พระภิกษุสามารถกราบไหว้พ่อเเม่ได้หรือไม่ครับ ?

 
สามารถ
วันที่  19 ก.ย. 2556
หมายเลข  23645
อ่าน  28,876

กระผมอยากสอบถามเกี่ยวกับข้อวินัยบัญญัติ เกี่ยวกับการที่พระจะกราบหรือไหว้พ่อแม่ครับ ว่า สามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงมีข้อประพฤติใดในลักษณะนี้ครับ ที่พระไม่สามารถทำได้ครับ และอยากทราบพระวินัย และความหมายเกี่ยวกับการประทุษร้ายชาวบ้านของภิกษุสงฆ์ครับ เป็นอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประเด็นเรื่องพระภิกษุ ไหว้พ่อแม่ได้หรือไม่

ประการที่สำคัญที่สุด ควรที่จะได้เข้าใจถึงความแตกต่างกันแห่งเพศ ๒ เพศ คือเพศบรรพชิต กับ เพศที่เป็นคฤหัสถ์

เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงยิ่ง แสดงถึงความเป็นผู้จริงใจในการที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส จึงสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ ออกบวช เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองจนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น ส่วน เพศคฤหัสถ์ไม่ได้สละถึงอย่างนั้น ยังเต็มไปด้วยกิเลส ความติดข้องต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ไม่ปลอดโปร่งเหมือนกับเพศบรรพชิต ดังนั้น เพศบรรพชิต จึงเป็นเพศที่ควรเคารพสักการะกราบไหว้ ในฐานะที่เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเพื่อ ขัดเกลากิเลสจริงๆ ยิ่งกว่าคฤหัสถ์,บรรพชิต จึงไม่มีการกราบไหว้ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ แม้จะเป็นบิดา มารดา ก็ตาม มีแต่คฤหัสถ์เคารพสักการะกราบไหว้ผู้ที่เป็นบรรพชิต

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากพระวินัยปิฎกได้ที่นี่

ผู้ไม่ควรไหว้ - ผู้ควรไหว้ [พระวินัยปิฎก จุลวรรค]

ประเด็นการประทุษร้ายชาวบ้านของภิกษุสงฆ์ เป็นอย่างไร

ข้อความดังกล่าว ตรงกับภาษาพระวินัย คือ ผู้ประทุษร้ายตระกูล (กุลทูสกะ) โดยความหมายแล้ว คือ การประจบคฤหัสถ์ มุ่งหมายถึงการกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรประการต่างๆ กล่าวคือ ให้ผลไม้ ให้ดอกไม้ ทำยาให้ ตลอดจนถึงรับส่งข่าวสารให้กับคฤหัสถ์ เป็นต้น เพื่อเป็นการประจบคฤหัสถ์ เป็นการกระทำที่ไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยประการทั้งปวง ซึ่งในอรรถกถาพระวินัยได้แสดงไว้ว่า คำว่า ประทุษร้าย นั้น ไม่ได้หมายถึงการประทุษร้ายด้วยของเสีย ด้วยของไม่สะอาดและด้วยเปือกตม เป็นต้น แต่เป็นการทำความเลื่อมใสของตระกูลทั้งหลายนั้นให้พินาศไป ด้วยข้อปฏิบัติชั่วของภิกษุรูปนั้น นั่นเอง

ความเห็นเพิ่มเติม การประทุษร้ายตระกูล คือ การประจบคฤหัสถ์ทำให้ตนเองเป็นคนสำคัญ เป็นที่รัก ทำให้คฤหัสถ์หันมาให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าพระรัตนตรัย นอกจากตนเองจะเป็นผู้หันหลังให้กับพระรัตนตรัยแล้วทำให้คฤหัสถ์เสียหายด้วย ด้วยการเป็นอกุศล หันหลังให้กับพระรัตนตรัย ไม่สนใจที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรม

ถ้าพระภิกษุให้ของของตนเพื่อประจบคฤหัสถ์ เป็นอาบัติทุกกฏ แต่ถ้าให้ของของสงฆ์ ก็เป็นอาบัติถุลลัจจัย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพศภิกษุ เปรียบเหมือนท้องฟ้า ในนภากาศ ส่วน เพศคฤหัสถ์ เปรียบดั่งแผ่นดิน ที่อยู่ต่ำกว่าท้องฟ้า ด้วยเหตุว่า เพศบรรพชิต สละทางโลกแล้ว จึงเป็นเพศที่ประเสริฐ แม้คฤหัสถ์ผู้เป็นพระอริยเจ้า ก็ยังจะต้องไหว้แม้เพียง พระภิกษุผู้เป็นปุถุชน เพราะเพศที่ประเสริฐสูงกว่านั่นเอง ดังนั้นพระภิกษุ จึงไม่ควรไหว้สามเณร ไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ คือ ผู้ที่ไม่ได้บวชเป็นบรรพชิต เพราะ เป็นเพศที่ต่ำกว่า เพศที่สูงกว่า ไม่ควรไหว้ แม้แต่บิดา มารดา ก็ตาม พระภิกษุผู้ที่เป็นบุตร ก็ไม่ควรไหว้ ยกตัวอย่าง ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว เป็นเพศบรรพชิต เมื่อเสด็จไปเมืองกบิลพัสด์ พระญาติทั้งหลายไม่ยอมไหว้ ด้วยเหตุว่าตนมีมานะมาก ที่คิดว่าตนเองเป็นพระเจ้าน้า พระเจ้าอา จนท้ายสุดพระราชบิดาก็ไหว้ เพราะเหตุแห่งความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ไหว้พระราชบิดาและพระราชมารดา เพราะ เพศบรรพชิตประเสริฐกว่าเพศคฤหัสถ์ ครับ ดังนั้นควรแยกระหว่าง การรู้คุณ และการประพฤติที่สมควรกับเพศที่แตกต่างกัน เพศบรรพชิตประเสริฐกว่า เพศที่ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุที่เรียกว่า อนุปสัมบัน เช่น สามเณร คฤหัสถ์ เพศที่ต่ำว่า จึงควรไหว้เพศที่สูงกว่า แต่เพศบรรพชิตไม่ควรไหว้เพศที่ต่ำกว่า แต่การรู้คุณควรมีได้ เพศบรรพชิต สามารถที่จะรู้คุณกับบิดามารดาได้โดยพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ พระภิกษุ เมื่อได้อาหารสามารถแบ่งให้มารดาบิดาได้ เพราะท่านมีพระคุณมาก ครับ
ส่วน การประทุษร้ายสกุล ตระกูล ต่อ คฤหัสถ์ คือ การกระทำของพระภิกษุที่ทำดั่งเช่น เช่น การประกอบกิจการงานต่างๆ ดั่งเช่น คฤหัสถ์ เพื่อประจบคฤหัสถ์ ซึ่งเมื่อกระทำเช่นนี้ ที่ไม่ใช่ดั่งเช่น พระภิกษุที่ควรประพฤติธรรม ศึกษาธรรม แต่ถ้าทำแบบคฤหัสถ์ เพื่อประจบ ก็ทำให้ตระกูล คนที่อุปัฏฐาก เป็นต้น เสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ ก็ชื่อประทุษร้ายคนอื่น ประทุษร้ายให้เขาเกิดอกุศลและไม่ให้เจริญขึ้นในกุศล เพราะ ทำให้เสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนานั่นเองครับ ซึ่งแม้แต่พระวินัยของพระภิกษุ ในเรื่องการประทุษร้ายสกุล ที่เป็นเรื่องของการประจบ ก็เป็นเครื่องเตือนใจ กับพุทธศาสนานิกชนผู้ที่ศึกษาธรรมได้เป็นอย่างดี ที่จะเห็นโทษของการประจบผู้อื่น ที่แสดงถึงความไม่ตรง เพราะ ขณะนั้นเป็นอกุศล และขณะนั้นประทุษร้ายต่อตนเองและต่อผู้อื่น เพราะขณะที่ประจบ ไม่ใช่ขณะที่มีเมตตา แต่ขณะนั้น ไม่ได้หวังดีกับผู้อื่นเลย แต่เป็นโลภะ ที่ต้องการความรัก ต้องการลาภสักการะอันแสดงออกมาโดยการประจบทางกาย มีการทำกิจการงาน ช่วยเหลือ ประจบทางวาจา โดยการพูดยกยอ ชม เป็นต้น เพื่อให้เป็นที่รักหรือได้มาซึ่ง ความไว้ใจ หรือเพื่อต้องการสนิทสนมและ เพื่อได้ลาภ สักการะ สิ่งที่ตนได้ คือ ประทุษร้ายใจของตนเอง สะสมความไม่ตรงในขณะนั้น และ สิ่งที่คนอื่นได้ คือ ขวานฟ้าที่ทำลายผู้ที่ถูกชม ถูกประจบ ให้ฟูขึ้นด้วยคำประจบ ก็เพิ่มอกุศลของคนอื่นด้วบ ก็ชื่อว่าประทุษร้ายคนอื่นเช่นกัน จึงควรเห็นโทษของอกุศล และ สะสมความเป็นผู้ตรงที่ไม่ใช่เป็นผู้มีนิสัย ที่ประจบ โดยการเห็นโทษของกิเลสทีละน้อย เพราะ ควรชม และสรรเสริญในคุณธรรม ด้วยกุศลจิต ไม่ใช่การชม สรรเสริญด้วยจิตที่เป็นอกุศล และควรติเตียนในสิ่งที่ควรติ ด้วยความหวังดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เป็นความหวังดี ด้วยเมตตา และแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง อันเป็นการแสดงออกในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สามารถ
วันที่ 20 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณครับ

ในส่วนของฆราวาสที่ได้รับการประทุษร้ายนั้น จะมีผลคือวิปากอย่างไรหรือไม่ครับ ท่านได้แสดงส่วนนี้ไว้หรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 20 ก.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

สำหรับฆราวาสที่ได้รับการประทุษร้ายตระกูลนั้น ก็เป็นเหตุให้เสื่อมศรัทธา ซึ่งจะนำมาซึ่งความไม่เลื่อมใส ก็เสื่อมซึ่งกุศลธรรม เจริญในอกุศลมากขึ้นได้ ส่วนการจะได้รับวิบากหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า มีการทำทุจริตกรรมหรือไม่ หากมีการทำบาป ทำทุจริตแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดวิบาก เช่น มีการทำบาปที่แสดงออกมาทางกาย วาจา เช่น หากไม่เลื่อมใสแล้วก็มีการด่า ว่า พูดวาจาไม่ดีกับพระภิกษุย่อมเกิดวิบากได้ครับ คือ จะต้องล่วงอกุศลกรรมบถ ข้อใด ข้อหนึ่ง ที่ถึงกับการล่วงศีล อันมีเหตุมาจากการเสื่อมศรัทธา จึงจะเกิดวิบากได้ ครับ แต่แม้ไม่ถึงการล่วงศีลที่จะทำให้เกิดวิบาก การเสื่อมศรัทธา การไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง สำหรับ คฤหัสถ์แล้ว เพราะอาจทำให้ละความเห็นถูกไปสู่ความเห็นผิดได้ อันเป็นทางเสื่อมที่น่ากลัว และ ย่อมทำกรรมที่ไม่ดีอันเกิดจากความเห็นผิด ทำให้มีอบายภูมิ มีคติ 2 อย่าง คือ นรกกับสัตว์เดรัจฉานได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 20 ก.ย. 2556

เรียน ความคิดเห็น ที่ ๓ ครับ

การที่คฤหัสถ์จะได้รับวิบากนั้น ก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ว่ามีการล่วงเป็นอกุศลกรรมในส่วนใดบ้าง ซึ่งเป็นความหยาบของจิต เป็นอกุศลที่มีกำลัง แต่ถ้ากล่าวถึงความเป็นไปตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่หันหลังให้กับพระรัตนตรัย ไม่สนใจที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรม นั่นก็เป็นความเสื่อมแล้ว กุศลธรรม ไม่เจริญขึ้น มีแต่อกุศลเกิดเพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีแต่หมกมุ่นชื่นชมในบุคคล ก็ย่อมเป็นผู้เสื่อมโดยรอบจริงๆ เมื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่มี ก็จะไม่มีเครื่องนำทางชีวิตที่ดีไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร โอกาสที่จะกระทำในสิ่งที่ผิด ก็จะมีมาก เป็นโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว และยังจะต้องอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 20 ก.ย. 2556

คฤหัสถ์เสื่อมศรัทธา เกิดอกุศลจิต ไม่ถึงกับล่วงศีล ไม่เกิดวิบาก ค่ะ แต่ ถ้าถึงกับการล่วงศีล เกิด วิบากที่ไม่ดีได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Noparat
วันที่ 20 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 22 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jans
วันที่ 22 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สามารถ
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
lovedhamma
วันที่ 26 ก.ย. 2556

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 17 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ