ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว [สาลิยชาดก]

 
khampan.a
วันที่  14 ก.ย. 2556
หมายเลข  23605
อ่าน  1,549

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔- หน้าที่ 826

๗. สาลิยชาดก

ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว

[๗๘๓] ผู้ใดลวงให้เราจับงูเห่าว่า นี่ลูกนกสาลิกา ผู้นั้นตามพร่ำสอนสิ่งที่ลามก (เลวทราม) ถูกงูนั้นกัดตายแล้ว.

[๗๘๔] คนใด ปรารถนาจะฆ่าบุคคลผู้ไม่ฆ่าเอง และผู้ไม่ใช้คนอันให้ฆ่าตน คนนั้นถูกฆ่า แล้วนอนตายอยู่ เหมือนกับบุรุษผู้ถูกงูกัด ตายแล้ว ฉะนั้น.

[๗๘๕] คนใดปรารถนาจะฆ่าบุคคลผู้ไม่เบียดเบียนตน และไม่ฆ่าตน คนนั้นถูกฆ่าแล้ว นอนตายอยู่ เหมือนกับบุรุษถูกงูกัดตายแล้ว ฉะนั้น.

[๗๘๖] บุรุษผู้กำฝุ่นไว้ในมือ พึงซัดฝุ่นไปในที่ ทวนลม ละอองฝุ่นนั้น ย่อมหวนกลับมากระทบบุรุษนั้นเอง เหมือนบุรุษถูกงูกัดตาย แล้วฉะนั้น.

[๗๘๗] ผู้ใดประทุษร้ายผู้ไม่ประทุษร้ายตน เป็นคนบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดเลย บาปย่อมกลับมาถึงคนพาลผู้นั้นเอง เหมือนกับละอองละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น.

จบ สาลิยชาดกที่ ๗

อรรถกถาสาลิยชาดกที่ ๗

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภคำว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตไม่อาจเพื่อแม้จะกระทำความสะดุ้งแก่พระพุทธองค์ได้ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยฺวาย สาลิยจฺฉาโป ดังนี้.

จริงอยู่ ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายมิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตนี้ก็ไม่อาจเป็นผู้แม้จะกระทำความสะดุ้งแก่เราได้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในยินดีมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลกุฎุมพีในหมู่บ้าน ในคราวมีอายุยังน้อย เล่นอยู่ที่โคนตนไทรใกล้ประตูบ้านกับพวกเด็กที่เล่นฝุ่นกัน. ครั้งนั้นมีหมอทุรพล (กำลังถดถอย) คนหนึ่ง ไม่ได้การงานอะไรในบ้านจึงออกไปถึงที่นั้น เห็นงูตัวหนึ่งนอนหลับโผล่หัวออกมาจากระหว่างค่าคบไม้ จึงคิดว่า เราไม่ได้อะไรในบ้าน เราจักลวงเด็กพวกนี้ให้งูกัด แล้วเยียวยารักษา คงจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งทีเดียว จึงได้กล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า ถ้าเธอจะพบลูกนกสาลิกา เธอจะจับเอาไหม. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า จ้ะ ฉันจะจับเอา.

หมอกล่าวว่า จงดู นั่นลูกนกสาลิกา มันนอนอยู่ระหว่างค่าคบไม้. พระโพธิสัตว์นั้น ไม่รู้ว่านั้นเป็นงู จึงขึ้นไปยังต้นไม้ จับที่คอมัน พอรู้ว่าเป็นงูจึงไม่ให้มันหดเข้าไป จับไว้มั่นแล้ว รีบเหวี่ยงไป. งูนั้นปลิวไปตกลงที่คอหมอ รัดคออยู่กัดเสียงดังกรุ๊บๆ ทำให้หมอนั้นล้มลงตรงที่นั้นแล้วเลื้อยหนีไป. คนทั้งหลายพากันห้อมล้อม. พระมหาสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ประชุมพร้อมกันอยู่ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

ผู้ใดลวงให้เราจับงูเห่าว่า นี่ลูกนกสาลิกา ผู้นั้นตามพร่ำสอนสิ่งที่ลามก (เลวทราม) ถูกงูนั้นกัดตายแล้ว. คนใด ปรารถนาจะฆ่าบุคคลผู้ไม่ฆ่าเอง และผู้ไม่ใช้คนอันให้ฆ่าตน คนนั้นถูกฆ่าแล้วนอนตายอยู่ เหมือนกับบุรุษผู้ถูกงูกัด ตายแล้ว ฉะนั้น.

คนใดปรารถนาจะฆ่าบุคคลผู้ไม่เบียดเบียนตน และไม่ฆ่าตน คนนั้นถูกฆ่าแล้ว นอนตายอยู่ เหมือนกับบุรุษถูกงูกัดตายแล้ว ฉะนั้น.

บุรุษผู้กำฝุ่นไว้ในมือ พึงซัดฝุ่นไปในที่ทวนลม ละอองฝุ่นนั้น ย่อมหวนกลับมากระทบบุรุษนั้นเอง เหมือนบุรุษถูกงูกัดตาย แล้วฉะนั้น.

ผู้ใดประทุษร้ายผู้ไม่ประทุษร้ายตน เป็นคนบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดเลย บาปย่อมกลับมาถึงคนพาลผู้นั้นเอง เหมือนกับละอองละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยฺวาย ตัดเป็น โย อย. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า สปฺเปนย ความว่า ผู้นี้ใด ถูกงูนั้นกัดแล้ว.

บทว่า ปาปานุสาสโก แปลว่า ผู้พร่ำสอนสิ่งที่ลามก.

บทว่า อหนฺตร แปลว่า ผู้ไม่ฆ่าเอง.

บทว่า อหนฺตาร แปลว่า ผู้ไม่ให้คนอื่นฆ่า.

บทว่า เสติ ได้แก่ ย่อมนอนตาย.

บทว่า อฆาเตนฺต แปลว่า ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า.

บทว่า สุทฺธสฺส ได้แก่ ผู้ไม่มีความผิด.

บทว่า โปสสฺส ได้แก่ สัตว์.

แม้คำนี้ว่า อนงฺคณสฺส ท่านกล่าวหมายเอาความเป็นผู้ไม่มีความผิดเหมือนกัน.

บทว่า ปจฺเจติ ความว่า ย่อมกลับถึงเป็นสิ่งที่เห็นสมกับกรรม.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า หมอทุรพลในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต ส่วนเด็กที่เป็นบัณฑิต คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสาลิยชาดกที่ ๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 15 ก.ย. 2556

แม้ชาดก ก็เป็นสภาพธรรมต่างๆ กุศล อกุศล ให้ผลเสมอ มีประโยช์มากค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่นด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
napachant
วันที่ 15 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ