโทษได้เลย เพราะสร้างเหตุที่ไม่ดีแล้ว ครับ

ส่วนการนิรโทษกรรม คือ กรรมที่ทำแล้วไม่มีโทษจริงๆ โดยนัยของกรรมที่เป็น เจตนาแล้ว เจตนาเป็นกรรม แต่เจตนาที่เกิดกับจิตของผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การกระทำทางกาย วาจา ไม่ใช่ทำด้วยอกุศลจิต กุศลจิต กรรมนั้นจึงไม่ให้ผล จึงเป็น กรรมที่ไม่มีโทษ และไม่นำมาซึ่งโทษ คือ วิบากที่ไม่ดีอีกครับ นี่คือการนิรโทษกรรม ที่แท้จริง เพราะละกิเลส ที่จะสร้างกรรมที่เป็นโทษคือ อกุศลกรรมต่างๆ เมื่อละกิเลส หมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีการทำกรรมที่เป็นโทษ ครับ

การจะเป็นนิรโทษกรรม คือ การกระทำกรรมที่ไม่มีโทษ ก็ด้วยการละกิเลส ที่ จะทำให้เกิด กรรมที่ไม่มีโทษ ด้วยการศึกษาธรรม อบรมปัญญา ปัญญาจะทำหน้าที่ ละกิเลส และ ถึงการกระทำที่ไม่มีโทษ และ เมื่อดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ถึงการไม่เกิด อีก ก็ไม่มี อกุศลกรรมที่ตามมาให้ผลได้ กรรมที่ทำแล้ว ก็ไม่มีโทษกับผู้ที่ไม่เกิดอีก เลย ถึงการไม่มีโทษ เพราะ ไม่มีขันธ์ 5 ให้เกิดโทษ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคลให้เกิด โทษอีกต่อไป ครับ

แต่สิ่งที่ควรพิจารณา ถึง นิรโทษกรรม ตามที่กล่าวมาโดยนัยต่างๆ นั้น หาก พิจารณาในความละเอียดแล้ว โทษอยู่ที่ใจของแต่ละคน กิเลสที่เกิดขึ้น ขณะใด ที่ผูกเวร โกรธ ไม่ชอบ รังเกียจ ไม่ให้อภัย ขณะนั้น ก็ชื่อว่า กำลังมีโทษ ที่เป็น กิเลสเกิดขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เข้าใจความจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย และ รู้จักให้อภัย มีเมตตา ไม่รังเกียจ ไม่โกรธกัน ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เกิดความให้อภัย นิรโทษกรรม คือ การกระทำของตนเอง ที่เกิดจากกุศลจิต ไม่มีโทษแล้ว เพราละโทษ คือ กิเลสของตนเองในขณะนั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 345

ว่าด้วยคนพาล ๒ จำพวก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่ไม่รับรองตามธรรม เมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวกนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่รับรองตามธรรม เมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวกนี้แล.


ควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาจิตตนเองเป็นสำคัญ และละโทษคือ กิเลสของตนเอง ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา ก็จะเป็นการนิรโทษกรรม คือ เป็นการทำ กรรมที่ทำที่ไม่มีโทษ กุศลทุกประการๆ ที่เกิดขึ้น เป็นกรรมที่ไม่มีโทษ และ ปัญญาที่เกิดขึ้นเห็นตามความเป็นจริง เป็นกรรมที่ไม่มีโทษและละโทษคือ กิเลส ได้จนหมดสิ้นครับ จึงควรพิจารณาว่า ควรแสวงหาหนทางนิรโทษกรรม กับ ตนเองเป็นสำคัญ ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาในพระพุทธศาสนานี้ ครับ

ขออนุโมมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูกคือถูก ผิดคือผิด ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่าง แท้จริง ซึ่งมีทั้งดี และไม่ดี ที่กล่าวว่า ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใสแห่งจิต) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรง กลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น ส่วนที่กล่าว ว่าไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย

สำหรับสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลกรรม ที่เกิดแล้วเป็นไปแล้ว เป็นการกระทำที่เป็นโทษ ตรงกันข้ามกับกรรมที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว ใครก็ไม่ สามารถย้อนกลับไปตัดหรือลบล้าง ไม่ให้เป็นความไม่ดีได้ เพราะเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี เกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ความไม่ดี ก็ต้องเป็นความไม่ดี แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษของความ ไม่ดีแล้ว ก็สามารถขัดเกลา เริ่มต้นใหม่ สะสมในสิ่งที่ดีต่อไปได้

เพราะคำว่า นิรโทษกรรม ถ้าแปลเป็นไทยแล้วแปลได้ทั้ง กรรมที่ไม่มีโทษ รวมถึง การเปลื้องโทษ ซึ่งเป็นการกระทำให้พ้นจากโทษด้วย ซึ่งก็น่าพิจารณาจริงๆ ว่า จะ เปลื้องโทษ คือ สิ่งที่ไม่ดี ได้อย่างไร หนทางเดียวจริงๆ ที่จะค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ ดีให้ลดน้อยลงได้ ก็ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น เพราะเหตุว่าอกุศลเป็นสิ่งที่จะประมาท ไม่ได้เลยทีเดียว ยกตัวอย่าง ท่านพระเทวทัต เป็นเจ้าชาย เป็นพระญาติกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ท่านก็ไม่เคยคิดว่าจะมีกิเลสมากจนถึงกับคิดที่จะปลงพระชนม์ พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเกิดขึ้นเป็นไปได้อย่างไร ก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุ ปัจจัย ตามการสะสมอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นว่า กิเลส เป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ แม้ จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะเหตุว่าจากเล็กๆ น้อยๆ นี้แหละ ในที่สุดก็เป็นกิเลส ที่มากได้

เครื่องเกื้อกูลที่ดีที่สุดในชีวิต ก็คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความ เป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอาย มีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล ขัดเกลาให้เบาบางลง เพราะกิเลสของใคร ใครก็ขัดเกลาให้ไม่ได้ นอกจากอาศัยควมเข้าใจพระธรรมเท่านั้นจริงๆ เพราะถ้าไม่ เริ่มขัดเขลาแล้ว นับวันก็ยิ่งจะพอกพูนสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้น ห่างไกลแสนไกลจากความเป็น ผู้ไม่มีโทษ เพราะบุคคลผู้ไม่มีโทษโดยประการทั้งปวง ก็คือ พระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย กาย วาจา ใจ ไม่เป็นไปกับด้วยโทษใดๆ ทั้งสิ้น

ตามข้อความจาก สาวัชชสูตร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 352

"บุคคลไม่มีโทษเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมอันไม่มีโทษ วจีกรรมอันไม่มีโทษ มโนกรรมอันไม่มีโทษ อย่างนี้แล บุคคลไม่มีโทษ. (ในอรรถกถา อธิบายไว้ว่า ได้แก่ พระขีณาสพ จริงอยู่ พระขีณาสพนั้น หาโทษ มิได้ โดยส่วนเดียว)

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 ส.ค. 2556

นิรโทษกรรมทางโลก คือ ยกโทษที่เคยทำผิดไปแล้ว แต่ทางธรรม บุญ ส่วน บุญ บาป ส่วน บาป ไม่ว่าคนรวย คนจน ทุกชั้นวรรณะ ทุกเพศทุกวัย ทำบาปแล้ว จะ ไม่รับผลของกรรมไม่มี ยกเว้นพระอรหันต์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 21 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 21 ส.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 22 ส.ค. 2556

กรรมหรือการกระทำที่ล่วงออกมาทางกายและวาจาต่อผู้อื่น เช่น ฆ่าคน ทำลายสิ่งของ ของผู้อื่นย่อมต้องรับผลของกรรมที่เป็นอกุศลวิบากจิต คือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสในสิ่งที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา และรูปที่เกิดจากอกุศลกรรม..ตามเหตุที่สมควรแก่ผลไม่สามารถนิรโทษกรรมได้แม้จะได้รับนิรโทษกรรมในทางโลก

... ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 22 ส.ค. 2556

ในทางพระพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้ตรงต่อความจริง

ฟังให้เข้าใจถึงความเป็นธรรม

ผู้ใดกระทำความดี ย่อมได้รับผลที่ดี ผู้ใดกระทำความชั่ว ย่อมได้รับผลที่ เผ็ดร้อน ไม่มีใครหนีกรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำแล้วได้ ถ้ากระทำกรรมไว้แล้ว ไม่ว่ากรรมดี หรือกรรมชั่ว แล้วบอกว่าไม่ต้อง

รับผลของกรรม

จะเป็นไปได้อย่างไร

คลิกฟังที่นี่ ... มั่นคงในกรรมและผลของกรรม

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นี่นะใหญ่สุดแล้ว
วันที่ 25 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ