กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาและที่ประกอบด้วยปัญญา

 
papon
วันที่  5 ต.ค. 2556
หมายเลข  23776
อ่าน  1,152

กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และที่ประกอบด้วยปัญญา มีความหมายว่าอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความดีที่เป็นกุศลนั้น ยังแบ่งเป็นประเภทใหญ่อีกประเภทคือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กุศลเมื่อแบ่งเป็นระดับของกุศลก็มี กุศลขั้นทาน ศีล และภาวนา สำหรับกุศลขั้นภาวนานั้น ที่เป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอครับ เช่น สมถภาวนาก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าจะอบรมความสงบที่เป็นกุศลจิตอย่างไรให้เกิดได้บ่อยๆ จนตั้งมั่น ส่วนกุศลที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ก็ต้องมีปัญญาเช่นกัน คือ มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ส่วนกุศลที่เป็นขั้นทานและศีลนั้น ก็มีทั้งกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ครับ ดังนั้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา จะต้องเป็นกุศล ที่มีความเห็นถูก เป็นสำคัญ เช่น เชื่อกรรม และ ผลของกรรม ขณะที่เข้าใจพระธรรม มีปัญญาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา กุศลที่ไม่มีปัญญา คือ มีกุศลให้ทาน รักษาศีล แต่ไม่ได้มีความเข้าใจถูกเกิดขึ้นเลยในขณะนั้น ครับ

กุศลจิต ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น มีทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และประกอบด้วยปัญญา และควรที่จะได้พิจารณาว่า ปัญญา เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่เคยสะสมปัญญามาเลย ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ แต่เพราะได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เข้าใจในเหตุในผลของธรรม ปัญญาจึงสามารถเกิดขึ้นได้ แม้แต่ในขณะให้ทาน ก็เช่นเดียวกัน ปัญญาก็สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะนั้น มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า การให้ทานมีผล การให้ทานเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประเสริฐยิ่ง เพราะประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตในชีวิตประจำวัน เกิดน้อยมาก และยิ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็ยิ่งน้อยกว่านั้นอีก แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังดีกว่าขณะที่จิตเป็นอกุศล อย่างเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว

กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ทุกคนสามารถที่จะอบรมเจริญให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ที่เห็นได้ชัดก็คือ ฟังพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ นี้แหละ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก และยังจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย ในเรื่องของทาน การสละวัตถุสิ่งของ สละกิเลส สละความตระหนี่ของตนเอง ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ประพฤติในสิ่งทีดีงามในชีวิตประจำวัน และเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ฟัง ได้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะเห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้เข้าใจขึ้น ก็คือ ฟังต่อไป เมื่อสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ซึ่งสติปัฏฐาน ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา อีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 5 ต.ค. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การให้ทานที่ให้แล้วเกิดนึกเสียดาย เพราะคิดว่าตนก็จำเป็นต้องใช้เหมือนกัน เพราะตอนให้ขาดการพิจารณาซึ่งอาจทำให้ตนเองต้องเดือดร้อน อย่างนี้เพราะคิดว่ายังมีตัวเรา ของเราและมีตัวตนใช่หรือไม่ครับ และถ้าการให้ทานจนเป็นนิสัย จนตนเองเดือดร้อนในอนาคต เป็นการเบียดเบียนตัวเองหรือไม่ครับ ขอความอนุเคราะห์ช่วยให้ปัญญาด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ไม่ใช่เพื่อให้ไม่รู้ แต่เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ผิดไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สิ่งสำคัญสำหรับผู้ฟังผู้ศึกษา คือ เริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม กุศล ก็เป็นธรรม กุศล นั้น ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ กุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ากุศล ในขณะนั้น มีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ไม่ได้เป็นไปกับความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นกุศลที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ในขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้น ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ความเป็นเรา นั้นเหนียวแน่นมาก ขณะที่ให้ทาน เป็นขณะหนึ่ง ขณะที่เสียดาย เป็นอีกขณะหนึ่งที่เป็นอกุศล เป็นไปกับด้วยความไม่สบายใจ การให้ทาน ให้เมื่อมีวัตถุสิ่งของที่จะให้ และตามกำลังของความสามารถของตนด้วย และที่สำคัญ การเจริญกุศล ไม่ได้มีเฉพาะทานอย่างเดียว ยังมีในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น แม้จะเล็กน้อยเพียงใด ก็ตาม การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ การอุทิศส่วนกุศล การอนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น การฟังพระธรรม การแสดงธรรมให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกแก่ผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นกุศล ด้วย ถ้าละเลยโอกาสของกุศล ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 5 ต.ค. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 23776 ความคิดเห็นที่ 2 โดย papon

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การให้ทานที่ให้แล้วเกิดนึกเสียดาย เพราะคิดว่า ตนก็จำเป็นต้องใช้เหมือนกัน เพราะตอนให้ขาดการพิจารณาซึ่งอาจทำให้ตนเองต้องเดือดร้อน อย่างนี้เพราะคิดว่า ยังมีตัวเรา ของเรา และมีตัวตนใช่หรือไม่ ครับ และถ้าการให้ทานจนเป็นนิสัยจนตนเองเดือดร้อนในอนาคต เป็นการเบียดเบียนตัวเองหรือไม่ครับ ขอความอนุเคราะห์ช่วยให้ปัญญาด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ

ขณะที่เดือดร้อน ก็คือ ขณะที่เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น การให้ ก็ต้องรู้จักประมาณตน บางคนให้น้อย แต่เกิด อกุศลจิตตามมามาก ก็ชื่อ ทำตนให้เดือดร้อน แต่ผู้ที่ให้แล้ว ไม่เสียดาย แม้จะมาก ก็ชื่อว่า ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ครับ ดังนั้น กิเลสก็เป็นปัจจัย ทั้งความยึดถือว่าเป็นเรา ความตระหนี่ และอื่นๆ ครับ ซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 5 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Supada
วันที่ 21 มี.ค. 2565

ขอขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 22 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ