เวลาบิณฑบาต สามารถรับเงินได้หรือครับ

 
Jetanat
วันที่  16 ก.ย. 2556
หมายเลข  23623
อ่าน  3,525

อยากทราบว่าเหตุใดพระเณรซึ่งมีศีลห้ามรับเงิน เวลาบิณฑบาต สามารถรับเงินได้หรือครับ แล้วสมมติว่าพระท่านใช้เงิน เพื่อศาสนาไม่ได้ใช้เงินเพื่อตัว เช่นนี้ต้องอาบัติมั้ยครับ และคำถามสุดท้าย ผมนั้นเคยบวชเณรหน้าไฟให้กับยายครับ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องศีล 10 ข้อ ว่ามีห้ามรับเงินทองด้วย ซึ่งตอนนั้นก็มีผู้หญิงเอาเงินใส่ซองมาให้ ภายหลังพอสึกออกมาก็ใช้เงินจำนวนนั้นเสียแล้ว มาทราบทีหลังว่า ถ้าปลงอาบัติต้องสละเงินทองที่รับไป แต่ตอนนี้ผมเป็นเพศฆราวาสและใช้เงินนั้นไปเสียแล้ว ผมจะต้องทำอย่างไรหรือครับจึงจะปลงอาบัติได้ และหากไม่ปลงอาบัติจะปิดกั้นมรรคผลนิพพานหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- อยากทราบว่าเหตุใดพระเณรซึ่งมีศีลห้ามรับเงินเวลาบิณฑบาตสามารถรับเงินได้หรือครับ แล้วสมมติว่าพระท่านใช้เงินเพื่อศาสนา ไม่ได้ใช้เงินเพื่อตัว เช่นนี้ต้องอาบัติมั้ยครับ

@ เงิน ทอง ย่อมสมควรกับเพศคฤหัสถ์ ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต เพราะ บรรพชิต หมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วจากการกระทำดั่งเช่น คฤหัสถ์ ที่เคยทำมา ไม่ว่า การจะใช้เงิน และทอง การประกอบกิจการงาน ดั่งเช่น คฤหัสถ์ และเว้นทั่ว ซึ่งการกระทำที่ไม่ดีทางกาย วาจาและใจ อันมีพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นข้อกำหนดให้รักษา และ เว้นทั่วจากกิเลสโดยประการทั้งปวง อันเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พระก็ไม่สามารถที่จะรับเงิน และทอง และใช้เงินทองได้ เพราะ ไม่เช่นนั้น พระภิกษุ ก็ไม่ต่างจากเพศคฤหัสถ์ ที่มีการใช้เงิน และทอง และเงินและทองเหล่านั้น ก็มีการสะสม นำมาซึ่งความยินดี นำมาซึ่งการเพิ่มกิเลสอาสวะต่างๆ ได้ โดยไม่รู้ตัวเลย ครับ

สำคัญที่สุด ถ้าเราพิจารณาเป็นเรื่องราว ว่าสิ่งนี้ควรกับสมัยนี้ สิ่งนี้ไม่ควร แต่เมื่อเราพิจารณาที่จิต สภาพจิตแล้วก็จะตรง คือ อกุศล การยินดี เงินทองของพระภิกษุ เป็นอกุศล อกุศลไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยุคสมัยไหนเลยครับ ไม่ว่าจะสมัยพุทธกาล สมัยปัจจุบัน และ ในอนาคตกาล อกุศลย่อมไม่สมควรในยุคสมัยไหนเลยครับ การรับเงินและทองและยินดีเงินทอง ก็เป็นอกุศลธรรม และเงินและทอง เป็นสิ่งที่ผู้ครองเรือนใช้กัน ต่างจากพระภิกษุผู้สละอาคารบ้านเรือนแล้ว ไม่สะสมอะไรทั้งสิ้นครับ

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ ๔๑๕ -๔๓๒

๕. สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา

ข้าพเจ้าละสมบัติไม่ใช่น้อย ออกบวชด้วย ศรัทธาอย่างนี้ในพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้า ทรงประกาศดีแล้ว. ข้อที่ละทิ้งเงินทองเสียแล้ว กลับมายึดเงินทองนั้นอีก ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าปรารถนาแต่ความไม่กังวลห่วงใย ผู้ใดละทิ้งเงินทองแล้วกลับมายึดเงินทองนั้นไว้อีก ผู้นั้นจะโงหัวขึ้นมาได้อย่างไรในระหว่างบัณฑิตทั้งหลาย เงินและทองไม่มีเพื่อสันติความสงบสำหรับผู้นั้น เงินทองนั้นก็ไม่สมควรแก่สมณะ เงินทองนั้น ก็มิใช่อริยทรัพย์.

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 219

อรรถกถากุมาปุตตเถรคาถา

ก็คุณคือเครื่องหมายแห่งความเป็นสมณะนี้นั้น ย่อมเกิดมีแก่ภิกษุเช่นใด เพื่อจะแสดงภิกษุเช่นนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อกิญฺจนสฺส (ผู้ไม่มีกังวล) ดังนี้ ได้แก่ ผู้ไม่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง อธิบายว่า เว้นจากการถือครอบครองสมบัติมี นา สวน เงิน ทอง ทาสี และทาสเป็นต้น.

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 371

สมณะเหล่านั้น ไม่รับเงิน ไม่รับทอง ไม่รับรูปิยะ ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น หล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก.

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

เหตุใดจึงมีพระวินัยบัญญัติไม่ให้พระรับเงินทอง

- และคำถามสุดท้าย ผมนั้นเคยบวชเณรหน้าไฟให้กับยายครับ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องศีล 10 ข้อว่ามีห้ามรับเงินทองด้วย ซึ่งตอนนั้นก็มีผู้หญิงเอาเงินใส่ซองมาให้ ภายหลังพอสึกออกมาก็ใช้เงินจำนวนนั้นเสียแล้ว มาทราบทีหลังว่า ถ้าปลงอาบัติต้องสละเงินทองที่รับไป แต่ตอนนี้ผมเป็นเพศฆราวาสและใช้เงินนั้นไปเสียแล้ว ผมจะต้องทำอย่างไรหรือครับจึงจะปลงอาบัติได้ และ หากไม่ปลงอาบัติจะปิดกั้นมรรคผลนิพพานหรือไม่ครับ

@ สำหรับ สามเณร ย่อมไม่มีอาบัติ สำหรับสามเณรเลย หากแต่ว่า เพียงแต่ขาดจากความเป็นเณรได้ แต่ เมื่อมีการใช้เงิน และ ทองไปแล้วเมื่อยังเป็นเณรอยู่ และก็ได้ออกมาเป็นคฤหัสถ์ โทษก็ไม่มีกับผู้ที่ได้เป็นคฤหัสถ์แล้ว เพราะเป็นคนละเพศกันครับ ก็สามารถอบรมปัญญา เกิดในสุคติ และ บรรลุธรรมได้ ครับ

การศึกษาพระธรรม อย่างละเอียดรอบคอบ ย่อมจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ถูกต้อง ที่เป็นพระพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาประเสริฐจึงควรสนใจ ศึกษาพระธรรม ตามกำลังของปัญญาเท่าที่เวลาของชีวิตที่เหลือน้อย

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยแล้วโอกาสที่จะกระทำผิด ก็ย่อมจะมีได้ หรือ ในอีกกรณีหนึ่ง คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย แต่ก็มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ เพราะกำลังของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล นั่นเอง สำหรับเงินและทอง นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่พระภิกษุสามเณร โดยประการทั้งปวง เป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริงๆ ทำให้เกิดความติดข้อง เป็นห่วงกังวล และไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุสามเณร รับเงินและทอง ไม่ได้ ถ้าเป็นพระภิกษุก็เป็นอาบัติ ส่วนสามเณรก็ผิดศีลข้อที่ ๑๐ เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช ก็เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย และที่สำคัญ คฤหัสถ์ที่เข้าใจพระวินัย ก็จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว สามารถกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณร ผิดพระวินัย รวมถึง การถวายเงินด้วย เมื่อรู้แล้วว่า สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ควรกระทำ ไม่ควรส่งเสริม และยังสามารถจะอธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ด้วย

-ความกังวล ความไม่สบายใจ ไม่มีประโยชน์เลย แม้แต่น้อย เมื่อลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีอาบัติติดตัวแต่ประการใด ก็ขอให้ตั้งใจเป็นคนดีให้ดีที่สุด ด้วยการสะสมความดีและฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 ก.ย. 2556

พระจับต้องเงินเป็นอาบัติ กุศลของพระ คือ การศึกษาธรรม เผยแพร่ธรรม และ กุศลมี 10 อย่าง ไม่ใช่มีแค่การให้ทาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 17 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jetanat
วันที่ 17 ก.ย. 2556

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ ได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 20 ก.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 24 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
j.jim
วันที่ 25 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ