ฉันทะ กับ โลภะ

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  19 ก.ย. 2556
หมายเลข  23637
อ่าน  4,992

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถามนะคะ

ฉันทะ กับ โลภะ คือธรรมใด มีลักษณะ สภาพ อาการ เหตุที่เกิด ต่างกันอย่างไรคะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกท่านค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฉันทะ เป็นปกิณณกเจตสิก คือ ฉันทะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ซึ่งเป็นไปในทางกุศล อกุศลก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะเกิดร่วมกับจิตประเภทอะไร เป็นสำคัญ ครับ

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เป็นความยินดี พอใจ แต่ด้วยความติดข้อง ต้องการ ที่เป็น อกุศลเจตสิก เป็น เจตสิกที่ไม่ดี เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิต ครับ

โดยความละเอียดแล้ว บางครั้งหากได้ยินคำว่าฉันทะ บางที่ มุ่งหมายถึง โลภเจตสิก คือ ความติดข้องนั่นเอง ซึ่ง ตัณหา โลภะที่มีกำลังอ่อน ท่านก็เรียกว่าฉันทะ ดังข้อความที่ว่า

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 488

ตัณหาที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่า ฉันทะ ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้ แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่า ราคะ ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้


แต่ก็ควรเข้าใจโดยทั่วไปว่า ฉันทะเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรม ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ที่ยังไม่ได้ติดข้อง ที่เป็นฉันทะเจตสิก แต่เมื่อใดที่เกิดความติดข้อง ขณะนั้นเป็นโลภเจตสิกที่ทำหน้าที่ และก็มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำในขณะนั้นด้วย ที่เกิดร่วมกันได้ ครับ ซึ่งการจะรู้ความละเอียดของความแตกต่างของสภาพธรรมทั้ง 2 อย่าง ก็ด้วยปัญญาที่ละเอียด คือ สติปัฏฐาน ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้น ย่อมจะรู้ความแตกต่างของสภาพธรรมทั้งสองอย่างได้จริงๆ ครับ และ ที่สำคัญ จะต้องเริ่มรู้ก่อนครับว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นการเจริญปัญญาเป็นลำดับ ครับ ดั่งข้อความที่ท่านอาจารย์สุจินต์ อธิบายไว้ดังนี้ ครับ

จาก ..การสนทนาเรื่องปฏิบัติธรรม อาทิตย์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ผู้ฟัง ท่าน อ. ครับ มันแยกไม่ออกระหว่าง ฉันทะ และ โลภะ

อ. ค่ะ ไม่ใช่ให้แยกด้วยความเป็นเรา แต่เข้าใจลักษณะที่เป็นธัมมะ

ผู้ฟัง คือต้องเข้าใจธรรมไปก่อน

อ. ตั้งต้นค่ะ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ใครจะไปกลับ ไปสลับ ภาวนามยปัญญาก่อนแล้วก็มาสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ

ผู้ฟัง จินตามยปัญญา ก็คือ เราทบทวนที่ได้ยินได้ฟังก็เป็น จินตามยปัญญา

อ. คิด ปัญญาสำเร็จจากการคิด การไตร่ตรอง ความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วหมดเลย แล้วฟังใหม่ แล้วก็หมดไปอีกนะคะ

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็คือเกิดสลับกันได้ระหว่าง....

อ. ทุกอย่างเป็นธัมมะทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจะไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป บังคับบัญชาไม่ได้

และ คำบรรยายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยท่านอาจารย์สุจินต์

ฉะนั้น ลักษณะของ "ฉันทะ" ในการเจริญกุศลจึงต่างกับลักษณะของ "โลภะ" ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของฉันทะและโลภะ เวลาที่อยากเจริญกุศลก็เป็นไปด้วยความต้องการ คือต้องการกุศลบ้างหรือต้องการอานิสงส์คือผลของกุศลบ้าง ยังไม่สามารถที่จะทิ้งโลภะหรือความต้องการได้ เพราะรู้ว่า ถ้าทำกุศลแล้วย่อมได้รับผลของกุศล ใจที่มุ่งหวังผลของกุศลนั้นเป็นโลภะ ต่างกับผู้ที่มีฉันทะในการอบรมเจริญกุศลซึ่งไม่ใช่ต้องการกุศลด้วยโลภะ แต่เป็นความพอใจที่จะเจริญกุศลโดยไม่หวังผล เพราะเป็นอัธยาศัยจริงๆ จึงเป็นฉันทะในการอบรมเจริญกุศลไม่ใช่โลภะที่จะเจริญกุศล

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

เป็น ฉันทะ หรือ โลภะ ครับ..?

ฉันทะและตัณหา..

แยกไม่ออกระหว่างฉันทะและโลภะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ ฉันทะ กับ โลภะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ทุกคนตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ มีโลภะ และในขณะที่โลภะเกิด ก็มีเจตสิกธรรมประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย

ฉันทะ เป็นสภาพธรรมที่พอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับจิตชาติวิบาก ก็เป็นชาติวิบาก ถ้าเกิดกับจิตชาติกิริยา ก็เป็นกิริยา ในขณะที่มีการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ทาน บ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างนี้ มีฉันทะที่เป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นผู้ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการเจริญกุศล แต่ถ้าอกุศลเกิด ที่เป็นประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย กับ ประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ก็จะต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย ฉันทะในลักษณะอย่างนี้ เป็นอกุศลฉันทะ ไม่ใช่กุศล

ข้อควมบางตอนจากคำบรรยายาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ฉันทเจตสิก เป็นเจตสิกที่พอใจกระทำ เกิดกับจิต ๖๙ ดวง เว้นไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง และโมหมูลจิต ๒ ดวง ทั้งนี้เพราะอเหตุกจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ส่วนโมหมูลจิตนั้น แม้ว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่มีโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉันทเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่พอใจตามสภาพของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตหรือจิตอื่นๆ ที่ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย


โลภะ จะต้องเกิดกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะประกอบร่วมด้วย ๘ ดวงเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่น เลย ครับ

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งฉันทะในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ฉันทะ เป็นกุศล หรือ อกุศลก็ได้ แต่ โลภะ เป็นอกุศลอย่างเดียวเท่านั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Noparat
วันที่ 20 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 20 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
napachant
วันที่ 21 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 22 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 19 ก.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jiratchapan
วันที่ 6 ต.ค. 2564

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 17 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ