สาวกของพระพุทธเจ้า ไม่พึงให้อกุศลย่ำยี

 
Dhammarak
วันที่  13 ก.ย. 2556
หมายเลข  23596
อ่าน  930

ขอเรียนถามว่าข้อความต่อไปนี้ หมายความว่าอย่างไรครับ?

มีผู้ศึกษาธรรมะ 2 ท่าน มีความเห็นต่างกัน คนที่ 1 เห็นว่า

สาวกของพระพุทธเจ้าจะต้องเป็นผู้ประพฤติขัดเกลา จะไม่ย่อมปล่อยให้กุศลย่ำยีได้

ระลึกรู้อกุศล และเผาอกุศลทันทีด้วยกุศลโดยทำได้ง่าย จะไม่ยอมปล่อยให้ถูกอกุศล

ครอบงำย่ำยีได้ ตามที่พระดำรัสใน มหาสุญญตสูตร

เช่น ควรเป็นผู้มีวินัยในตัวเอง ดูหนัง ดูละคร ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง

คนที่ 2 เห็นว่า พระสูตรข้างล่างนี้ไม่ใช่สำหรับทุกคนที่ศึกษาพระธรรมแล้วจะต้อง

ทำได้ง่าย ต้องขึ้นอยู่กับสติปัญญาที่สะสมเจริญมามากน้อยแค่ไหน

ละได้บ้างไม่ได้บ้างตามสติปัญญาที่มีที่เข้าใจที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดได้ขณะใดระลึก

รู้อกุศลใด เพราะสาวกของพระพุทธเจ้ามีหลายบุคคหลายระดับปัญญาก็มากน้อย

แตกต่างกันไป

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร

[๓๔๘] ดูกรอานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อม

น้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌา

และโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็น

อันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม ฯ

หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะยืน เธอ

ย่อมยืนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเรา

ผู้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการยืน ฯ

หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนั่ง เธอ

ย่อมนั่งด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำ

เราผู้นั่งอยู่แล้วอย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนั่ง ฯ

หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน เธอ

ย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำ

เราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนอน ฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดย

ตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลาความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย และการอบรมเจริญปัญญาก็

เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่มีการบังคับ ไม่มีกฏตายตัว ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของ

พระธรรม แล้วก็จะให้ความสำคัญให้เวลากับพระธรรม ด้วยการฟังด้วยการศึกษาอย่าง

ตั้งใจจริงใจ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก แม้ว่าปกติในชีวิตประจำวันชีวิตจะเป็นไปกับ

ด้วยอกุศลเป็นส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเป็นไปมากเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ขณะที่มีโอกาส

ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมแล้วเข้าใจนั้น ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วนั้นสุขุม ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะทรง

แสดงลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความ

เป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศีกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญา ที่จะประจักษ์แจ้ง

ลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้ เมื่อไม่สามารถดับกิเลสได้ ก็ย่อมจะถูกกิเลส

เสียดแทงจิตใจอยู่ตลอดเวลา ยากที่จะพ้นไปได้ เพราะฉะนั้นแล้ว การศึกษาพระ

ธรรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง

กิเลสทั้งหลายที่มีนั้น ถ้าไม่ได้เริ่มฟังพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่จะขัดเกลาละคลาย

ให้เบาบางลงไปได้เลย ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะเห็นประโยชน์สูงสุดของการฟัง

พระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น และเพื่อขัดเกลากิเลส

อกุศลของตนเองต่อไป

แต่ถ้าเป็นเพศบรรพชิตแล้ว จะมีชีวิตอย่างผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ จะดูหนังดูละคร

ฟังเพลง ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ไม่เหมาะควรแก่เพศที่สูงยิ่ง มีโทษสำหรับพระภิกษุ

ผู้ล่วงละเมิด ดังนั้นสำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต กิจสำคัญก็คือ อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลา

กิเลสของตนเอง พร้อมกับน้อมประพฤติตามพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทรงบัญญัติไว้ โดยละเว้นจากการกระทำในสิ่งที่ผิด และน้อมประพฤติในสิ่งที่

เหมาะที่ควรเท่านั้น

-พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นพระสูตรใดก็ตาม

ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ทั้งนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็น

ไปตามลำดับ ไม่ใช่เพียงแค่อ่านพระสูตรแล้วจะทำตามเพราะทำไม่ได้ การปฏิบัติ

ธรรมไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องของการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลัง

ปรากฏด้วยสติและปัญญาซึ่งจะต้องมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจในขั้นของปริยัติ เมื่อ

มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ไหน เวลาไหนกระทำอะไรอยู่ก็ตาม

(ซึ่งก็มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด) ก็สามารถเข้าถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตาม

ความเป็นจริงได้ อันเป็นความเจริญขึ้นของธรรมฝ่ายดี มีสติ ปัญญา เป็นต้น นั่นเอง

จึงสำคัญที่การตั้งต้น ด้วยการตั้งต้นที่การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรง

แสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียดลึกซึ้ง หลากหลายนัย ตั้งแต่เบื้องต้น

จนถึง สูงสุด ความหมายคือ สำหรับผู้ที่มีปัญญาสะสมมาแตกต่างกันไป ตาม

กำลังที่พอจะรับได้ พระองค์จึงทรงแสดงพระธรรม ระดับที่สูงสุด ที่สะสมปัญญา

มามาก เมือ่ฟังพระสูตรที่ลึกซึ้ง ก็บรรลุธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึง

ทรงแสดงธรรม โดยนัย อุกฤษฎ์ สูงสุด ส่วน พระธรรมบางเทศนา ก็ทรงแสดงตาม

กำลังปัญญาของสัตว์โลก ที่แสดงเพียง ระดับโลกีย เช่น คฤหัสถ์ บริโภคกาม ที่

สะสมปัญญามาไม่มาก เช่น ทรงแสดง สิงคาลกสูตร สูตรที่แสดงถึงการประพฤติ

ตนให้เหมาะสมอย่างคฤหัสถ์ เช่น มี บุตร ภรรยาได้ แต่ ประพฤ๖ิให้เหมาะสม

เป็นต้น

ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ถูกต้องว่า สัตว์โลก ไม่ใช่มีอุปนิสัยเดียว แต่มีมากมาย

และมีกำลังปญญาที่สะสมมาต่างกัน พระองค์จึงทรงแสดงพระธรรมหลากหลาย

นัย หลายสูตรที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ และ

ละเอียดรอบคอบจะต้องมีความแยบคาย ที่พิจารณาถูกต้องว่า ไม่ควรจับเอาเพียง

พระสูตรเดียวแล้วมาสรุปสัตว์โลกทั้งหมดว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ทั้งหมด ครับ

อย่างเช่น พระวินัยปิฏกก็เป็นธรรมที่แสดงขอ้พระวินัยบัญญัติกับพระภิกษุสงฆ์

เป็นสำคัญ ไม่ใช่กับคฤหัสถ์ หากจะกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างนี้ให้ละ

การยินดี เงินทอง ไม่รับเงินทอง อย่างเช่น พระภิกษุ ก็เอาข้อธรรมนั้นจะมาใช้กับ

คฤหัสถ์ ย่อมไม่เหมาะสม เพราะ เป็นคนละเพศ และ ความขัดเกลาก็ต่างกัน

ท่านเปรียบเพศพระภิกษุ ดั่งเช่น สังข์ขัด ที่ย่อมถึงความหมดทุกข์จนหมดสิ้น

จึงละกิเลสประการทั้งปวง นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรง

แสดงมีหลากหลายนัย หลากหลาย บุคคล ครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ในพระสูตร ที่ ให้พิจารณา ลมหายใจ อานาปานสติ ซึ่ง

หากอ่านสูตรอื่นๆ แล้ว จะรู้ว่าเป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง ในการพิจารณาลมหายใจ

เพราะเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ ที่มีปัญญามาก ในสมัยพุทธกาล เช่น พระพุทธเจ้า

พระอสีติมหาสาวก ไม่ทั่วไปกับทุกคน แต่ ผุ้ที่ไม่เข้าใจ ก็กล่าวว่า มีแสดงไว้อย่างนี้

ก็ควรเจริญตามพิจารณาลมหายใจด้วย ทั้งๆ ที่ปัญญาไม่ถึง ก็เป็นโลภะที่อยาก

พิจารณาลมหายใจ เป็นต้น ก็เป็นการอ่านเพียงพระสูตรไม่กี่สูตร แต่มาสรุปอย่าง

ไม่ถูกต้องก็เป็นการคลาดเคลื่อนในการฏิบัติได้ ครับ

แม้แต่ ในพระสูตรที่ผู้ถามยกมานั้น เช่น ในมหาสุญญตสูตร ที่เป็นสูตร ที่ละเอียด

ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็ทรงแสดงพระธรรมที่เป็นการขัดเกลากิเลสของพระภิกษุ ที่เรื่อง

เกิดขึ้น โดยที่ภิกษุทั้งหลาย คลุกคลีกันดั่งเช่น คฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าทรงติเตียน

ในเรื่องนี้ พระอานนท์ ช่วยแก้ต่างให้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธออย่าช่วยในฐานะที่

ไม่ควรช่วย ธรรมดา สัตว์โลก คลกุคลีกกันมามากแล้ว ทั้งในการเกิดเป้นสัตว์เดรัจฉาน

เป็นเทวดา เป็นเปรต เป็นต้น ควรที่จะเห็นโทษของการคลุกคลี เมื่อบวชในธรรมวินัยนี้

ในการคลุกคลีอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ หากไม่เข้าใจประเด็นนี้ก็เอาข้อความนี้ ที่แสดง

กับเพศพระภิกษุที่ขัดเกลาอย่างยิ่งทุกทาง มาใช้กับคฤหัสถ์ว่า จะต้องไม่คลุกคลี

สุงสิงกันเลย เพราะ ต้องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ดั่งเช่นพระธรรมข้อนี้

และ รวมทั้งประเด็นที่จะ ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นเลย พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม

โดยนัยสูงสุด ที่ให้เห็นโทษของอกุศลอย่างยิ่ง แต่ ต้องตามกำลังปัญญาของบุคคลนั้น

ผู้ที่เริ่มศึกษาธรรม รู้ว่าอกุศลไม่ดี แต่ รู้โดยขั้นการฟัง แต่ อนุสัยกิเลส ยังมีอยู่เต็ม

เพราะฉะนั้น กิเลสเกิดง่ายมาก เป็นธรรมดา จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดกิเลส แม้จะได้ยิน

ได้ฟังว่า เธออย่าให้อกุศล ครองงำ แต่ เมื่อไม่มีปัญญาเพียงพอแล้ว และ เป็นปุถุชน

ก็ยังมีกิเลสเกิดขึ้น แม้แต่ พระโสดาบัน ก็เกิดกิเลส ความโลภ ความโกรธเป็นธรรมดา

แต่ ที่พระองค์ทรงแสดง ให้พิจารณาว่าอย่าให้อกุศลครอบงำ เพื่อให้เห็นโทษของ

อกุศลธรรมตามความเป็นจริง แต่ ก็แล้วแต่ระดับของปัญญาแต่ละคนที่ได้ฟังสูตรนั้น

แต่ก็เป็นประโยชน์ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน หากสะสมปัญญามามากแล้ว เมื่อได้

ฟังสูตรนี้ ก็เกิดปัญญาถึงการเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะ ทรงแสดงธรรมโดยนัยสูงสุด

แต่ บางบุคคลก็เป็นพระอริยลองลงมา ก็ยังเกิดกิเลส ในขณะจิตต่อๆ ไปได้ ถูกครอบงำ

ด้วยกิเลสต่อไปได้ เพราะ ยังมีเหตุให้เกิดกิเลสอยู่ และ ปุถุชนผู้ที่สะสมการสนใจฟัง

ก็ได้ประโยชน์ที่เห็นโทษของอกุศล ขั้นการฟัง ว่า อกุศลไม่ดี แต่ ก็เข้าใจถูกได้ว่า

ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดกิเลส และ ขณะจิตต่อไปก็เกิดกิเลส ครอบงำได้เป็นธรรมดา

ผู้ที่เข้าใจถูกต้องในหนทางการดับกิเลส ที่เป็นการเจริญสติปํฏฐาน ดั่งเช่น ในหมวด

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ แม้อกุศลจิตก็รู้ว่าอกุศลจิตเป็นธรรม แสดงว่า ไม่ได้บังคับ

หรือ มีตัวตนที่จะไม่ให้อกุศลเกิด เพราะ ไม่ใช่เราที่จะบังคับได้ แต่ อกุศลจิตเกิดแล้ว

ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า อกุศลจิตทีเกิดเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางการอบรมปัญญที่

ถูกต้อง แต่ หากไม่มีปัญญาแล้ว จะพยายามทำ ดั่งเช่น ผู้ที่มีปัญญามาก ที่จะใม่ให้

อกุศลครอบงำ ก็เป็นหนทางที่ผิด เพราะ เป็นหนทางที่ทำด้วยความเป็นเรา ด้วยการ

บังคับ ครับ พระพุทธองค์จึงใช้คำว่า เป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญสติปํฏฐาน คือ เป็นปรกติ

ที่จะรู้ความจริง ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้น ครับ

จะเห็นนะครับว่า การศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพียง ศึกษาไม่กี่สูตร แล้วจะมาสรุปทั้งหมด

ไม่ได้ แต่ ต้องอาศัย การศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ย่อมจะเข้าใจหนทางที่ถูกต้อง

ได้ ครับ

สมดังที่พระพุทะเจ้าทรงแสดงว่า ที่เรากล่าวธรรม แสดงโดยนัยสูงสุด แต่แล้วแต่

ใครจะรับได้ เปรียบเหมือนพระราชา นำอาหารให้ พระราชโอรส ปั้นอาหารเท่ากับ ขนาด

ของพระราชา แต่ พระโอรสองค์ใดจะรับได้ขนาดไหน ก็ตามแต่กำลังของพระราชโอรส

ที่ไม่เท่ากัน พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้บังคับให้ทำตาม แต่ ต้องรู้ตาม

กำลังปัญญา การสะสมมาที่ไม่เหมือนกัน ตามแต่ละบุคคล แต่หนทางการดับกิเลส

เหมือนกัน คือ การเจริญสติปัฏฐานรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ แม้ ขณะที่

อกุศลเกิดก็ควรรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา หนทางที่ถูกต้อง คือ

หนทางที่ไม่ใช่การทำ ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นหนทางที่เข้าใจ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
mouy179
วันที่ 13 ก.ย. 2556

เรียนถามท่านอาจารย์ ประโยคที่กล่าวว่า เธออย่าให้อกุศล ครองงำ การที่จะรู้ความหมายที่ลึกซึ่งได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละบุคคล แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรารู้ลึกซึ้งแค่ไหนไม่ใช่คิดเองว่ารู้ลึกซึ้งแล้ว (ปกติก็ฟังพระธรรมเป็นประจำ)

รบกวนขอความรู้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ก็ต้องเป็นปัญญาของตนเองอีกนั่นแหละครับ ที่จะทราบว่า รู้ลึกซึ้งแค่ไหน

ซึ่ง ปัญญาทีู่้ความละเอียดลึกซึ้ง ที่รู้จักอกุศล และ เกิดกุศลที่ไม่ให้อกุศล

ครอบงำ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงในขณะนั้น เพราะขณะนั้น

มีปัญญรู้ว่า อกุศลว่าเป็นแต่เพียงธรรม ขณะนั้น อกุศลก็ไม่ครอบงำ ซึ่งต้อง

เป็นปัญญาระดับสูง จึงทราบความลึกซึ้งของสภาพธรรม แม้แต่ขณะที่อกุศล

เกิดขึ้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mouy179
วันที่ 13 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 14 ก.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 14 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kinder
วันที่ 17 ก.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ