หัตถกสูตร - หัตถกเทพบุตร เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  23 ก.ย. 2556
หมายเลข  23676
อ่าน  1,560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถามเกี่ยวกับ หัตถกสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

[๕๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ คิดว่า จักยืน ตรง พระพักตร์ พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่ง ไม่สามารถ ที่จะ ยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือน เนยใส หรือ น้ำนม ที่เขาเทลงบนทราย ย่อมจมลง ตั้งอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด หัตถกเทวบุตร ก็ฉันนั้น เหมือนกัน คิดว่า จักยืนอยู่ ตรง พระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่ง ไม่สามารถ ที่จะ ยืนอยู่ได้ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะ หัตถกเทพบุตร ว่า ดูกรหัตถกะ ท่านจงนิรมิตอัตภาพอย่างหยาบๆ หัตถกเทพบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว นิรมิตอัตภาพอย่างหยาบ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

@ ใคร่จะทราบว่า ตามข้อความที่ขีดเส้นใต้นั้น เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติอย่างไร ของเทวดาจึงเป็นอย่างนั้น หรือเป็นเฉพาะต่อหน้าพระผู้มีพระภาค อัตภาพอย่างหยาบๆ หมายความว่าอย่างไร ต่างกับอัตภาพที่แท้จริงอย่างไร และเคยทราบคร่าวว่าเทวดา เห็นว่าโลกมนุษย์สกปรก มีความรังเกียจ ไม่อยากนั่ง ปกติจะนั่งก็ต้องมีอาสน์ของตน แล้วก็นั่งต่อหน้าพระผู้มีพระภาคก็จะเป็นการไม่เคารพ ก็จะยืน และที่ยืน ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งคือ ยืนตรงไหน อย่างไร ขอรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของท่านค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามธรรมดาของอัตภาพร่างกายของ ผู้ที่เป็นพรหม เกิดจากุศลกรรมที่ประณีตมาก คือ รูปาวจรกุศล เพราะฉะนั้น รูปร่างกายของพรหมก็ต้องประณีตตาม กำลังของกุศลที่ ทำให้เกิดด้วย เพราะฉะนั้น ในอรรถกถา ได้อธิบายว่า ตามธรรมดาว่า เมื่อพรหม จะมา ยืนที่แผ่นดิน ควรจะเนรมิต อาสนะ หรือ เนรมิตแผ่นดินให้หยาบ

เมื่อเป็นดังนั้น หัตถเทพบุตร เมื่อไม่เนรมิต อาสนะ และ แผ่นดิน กลายที่ละเอียด ของท่าน ก็ย่อมจมลงในแผ่นดินอันหยาบได้ เปรีนยบเหมือนน้ำ เมื่อไหลลงสู่ตะแกรง แม้มีรูละเอียด แต่เพราะ น้ำ มีความละเอียดกว่า ย่อมไหลลงไปได้ฉันใด ร่างกายของ พรหมก็เป็นร่างกายที่ละเอียด เมื่อยืนอยู่ที่แผ่นดิน ย่อมจมลง ไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ พระพุทธเจ้า จึงตรัสกับ หัตถกเทพบุตร ผู้ที่เป็น พรหมว่าเธอจงเนรมิตอัตภาพหยาบ

อัตภาพหยาบ ก็หมายถึง รูปร่างกาย ที่ไมได้มีความละเอียดประณีต ดั่งเช่น กาย หยาบของมนุษย์ ที่สามารถมองเห็นได้จับต้องได้ เมื่อหัตถกเทบุตร เนรมิตกายหยาบ อัตภาพหยาบแล้ว ก็ทำให้สามารถยืนอยู่บนแผ่นดินได้ ดังเช่น เมื่อเอาก้อนดินที่หยาบ ใส่ลงไปใน กระชอนที่มีรูละเอียด ดินย่อมตั้งอยู่ ย่อมไม่ไหลลงไป ฉันใด เมื่อกายของ หัตถกเทพบุตร ได้เนรมิตกายหยาบ ก็สามารถยืนได้บนแผ่นดิน ไม่จมลงไปอีก ครับ ดังนั้น อัตภาพที่แท้จริง ก็คือ ร่างกายเดิมที่เกิดจากกรรม ที่เป็นเหตุให้ปฏิสนธิ อย่าง อัตภาพที่แท้จริง ก็ตามกรรมที่เกิดตามภพภูมิต่างๆ ครับ อย่าง พรหมก็มีอัตภาพที่แท้จริง ละเอียด ประณีต ตามกรรมที่ประณีต เป็นต้น แต่ สามารถ เนรมิตกายหยาบ อัตภาพหยาบได้ ครับ

ส่วนที่เทวดาไม่นั่ง แต่ ยืน ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งต่อพระพุทธเจ้า เพราะ เคารพ ในพระพุทธเจ้า เพราะหากนั่งก็จะเป็นการไม่เคารพ ด้วยเหตุว่าอาสนะ ที่นั่งของเทวดา จะปรากฎเกิดขึ้น และ อีกประการหนึ่ง พระมหาสาวกทั้งหลาย บางครั้งยืนอยู่ หาก เทวดานั่งก็ไม่สมควร จึงยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ดั่งข้อความในพระไตรปิฎก ครับ

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖- หน้าที่ 141

ก็มหาสาวกทั้งหลายเหล่าใด ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่แล้วเทวดา ก็นับถือมหาสาวกเหล่านั้น จึงไม่นั่ง. อีกอย่างหนึ่ง เทวดาไม่ยอมนั่งเพราะเคารพ ในพระพุทธเจ้า ด้วยว่าเมื่อเทวดาทั้งหลายจะนั่ง อาสนะก็บังเกิดขึ้นเทวดาไม่ ปรารถนาอาสนะนั้นจึงไม่คิดแม้เพื่อจะนั่ง ได้ยืนอยู่แล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

คำว่า เอกมนฺติตา โข สา เทวตา ความว่า เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล ด้วยเหตุเหล่านี้อย่างนี้


และ เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่เทวดาไม่นั่ง แต่ ยืน เพราะ ไม่ประสงค์จะอยู่ในโลก มนษย์นาน เพราะ โลกมนุษย์ปรากฎเหมือนส้วมของเทวดา จึงไม่อยากอยู่นาน ถ้า นั่งก็แสดงว่า เป็นอิรยาบถที่พักผ่อน ที่จะทำให้อยู่นานได้ และ การยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งของเทวดา เป็นดั่งนี้ ครับ ดังข้อความใน พระไตรปิฎก

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 140

ถามว่า ก็เทวดานั้นยืนอย่างไร ชื่อว่า ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ตอบว่า เทวดาเว้นแล้วซึ่งโทษ (๘ อย่าง) เหล่านี้ คือ ไม่ยืนข้างหลัง ๑ ไม่ยืนข้างหน้า ๑ ไม่ยืนใกล้ ๑ ไม่ยืนไกล ๑ ไม่ยืนตรงหน้า ๑ ไม่ยืนเหนือลม ๑ ไม่ยืนต่ำกว่า ๑ ไม่ยืนสูงกว่า ๑ ชื่อว่า ยืนแล้วณ ส่วนข้างหนึ่ง

ถามว่า ก็เทวบุตรนี้ยืนเท่านั้น ไม่นั่ง เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพราะเทวดาทั้งหลายประสงค์จะกลับไว อธิบายว่า จริงอยู่เทวดาทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์บางอย่างเท่านั้น จึงมายังมนุษยโลก ซึ่งเปรียบประดุจส้วมที่เต็มด้วยของไม่สะอาด ก็โดยปกติมนุษยโลกเป็นของปฏิกูลแก่เทวดาเหล่านั้น เพราะเป็นสถานที่มีกลิ่นเหม็น นับจำเดิมแต่ ๑๐๐ โยชน์ พวกเทวดาจึงไม่ยินดีในมนุษยโลกนั้น เพราะเหตุนั้นเทวดานั้นทำธุระที่ตนมาเสร็จแล้ว ก็ไม่ยอมนั่ง เพราะต้องการจะกลับไว

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พรหมบุคคลมีกายที่ไม่เหมือนกับมนุษย์ ท่านมีกายละเอียด เวลาที่จะมายังเมือง มนุษย์เพื่อที่จะยืนบนแผ่นดินได้ก็ต้องมีการเนรมิตกายให้เป็นกายหยาบ และเวลาที่จะ เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กระทำในสิ่งที่เหมาะควรด้วยความเคารพอย่างยิ่งด้วย กุศลจิต และเหนือสิ่งอื่นใดนั้นประโยชน์สูงสุดของการมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมสัมพุทธเจ้าคือ ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ในอรรถกถาทั้งหลายได้แสดง ไว้น่าพิจารณาทีเดียวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ควรแก่การเข้าเฝ้าของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพื่อที่จะได้สอบถามปัญหาได้ฟังความจริงจะทำให้เป็นผู้ได้ รับประโยชน์จากพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดงตามกำลังปัญญาของตนเองเปรียบ เหมือนกับต้นไม้ใหญ่เต็มไปด้วยผล ก็ย่อมเป็นที่หมายปองของนกนานาชนิด เพื่อที่จะ จิกกินผลอันอร่อยนั้น และเนื่องจากที่อยู่ของมนุษย์เป็นที่ไม่สะอาดสำหรับท่าน เมื่อ เข้าเฝ้าเสร็จแล้วก็รีบกลับทันที ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ยืน ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็ยืนในที่เหมาะสมที่จะได้ยินเสียง พระพุทธเจ้าแสดงธรรม และ ที่ยืนเพราะมาเพื่อฟังธรรมแล้ว ก็ไป ไม่อยู่นาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถามต่อนะคะ เกี่ยวกับ หัตถกสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต หัตถกสูตรที่ ๑ และ หัตถกสูตรที่ ๒

หัตถกสูตรที่ ๑

[๑๑๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลาย จงทรงจำ หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี ว่าเป็น ผู้ประกอบด้วย ธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๗ ประการ ๗ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี เป็นผู้ มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงทรงจำ หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี ว่าเป็น ผู้ประกอบด้วย ธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๗ ประการนี้ แล

พระผู้มีพระภาค ผู้สุคต ครั้นได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปสู่พระวิหารฯ

หัตถกสูตรที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงทรงจำ หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี ว่า เป็นผู้ประกอบด้วย ธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หัตถก อุบาสก ชาวเมืองอาฬวี เป็นผู้ มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑ มีความปรารถนาน้อย ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงทรงจำ หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี ว่า เป็นผู้ประกอบด้วย ธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แลฯ

๑. ทั้งสามท่านในสามพระสูตรนี้ เกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่ ขอประวัติด้วยค่ะ

๒. ลำดับนั้น หัตถก อุบาสกชาวเมืองอาฬวี อันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไปฯ

ช่วยกรุณา อธิบายรายละเอียดถึง ความหมาย ลักษณะ ของแต่ละคำที่ขีดเส้นใต้ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของท่านค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

๑. ทั้งสามท่านในสามพระสูตรนี้ เกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่ ขอประวัติด้วยค่ะ

ทั้ง 3 สูตร ที่ยกมา แสดงคุณธรรม ที่แตกต่างกันไป ตาม โอกาส และ วาระ ครับ

ประวัติ เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ประวัติหัตถกอาฬวกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี [อรรถกถาสูตรที่ ๔]


เป็นผู้ มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา

อริยทรัพย์ ๗ ประการ


ทรงชี้แจง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

เรียนถามท่านสมาชิกเรื่องประโยคที่ว่าอาจหาญร่าเริง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ