เกื้อกูลให้พ้นจากความเห็นผิด [สุวรรณมิคชาดก]

 
khampan.a
วันที่  13 ก.ย. 2556
หมายเลข  23601
อ่าน  1,300

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ หน้าที่ ๗๗๕

๙. สุวรรณมิคชาดก

(ว่าด้วยเนื้อติดบ่วงนายพราน)

[๗๔๓] ข้าแต่เนื้อผู้มีกำลังมาก ท่านจงพยายาม ดึงบ่วงออก ข้าแต่ท่านผู้มีเท้าดุจทองคำ ท่านจงพยายามคือบ่วงที่ติดแน่นให้ขาดเถิด ฉันผู้เดียว จะไม่พึงยินดีอยู่ในป่า.

[๗๔๔] ฉันพยายามดึงอยู่ แต่ไม่สามารถจะทำบ่วงให้ขาดได้ ฉันเอาเท้าตะกุยแผ่นดินด้วยกำลังแรง บ่วงติดแน่นเหลือเกิน จึงครูดเอาเท้าของฉันเข้า.

[๗๔๕] ข้าแต่นายพราน ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบออก จงฆ่าฉันเสียก่อน แล้วจึงฆ่าพระยาเนื้อต่อภายหลัง.

[๗๔๖] เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นเนื้อที่พูดภาษามนุษย์ได้ แน่ะนางผู้มีหน้าอันเจริญตัวท่านและพระยาเนื้อนี้จงเป็นสุขเถิด.

[๗๔๗] ข้าแต่นายพราน วันนี้ฉันเห็นพระยาเนื้อหลุดพ้นมาได้แล้วย่อมชื่นชมยินดี ฉันใดขอให้ท่านพร้อมด้วยญาติทั้งมวลของท่านจง ชื่นชมยินดี ฉันนั้น.
จบ สุวรรณมิคชาดกที่ ๙

อรรถกถาสุวรรณมิคชาดกที่ ๙
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกุลธิดาคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิกฺกม เร มหามิค ดังนี้.

ได้ยินว่า นางนั้นเป็นธิดาจองสกุลอุปัฏฐากแห่งพระอัครสาวกทั้งสอง ในกรุงสาวัตถีเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส นับถือพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ สมบูรณ์ด้วยมารยาท เป็นผู้ฉลาด ยินดียิ่งในบุญมีทานเป็นต้น. ตระกูลบุคคลมิจฉาทิฏฐิอื่นที่มีชาติเสมอกัน ในนครสาวัตถีนั้นแล ได้มาขอนางนั้น. ลำดับนั้น บิดามารดาของนางกล่าวว่า ธิดาของเรามีศรัทธาเลื่อมใส นับถือพระรัตนตรัย ยินดียิ่งในการบุญมีทานเป็นต้น ท่านทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ จักไม่ให้ธิดาของเราแม้นี้ให้ทาน ฟังธรรม ไปวิหาร รักษาศีล หรือทำอุโบสถกรรม ตามความชอบใจ เราจะไม่ให้ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงสู่ขอเอานางกุมาริกาจากตระกูลมิจฉาทิฏฐิที่เหมือนกับตนเถิด. ชนที่มาขอเหล่านั้นถูกบิดามารดาของนางกุมาริกานั้นบอกคืนแล้ว จึงกล่าวว่า ธิดาของท่านทั้งหลายไปเรือนของพวกเราแล้วจงกระทำกิจทั้งปวงตามความประสงค์เถิด พวกเราจักไม่ห้าม ขอท่านจงให้ธิดานั้นแก่พวกเราเถิด ผู้อันบิดามารดาของนางกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงเอาไปเถิด เมื่อถึงฤกษ์ดี จึงกระทำมงคลพิธีแล้วนำนางไปเรือนของตน. นางกุลธิดานั้นได้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความประพฤติและมารยาท มีสามีเป็นดังเทวดา. วัตรปฏิบัติสำหรับพ่อผัว แม่ผัว และสามีย่อมเป็นอันทำแล้วอย่างครบถ้วน. วันหนึ่ง นางกล่าวกะสามีว่าข้าแต่ลูกเจ้า ดิฉันปรารถนาจะให้ทานแก่พระเถระประจำสกุลของพวกเรา. สามีกล่าวว่า ดีล่ะนางผู้เจริญ เธอจงให้ทานตามอัธยาศัยเถิด.นางจึงให้นิมนต์พระเถระทั้งสองมาแล้วกระทำสักการะใหญ่ ให้ฉันโภชนะอันประณีตแล้วนิมนต์ให้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ตระกูลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธา ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ดังนั้น ดิฉันขอโอกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงรับภิกษาหารในที่นี้แหละจนกว่าตระกูลนี้จะรู้คุณของพระ-รัตนตรัย. พระเถระทั้งหลายรับนิมนต์แล้วฉันเป็นประจำอยู่ในตระกูลนั้น. นางกล่าวกะสามีอีกว่า ข้าแต่ลูกเจ้า พระเถระทั้งหลายมาเป็นประจำ ณ ตระกูลนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ไปดูพระเถระเล่า.สามีกล่าวว่า เราจักไปดู. วันรุ่งขึ้น นางจึงบอกแก่สามีนั้น ในตอนพระเถระทั้งหลาย ทำภัตกิจเสร็จแล้ว. สามีของนางนั้นเข้าไปหาแล้วทำปฏิสันถารกับพระเถระทั้งหลายแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระธรรมเสนาบดีจึงกล่าวธรรมกถาแก่สามีของนางนั้น เขาเลื่อมใสในธรรมกถาและอิริยาบถของพระเถระ ตั้งแต่นั้น จึงให้ปูลาดอาสนะเพื่อพระเถระทั้งหลาย กรองน้ำดื่ม ฟังธรรมกถาในระหว่างภัต.ในกาลต่อมา มิจฉาทิฏฐิของเขาก็ทำลายไป. อยู่มาวันหนึ่ง พระเถระเมื่อกล่าวธรรมกถาแก่สามีภรรยาแม้ทั้งสองนั้น จึงประกาศสัจจะ ๔. ในเวลาจบสัจจะ สามีภรรยาทั้งสอง ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. จำเดิมแต่นั้นมา ชนแม้ทั้งหมดมีบิดามารดาของเขาเป็นต้น จนชั้นที่สุดแม้ทาสและกรรมกรได้ทำลายมิจฉาทิฏฐิ เกิดเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้าพระธรรม และพระสงฆ์. อยู่มาวันหนึ่ง นางทาริกานั้นกล่าวกะสามีว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ดิฉันจะประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือน ดิฉันปรารถนาจะบวช. สามีนั้นกล่าวว่า ดีละนางผู้เจริญ แม้ฉันก็จักบวชแล้วนำภรรยานั้นไปยังสำนักภิกษุณี ด้วยบริวารมากมายให้บวชแล้วฝ่ายตนเองก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา. พระศาสดาให้บรรพชาอุปสมบทแล้ว. เธอแม้ทั้งสองเจริญวิปัสสนาไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัต. อยู่มาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุณีสาวชื่อโน้นเกิดเป็นปัจจัยแก่ตนและแก่สามี แม้ตนบวชแล้วบรรลุพระอรหัต ก็ให้สามีแม้นั้นบรรลุด้วย. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีนี้จะได้ปลดเปลื้องสามีจากบ่วงคือราคะ ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ก่อน แม้ในกาลก่อน นางภิกษุณีนี้ก็ได้ปลดเปลื้องโบราณกบัณฑิตทั้งหลายจากบ่วงคือมรณะ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในกำเนิดมฤค (เนื้อ) เจริญวัยแล้ว เป็นผู้มีรูปงาม น่ารักใคร่ น่าดู มีผิวพรรณเหมือนทอง ประกอบด้วยเท้าหน้าและเท้าหลังประหนึ่งกระทำการย้อมด้วยน้ำครั่ง เขาเช่นกับพวงเงิน นัยน์ตาทั้งสองมีส่วนเปรียบด้วยก้อนแก้วมณี และหางประดุจกลุ่มผ้ากัมพล. ฝ่ายภรรยาของเนื้อนั้นก็เป็นนางเนื้อสาวมีรูปงามน่ารัก. เนื้อทั้งสองนั้นอยู่ร่วมกันด้วยความพร้อมเพรียง. มีเนื้ออันงดงามตระการตาแปดหมื่นตัวคอยอุปัฏฐากบำรุงพระโพธิสัตว์อยู่.ในกาลนั้น พวกพราน ฆ่าเนื้อทั้งหลาย และดักบ่วง อยู่มาวันหนึ่งพระโพธิสัตว์ เดินไปข้างหน้าเนื้อทั้งหลาย เท้าติดบ่วง จึงดึงเท้ามาด้วยคิดว่า จักทำบ่วงนั้นให้ขาด หนังจึงขาด เมื่อดึงเท้ามาอีก เนื้อขาด เอ็นขาด บ่วงได้รัดจนจดถึงกระดูก. พระโพธิสัตว์นั้นเมื่อไม่อาจทำบ่วงให้ขาด ก็สดุ้งกลัวต่อมรณภัยจึงร้องบอกให้รู้ว่าติดบ่วง. หมู่เนื้อได้ฟังดังนั้นก็กลัวจึงพากันหนีไป. ส่วนภรรยาของพระโพธิสัตว์นั้น หนีไปแล้วแลดูในระหว่างพวกเนื้อไม่เห็นพระโพธิสัตว์นั้น คิดว่า ภัยนี้คงจักเกิดแก่สามีที่รักของเรา จึงรีบไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น ร้องไห้ มีหน้านองด้วยน้ำตากล่าวว่า ข้าแต่สามี ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก ท่านจักไม่อาจทนบ่วงนี้หรือ ท่านจงรวบรวมกำลังทำบ่วงนั้นให้ขาด เมื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดแก่พระโพธิสัตว์นั้นจึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ข้าแต่เนื้อผู้มีกำลังมาก ท่านจงพยายามดึงบ่วงออก ข้าแต่ท่านผู้มีเท้าดุจทองคำท่านจงพยายามดึงบ่วงที่ติดแน่นให้ขาดออกฉันผู้เดียวเว้นท่านเสีย จะไม่รื่นรมย์อยู่ในป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิกฺกม ได้แก่ จงพยายามอธิบายว่า จงดึงออก. ศัพท์ว่า เร เป็นนิบาตใช้ในอรรถร้องเรียก.บทว่า หรีปท แปลว่า ผู้มีเท้าดุจทองคำ. แม้ในสรีระทั้งสิ้นของพระโพธิสัตว์นั้นก็มีวรรณดุจทองคำ. แต่นางเนื้อนี้กล่าวอย่างนั้น ด้วยอำนาจราคะ. ด้วยบทว่า นาหํ เอกา นี้ แสดงว่า ดิฉันเว้นท่านเสียผู้เดียวจักไม่รื่นรมย์ในป่า ก็ดิฉันจักไม่รับหญ้าและน้ำ ซูบผอมตาย. เนื้อได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ฉันพยายามดึงอยู่ แต่ไม่สามารถทำบ่วงให้ขาดได้ ฉันเอาเข้าตะกุยแผ่นดินด้วยกำลังแรง บ่วงติดแน่นเหลือเกิน จึงบาดเท้าฉัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิกฺกมามิ ความว่า นางผู้เจริญฉันทำความพยายามเพื่อเธออยู่. บทว่า น ปาเทมิ ความว่า แต่ฉันไม่อาจทำบ่วงให้ขาด. บทว่า ภูมึ สุมฺภามิ ความว่า ฉันเอาเท้าตะกุยแผ่นดินที่บ่วงด้วยหวังว่าบ่วงจะขาดบ้าง. บทว่า เวคสา แปลว่าด้วยกำลังแรง. บทว่า ปริกนฺตติ ความว่า บ่วงตัดหนังเป็นต้นบาดไปรอบด้าน.

ลำดับนั้น นางเนื้อจึงกล่าวกะเนื้อนั้นว่า ข้าแต่สามี ท่านอย่ากลัวเลย ดิฉันจะอ้อนวอนนายพรานตามกำลังของตน จักนำชีวิตมาเพื่อท่าน ถ้าดิฉันเมื่ออ้อนวอนจักอาจเป็นไปได้ ดิฉันจักให้แม้ชีวิตของดิฉันแล้วนำเอาชีวิตมาเพื่อท่าน แล้วปลอบโยนพระมหาสัตว์ให้เบาใจแล้วได้ยืนชิดพระโพธิสัตว์ผู้มีตัวอาบด้วยโลหิต. ฝ่ายนายพรานถือดาบและหอกเดินมาดุจไฟลุกติดกัปป์. นางเนื้อเห็นนายพรานนั้นแล้วปลอบโยนพระโพธิสัตว์นั้นว่า ข้าแต่สามี นายพรานเนื้อกำลังมาดิฉันจักกระทำตามกำลังของตน ท่านอย่ากลัว แล้วเดินสวนทางต่อนายพรานแล้วถอยไปยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ไหว้นายพรานนั้นแล้วกล่าวคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่นาย สามีของข้าพเจ้ามีผิวพระดุจทองคำ สมบูรณ์ด้วยศีลและอาจารมารยาท เป็นราชาของหมู่เนื้อแปดหมื่นตัว เมื่อพระยาเนื้อยังคงยืนอยู่นั่นแล เมื่อจะขอให้ฆ่าตน จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ข้าแต่นายพราน ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบออก จงฆ่าข้าพเจ้าก่อนแล้วจึงฆ่าพระยาเนื้อต่อภายหลัง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลาสานิ ความว่า ท่านจงปูใบไม้ทั้งหลาย เพื่อจะได้วางเนื้อ. บทว่า อสึ นิพฺพาห ความว่า ท่านจงชักดาบออกจากฝัก.

นายพรานได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า คนที่เป็นมนุษย์ยังไม่ให้ชีวิตตนเพื่อประโยชน์แก่สามีได้เลย นางเนื้อนี้เป็นสัตว์ดิรัจฉานยังบริจาคชีวิตได้ ทั้งยังกล่าวเป็นภาษามนุษย์ด้วยเสียงอันไพเราะ วันนี้เราจะให้ชีวิตของสามีแห่งนางเนื้อนี้ และชีวิตของนางเนื้อนี้ด้วยครั้นคิดฉะนั้นแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใส จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นเนื้อที่พูดภาษามนุษย์ได้ แน่ะนางผู้มีหน้าอันเจริญ ตัวท่านและพระยาเนื้อนี้จงเป็นสุขเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตํ วา ทิฏฺฐํ วา ความว่า ในกาลก่อนแต่นี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นหรือได้ฟังมาเห็นปานนี้ ย่อมไม่มี. บทว่า ภาสนฺตึ มานุสึ มิคึ ความว่า เพราะในกาลก่อนแต่นี้ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นเนื้อพูดวาจามนุษย์ได้เลย. บาลีว่า น จ เม สุตาวา ทิฏฺฐา วา ภาสนฺตี มานุสี มิคี แปลว่า เนื้อพูดภาษามนุษย์ข้าพเจ้าไม่ได้ยินได้ฟังหรือเห็นมาเลย ดังนี้ก็มี เนื้อความของบทบาลีเหล่านั้น ย่อมปรากฏตามบาลีนั่นแหละ. นายพรานผู้เป็นบัณฑิตฉลาดในอุบายเรียกนางเนื้อนั้นว่า ภทฺเท แน่ะนางผู้มีหน้าอันเจริญ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ปลอบโยนนางเนื้อนั้นอีกว่า ท่านแม้ทั้งสองคือตัวท่านและพระยาเนื้อนี้จงเป็นผู้มีความสุข ปราศจากทุกข์เถิด แล้วได้ไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ เอามีดตัดบ่วงที่หนัง ค่อยๆ นำบ่วงที่ติดเท้าออก แล้วเอาเอ็นปิดเอ็น เอาเนื้อปิดเนื้อ เอาหนังปิดหนังแล้วเอามือบีบนวดเท้า. ด้วยอานุภาพบารมีที่พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมาด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิตของนายพราน และด้วยอานุภาพมิตรธรรมของนางเนื้อ บันดานให้เอ็น เนื้อและหนังติดกับเอ็น เนื้อ หนัง ในขณะนั้นทันที. ฝ่ายพระโพธิสัตว์มีความสุข ปราศจากทุกข์ได้ยืนอยู่.นางเนื้อเห็นพระโพธิสัตว์มีความสุขสบาย จึงเกิดความโสมนัส เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่นายพราน จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-

ข้าแต่นายพราน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพระยาเนื้อหลุดพ้นมาได้แล้วชื่นชมยินดีอยู่ฉันใด ขอให้ท่านพร้อมด้วยญาติทั้งปวงของท่าน จงชื่นชมยินดี ฉันนั้น.

ด้วยบทว่า ลุทฺทก นี้ ในคาถานั้นนางเนื้อเรียก โดยอำนาจชื่อที่ได้ด้วยการทำกรรมอันร้ายกาจ.

พระโพธิสัตว์คิดว่า นายพรานนี้เป็นที่พึ่งอาศัยของเรา แม้เราก็ควรเป็นที่พึ่งอาศัยของนายพรานนี้บ้าง จึงมอบก้อนแก้วมณีให้แก่นายพรานก้อนหนึ่งซึ่งตนได้พบในภาคพื้นที่เที่ยวหากิน แล้วให้โอวาทแก่พรานนั้นว่า ดูก่อนสหาย ตั้งแต่นี้ไป ท่านอย่าได้กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น จึงรวบรวมทรัพย์สมบัติเลี้ยงดูลูกเมียกระทำบุญมีทานและศีลเป็นต้น ด้วยก้อนแก้วมณีนี้เถิด แล้วก็เข้าป่าไป.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า นายพรานในครั้งนั้น ได้เป็นพระฉันนะ นางเนื้อได้เป็นภิกษุณีสาว ส่วนพระยาเนื้อ ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสุวรรณมิคชาดกที่ ๙


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
napachant
วันที่ 14 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 15 ก.ย. 2556

ไพเราะมากๆ ค่ะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 8 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ