อธิวาสนขันติคืออะไร

 
อนัตตา
วันที่  21 พ.ย. 2549
หมายเลข  2377
อ่าน  6,914

เคยอ่านพบความหมายว่า ทนต่อความเจ็บใจคือเมื่อมีบุคคลจงใจว่ากล่าวให้เจ็บใจแต่สามารถทนได้และยังให้อภัยอีก และเคยอ่านพบในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะใกล้จะปรินิพพานได้ทำอธิวาสนขันติ เข้าใจว่าทนต่อความเจ็บปวดร่างกาย ไม่ทราบว่าทำไมความหมายไม่เหมือนกันครับ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

ขอบคุณครับ

สาธุ...จ้า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 22 พ.ย. 2549

อธิวาสนขันติคือความอดทนอดกั้น โดยปรมัตถ์ ได้แก่ อโทสเจตสิก

โปรดอ่านข้อความโดยตรงจากอรรถกถา

มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๔ - หน้าที่ 186

[๔๑๓] ฎีกาสัพพาสวสูตร ในมูลปัณณาสก์ว่า "ขันติ ชื่อว่าอธิวาสนา เพราะเป็นเครื่องอดกลั้น คือ อดทนแห่งบุคคล ได้แก่ อโทสะ อันเป็นไปโดยอาการคืออดทนต่อหนาวเป็นต้น หรือได้แก่กุศลขันธ์ ๔ มีอโทสะนั้นเป็นประธาน" ขันตินั้นด้วย เป็นเครื่องอดกลั้นด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อธิวาสนขันติ ส่วนในฎีกาทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ท่านกล่าวไว้ว่า "ความอดทน มีความอดกลั้น เป็นลักษณะ ชื่อว่า อธิวาสนขันติ"

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 22 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 281

คำว่า ขนฺติ ได้แก่ อธิวาสนขันติ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ "บรรดาธรรมเหล่านั้น ขันติ คืออะไร คือ ความอด ความทน ความกลั้น ความไม่เดือดดาล ความไม่หุนหันพลันแล่น ความใจเย็น แห่งจิต"

อาสวะเหล่านี้มีมากมาย เพราะแยกเป็นอย่างละ ๔ ด้วยสามารถแห่งธรรมมีความหนาวเป็นต้น แต่ละอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ควรละเสียด้วยการอดกลั้น กล่าวคือขันติสังวร ก็ในที่นี้ เพราะขันตินี้ย่อมอดกลั้นธรรมมีความหนาวเป็นต้นได้ คือยกให้อยู่เหนือตนทีเดียว ได้แก่ ไม่ใช่ว่าจะอดกลั้นไว้ไม่ได้แล้วสลัดทิ้งเสีย ฉะนั้น ขันตินี้พึงทราบว่า อธิวาสนา

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 19

จมฺมสนฺนาโห ได้แก่ มีหนังเป็นเกราะ เหมือนคนรถสวมเกราะหนังยืนอยู่บนรถย่อมอดทนต่อลูกศรทั้งหลายอันมาแล้วและมาแล้ว ลูกศรทั้งหลายย่อมแทงบุคคลนั้นไม่ได้ ฉันใด ภิกษุผู้ประกอบด้วยอธิวาสนขันติ ย่อมอดทนถ้อยคำอันมาแล้วและมาแล้วได้ ถ้อยคำเหล่านั้น ย่อมแทงภิกษุผู้ประกอบด้วยอธิวาสนขันติไม่ได้ ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความอดทนเป็นเกราะหนัง

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 204

อธิวาสนขันติ ชื่อว่า ขันติ ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยขันตินั้น แล้วย่อมไม่มีอาการผิดปกติเป็นผู้เหมือนไม่ได้ยินบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และเหมือนไม่เห็นบุคคลผู้เบียดเบียนด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อหุ อตีตมทฺธานํ สมโณ ขนฺติทีปโน ตํ ขนฺติยาเยว ฐิตํ กาสิราชา อเฉทยิ สมณะผู้แสดงขันติ ได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระเจ้ากาสีได้ทรงทำลายสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันตินั่นแล หรือย่อมใส่ใจว่าเขาทำดีแล้ว เพราะไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น เหมือน ท่านปุณณเถระ ฉะนั้น อย่างที่ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้คนชาวสุนาปรันตกะ จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์ จักใส่ใจว่า ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญหนอ ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญ ดีหนอ ผู้คนเหล่านี้ไม่ตีข้าพระองค์ด้วยมือดังนี้ เป็นต้น ฯลฯ

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 526

ว่าด้วยนิทเทสขันติทุกะ

พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสขันติทุกะ ต่อไป ที่ชื่อว่า ขันติ ด้วยอำนาจการอดทน อาการแห่งความอดทน ชื่อว่า ขมนตา (กิริยาที่อดทน) ที่ชื่อว่า อธิวาสนตา (ความอดกลั้น) เพราะอรรถว่า เป็นเหตุอดกลั้น คือ เป็นเหตุยกขึ้นเหนือตนทนอยู่ ไม่ต่อต้านไม่เป็นข้าศึกดำรงอยู่

มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๔ - หน้าที่ 184

ฎีกาอุปริปัณณาสก์ว่า "สภาพใด ย่อมข่ม คือ ปราบปรามบาปธรรม มีพยาบาท ความเบียดเบียน ความถือตัว และความกระด้าง เป็นต้น เหตุนั้น สภาพนั้น ชื่อว่า ทมะ คือ ขันติ เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ จึงกล่าวว่า 'ขันติ พึงทราบว่า ทมะ' สภาพนั้นชื่อว่า ทมะ เพราะอรรถว่า กำจัดบาปธรรม มีพยาบาท เป็นต้น และชื่อว่า อุปสมะ เพราะอรรถว่า เข้าไปสงบบาปธรรม มีพยาบาท เป็นต้น เหล่านั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทั้งข่มทั้งเข้าไปสงบ ได้แก่ อธิวาสนขันติ"

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ