เส้นทางธรรมของผม กว่าจะถึงวันนี้
ผมเองนับตั้งแต่เกิดมาและนับถือศาสนาพุทธตาม พ่อ แม่ ในเวลานั้นจึงไม่ค่อยใส่ใจอะไรมากนัก จนกระทั่งเรียนหนังสือ ประถม มัธยม ปริญญาตรี-โท ไปทำงาน แทบจะไม่กระดิกในเรื่อง "พระธรรม"มากเลย จำได้ว่าวันหนึ่งมีพระภิกษุองค์หนึ่งให้หนังสือ "อิทัปปจยตา" ของท่านพุทธทาสมาอ่านเล่มหนึ่ง จำได้ว่าไม่รู้เรื่อง แต่ไม่ได้ทิ้ง วันใดเห็นก็มาอ่านผ่านๆ ไม่เข้าใจ จนกระทั่งบวช 1 พรรษา ครั้งนั้น ด้วยเหตุผลตามประเพณีของชายไทยและเพื่อให้เป็นกุศลกับ พ่อ แม่ ในขณะที่บวชก็ตั้งใจจะไป "ปฏิบัติ" แต่พระอาจารย์ไม่ได้สอน ก่อนลาสิกขามีโอกาสนั่งสมาธิ รู้สึกว่า "พบความสงบและเกิดสุข" ลาสิกขามาแล้ว พยายามจะนั่งอีก แต่รู้สึกว่าไม่พบความสงบอย่างที่เคยพบนั้นอีกเลย
แต่ในใจเฝ้าหวังอยู่เงียบๆ ว่า "วันหนึ่ง" จะไปปฏิบัติเพราะรู้สึกสงบ ไปวัดทำบุญทีไร มองเห็นพระนั่งหลับตาคล้ายกับนั่งสมาธิ เห็นพระเกจิอาจารย์แต่ละองค์ๆ ก็นั่งหลับตา ไปวัดดังๆ ที่ไหนก็มีแต่เชิญชวนให้ "ปฎิบัติธรรมๆ " หรือ "วิปัสสนากรรมฐาน"ต้องหาเวลาไปอยู่วัด 1 วัน 3 วัน 7 วัน เป็นต้น แต่หาโอกาสไม่ได้สักที คิดว่าคงต้องรอวันว่าง ซึ่งก็หาไม่ได้เสียที
จนเมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา ลูกชายบวช และวัดที่ลูกชายบวช มีการปฎิบัติ ด้วยความกลัวว่าลูกชายจะหลงทางอย่างลูกเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อเขาบวชและปฎิบัติและลูกชายเขาได้แต่นั่งสมาธิไม่ยอมทำอะไร ในที่สุดต้องไปโรงพยาบาล จึงหาย ผมกลัวว่าลูกชายจะเป็นเช่นนั้น จึงลงมือศึกษาไปด้วย
ผมเที่ยวหาหนังสือตำราและพระอาจารย์หลายองค์ นับรวมแล้วมีพระชั้นสมเด็จ13 องค์ ล้วนแล้วแต่ให้นั่งภาวนาทั้งนั้น ผมเอาจริงเอาจังมาก จนหลายครั้งผมไปนั่งในป่าช้า ในป่า ชายทะเล สิ่งเดียวที่ได้มา คือ "หมดความกลัว" คือ ไม่กังวลว่าจะมีอะไรเฝ้ามองสิ่งที่ปรากฎในขณะหลับตา จนบางคราวผมได้ยินเสียงจากที่ไกลๆ ไปเล่าให้อาจารย์ฟัง ท่านบอกว่า "สมาธิเริ่มเข้าสู่ฌานแล้ว" ผมนั่งต่อไป และในที่สุดเริ่มถามตัวเองว่า "เรากำลังทำอะไร" เรากำลังจะไปไหน" "ไปถึงที่นั่นได้อย่างไร ด้วยเหตุด้วยผลอะไร"
จึงเริ่มแสวงหาเหตุผล จนกระทั่งไปพบมูลนิธิฯ แห่งหนึ่งสอนวิปัสสนากรรมฐานโดยพูดเรื่องรูปเรื่องนาม ผมงงมาก และในที่สุดผมรู้ว่านั่นคือ การศึกษา"พระอภิธรรม"ผมจึงไปนั่งเรียนที่วัดสามพระยา แต่ผมเห็นเขาสอนกันแบบนักเรียนในโรงเรียน ผมนึกเอาว่า นั่นเป็นเพียง "ปริยัติ" ผมจึงไม่เรียน
ผมเริ่มสิ้นหวัง จนในที่สุดไปพบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย Nina Van Gorkom แปลโดย ดวงเดือน บารมีธรรม ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าหนังสือเล่มนั้นมาอยู่ที่บ้านผมได้อย่างไร ผมอ่านหนังสือเล่มนั้น เห็นรายละเอียดเรื่อง นาม กับรูป ที่อธิบายในรายละเอียดดี แต่ผมอยากจะทำความเข้าใจ คิดว่าต้องมีใครสอนผมได้ มีเบอร์โทรศัพท์ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จึงโทร.ไป เพื่อจะปรึกษา เขาแนะนำให้ไปที่มูลนิธิฯ
ผมไปที่มูลนิธิฯ เขาบอกว่าหนังสือเล่มนั้นไม่มีแล้ว แต่มีหนังสือ "ปรมัตถธรรมสังเขป จิตสังเขป" เขาให้หนังสือเล่มนี้มา 1 เล่ม และเชิญชวนว่า "วันเสาร์และวันอาทิตย์ที่นี่เขามีการบรรยาย โดยอาจารย์สุจินต์" ผมเอาหนังสือนั้นมาอ่านและ "ไม่ค่อยรู้เรื่องอีกเช่นเคย" และในใจต้องการความรู้เรื่องวิปัสสนากรรมฐาน แต่เมื่อเอามาแล้วก็พยายามอ่าน จนถึงวันเสาร์ ผมจึงไปที่มูลนิธิฯ เห็นคนมากมาย อยู่ในสภาพที่นั่งฟังด้วยความเป็นระเบียบ สังเกตดูไม่มีพระภิกษุ ไม่มีพระพุทธรูป ได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่ง รู้สึกคุ้นหูมาก แต่ไม่รู้ว่าคุ้นมาจากที่ไหน เข้าไปนั่งฟังมีการซักถาม เรื่องที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงไปทางด้านหลัง เลือกหนังสือเขาบอกว่าให้ฟรีจึงเลือกมา 2 - 3 เล่ม พบผู้หญิงที่เป็นวิทยากรท่านหนึ่ง จึงคุยด้วยคุยกันไม่ถูกหูเท่าใด เพราะท่านจะถามว่า "ไปนั่งทำไม ปฏิบัติอะไร" ทำให้รู้สึกไม่พอใจ และลุกขึ้นจากมาในที่สุด
หลายเดือนผ่านไป เผลอๆ ก็เอาหนังสือปรมัตถธรรมมาอ่าน จึงคิดกลับไปที่มูลนิธิฯ อีก จำได้ว่าเป็นวันธรรมดา ไปพบอาจารย์ท่านหนึ่งผู้ชายคนหนึ่ง นั่งคุยกับท่านอีก ไม่เข้าหูอีกเพราะท่านก็ย้ำเหมือนเดิมว่า "ไปปฎิบัติอะไร ทำไม" จึงลุกขึ้นจากมาด้วยอารมณ์ขุ่นมัวอีก หลังจากนั้นก็กระเสือกกระสนไปทั่วอีก จนไปได้หนังสือ "จุลอภิธรรมัตถสังคหะ"ของอาจารย์บุญมี เอามาอ่าน หนังสือเล่มนี้เขียนเชิงเล่าระหว่างหลานกับลุง ผมอ่านเข้าใจ ผมอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เข้าใจ รู้เรื่อง ครั้งหนึ่ง ปิติจนน้ำตาไหล วันหนึ่งจำได้ว่า วันที่ 22 เดือนกรกฎา ก่อนเข้าพรรษาหนึ่งวัน ผมจะไปหาพระลูกชาย จึงเข้า webค้นหา "ธรรมจักกัปวตนสูตร" ผมอ่านและ Download เสียงพระสวดคาถานี้ ผมรู้สึกดีมาก โดยเฉพาะในส่วนที่บรรยายถึงเสียงแซ่สร้องของเทพยดา ผมรู้สึกขนพอง ผมจึงอ่านคำแปล ผมชอบมากและฟังทุกวันๆ
ผมกลับไปอ่านหนังสือ "ปรมัตถธรรมฯ" อีกครั้ง ไม่น่าเชื่อผมอ่านเข้าใจอย่างดีมาก จนผมพกติดตัวไปไหนมาไหน ผมหยิบมาอ่านทบทวนแล้วทบทวนอีก ผมเข้าใจมากขึ้นมาก ผมเริ่มไปเปิดพระไตรปิฎก อ่านในส่วนเฉพาะพระอภิธรรม ผมพบว่าไม่เข้าใจอย่างหนังสือ "ปรมัตถธรรมฯ" จนวันเสาร์วันหนึ่งผมไปที่มูลนิธิฯ ผมนั่งฟังอาจารย์สุจินต์ บรรยาย ถาม-ตอบ พระอภิธรรม ผมพบว่าผมเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ตอบคำถาม ผมลุกขึ้นไปกราบอาจารย์ผมน้ำตาไหลพราก ผมรู้สึกว่าผมโชคดีที่เกิดมาได้เรียนรู้สิ่งที่ประเสริฐ โดยที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน ผมจบปริญญาโท แต่ผมไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้จริงๆ ผมซื้อ CD ปกิณณก-ธรรม มา 8 แผ่น ผมซื้อ Mp3 ผมเลิกดู TV เลิกฟังวิทยุ เลิกอ่านหนังสือพิมพ์ จะเข้าไปอ่านเฉพาะข่าวที่อยากรู้จาก Internet ผมได้ฟังอาจารย์สุจินต์ทุกวัน ทุกเวลาที่ผมอยากจะฟัง
ผมเริ่มตามรู้จากทวารทั้งหก โดยเฉพาะ ตา หู และกายสัมผัส ผมพบว่ามันยากแต่ผมเชื่ออาจารย์อย่างเดียวว่า "มันจะเจริญขึ้นๆ " "มันค่อยๆ เข้าใจๆ " ผมทำทุกวัน ไม่เคยขาด กลับบ้านไปเยี่ยมแม่ พ่อผมเสียไปแล้ว ผมเปิดให้แม่ฟัง แม่ไม่รู้เรื่อง แต่แม่ก็ทนฟัง หลายๆ ครั้ง แม่ก็อยากฟัง
ทุกวันนี้ผมมี CD ทั้งที่บ้านธัมมะส่งมาให้ตามที่ขอไป และไปซื้อส่วนตัวอีก ผมLoad เป็น File ไว้ใน External Hardware ของผม 40 GB เฉพาะเรื่องธรรมะของอาจารย์สุจินต์
ถึงวันนี้ ผมรู้ในสิ่งที่ท่านอาจารย์สอนมาก แต่ทุกครั้งที่ฟังใหม่ ผมพบว่าทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นไปอีก มันละเอียดมาก ผมตั้งสัจปฎิญาณกับตนเองว่า "จนกระทั่งผมละจากร่างนี้" ผมจะฟังและฟังตลอดไป
แต่ผมพบว่า ชีวิตประจำวันของผมที่ดำรงอยู่ บางทีก็ปิดกั้นเส้นทางการเจริญสติปัญญาของผม หลายครั้งผมคิดว่าจะบวช เพื่อจะได้ เรียนรู้และพัฒนาตนเองมากกว่านี้ แต่วันนั้นยังมาไม่ถึง ผมเชื่อว่าเมื่อใด "เหตุและปัจจัยพร้อม" ผมคงได้บวช ตามรอยพระพุทธองค์ ถึงแม้นว่าจะต้องใช้เวลานานชั่วกี่กัปล์กี่กัลป์ก็ตาม
ผมขอกราบผู้มีพระคุณทั้งหลาย ที่มีส่วนเมตตาธรรมกับผมและผมขอกราบขอโทษอาจารย์ 2 ท่านนั้นด้วยความเขลาของผมและโปรดอภัยให้ผมด้วยเถิด
ขออนุโมทนาสาธุครับ แต่ก่อน ผมบวชอยู่ 2 เดือนนั่งสมาธิตลอดทุกวัน ทั้งเช้า-ค่ำ เดินไปไหนมา ไหน ก็ท่องพุทโธตลอดทั้งวัน แต่พอสึกออกมา ผมยังไม่รู้จักแม้กระทั่งว่าขันธ์ 5 คืออะไร ธรรมะคืออะไร และไม่สนใจจะศึกษาธรรมะเพิ่มเติมเลย นอกจากสนใจแต่ เรื่องการปฏิบัติธรรม สนใจแต่หนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม การนั่งสมาธิ ฯลฯ แต่ได้มาเจอเว็บบ้านธัมมะนี้จากผู้ที่นำลิ๊งค์ไปโพสต์ไว้ในเว็บพันธ์ทิพ ห้องศาสนา ผมถึงได้ตามเข้ามา และก็ลองโหลดคลิปบรรยายธรรมะของท่านอาจารย์สุจินต์ ไปฟังเรื่อง เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ ก็โอ้โฮ สุดยอดเลย จากสิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้ ได้ซาบซึ้งถึงพระมหาปัญญาธิคุณอันเลิศของพระพุทธเจ้า จนน้ำตาไหลพรากๆ ดีใจที่ได้มาเจอท่านอาจารย์สุจินต์ และรู้ตัวแล้วว่าโชคดีเหลือเกินจะพยายามตั้งใจ ศึกษาธรรมะ และก็จะพยายามฝึกสติไปวันละเล็กละน้อยอย่างที่ท่านอาจารย์สอนครับ
ขออนุโมทนาค่ะ มีคนเป็นจำนวนมากที่ฟังแล้วไม่เข้าใจแล้วไม่ฟังอีกเลย
เป็นฆราวาสก็ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ในเพศฆราวาส ได้ครับ อย่างคุณถวิลตอนนี้ ก็เป็นฆราวาสที่ยังศึกษาธรรมจนมีความเข้าใจบ้างแล้ว ถ้าไม่มีอัธยาศัยในการละกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เห็น ทรัพย์สิน เงินทอง เหมือนก้อนเขฬะ ต้องการขัดเกลากิเลสประดุจสังข์ขัด มุ่งพระอรหันต์ ไม่ต้องบวชก็ได้ การเป็นฆราวาสที่ดีก็ยังยาก ดังนั้นการจะเป็นภิกษุที่ดี ก็ยิ่งยากกว่าอีกหลายเท่า หรือถ้าคุณถวิลจะบวชให้ได้จริงๆ ก่อนบวชอยากให้คุณถวิลศึกษาพระวินัยดูก่อนก็ได้ครับ ลองศึกษาดูว่าศีลทั้ง 227 ข้อนี้ ถ้ารักษาศีลทั้งหมด แล้วปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย ไม่อึดอัด ไม่เครียดไม่กังวล เห็นว่าศีลทั้ง 227 ข้อ เป็นความเมตตากรุณา ของพุทธองค์ที่มีต่อภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ภิกษุมีความสะดวก เบาสบายในการขัดเกลากิเลสเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็น่าบวช ครับ
ข้อสำคัญคือ เข้าใจอัธยาศัย ของตนเอง ว่าสมควรจะศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมในเพศใด ไม่ทราบว่า ที่คุณถวิล กล่าวว่า แต่ผมพบว่า ชีวิตประจำวันของผมที่ดำรงอยู่บางทีก็ปิดกั้นเส้นทางการเจริญสติปัญญาของผม
อะไรที่มันปิดกั้น หรือมีความอึดอัดในชีวิตปัจจุบันอย่างไร ถึงคิดอยากจะบวช
ฃออนุโมทนากับคุณถวิลด้วยครับ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการสะสมใน การฟังพระธรรมที่มีมาในอดีตชาติ และส่งผลให้เสาะหาทางที่ถูกจนพบ
ขออนุโมทนาด้วยความยินดี ที่ท่านมีความเจริญในธรรม ขอให้ธรรมะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าสิ้นทุกข์
อนุโมทนาค่ะ คุณ Tawin ดิฉันขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันมีน้อยของดิฉันนะคะ ดิฉันเองระเหเร่ร่อนแสวงหา หลงทางอยู่ร่วมสิบกว่าปี แต่ครั้งแรกที่ได้ฟังเสียงอาจารย์ทางวิทยุโดยบังเอิญทั้งๆ ที่เป็นภาษาที่ไม่คุ้นเลย ดิฉันกลับตั้งใจฟังอย่างมากและรู้สึกว่าเข้าใจ (ดิฉันไม่รู้จักคำว่าพระอภิธรรมเลยในขณะนั้น แต่รู้สึกแจ่มชัดมากในขณะที่ฟัง ฟังไม่เบื่อ และอยากฟังอีก) พร้อมกับคิดว่า นี่แหละที่หามานาน เพราะไม่ว่าดิฉันจะไปวัดไหน สิ่งที่ต้องได้ยินเสมอ คือ เรื่องบริจาคทาน โดยไม่เคยอธิบายอะไรไปมากกว่านั้น
ดิฉันเคยสนทนากับท่านผู้สนใจธรรมะหลายคนที่รู้จักและใกล้ชิด แต่ท่านก็บอกว่าเคยฟังอาจารย์สุจินต์ครั้งหนึ่ง ฟังไม่รู้เรื่องจึงเลิกไป บางท่านก็เกี่ยงว่าอาจารย์เป็นฆราวาส เป็นผู้หญิง ซ้ำเตือนดิฉันให้ระมัดระวังในการเลือกฟังด้วย หลายท่านเคยได้ฟังวิทยุพร้อมดิฉัน ก็นึกว่าอาจารย์เป็นแม่ชีผู้ศึกษาธรรมมานาน พอดิฉันบอกว่าอาจารย์สุจินต์เป็นฆราวาส ท่านเหล่านั้นก็ไม่ศรัทธาเอาดื้อๆ ดิฉันจึงเลิกบอกต่อเรื่องการฟังธรรมะบรรยายของอาจารย์ไปโดยปริยาย ต่อๆ มา ดิฉันได้รู้จัก และเข้าใจธรรมะมากขึ้น และยังไม่คล่องในพระอภิธรรม ไม่เชี่ยวชาญในพระสูตร รู้จักพระวินัยน้อย (ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น) ดิฉันมีแต่เพียงความตั้งใจฟัง พิจารณาตามและเข้าใจในสิ่งที่ฟัง และเพราะฟังอาจารย์ กับพิจารณาตามนี้เอง ต่อมาไม่ถึงปีดี ดิฉันจึงได้ประสบการณ์อันทำให้เข้าใจคำว่า สภาวธรรม คำว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น (ที่แตกต่างจากสมัยที่ยังแสวงหา และมักไปบวชนุ่งห่มชุดขาวตามสถานที่ต่างๆ อย่างชนิดคนละเรื่องกัน) และคำว่า เมื่อสติเกิด ได้เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกิดขึ้นเองเมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องสร้างขึ้น ไม่ต้องเพ่งเล็งจดจ้อง ไม่เลือกเวลาและสถานที่ ไม่มีใครสั่งได้ จากนั้นมาดิฉันเลิกเสี่ยงโชค ดูละครน้อยลงหรือแทบไม่ดูเลย เลือกดูแต่สารคดีที่เป็นความรู้ แต่ก็ไม่ผูกพันจนต้องเฝ้าหน้าจอ ยังฟังเพลงอยู่ แต่ไม่จริงจังจนต้องหาซื้อแผ่นมาให้ได้อย่างแต่ก่อน (อายุดิฉันไม่น้อย แต่ก็ไม่มาก กิเลสนิสัยสันดานที่เนื่องมานานจนคุ้นชินของตัวเองนั้น ยอมรับว่าขัดเกลาได้ยากอยู่) ใจเย็นลงกว่าเดิมมาก ถึงแม้จะยังนับได้ว่าอยู่ในกลุ่มของคนอารมณ์ร้อนอยู่ก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังพยายามติดตามฟังท่านอาจารย์อยู่เรื่อยๆ เท่าที่โอกาสอำนวย และเท่าที่จะสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ด้วยการดาวน์โหลดไฟล์เสียงไว้ฟัง จะหาคนที่เหมือนท่านอาจารย์สุจินต์คงไม่มีอีกแล้ว สามปีกว่า นับจากวันที่บังเอิญได้ยินเสียงของอาจารย์ จนถึงวันนี้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า คำว่า บังเอิญ ไม่มี มีแต่คำว่าเหตุปัจจัย การกระทำ และผลของการกระทำสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ดิฉันจะไม่ได้มีสติเกิดขึ้นบ่อยๆ เนื่องแต่การสะสมเหตุปัจจัยของดิฉันเอง แต่ดิฉันก็ระลึกในพระคุณของท่านอาจารย์เสมอ ดิฉันจะตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษา และพิจารณาธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นต่อไปค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
ขออนุโมทนา คห. 10 คุณ pornpaon ด้วยครับ รู้สึกดีๆ ที่ได้อ่านกระทู้นี้ ถึงท่านอาจารย์สุจินต์ จะเป็นฆราวาส มิใช่พระสงฆ์องค์เจ้า แต่ท่านก็เป็นฆราวาสที่สอนพวกเรา และก็ทำได้จริงอย่างที่ท่านสอน ท่านสอนให้พวกเรามีความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อน แล้วจึงสอนให้ฝึกสติในชีวิตประจำวันโดยอาศัยเวลาในช่วงสงบจากชีวิตวุ่นวายประจำวัน และค่อยเพิ่มกำลังสติไปทีละน้อยๆ แล้วดูตัวอย่างจากท่านสิครับ ท่านเคยแสดงอาการหลงลืมสติให้พวกเราเห็นกันสักครั้งหรือเปล่า? ผมฟังจากเทปของท่านอาจารย์มาก็นานพอสมควร แต่ไม่เคยเห็นสักครั้งที่ท่านจะแสดงอาการหลงลืมสติออกมาให้เห็นได้เลยสักครั้ง ท่านไม่เคยบอกว่า "เมื่อตะกี้ ดิฉันพูดไปถึงไหนแล้วนะคะ" " เอ่อ ว่ายังไงนะคะ ขอทวนคำถามอีกค่ะ" ไม่ว่าคนถามจะถามคำถามกี่คำถาม ท่านจะจำได้หมด และไม่ลืมที่จะตอบจนครบทุกประเด็น หรือไม่ว่าท่านจะยกพุทธวจนะของพระพุทธเจ้า, พระไตรปิฎกหรืออรรถกถาฎีกามาอธิบายมากมายยืดยาว หรือมีผู้อื่นถามขัดขึ้นจนกลัวว่าจะพาให้หลงประเด็น แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ลืมประเด็นคำถามของเจ้าของคำถาม และจะกลับมาสรุปตอบให้ทุกครั้ง น้ำเสียงของท่านนั้นนุ่มนวลไพเราะและอ่อนน้อม โดยเฉพาะถ้าผู้ถามเป็นพระภิกษุ ท่านจะยิ่งแสดงความอ่อนน้อมนุ่มนวลด้วยการลงหางเสียงว่า "เจ้าค่ะ" "พระคุณเจ้า" ทุกครั้ง สติปัญญาของท่านนั้นแจ่มใส ชัดเจน มั่นคง และเด็ดขาด ไม่เคย
มีสักครั้ง ที่ท่านจะลังเล หรือไม่แน่ใจในคำตอบของท่าน ความทรงจำของท่านนั้นแม่นยำประดุจดั่งสมองกล ไม่ว่าจะมีผู้ถามเรื่องราวใดขึ้นมา ท่านจะยกพระวจนะของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หรืออรรถกถาฎีกาขึ้นมาอ้างอิง โดยบอกชื่อพระสูตรยาวเฟื้อยได้อย่างแม่นยำ ถ้าสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผลมาจากการฝึกสติที่สมบูรณ์และรู้ตัวแทบทุกปัจจุบันขณะ แล้วจะเป็นผลมาจากอะไร ผมเองเรียนกฎหมายมา แต่ผมไม่เคยเห็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายท่านใด จะมีความแม่นยำในตัวบทเป๊ะๆ และยกขึ้นมาอ้างอิงได้เหมือนท่านเลย ถ้าถามนอกเหนือไปจากที่อาจารย์เหล่านั้นสอน ท่านก็จะต้องขอตัวกลับไปเปิดไปค้นตำราหรือไม่ก็พลิกเปิดตัวบทกันจ้าล่ะหวั่นอยู่ร่ำไป น้ำเสียงของท่านอาจารย์ไม่ว่าจะพูดมานานกี่ชั่วโมง ก็ไม่เคยมีความหดหู่ หรือเหนื่อยหน่ายแฝงอยู่ในน้ำเสียงของท่านเลย น้ำเสียงของท่านจะมีความเบิกบานแจ่มใสราวกับผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่เสมอ คำว่า "พุทธ" นั้น ท่านอาจารย์เคยสอนว่าคำนี้แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" และพระพุทธเจ้าทรงสอนเพื่อให้เรา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานตามพระองค์ท่าน ท่านพระสารีบุตร เมื่อครั้งที่ยังไม่เข้าเป็นภิกษุในศาสนาพุทธ แต่พอได้เห็นกิริยาและวัตรปฏิบัติที่งดงามของท่านพระอัสสชิ ก็บังเกิดความเลื่อมใสจนน้อมนำให้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาของพระพุทธองค์ ท่านพระวักกะลิเลื่อมใสในกิริยาท่วงทีและวัตรปฏิบีติที่งดงามจนไม่มีผู้ใดเปรียบได้ของพระพุทธเจ้าจนนำมาสู่การเข้าบวชในบวรพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าความเลื่อมใสศรัทธาในกิริยาท่วงที และวัตรปฏิบัติของผู้หนึ่งผู้ใดนั้นก็น้อมนำเป็นเหตุปัจจัยให้หันมาสนใจ และศึกษาปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลนิพพานได้