ความขี้ขลาดและความเหลาะแหละเป็นวิบากหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็คงต้องกลับมาทบทวน กับ คำว่า จิต และ ชาติของจิตอีกครั้งครับ
จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้น
ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกที่มี 52 เจตสิก ประกอบกับจิตเกิดร่วมกับจิต ทำให้
จิตมีความแตกต่างกันไป ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ จิต จึงแบ่ง เป็นชาติ 4 ชาติ
ครับ ซึ่งก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า ชาติก่อน ครับ
ชาติ ไม่ได้หมายความว่าเป็นชาติต่างๆ เช่น ชาติไทย ชาติจีน ฯลฯ และไม่ใช่ชน
ชั้นวรรณะแต่ เป็น "สภาพของจิต" ชาติ (ชา- ติ) จึงหมายถึงการเกิดคือ การเกิดขึ้น
ของจิตและเจตสิกเกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่ง ชาติใด คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ วิบาก
ชาติ กริยาชาติ จะไม่เป็นชาติหนึ่งชาติใดไม่ได้เลย ครับ
ชาติของจิต หรือ ประเภทของจิตที่มีการเกิดขึ้น มี 4 ชาติ ดังนี้ ครับ
1.กุศลจิต หรือ กุศลชาติ2.อกุศลจิต หรือ อกุศลชาติ3.วิบากจิต หรือ วิบากชาติ4.กิริยาจิต หรือ กิริยาชาติ
กุศลชาติ กุสล (กุศล) + ชาติ (การเกิด , จำพวก , หมู่ , เหล่า , ชนิด) คือ การเกิดที่เป็นกุศล , จำพวกกุศล หมายถึง กุศลจิต ๒๑ ดวง และเจตสิกที่เกิด
ร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก เมื่อจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ มีเจตสิก
เกิดร่วมด้วยหลายดวงทั้งจิตและเจตสิกจะต้องเป็นชาติเดียวกัน เช่น ขณะที่เมตตา
เกิดขึ้น ขณะนั้น จิตเป็นกุศลจิต ประกบอด้วยเจตสิกที่ดี มี ศรัทธาเจตสิก เป็นต้น
อกุศลชาติ อกุสล (อกุศล) + ชาติ (การเกิด , จำพวก , หมู่ , เหล่า , ชนิด) คือการเกิดเป็นอกุศล , จำพวกอกุศล หมายถึง อกุศลจิต ๑๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก เช่น โลภมูลจิต จิตที่ติดข้อง โทสะ
มูลจิต เป็นต้น
วิบากชาติ วิปาก (ความสุกวิเศษ , ผล) ชาติ (การเกิด , จำพวก) คือ การเกิดเป็น
วิบาก , จำพวกวิบาก หมายถึง วิบากจิต ๓๖ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็น
ชาติที่เป็นผลของกรรม คือ กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบาก เป็นผล
ของอกุศลกรรม เช่น ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้
กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมในชีวิตประจำวัน
กิริยาชาติ กิริยา (สักว่ากระทำ) + ชาติ (การเกิด ,จำพวก ,หมู่ ,เหล่า , ชนิด) การเกิดเป็นกิริยา , จำพวกกิริยา หมายถึง กิริยาจิต ๒๐ ดวงและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล เพียงเกิดขึ้นกระทำกิจการงานแล้วก็ดับ
ไปเท่านั้น เช่น จิตของพระอรหันต์ขณะที่เกิดจิตที่ดีของท่าน แต่เป็นกิริยาจิต เป็นต้น
การศึกษาเรื่องชาติของจิต หรือ ประเภทของจิต จึงเป็นไปเพื่อเข้าใจความจริงของ
จิต ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะ ตน หรือ เรา
ก็คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นไป และ เมื่อเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงความเป็นไปของจิต
แต่ละชาติแต่ละประเภท ปัญญาที่เข้าใจดังนี้ ก็ค่อยๆ เป็นไปเพื่อไถ่ถอนความยึดถือ
ว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ละความเห็นผิด เป็นสำคัญ นี่คือ ประโยชน์ของการศึกษา
เรื่องชาติของจิต คือ เข้าใจว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ครับ
ความขี้ขลาด ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่พ้นจากอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้น ที่เป็น ลักษณะของความไม่กล้า ซึ่งก็เป็นลักษณะของความกลัวอย่างหนึ่ง
ซึ่งก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของโทสเจตสิก เพราะฉะนั้น ความขี้ขลาด
จึงเป็นโทสเจตสิก เมื่อเป็นโทสเจตสิกที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตแล้ว
จึงเป็น อกุศลชาติ ที่เป็นตัวเหตุ ไม่ใช่วิบาก ที่เป็นผลของกรรมเพราะ วิบากมุ่งหมาย
ถึงผลของกรรมที่เกิดขึ้น เช่น เห็น ได้ยิน การเกิด การตาย เป็นต้น ครับ
ความเหลาะแหละ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และ เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม
เช่นกัน ซึ่งเป็นลักษณะของความโลเล ไม่แน่นอน เช่น การพูดเหลาะแหละ ที่เป็น
การพูดที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะ พูดไปเรื่อย ไม่แน่นอน โลเลครับ และผู้ที่มีความประ-
พฤติ เหลาะและ คือ ไม่เอาจริง โลเล ไม่แน่นอน ไม่สามารถเชื่อถือได้ เป็นผู้มีความ
ประพฤติเหลาะแหละ จึงเป็น สภาพธรรมที่ไม่ดีงามแน่นอน เป็นอกุศลธรรม จึงไม่ใช่
วิบากแต่ เป็น อกุศชาติ เป็นชาติอกุศล ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ครับ
ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าวิบาก คืออะไร วิบากคือ ธรรมที่เป็นจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วม
ด้วย อันเป็นผลของกรรม วิบากทั้งหมดที่เกิดขึ้น ล้วนต้องมาจากเหตุ คือ กรรมที่ได้
กระทำแล้วทั้งสิ้น วิบากไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องอาศัย
การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น ถึงจะ
เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ ซึ่งก่อนการฟังพระธรรมจะไม่มีทางเข้าใจเลย
วิบากในชีวิตประจำวัน คือ ขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย
ขณะที่เป็นภวังคจิต
ทีนี้ก็กลับมาที่ประเด็นคำถาม ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า ขี้ขลาด ปกติจะมุ่งหมายถึงขณะ
ที่เป็นอกุศล เพราะขณะที่เป็นอกุศลนั้นมีความหลง ไม่รู้เกิดร่วมด้วย และการกระทำ
ในสิ่งที่ไม่ดี นั้น ก็เป็นเพราะความเป็นคนขี้ขลาด คือ กล้าทำในสิ่งที่ผิด แต่ไม่กล้าใน
การกระทำในสิ่งที่ถูก ไม่กล้าละทิ้งในสิ่งที่ผิดแล้วน้อมมาหาสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมด
นั้นไม่พ้นไปจากขณะที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่วิบาก ครับ ส่วนประเด็น
เรื่องเหลาะแหละ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า เป็นผู้กล่าวคำที่ไม่มีสาระ ไม่เป็นไปเพื่อประ-
โยชน์เกื้อกูลแก่คนอื่น เป็นคนไม่ตรง ไม่จริงใจ ไม่มั่นคง ก็ไม่พ้นไปจากขณะที่เป็น
อกุศลอีกนั่นเอง หนทางที่จะเป็นไปเพื่อกำจัดความขี้ขลาด และความเป็นคน
เหลาะแหละ ได้ ก็คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ความขี้ขลาด เป็นกิเลสที่เรากลัว ไม่ใช่วิบาก วิบากเป็นผลของกรรม ค่ะ
ขออนุญาตเรียนถามนะครับ
ความเหลาะแหละ หากจะกล่าวถึงองค์ธรรมแล้วควรเป็นอะไรครับ
ขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
โดยมาก มุ่งหมายถึง โลภะ ที่เป็นการกระทำที่ด้วยความยินดีพอใจ ที่ทำไป
ไปตามอำนาจความติดข้อง แต่ ไม่แน่นอน เพราะ ทำแล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อย
ตามความยินดีพอใจ ของบุคคลนั้นที่ติดข้อง สิ่งอื่น ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ทั้งคำพูด
และ การกระทำ จึงชื่อว่าเป็นผู้เหลาะแหละ ด้วยอำนาจอกุศล คือ โลภะ ครับ
ขออนุโมทนา
กระผมขอถามต่อไปนะครับ ถ้าความขี้ขลาดและความเหลาะแหละเป็นอกุศลธรรม
ดังนั้นก็จะมีวิบากเกิดในกาลข้างหน้าต่อไปใช่หรือไม่ครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 6 ครับ
อกุศลธรรมเกิดขึ้น ให้ผลก็มี ไม่ให้ผลเกิดวิบาก ก็มี อย่างเช่น ความโกรธเกิดขึ้น
ในใจ แม้จะเป็นอกุศลธรรม ตราบใดที่ ความโกรธ นั้น ไม่ถึงกับการล่วงศีล 5 คือ
การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่ให้ผลเกิดวิบาก แต่สะสมเป็นอุปนิสัย ที่จะ
โกรธง่ายขึ้น แต่ ถ้าโกรธจนถึง ล่วงศีล เมื่อไหร่ ย่อมเกิดวิบากได้ ความขี้ขลาด
ความเหลาะแหละ ก็ตามที่เป็นอกุศล หากเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ไม่ถึงขนาดล่วงศีล 5 ย่อมไม่ให้เกิดวิบาก แต่เมื่อถึงกับการล่วงศีล 5 ย่อมเกิดวิบาก
ครับ ขออนุโมทนา