ขอเรียนถามเรื่องมุทิตาค่ะ

 
thassanee
วันที่  26 ส.ค. 2556
หมายเลข  23442
อ่าน  1,011

ขอเรียนถามค่ะ มุทิตา เป็นความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี มีสุข ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ

เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้ารู้ว่า ลาภ ยศ ที่ผู้อื่นได้มาจากการกระทำอกุศลตอบแทน

เรายังควรมุทิตาหรือไม่ หรือเป็นคนละส่วนกัน เพราะลาภ ยศ ที่ได้ในปัจจุบัน

เกิดจากผลของกรรมในอดีต แต่การกระทำในปัจจุบันเป็นเหตุ (กุศล, อกุศล)

จะเป็นผล (วิบากกรรม) ในอนาคตต่อไปคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ธรรม ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง

เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย และธรรม

ทั้งหลายนั้น ใครๆ ก็บังคับบัญชาให้เกิดขึ้นไม่ได้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก

โดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือ

สนับสนุนให้เกิดอกุศลหรือจะกล่าวให้สั้นๆ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงสอน

ให้สะสมอกุศล ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ผู้ฟังพระธรรมศึกษา

พระธรรมก็จะค่อยๆ เข้าใจได้ว่า การได้ลาภ ได้ยศ ได้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจ ใครเป็นผู้นำมาให้? เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีเหตุ คือ กุศลกรรม ที่เขาได้

กระทำมาแล้วในอดีต ผลที่น่าปรารถนาก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ละคนก็เกิดมา

นับชาติไม่ถ้วนทำกรรมมามาก ทั้งที่เป็นอกุศลกรรมและกุศลกรรม เมื่อกุศลกรรม

ที่ทำแล้วในอดีตถึงคราวให้ผล ผลที่ดีก็เกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น เมื่อผู้อื่น

ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา นั้น ก็ต้องมั่นคงในเรื่องเหตุและผลจริงๆ ว่าเหตุที่ไม่

ดีจะให้ผลที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้เลย เหตุดี เท่านั้นที่จะทำให้ผลดีเกิดขึ้น

แม้ว่าในชาตินั้นดูเหมือนว่าผู้นั้นจะกระทำในสิ่งที่ไม่ดีมากมาย ก็ตาม เนื่องจากว่า

เรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมละเอียดมาก ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว

ก็ไม่มีคนไม่มีสัตว์ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

เมื่อได้เข้าใจในเหตุในผลแล้ว ก็จะเบาสบายด้วยความเข้าใจ ไม่ส่งเสริม

ไม่ชื่นชมในความชั่ว โดยประการทั้งปวง เมื่อเขาได้ดีมีสุข ก็พลอยยินดี ไม่

ริษยาที่เขาได้ดี เพราะต้องมีเหตุที่ดี เขาจึงได้ผลที่ดี ความเข้าใจถูกเห็นถูก

เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูล ให้ความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น รวมถึง

ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน (เมตตา) ด้วยความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน

ความหวังดี ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่หวังร้ายก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้มุทิตาเกิด

ขึ้นเป็นไปได้แทนที่จะเป็นริษยา

ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ต่อให้คน

ทั้งโลกเป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี ความเข้าใจถูกเห็นถูกที่เราได้สะสมมาก็จะไม่มี

ทางเข้าใกล้ความชั่วเหล่านั้นได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มุทิตา เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับ ความริษยา เมื่ออาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ มีเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับของความเข้าใจด้วย มุทิตา ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่มีมุทิตา ขณะนั้นมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนกับบุคคลนั้น แต่ขณะใดที่ริษยา ขณะนั้นเราไม่ใช่เพื่อนของเขาอย่างแน่นอน เมื่อมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน เป็นพื้นฐานของจิตใจแล้ว มุทิตา

ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นแทนที่จะเป็นริษยาได้ ซึ่งก็จะต้องค่อยเป็นค่อยไป ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ย่อมเป็นผลมาจากกุศล-

กรรมเท่านั้น แต่จะเป็นผลของกุศลกรรมในอดีตชาติ หรือ ชาติปัจจุบันก็ไม่สามารถ

ทราบได้ แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ใช่ผลของการทำอกุศลกรรมเลย เพราะฉะนั้น

เมื่อผู้ใด ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้รู้ได้เลยว่า เป็นเพราะ กุศลกรรมให้ผล ไม่ใช่

อกุศลกรรมให้ผล เพราะเคยกระทำความดีไว้ในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นกรรมในอดีตชาติ

ที่เคยทำดีมาไว้ก็ได้ และมาให้ผลในชาตินี้ ครับ ทำให้ได้รับความสุขในชาตินี้ ส่วน

การทำ อกุศลในชาติปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพียงแต่ว่ากรรม

ที่ไม่ดี ยังไม่ให้ผล แต่ กรรมดีที่เคยทำในอดีตให้ผลอยู่ ครับ

ดังนั้น เมื่อรู้ว่าผู้อื่นได้รับความสุข ก็ชื่นชม ยินดี ยินดีด้วยเพราะเป็นสิ่งที่ดี ที่เขา

ได้รับ อันเกิดจากการทำกุศลกรรมในอดีตของบุคคลนั้นที่ให้ผลอยู่ ส่วนอกุศลที่ผู้อื่น

กระทำในปัจจุบัน ก็ชื่นชม แต่ก็ไม่รังเกียจด้วยโทสะ แต่เข้าใจความเป็นไปของธรรม-

ดาของผู้มีกิเลส จึงอยู่ด้วยกรุณา สงสารที่เขาทำบาปที่จะทำให้เขาได้รับความทุกข์

และ มีเมตตาหวังดี ที่ปรารถนาให้เขาได้รับความสุข และ เมื่อเขาได้รับกรรมที่ไม่ดี

ไม่ว่าใครก็วางเฉยด้วยอุเบกขาที่เข้าใจว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน นี่คือ

การเจริญ พรหมวิหาร 4 ในชีวิตประจำวัน ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thassanee
วันที่ 28 ส.ค. 2556

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ