ความเกื้อกูลของพระโพธิสัตว์ [ชวสกุณชาดก]
[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ หน้าที่ 426
๘. ชวสกุณชาดก
(ผู้ไม่มีกตัญญูไม่ควรคบ)
[๕๓๐] ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน ตามกำลัง ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้อะไรตอบ แทนบ้าง.
[๕๓๑] การที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของเรา ผู้มีเลือดเป็นภักษาหาร ผู้ทำกรรมอันหยาบช้า อยู่เป็นนิตย์ ท่านยังเป็นอยู่ได้ นั่นก็เป็น คุณมากอยู่แล้ว
[๕๓๒] น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้ ไม่ทำคุณให้ใคร และผู้ที่ไม่ทำตอบแทนคุณ ที่เขาทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การ คบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์.
[๕๓๓] บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่ ตนประพฤติต่อหน้าในผู้ใด ผู้นั้นบัณฑิตไม่ ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออก ห่างจากผู้นั้นไปเสีย.
จบ ชวสกุณชาดกที่ ๘
อรรถกถาชวสกุณชาดกที่ ๘
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภ- ความอกตัญญูของพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อกรมฺหาว เต กิจฺจํ ดังนี้.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน แล้วทรงนำ เรื่องในอดีตมาสาธก (แสดง) ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ใน นครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกหัวขวานอยู่ในหิมวันต ประเทศ. ครั้งนั้นราชสีห์ตัวหนึ่งกินเนื้อ กระดูกติดคอจนคอบวม ไม่สามารถจับเหยื่อกินได้ เวทนากล้าแข็งเป็นไป. ลำดับนั้น นกนั้น เที่ยวขวนขวายหาเหยื่อ เห็นราชสีห์นั้น จึงจับที่กิ่งไม้ ถามว่า สหาย ท่านเป็นทุกข์เพราะอะไร ราชสีห์นั้นจึงบอกเนื้อความนั้น. นกนั้น กล่าวว่า สหาย เราจะนำกระดูกนั้นออก ให้แก่ท่าน แต่เราไม่อาจเข้า ไปในปากของท่าน เพราะกลัวว่า ท่านจะกินเรา. ราชสีห์กล่าวว่า ท่าน อย่ากลัวเลย สหาย เราจะไม่กินท่าน ท่านจงให้ชีวิตเราเถิด. นกนั้น รับคำว่า ดีละ แล้วให้ราชสีห์นั้นนอนตะแคง แล้วคิดว่า ใครจะรู้ว่าอะไรจักมีแก่เรา จึงวางท่อนไม้คำ้ไว้ริมฝีปากทั้งข้างล่างและข้างบนของราชสีห์นั้นโดยที่มันไม่สามารถหุบปากได้ แล้วเข้าไปในปาก เอาจะงอยปากเคาะปลายกระดูก. กระดูกก็เคลื่อนตกไป. จากนั้นครั้นทำให้ กระดูกตกไปแล้ว เมื่อจะออกจากปากราชสีห์จึงเอาจะงอยปากเคาะ ท่อนไม้ให้ตกลงไป แล้วบินออกไปจับที่ปลายกิ่งไม้. ราชสีห์หายโรค แล้ว วันหนึ่ง ฆ่ากระบือป่าได้ตัวหนึ่งแล้วกินอยู่. นกคิดว่า เราจัก ทดลองราชสีห์นั้นดู จึงจับที่กิ่งไม้ ณ ส่วนเบื้องบนราชสีห์นั้น เมื่อ จะเจรจากับราชสีห์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอความนอบน้อมจง มีแก่ท่าน ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน ตามกำลังของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้ อะไรตอบแทนบ้าง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกรมฺหาว เต กิจฺจํ ความว่า ท่านสีหะผู้เจริญ แม้เราก็ได้กระทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน. บทว่า ยํ พลํ อหุวมฺหเส ความว่า กำลังใดได้มีแก่เรา เรามิได้ทำอะไรๆ ให้เสื่อม เสียจากกิจนั้น ได้กระทำแล้วด้วยกำลังนั้นทีเดียว. ราชสีห์ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ข้อที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของ ข้าพเจ้าผู้มีโลหิตเป็นภักษาหารผู้กระทำกรรม หยาบเป็นนิจ ท่านยังรอดชีวิตอยู่ได้นั้นก็ เป็นคุณมากอยู่แล้ว.
นกได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถานอกนี้ว่า :-
น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้ ไม่ทำคุณให้แก่ใคร ผู้ไม่ทำตอบแทนคุณที่ เขาทำไว้ ความกตัญญูย่อมไม่มีในบุคคลใด การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์. บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่ ตนประพฤติต่อหน้า ในบุคคลใด บุคคลนั้น บัณฑิตไม่ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกห่างออกจากบุคคลนั้นไปเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกตญฺญุ แปลว่า ผู้ไม่รู้คุณที่เขากระทำแล้ว. บทว่า อกตฺตารํ ได้แก่ ผู้ไม่ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า สมฺมุขจิณฺเณน ความว่า ด้วยคุณที่ทำไว้ต่อหน้า. บทว่า อนุสฺสุยมนกฺโกสํ ความว่า บัณฑิตอย่าริษยา อย่าด่าว่าบุคคลนั้น พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากบุคคลนั้น. ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกนั้นก็บินหลีกไป. พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประ- ชุมชาดกว่า ราชสีห์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต ส่วนนกในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาชวสกุณชาดกที่ ๘.